Skip to main content
sharethis

วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี คนทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากลและร่วมกันระลึกถึงก่อตั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สำหรับประเทศไทยวันนี้ยังนับเป็นวันรัฐธรรมนูญอีกด้วย คำถามสำคัญเมื่อพูดถึง “สิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ” คือ เราระลึกถึงอะไรกันบ้าง และเราจะพัฒนา “สิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ”ในประเทศไทย ซึ่งนี่ต้องเป็นพื้นฐานของสังคม เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เอื้อให้ผู้คนอยู่ร่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่มีกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติ ที่รับประกันความเท่าเทียม สิทธิและเสรีภาพอย่างถ้วนหน้า อย่างเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติได้อย่างไร

ไม่เพียงแต่วันที่ 10 เพียงวันเดียวเท่านั้นที่เป็นหมุดหมาย ในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน จะนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ยาวมาจนถึงวันสิทธิมนุษยชนสากลนี้ เรียกว่า 16 วัน (รณรงค์) กิจกรรมทางสังคม หรือ 16 Days of Activism ซึ่งเป็นช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ ที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ทั่วโลกต่างออกมาผลักดันการดำเนินงานเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก LGBTIQ และผู้คนที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์ 

เช่นเดียวกับ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ องค์กรในภาคเหนือ ที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้ร่วมกับภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดยภาควิชาสตรีศึกษาและสมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) ได้ร่วมกันจัดเวที 16 วันแห่งกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม: หนึ่งพันล้านเสียงยุติความรุนแรงทางเพศและการประท้วงทั่วโลกของผู้หญิง “ถ้าผู้หญิงหยุด โลกหยุด” ขึ้นเมื่อวันที่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 40 คน 

โดยรายละเอียดสำคัญของเวที ครอบคลุมมิติด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และความไม่เป็นธรรมทางเพศ ข้อเสนอแนะเพื่อจะแก้ไขสกานณ์เหล่านี้ รวมถึงการเชื่อมโยงการรณรงค์ในระดับชุมชนไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวระดับโลก 

ในช่วงเวลา 9.00 - 9.30 น. ดร.มลิวัลย์ เสนาวงษ์ ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดงาน โดยมีสาระสำคัญ ว่า เวที 16 วันแห่งกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม: หนึ่งพันล้านเสียงยุติความรุนแรงทางเพศและประท้วงทั่วโลกของผู้หญิง "ถ้าผู้หญิงหยุด โลกหยุด" จัดขึ้นโดยความร่วมมือของเครือข่าย เป็นเวทีรณรงค์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคมรวมถึงเอื้อให้เกิดการทำงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้จัดเวทีทั้งสิ้น 3 เวทีคือ 

1. Ted-Talk: เสียงสะท้อนจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบนพื้นฐานการทำงานของอำนาจทับซ้อนด้านสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

2. เวที: การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยคำนึงถึงกลไกปกป้องสิทธิมนุษยชน: กรณีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ

3. #MeToo Movement, Thailand

นอกจากนี้เวทีรณรงค์ยังได้จัด 2 workshop เพื่อให้เครือข่ายได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการณรงค์ระดับโลกในช่วง 16 วันกิจกรรมรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางเพศและสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การเต้นรณรงค์หนึ่งพันล้านเสียงยุติความรุนแรงทางเพศ/One Billion Rising และการเปิดตัวเครือข่ายเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวในระดับโลก Women’s Global Strike : ถ้าผู้หญิงหยุด โลกหยุด เครือข่ายทั่วโลกจะออกมาร่วมกันแสดงจุดยืนและพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมกันทั่วโลกในช่วงวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2563 

หลังจากนั้น เป็นเวทีที่ 1 ซึ่งใช้รูปแบบเวลาแบบ TED-TALK ในหัวข้อเสียงสะท้อนจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบนพื้นฐานการทำงานของอำนาจทับซ้อนด้านสิทธิมนุษยชนและการทีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มีผู้ร่วมพูดในเวทีนี้ทั้งสิ้น 4 คนซึ่งแต่ละคนได้พูดครอบคลุมประเด็นบริบท สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยช่วงท้าย ผู้พูดทั้ง 4 คนได้เสนอข้อเรียกร้องและแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและการบรรลุเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนตนเองได้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเยาวชนผู้พิการ โกลบอลแคมปัส เชียงใหม่ สุริยา แสงแก้วฝั้น พูดถึงประสบการณ์ของตนเอง ในฐานะเยาวชนผู้พิการและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยได้เน้นย้ำถึงประเด็นสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงโอกาสในการศึกษาของเด็กและเยาวชนผู้พิการ และยังพูดถึงการเข้าถึงอาชีพอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม เพราะการเข้าถึงอาชีพหมายถึงความมั่นคงของชีวิต ซึ่งสุริยาย้ำว่า ส่วนหนึ่งผู้พิการเองต้องตระหนักถึงความสำคัญข้อนี้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ บทบาทของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาหนุนเสริมและสร้างหลักประกันให้คนพิการในฐานะที่เป็นพลเมือง ประเด็นสุดท้ายที่สุริยา ได้พูดถึง คือ การเข้าถึงกายอุปกรณ์ ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ของผู้พิการ ซึ่งจากการที่ผู้พิการส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ซึ่งแปลว่าผู้พิการย่อมมีช่องว่างทางเศรษฐกกิจ ในการเข้าถึง นวัตกรรม และรูปแบบกายอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีมาตราฐาน รวมถึงช่องว่างที่รัฐเองก็ไม่จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อเติมเต็มช่องว่างเพื่อลดความความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกายอุปกรณ์ 

