สุรพศ ทวีศักดิ์: เสรีภาพ(ไม่)ต้องมีศีลธรรมกำกับ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในบ้านเราที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธ อิทธิพลความคิดทางศีลธรรมศาสนาก่อปัญหาต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เราคิด 

ยกตัวอย่างเช่น เราได้ยินพระและคนทั่วไป กระทั่งปัญญาชน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย สื่อมวลชนพูดเป็นเสียงเดียวกันเสมอๆ ว่า “เสรีภาพต้องมีศีลธรรมกำกับ” และศีลธรรมแบบที่เราเข้าใจกันในสังคมนี้ก็คือ “ศีลธรรมศาสนา” ดังนั้น การที่รัฐและสถาบันศาสนาปลูกฝัง ส่งเสริมศีลธรรมศาสนาให้เข้มแข็งและกำกับการใช้เสรีภาพให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมจึงเป็นหน้าที่ต้องทำ

แต่ในสังคมเสรีประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพเป็น “คุณค่า” (value) พื้นฐานของประชาธิปไตย และถือเป็น “ศีลธรรม” สมัยใหม่เรียกว่า “ศีลธรรมโลกวิสัย” (secular morality) ที่เป็นหลักการสากลหรือหลักการทั่วไปที่คนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาต้องยึดถือปฏิบัติรวมกัน 

นักปรัชญาเสรีนิยมอย่างอิมมานูเอล คานท์ มองว่า “การละเมิดสิทธิคนอื่นมีความผิดทางกฎหมาย แต่ในทางศีลธรรมเพียงแค่คิดจะละเมิดสิทธิคนอื่นก็ผิดแล้ว” ดังนั้น สำนึกเคารพสิทธิและเสรีภาพจึงเป็นสำนึกทางศีลธรรมสากล

เมื่อเสรีภาพเป็นศีลธรรมสากล จึงนำศาสนาหรือศีลธรรมศาสนามากำกับเสรีภาพไม่ได้ แต่หลักเสรีภาพต่างหากที่ต้องกำกับศีลธรรมศาสนา ดังนั้น จึงต้องยกเลิกระบอบการปกครองที่ใช้ “อำนาจเทวสิทธิ์” ตามความเชื่อทางศาสนาของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ และแทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย 

ในระบอบเสรีประชาธิปไตย หลักเสรีภาพจึงเป็นหลักการที่กำกับศาสนาและศีลธรรมศาสนา ในความหมายสำคัญสองประการ คือ

ประการแรก ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา คือเสรีภาพในการนับถือ ไม่นับถือ ปฏิเสธ หรือเปลี่ยนศาสนาก็ได้ รวมทั้งเสรีภาพในการเลือกคุณค่า ศีลธรรมตามแนวคิดปรัชญาใดๆ หรือความเชื่ออื่นๆ เสรีภาพทางศาสนาสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเสรีภาพทางความคิดเห็น มโนธรรมสำนึก การพูด และการแสดงออก 

เพื่อให้หลักประกันดังกล่าวนี้ รัฐจึงต้องเป็นกลางทางศาสนา ห้ามการบัญญัติศาสนาประจำชาติ หรือห้ามการนำหลักความเชื่อทางศาสนาใดๆ มาใช้เป็นหลักการปกครองและบัญญัติกฎหมาย

ประการที่สอง ป้องกันไม่ให้มีการใช้ศาสนา, ศีลธรรมศาสนา หรือศีลธรรมตามความเชื่อใดๆ ในทางละเมิดเสรีภาพของคนอื่น หรือการใช้ศาสนา ความเชื่อใดๆ สร้างความรุนแรงในสังคม 

ตามแนวคิดเสรีนิยม หลักเสรีภาพมี “ขอบเขต” ของตัวมันเองชัดเจนอยู่แล้วว่า ปัจเจกบุคคลสามารถใช้เสรีภาพทำอะไรก็ได้ภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น หลักเสรีภาพจึงไม่ต้องการศีลธรรมศาสนา (ซึ่งโดยทั่วไปมักขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน) มากำกับ แต่หลักเสรีภาพต่างหากที่ต้องกำกับศาสนาและศีลธรรมศาสนาในความหมายสองประการดังกล่าว

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมองจากหลักเสรีภาพ การส่งเสริมศาสนาในบางแนวทางย่อมเป็นสิ่งที่ผิด เช่น การบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังความเชื่อและศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ย่อมเป็นการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคล 

ตามความคิดคานท์การละเมิดดังกล่าวถือว่า “ผิดศีลธรรม” เนื่องจากเสรีภาพเป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ การละเมิดเสรีภาพจึงเป็นการละเมิดศักดิ์ศรี (dignity) ของมนุษย์อย่างถึงราก เพราะสิ่งบ่งบอกถึงความมีศักดิ์ศรีหรือความสง่างามของมนุษย์ก็คือ การที่เราแต่ละคนมีเสรีภาพในการเลือกคุณค่า ศีลธรรม หรือสิ่งที่ตนเองคิดว่าดีได้ด้วยการใช้เหตุผลหรือปัญญาของตนเอง ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับยัดเยียดจากคนอื่น ศาสนจักร รัฐ หรือจารีตประเพณีของสังคม