จากสถานการณ์ที่กล่าวมาเบื้องต้น สุริยามีข้อเสนอที่มีต่อภาครัฐ คือ อยากให้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอน ให้กับเด็กพิการโดยไม่แบ่งแยกกีดกันเด็กพิการหรือไม่พิการออกจากกัน เพื่อให้ผู้พิการมีความรู้ ความสามารถ มีวุฒิการศึกษา เพื่อให้มีโอกาสในการพัฒนาและเข้าถึงงานอย่างเท่าเทียม ซึ่งในแง่ของการเข้าถึงงาน สิริยาเสนอว่า รัฐต้องตระหนักถึงสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงงาน ในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้พิการ โดยต้องพัฒนาหลักประกัน ซึ่งหมายถึงมีกฎหมาย นโยบาย และแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นสุดท้ายที่สุริยาเสนอและเห็นว่า มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ มิติสวัสดิการด้านสุขภาพและกายอุปกรณ์ ซึ่งรัฐต้องเข้ามามีบทบาทส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการอุปกรณ์และบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐานและมีความเหมาะสมกับคนพิการ ในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้พิการด้วย

ด้านศุกานตา สุขไผ่ตา ตัวแทนจากครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นนักสหภาพแรงงานมาตลอดระยะเวลา 35 ปี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานว่า พี่น้องแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งในสังคม เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด ไม่ได้รับสิทธิ์กองทุนเงินทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต ไม่ได้รับการเยียวยาและเข้าไม่ถึงสวัสดิการในการทำงาน รวมถึงเข้าไม่ถึงสิทธิในการรวมตัว ในส่วนของมิติการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ศุกานตา สะท้อนว่า ภาครัฐซึ่งเน้นย้ำเสมอว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะเป็นไปได้ก็ต้องเมื่อภาครัฐตระหนักถึงการพัฒนาด้านสิทธิแรงงานและสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม สาระสำคัญอีกประการหนึ่ง ไว้ในเวที คือ บาบาทและหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องร่วมกันสร้างและเอื้อให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม ได้เรียนรู้สิทธิของตนเอง มีความเข้มแข็งและสามารถนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ 

ในตอนท้าย ศุกานตา ได้มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องมีบทบาทในการส่งเสริมสิทธิประชาชนทุกคน อย่างเท่าเทียม รวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย เช่น สิทธิในการรวมตัว และเธอเรียกร้องให้รัฐบาลมี นโยบายและกฎหมาย เพื่อปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งต้องมีการบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม รวมถึง ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่าอยากให้ภาครัฐมีบทบาทในการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ในตอนท้ายเธอทิ้งทวนข้อเสมอแนะต่อภาครัฐ ว่าให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองสัตยาบัญในอนุสัญญา ILO ฉบับต่างๆ เช่น ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการสิทธิในการรวมตัว และ ILO ฉบับที่ C 190 ซึ่งครอบคลุมมิติความเป็นธรรมทางเพศ

ตัวแทนเครือข่าย ที่ได้ร่วมเวทีนี้ คนต่อมามาจากเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คุณแน่งน้อย แซ่เซ่ง เธอซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและเป็นนักวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมแนวสตรีนิยม นอกจากนี้ยังเป็นประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 

แน่งน้อยกล่าวบนเวที โดยมีใจความโดยสรุปว่า ความเข้าใจผ่านประสบการณ์ในฐานะผู้หญิงม้ง ซึ่งถูกกดทับ ทั้งจากผู้ชายและจากสังคมเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงาน เพราะทำให้แน่งน้อยตระหนักว่ามีผู้หญิงในชุมชนของเธอเป็นจำนวนมากที่ยังไม่รู้สิทธิของตนเอง และเมื่อเธอเองได้เข้ามาเรียนรู้และศึกษากฎหมายที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เธอรู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้างและถูกละเมิดสิทธิอย่างไร ทำให้เธอเลือกที่จะกลับไปทำงานกับผู้หญิงในชุมชนของตนเอง รวมถึงได้ ทำงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมแนวสตรีนิยม 
ซึ่งประสบการณ์การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมแนวสตรีนิยม “รับลูกสาวกลับบ้าน” มาจากข้อเท็จจริงในสังคมม้งว่า เมื่อผู้หญิงม้งเมื่อแต่งงานแล้ว ถ้าชีวิตไปไม่รอด จะกลับมาอยู่กับพ่อแม่ไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการผิดผี แต่เมื่อได้ทำการวิจัยเพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้ ทำให้เกิดผู้ร่วมวิจัย และสังคมม้ง เกิดความตระหนักถึงการที่ผู้หญิงถูกกดขี่ผ่านวัฒนธรรม โดยที่ผู้หญิงไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างกฎเกณฑ์เงื่อนไข ดังนั้น มีความจำเป็นจะต้องหาทางออกจากสถานการณ์เหล่านี้ เมื่องานวิจัยฯ เสร็จสิ้น ผลจากการทำวิจัยทำให้ 18 ตระกูลแซ่ (ม้ง) ในประเทศไทย ได้ยอมรับและเปลี่ยนแปลงให้ผู้หญิงม้ง เมื่อหย่าขาดจากสามีสามารถกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวของตนได้ โดยไม่นับว่าเป็นการผิดผี และนี่เองนับเป็นอีกตัวอย่างสำคัญให้กับขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงในประทศไทยว่า ว่าความไม่เป็นธรรมทางเพศใดๆ ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยใช้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในวัฒนธรรมนั้นๆ

คนสุดท้ายของเวทนี้ คือ น้องแอร์ สายรุ้ง ยามเย็น เธอเป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศและนักวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมแนวสตรีนิยม (FPAR) เพื่อสิทธิในที่ดิน ภายใต้โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน น้องแอร์สะท้อนประเด็นสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง ว่าภาครัฐ ไม่ได้ยอมรับการมีอยู่และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเธอและชุมชนของเธอ เช่น การเข้าไม่ถึงสัญชาติไทย การไม่มีสิทธิ์บนที่ดิน ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง และเข้าไม่ถึงสิทธิในการศึกษาและการและการรับการรักษาพยาบาล 

เมื่อพูดถึงมิติสิทธิชุมชน น้องแอร์สะท้อนว่า คนในชุมชนพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อมีการประกาศเขตอุทยาน ทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งถูกผลักให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยง โดยชุมชนของเธอตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วย เกาะขอบถนน ทุกๆ ปีคนในชุมชนประสบภัยภิบัติ เช่น สูญเสียบ้านเรือนจากน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ และแม้ชุมชนจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่แต่ก็ยังขาดแคลนน้ำและเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค

ในมิติสิทธิบนที่ดิน น้องแอร์สะท้อนว่าคนในชุมชน ไม่มีสิทธิบนที่ดิน ทั้งนี้เพราะเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ไม่มีสัญชาติ ผลจากการไม่มีที่ดิน ทำให้เผชิญกับความยากจน หิวโหย และยังทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร และต้องเข้าไปเป็นแรงงาน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ

ในมิติความเท่าเทียมทางเพศ น้องแอร์ได้เล่าว่าคนในชุมชนมากกว่าครึ่งไม่มีสัญชาติ และผู้หญิงที่ไร้สัญชาติมีมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงไร้สัญชาติเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติอย่างซับซ้อน เพราะนอกจากจะเข้าไม่ถึงสิทธิเท่าเทียมในฐานะพลเมือง ยังเผชิญกับความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว มีผู้หญิงจำนวนมากในชุมชนที่ไม่สามารถพูด อ่านและเขียนไทยได้ เพราะเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
ในส่วนสิทธิความหลากหลายทางเพศ เธอกล่าว่า เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ในชุมชนของเธอ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและชุมชน

น้องแอร์ในฐานะที่เป็นคนที่รักได้ทั้งสองเพศ เธอเล่าว่า เธอต้องต่อสู้กับความคิดความเชื่อทั้งจากครอบครัวและชุมชน รวมถึงต่อสู้กับข้อท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ไม่ให้ถูกบังคับแต่งงานกับผู้ชาย ให้ได้มีโอกาสทางการศึกษา และเข้าถึงสัญชาติ ซึ่งเธอเพิ่งได้สัญชาติไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว การต่อสู้ทั้งหมดนี้เพื่อยืนยันสิทธิมนุษยชนของตนเองและชุมชนของเธอ

ในตอนท้ายน้องแอร์ได้เล่าถึงการทำงาน เพื้อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยปฏิบัติการสตรีนิยมแบบมีส่วนร่วม (Feminist Participatory Action Reseach) ซึ่งเป็นงานวิจัยระดับเอเชีย โดยได้รับการสนับสนุนจาก APWLD ร่วมกับโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เพื่อเสริมพลังอำนาจและสนับสนุนให้ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่มีสัญชาติ และเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการไม่มีสัญชาติ การไม่มีที่ดิน และเผชิญกับภัยภิบัติ ซึ่งจากการทำงานวิจัยนี้ เธอได้สะท้อนว่าผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศมีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง และสามารถทำงานวิจัย ซึ่งนับจุดเริ่มต้นที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง

ในส่วนของข้อเสนอแนะ น้องแอร์เสนอว่าในประเด็นเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อย เธออยากเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติ โดยต้องมีหลักประกันเป็นกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยเข้าถึงการมีสัญชาติได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้เธอยังเสนอเพิ่มเติมในมิติการเข้าไม่ถึงสัญชาติเพราะภาครัฐ ยังไม่มีนโยบายรองรับ ซึ่งผู้ประสบปัญหาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเธอเสนอว่ารัฐต้องมีบทบาทสำคัญเพื่อเอื้อให้มีกฎหมายและนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าสู่กระบวนการขอสัญชาติได้ โดยกระบวนการขอสัญชาติต้องไม่ซับซ้อนและไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อเสนอแนะในมิติส่งเสริมความเป็นธรรมทางเพศ เธอเสนอว่าภาครัฐและสังคม ต้องร่วมกันยุติการบังคับแต่งงานในเด็กและเยาวชนผู้หญิง รวมถึงเด็กเยาวชนต้องไม่ถูกทำร้ายและถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ ทั้งจากครอบครัว ชุมชน ระบบการศึกษาและสังคม รวมถึงส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาเด็ก เยาวชนและผู้หญิง

ในมิติสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เธอเสนอว่า ภาครัฐต้องรับรองและยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และเอื้อให้มีกฎหมายและนโยบายที่ปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิชุมชน ทั้งนี้เธอยังได้เสนอเพิ่มเติมในมิติสิทธิที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง ว่ารัฐต้องมีบทบาทผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดิน ให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิบนที่ดิน มีที่ทำกินและมีที่อยู่ที่ปลอดภัย เพราะที่ดินเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากผู้เข้าร่วมทั้ง 4 คน จะพบว่าเสียงและมุมมอง ตลอดจนข้อเสนอแนะของชุมชน/เครือข่าย ที่ประสบปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน มีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเข้าใจ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม 

ในส่วนของเวลาที่ 2 หลังพักเบรค ภาคเช้า เป็นเวทีที่ว่าด้วย การสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยคำนึงถึงกลไกการปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ (LBT & Non Binary) 
เวทีเน้นการพูดถึงประสบการณ์ที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผู้ร่วมพูดคุย เป็นผู้มีประสบการณ์ถูกคุกคาม อันสืบเนื่องมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิความหลากหลายทางเพศ และการมีอัตลักษณ์เป็น LBTและ Non Binary ทั้งนี้ผู้ร่วมพูดคุย นอกจากจะเล่าถึงบริบทและสถานการณ์การถูกคุกคาม ยังได้มีข้อเสนอแนะเพื่อปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ผู้พูดคนแรกใช้วิธิวีดีโอคอลเข้ามาร่วมพูดคุย คือ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิหลากหลายทางเพศ และสิทธิของพนักงานบริการ ทั้งนี้ศิริศักดิ์ นิยามว่าเป็นนักกิจกรรมอิสระ ที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ LGBTI และสิทธิพนักงานบริการ ที่ผ่านมาไม่นานนี้ได้มีบทบาทและประสบการณ์ไปขับเคลื่อนในรัฐสภา 3 ครั้ง เพื่อผลักดันให้มีการตั้งกรรมมาธิการหลากหลายทางเพศ


ศิริศักดิ์ ขณะเข้าพบ กสม.

ผลจากการไปขับเคลื่อน คือ สื่อได้นำเสนอข่าว ออกไป แต่การนำเสนอมีแง่มุมที่ถูกเหยียดสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยรวม แต่ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจงมาที่ตัวเธอคนเดียว ยกเว้นครั้งล่าสุด คุณศิริศักดิ์ เล่าว่าได้รับผลกระทบในเฟสบุ๊ค เพราะมีการมุ่งเป้าและใช้การเหยียดอัตลักษณ์ทางเพศ โดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ผลจากการถูกเหยียดและบูลลี่ในพื้นที่ออนไลน์ ทำให้ศิริศักดิ์ได้รับผลกระทบโดนตรงในวันที่เกิดเรื่องศิริศักดิ์ขี่รถรอบเชียงใหม่หลายรอบ ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ร้องให้ เพราะความตกใจ หลังจากนั้นก็มีอาการไม่อยากทานข้าว ไม่อยากเข้าบ้าน นอนไม่หลับต้องอาศัยยานอนหลับ เป็นเวลาร่วม 2 - 3 วันเพราะความเครียด แต่ท้ายที่สุดก็ได้ตัดสินใจโพสต์ข้อความลงไปในเฟสบุ๊คของตนเอง โดยได้เอาโพสต์ที่ถูกเหยียดเหล่านั้น มาเปิดเผยให้คนรับรู้จนเกิดเป็นกระแส ในสังคมออนไลน์

ในตอนท้ายก่อนที่จะมีข้อเสนอแนะ ศิริศักดิ์กล่าวว่า ตนจะเชื่อมั่นว่าทุกคนมีสิทธิในการแสดงออก มีสิทธิในการความคิดเห็น แต่เชื่อว่าไม่ควรจะใช้อัตลักษณ์มาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนักเคลื่อนไหวที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มากไปกว่านั้น ที่ศิริศักดิ์พูดเพิ่มเติม คือประเด็นที่เกิดขึ้นระหว่างที่ภาคประชาคมประเทศไทย ได้เป็นตัวแทนจัดงานประชุม ASEAN Civil Society Conference/ Asean People Forum 2019 ศิริศักดิ์ได้รับอีเมลล์ลับข่มขู่ ว่า “ให้คิดถึงความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนๆ ที่อยู่ในการประชุม ไม่อยากให้เราพูดเรื่องถึงความมั่นคง หรือข้อเสนอที่ส่งผลกระทบต่อภาครัฐ”

ศิริศักดิ์เสนอว่า อยากให้รัฐออกกฎหมายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา เรื่องการบูลลี่ ในพื้นที่ออนไลน์ซึ่งเป็นการคุกคาม โดยต้องตีความเรื่องการสร้างความเกลียดชัง ซึ่งใช้พื้นฐานเรื่อง อัตลักษณ์ สีผิว ศาสนา การเมือง ฯลฯ และพัฒนากลไกปกป้องนักสิทธิมนุษยชนและโดยมีคู่มือ สำหรับนักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

จากนั้นผู้ร่วมเสวนาคนต่อมา คือ ดาราณี ทองศิริ ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นเฟมินิสต์ คอลัมนิสต์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศ โดยอดีต เธอเป็นเจ้าของร้านหนังสือและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดาราณีเล่าประสบการณ์ว่า เคยถูกคุกคามเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ในระหว่างที่เริ่มทำทีมฟุตบอลเพื่อคนที่มีความหลาหลายทางเพศและผู้หญิง ตอนนั้นมีสารคดีของทีมฟุตบอลของเธอ มีโอกาสได้นำเสนอในช่องไทยพีบีเอส ซึ่งมีข่าวออกไปช่วงสั้นๆ เมื่อเริ่มออกอากาศ ได้มีกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัย มีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดฯ บางคน รวมถึงมีนักวิชาการที่ได้เขียนบทความ ว่าการทำทีมฟุตบอลที่เธอร่วมก่อตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ล่อแหลม ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านซึ่งรุนแรง และมีดีกรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงปรักปรำ กล่าวหา รวมถึงการขู่ฆ่า ซึ่งทำให้ดาราณีเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าออกจากบ้าน

ในระหว่างนั้น เธอได้มีการขอความช่วยเหลือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อติดกล้องวงจรปิด ผลจากการคุกคามในช่วงนั้นทำให้เธอต้องหยุดการทำงานนานถึง 3 เดือน และมีปัญหาเรื่องทรอม่าหลังจากผ่านความรุนแรง ทำให้สูญเสียพื้นที่ทำงานไปในที่สุด

เธอวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ทำงานประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ในบริบทพื้นที่ ที่มีความขัดแย้ง เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และแก้ไขเท่าที่ควร เพราะมีช่องว่างทางกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดในพื้นที่ออนไลน์ ในกรณีนี้ เธอซึ่งถูกใช้ความรุนแรงไม่สามารถพูดออกสื่อได้เพราะอาจส่งผลกระทบต่อประเด็นสถานการณ์สามจังหวัด ที่มีความอ่อนไหว และเมื่อไม่มีระบบสนับสนุนปกป้อง คุ้มครอง ช่วยเหลือ จึงทำให้ต้องแบกรับสถานการณ์ไว้เพียงลำพัง 

ในตอนท้าย ดาราณี มีข้อเสนอแนะว่า ต้องมีการส่งเสริมการผลิตสื่อ ในพื้นที่ออนไลน์ให้มากขึ้นเพื่อต่อสู้และช่วงชิงพื้นที่และให้ความรู้ต่อสังคมในมิติสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคม นอกจากนี้ต้องช่วยกันสร้างขบวนการเคลื่อนไหว รณรงค์ส่งเสริมให้พื้นที่ออนไลน์ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง และเพื่อป้องกัน แก้ไข ปัญหาการคุกคามสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องส่งเสริมวิธีการทำงานที่ปลอดภัยให้กับนักเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อปกป้อง คุ้มครอง เมื่อมีการคุกคามนักเคลื่อนไหวซึ่งต้องครอบคลุมพื้นที่ออนไลน์ด้วย

คนสุดท้ายที่ร่วมพูดคุยในเวทีนี้คือ มัจฉา พรอินทร์ เธอนิยามตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เฟมินิสต์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้หญิง สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อย สิทธิความหลากหลายทางเพศและสิทธิที่ดิน เธอเป็นผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ซึ่งทำงานด้านส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเสริมพลังอำนาจ ให้กับเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง 

มัจฉาได้เล่าประสบการณ์ว่า เธอและครอบครัวรวมถึงองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนในขณะนั้นถูกคุกคาม สืบเนื่องมาจากประเด็นที่ทำงานและอัตลักษณ์ที่เป็นหญิงรักหญิง โดยนับตั้งแต่วันที่ 12 - 22 เมษายน 2560 เธอได้ถูกคุกคามโดยการเผารอบๆ บ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสำนักงานโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์มัจฉาได้ไปแจ้งความและได้ทำการลงบันทึกประจำวันไว้ในที่สุด ซึ่งในระหว่างที่เกิดความรุนแรง มัจฉารู้สึกว่าไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายเท่าที่ควร เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง

ในส่วนของผลกระทบจากการถูกคุกคาม ทำให้เธอ ครอบครัวและรวมถึงเยาวชนที่อยู่ในโครงการสร้างสรรค์อนาคตในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เกิดความหวาดกลัว ทรอม่า จนไม่สามารถทำโครงการฯ ต่อโดยใช้พื้นที่ในโครงการสร้างสรรค์ตามแผนที่วางไว้ได้ เพราะต้องย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยนาน 3 เดือน และจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำงานได้ เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้มัจฉา ยังได้เล่าว่าเธอเองก็ได้ขอรับการช่วยเหลือฉุกเฉินจากกองค์กรระหว่างประเทศ

ในส่วนของข้อเสนอ มัจฉาได้สะท้อนในเวทีว่านักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากต้องความตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานในทุกมิติ ต้องตระหนักถึงความเปราะบางของกลุ่มเป้าหมายที่ตนทำงานด้วย ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่นักปกป้องสิทธิ์ต้องเผชิญ และเมื่อนักปกป้องสิทธิเองมีอัตลักษณ์ที่เป็นชายขอบ เช่น มีความหลากหลายทางเพศ จึงต้องมีองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ตลอดจนร่วมกันสร้างกลไกปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิในทุกระดับ เพื่อให้มั่นใจว่า นักปกป้องสิทธิ์เองต้องมีความปลอดภัยในการทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้เธอเสนอว่าต้องมีการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมถึงเรื่องการปกป้องคุ้มครอง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งต้องครอบคลุมความปลอดภัยต่อร่างกาย ทรัพย์สินและบนพื้นที่ออนไลน์/อินเตอร์เน็ต และต้องปลอดจากการถูกฟ้องกลั่นแกล้งโดยใช้กฎหมายจากการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และระดับนานาชาติ นอกจากนี้มัจฉา ยังเสนอให้มีการสนับสนุนงบประมาณและให้การช่วยเหลือนักป้องปองสิทธิ์ในภาวะฉุกเฉิน เพราะเมื่อเผชิญกับการคุกคาม นักปกป้องสิทธิ์ บางกรณีทั้งครอบครัว จำเป็นจะต้องออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต เป็นต้น

เวทีที่ 3 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย คือ TED-TALK ว่าด้วย #MeToo หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ น่าจะหมายถึง การรณรงค์ว่าความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมจำนวนมาก ได้เกิดขึ้นกันฉันด้วย ทั้งนี้ก่อนที่ผู้ร่วม TED-TALK ทั้ง 2 คนจะพูด มัจฉา พรอินทร์ ผู้ดำเนินรายการได้อธิบายแคมเปญ #MeeToo คร่าวๆ ว่าเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวสังคมที่ต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ ยาวนานมาร่วมสิบปีแต่ได้เป็นกระแสทั่วโลกเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีคน จากทั่วโลก รวมถึงคนที่มีชื่อเสียง ที่เคยถูกเคยถูกคุกคาม ข่มขืนหรือใช้ความรุนแรงทางเพศ ลุกขึ้นมาใช้พื้นที่ทั้งออนไลน์และพื้นที่เชิงกายภาพ ติดแฮชแท็ก #MeToo บอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ของตนเองในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ถูกคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ และเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม ต่อคนที่ถูกละเมิด คุกตามทางเพศ 

จากนั้น หญิงหอม จากองค์กร MAP Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้บอกเล่าประสบการณ์และความยากลำบาก ในฐานะผู้หญิงแรงงานข้ามชาติที่ต้องย้ายมาอยู่ในประเทศไทย ทั้งปัญหาเรื่องสิทธิแรงงาน ปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ การไม่ได้เรียนหนังสือรวมถึงการถูกบังคับแต่งงาน และเมื่อแต่งงานไปแล้วยังเผชิญกับความรุนแรง อันมีรากฐานมากจากเพศภาวะ ซึ่งเธอไม่ได้ถูกใช้ความรุนแรงโดยการถูกทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่มักจะจบลงด้วยการถูกข่มขืน จากคนที่เป็นสามี

เธอเชื่อว่า ไม่ใช่แค่เธอเท่านั้นแต่ยังมีผู้หญิงอีกมากกมายที่ประสบปัญหาเหล่านี้ และผู้หญิงที่ถูกข่มขืนไม่กล้าพูด ในกรณีถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติจะไม่กล้าไปแจ้งความเพราะสถานะแรงงานข้ามชาติ อาจรวมถึงการไม่มีบัตรแรงงาน หรือบัตรหมดอายุ และไม่สามารถสื่อสารภาษาไทย ไม่รู้กฎหมายในประเทศไทย เข้าไม่ถึงบ้านพักฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังอาจถูกคนในครอบครัว และคนรอบข้าง สนับสนุนให้อยู่ในความรุนแรง เพราะมองว่าความุรนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ

หญิงหอม ยังได้เล่าถึงการทำงานขององค์กรที่เธอสังกัดอยู่ ว่า ที่องค์กร MAP เห็นความสำคัญของปัญหาที่มีรากฐานมาจากมิติทางเพศ ต่อแรงงานข้ามชาติหญิง จึงได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนผู้หญิง เป็นพื้นที่ฟังและเปิดโอกาสที่ให้ผู้หญิงมาเจอกัน ได้พัฒนาตัวเอง จนเกิดตัวแทนผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ไปร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงที่หลากหลายจากทั่วประเทศเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง โดยกำหนดเจตนามรมณ์และความต้องการของตนเองในการแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอต่อสังคม เช่น เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน สร้างความตระหนักว่างานในบ้านเป็นงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม ต้องสร้างการศึกษาทางเลือกที่หลากหลาย เป็นต้น

คนสุดท้ายของ TED TALK/ #MeToo มาจาก สมาชิก Young Pride Club ชื่อ ณัฐมน สะเภาคำ ปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาภาควิชาสตรีศึกษา และนักเรียนทุนสหรัฐอเมริกา YSEALI 2019 ทั้งนี้ณัฐมนได้แนะนำว่า Young Pride Club คือองค์กรเยาวชน ที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ในมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นเธอได้เล่าประสบการณ์การต่อสู้กับความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการการตระหนักว่าได้ถูกคามทางเพศ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ผู้ละเมิดเป็นลูกจ้าง ที่มาทำงานในบ้านของเธอ เธอถูกลวนลามทางเพศ แม้จะรู้สึกไม่ปลอดภัยแต่ตอนนั้นที่ยังเป็นเด็กเธอไม่กล้าบอกใคร จนเมื่อเริ่มโตขึ้น เธอได้เผชิญเหตุการณ์การถูกคุกคามทางเพศอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอได้ถูกคนงานในบ้านแอบได้ดูตอนเธอกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้อง จากเหตุการณ์นั้นเธอได้บอกแม่ แต่แม่ของเธอไม่รู้จะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร ได้แต่บอกให้เธอระมัดระวังตัวเอง และแม่ไม่ได้มีการพูดคุยหรือตักเตือนคนงาน ซึ่งผล คือ ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพการณ์นั้น จนกระทั่งเธอเรียนจบและต้องออกจากบ้านเพื่อไปต่อในระดับมหาวิทยาลัย 

ณัฐมนสะท้อนว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นอิสระมากขึ้น เธอมีแฟนแต่ก็ไม่ได้บอกทางบ้านของเธอ การคบกับแฟนของเธอนั้นไม่ราบรื่น โดยเธอเล่าว่า แฟนเป็นคนที่ควบคุม ไม่ชอบให้เธอเป็นตัวของตัวเอง ที่มีความมั่นอกมั่นใจ แฟนไม่ยอมให้ไปเที่ยวไหนและอยากให้เธอเป็นผู้หญิงในอุดมคติที่เขา เธอจึงอยากเลิกกับแฟน แต่เขาไม่ยอม และขู่ว่าจะแบล็กเมล์ โดยจะเอารูปลับที่เคยถ่ายเธอไว้ทั้งหมด ไปโพสต์ลงเฟสบุ๊ค และหลังจากนั้นยังมีการทำร้ายร่างกายเธออีกหลายครั้ง จนเธอทนไม่ไหว และตัดสินใจเลิกกับแฟนในที่สุด แต่ก็ยังคงถูกคุกคามจากอดีตคู่รัก

เธออยู่กับความหวาดกลัวและสับสน อยู่นาน จนเธอต้องหาทางออก เพราะเริ่มเครียดและทนไม่ไหว เธอเล่าว่า เธอต้องรวบรวมความกล้า เพื่อที่จะลุกขึ้นมาบอกพ่อ ว่า “แฟนเก่าหนูรังควานหนูมากเลย ตอนนั้นหัวใจแตกสลายแล้ว แต่สิ่งที่พ่อบอกคือ ไม่ต้องกลัวให้ไปแจ้งตำรวจ แล้วก็ไปหาลุง” ผลจากการบอกพ่อวันนั้น ทำให้เธอได้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ ที่ปลอดภัย จากที่เธอกังวลว่าพ่อจะดุด่า แต่เธอพบว่าพ่อให้กำลังใจและช่วยเหลือ เธอได้ไปแจ้งความ ทำให้เธอหลุดออกจากวงจรการถูกข่มขู่แบล็กเมล์จากอดีตคนรัก 

ท้ายที่สุด ณัฐมน สรุปว่าที่เธอหลุดออกมาจากความรุนแรงจากคู่รัก ได้นั้นมาจากการที่เธอทลายกำแพงวัฒนธรรมทางเพศความเชื่อว่าด้วย "ผู้หญิงดี"และลุกขึ้นสู้ จนหลุดออกมากได้ และเธอได้เพิ่มเติมในตอนท้ายว่าต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศ ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียวทำไม่ได้ เธอเรียกร้องให้ผู้ชายตระหนักว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนที่อยากถูกล่วงละเมิดทางเพศ #MeToo เป็นเรื่องของผู้ชายด้วย ที่ต้องส่งเสียงสนับสนุนให้เกิดการยุติความรุนแรงทางเพศ เพราะนี้เป็นเรื่องของทุกคน

ท้ายเวที มัจฉา กล่าวสรุปปิดเวทีว่าเรื่องความรุนแรงทางเพศ นอกจากเสียงของผู้ถูกใช้ความรุนแรงเป็นเสียงสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องการเรียกร้องให้กฎหมายและนโยบายปกป้องคุ้มครองผู้เสียหาย ให้ได้รับความเป็นธรรม ถ้าเราไม่สร้างการเปลี่ยนแปลง จะไม่มีที่ไหนเลยที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ห้องนอน ในครัว หรือแม้แต่ในพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ เราต้องร่วมกันสร้างสังคมให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน และต้องร่วมกันยุติความรุนแรงทางเพศให้ได้

หลังจากจบ 3 เวที เครือข่ายได้ร่วมกันจัด 2 Workskop เพื่อให้เครือข่ายได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการณรงค์ระดับโลกในช่วง 16 วันกิจกรรมรณรงค์ ได้แก่ 1) การเต้นรณรงค์หนึ่งพันล้านเสียงยุติความรุนแรง หรือ One Billion Rising และ 2) การเปิดตัวเครือข่ายเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวในระดับโลก Women’s Global Strike : ถ้าผู้หญิงหยุด โลกหยุด ซึ่งเครือข่ายทั่วโลกจะออกมาร่วมกันแสดงจุดยืนและพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นรูปธรรมพร้อมกันทั่วโลกในช่วงวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2563 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ งานของภาคประชาสังคม ที่นอกจากที่จะต้องทำงานชุมชน เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศ ยังมีความจำเป็นต้องส่งเสียงและได้รับพื้นที่สร้างความเข้าใจให้กับสังคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ในการผลักดันให้สังคมของเรา เท่าเทียม เป็นธรรม โดยเฉพาะในวันนี้ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน นอกจากจะทำให้ผู้คนได้ระลึกถึงจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน สังคมไทยน่าจะต้องถูกกระตุก ให้ขบคิดต่อว่า เราจะสร้างความเข้มแข็งด้านแนวคิดและนำไปสู่ภาคปฏิบัติการทั้งในฐานะของปัจเจค ชุมชน และสังคม อย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับได้อย่างไรบ้างทั้งในมิติสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 
 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net