พูดอีกอย่าง ในสังคมเสรีประชาธิปไตย ศีลธรรมศาสนาถือเป็น "ศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล" ที่ไม่สามารถจะใช้กำกับศีลธรรมโลกวิสัยที่เป็นสากลได้ เพราะถ้าอ้างศีลธรรมศาสนามากำกับศีลธรรมโลกวิสัยที่เป็นสากล ก็จะเกิดปัญหา เช่นการอ้างธรรมะ ธรรมาธิปไตย เผด็จการโดยธรรม คนดี ความดีในทางที่ขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย ดังที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ของอิทธิพลศาสนาในสังคมไทยก็คือ มันสร้างวัฒนธรรมทางความเชื่อ ความคิด การอ้างเหตุผลบนฐานของศีลธรรมศาสนา ในทางที่ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในเสรีภาพ หรือระแวงเสรีภาพ เพราะถ้าปล่อยให้มีเสรีภาพมากคนก็จะทำอะไรตามกิเลส ตามอำเภอใจ ทำอะไรนอกกรอบความดีงามแบบศาสนา 

ทว่า “โฉมหน้า” ของสังคมที่ถูกควบคุมโดยความเชื่อและระเบียบศีลธรรมทางศาสนาเป็นอย่างไร เราเห็นได้ในสังคมการเมืองภายใต้ระบบอำนาจนิยมที่เรียกว่า “neo-Sultanism” ซึ่งผมขอสรุปสาระสำคัญจากคำอธิบายในหนังสือ “ประชาธิปไตยหลากความหมายหลายรูปแบบ” ของประจักษ์ ก้องกีรติ (2562: หน้า 25-27) มาให้เห็นภาพดังนี้

หลังปฏิวัติอิหร่าน ปี 1979 เกิดการสถาปนารัฐศาสนารองรับการเมืองระบบอำนาจนิยมในโลกอาหรับ คือระบบ neo-Sultanism ถือว่าผู้ปกครองมีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบโบราณ ไม่แยกระหว่าง "ส่วนตัว" กับ "ส่วนรวม" งบประมาณและทรัพยากรสาธารณะถูกใช้เพื่อเกียรติยศ อำนาจบารมีและความหรูหราของชนชั้นปกครองและครอบครัว กลไกระบบราชการถูกปรับให้เป็นข้ารับใช้ของชนชั้นปกครอง ศาสนากล่อมเกลาให้ผู้คนเชื่อในธรรมชาติที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความสามัคคี สงบสุขภายใต้ความจงรักภักดีต่อผู้ปกครองที่เข้มแข็ง สามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้เจริญและมั่นคง

แม้ว่าระบบอำนาจนิยม neo-Sultanism อาจจะมีรายละเอียดและความซับซ้อนต่างจากระบบอำนาจนิยมใน “ระบบประชาธิปไตยแบบไทย” แต่จะเห็นว่าสาระสำคัญไม่ได้ต่างกันมากนัก โดยเฉพาะลักษณะของ “อำนาจแบบโบราณ” ที่อิงความเชื่อทางศาสนา ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่า สังคมใดๆ ก็ตามที่นำหลักความเชื่อและศีลธรรมศาสนามากำกับเสรีภาพ ก็ย่อมทำให้เสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนถูกจำกัด/ลดทอนภายใต้อำนาจผูกขาดและอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ “แตะไม่ได้” ของชนชั้นปกครอง

ก็พูดๆ กันไปเป็นแฟร์ชันเท่านั้นแหละครับว่า “ธรรมที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาไม่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย” ซึ่งก็คงจะจริง แต่ตราบที่ “สถาบันศาสนา” ยังเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจชนชั้นปกครอง อย่าว่าแต่ธรรมที่เป็นแก่นแท้นั้นจะไม่สามารถส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตยของสังคมทางโลกได้เลย แม้แต่จะช่วยให้คณะสงฆ์มีอิสรภาพเลือกประมุข หรือคณะผู้บริหารระดับสูงของตนเอง หรือช่วยให้ชาวพุทธกลุ่มต่างๆ มีอิสรภาพปกครองตนเอง บริหารจัดการและเผยแผ่ศาสนาตามแนวทางของตนอย่างเท่าเทียม ตามหลักเสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง “ธรรมที่เป็นแก่นแท้” นั้น ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เลย

ดังนั้น เลิกเสียทีกับการใช้วาทกรรม “เสรีภาพต้องมีศีลธรรม (แบบศาสนา) กำกับ” เป็นเพราะกระแสการยึดถือผิดๆ ว่าต้องเอาธรรมะ ธรรมาธิปไตยมากำกับเสรีภาพและประชาธิปไตยนั่นแหละ จึงทำให้เกิดกระแสความรู้สึกระแวงเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างไร้เหตุผล จนระบบการเมืองของประเทศนี้ถอยหลังลงเหวอย่างที่เห็น 

 

ที่มาภาพ: https://www.matichonweekly.com/column/article_104596

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท