เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: คอมฟอร์ตโซนของคุณสุวิทย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกี่ยวกับการศึกษาของชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ข่าวสดเกี่ยวกับการอุดมศึกษาของไทยภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงฯ สิ่งที่คุณสุวิทย์แสดงความคิดเห็นมามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะคุณสุวิทย์เป็นผู้บริหารกระทรวงที่ส่งผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญาและระบบความคิดของคนทั้งประเทศ

จากการให้สัมภาษณ์ของคุณสุวิทย์ (https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_3126602)  สะท้อนทัศนคติและทิศทางการบริหารกระทรวงด้านการศึกษากระทรวงนี้ที่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านเศรษฐกิจของการศึกษาและเป็นความคิดด้านเศรษฐกิจที่คับแคบ เชื่อมโยงการศึกษากับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสั้นตื้นและฉาบฉวย 

อันที่จริงนโยบายที่เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีก็ควรจะสั้นตื้นและฉาบฉวยเพราะเป็นลักษณะเฉพาะของการแสวงหากำไร ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกท่านเหล่านั้นไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอะไรลึกซึ้งได้ แต่พวกท่านมีความจำเป็นเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้ประโยชน์จากความลึกซึ้งของท่านมุ่งไปแสวงหากำไรจนสายสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่ยาว ลึกและยั่งยืนไม่เป็นประโยชน์กระทั่งอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางเป้าหมาย แต่การคิดสั้นตื้นและฉาบฉวยเช่นนี้ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงเศรษฐกิจกับบริษัทเอกชนไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงทางปัญญาสมควรรับมาดำเนินการ ทั้งนี้ยังไม่ต้องถกเถียงว่าวงจรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้แสวงหากำไรระยะสั้นนั้นจะจะเป็นไปได้ด้วยดีมีประสิทธิภาพบนฐานทางปัญญาที่ยาวไกลกว่าและไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ

คุณสุวิทย์กำลังพัฒนาหลักสูตร non-degree, re-skill, up-skill หรือหลักสูตรที่ไม่มีปริญญาบัตรที่ไม่จำกัดผู้เรียนเฉพาะในหมู่นักศึกษาซึ่งส่วนที่ต้องการขยายการศึกษาออกไปนอกมหาวิทยาลัยและการใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมวงกว้างนี้ก็นับว่าเป็นหลักการที่สมควรกระทำ แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของสิ่งที่คุณสุวิทย์และพวกดำริที่จะทำคือการนำมหาวิทยาลัยไปรับใช้บริษัทเอกชน เมื่อพิจารณาจากให้การศึกษามุ่งเป้าไปที่วัยทำงาน นำหลักสูตรมาจากการระดมความคิด “ในหมู่เอกชนรายใหญ่ 10 ราย สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าฯ กับสมาคมธนาคารไทย” 

อันที่จริงสถาบันการศึกษาของรัฐทุนนิยมก็ย่อมรับใช้นายทุนอยู่แล้ว แต่การรับใช้นายทุนของมหาวิทยาลัยควรจะรับใช้อย่างมีสติปัญญากว้างขวางลึกซึ้งมากกว่าการผลักดันมหาวิทยาลัยไปรับใช้กลุ่มทุนขนาดใหญ่จำนวนน้อยไม่กี่เจ้าในประเทศที่เคยชินกับการฉวยใช้อำนาจรัฐอำนวยประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ยิ่งไปกว่านั้นในยุคที่ผู้บริโภคและตลาดมุ่งสู่การบริโภคสัญญะกันอย่างเต็มตัว นโยบายที่มุ่งผลิตสมองให้รับใช้เฉพาะโรงงานกับบริษัทย่อมไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างยิ่ง

“ความรู้” ในจินตนาการของคุณสุวิทย์นั้นค่อนข้างมีความหมายแคบจนแทนที่ด้วยคำว่าเทคโนโลยีได้ทั้งที่สองคำนี้มีความหมายต่างกันลิบลับ คุณสุวิทย์มีแนวโน้มที่จะเห็นความรู้เป็นเรื่องของการได้รับการศึกษาหรือมีประสบการณ์จนผู้ศึกษามีทักษะชนิดหนึ่งอยู่ในตัว แต่ความรู้นั้นไม่เคยเป็นเรื่องของทักษะเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมีด้านความสามารถในการคิดหรือ “คิดเป็น” ควบคู่กันไปเสมอ เพราะถ้ามีเพียงทักษะมนุษย์กับหุ่นยนต์ก็คงจะไม่แตกต่างกัน และการคิดเป็นของมนุษย์ก็ไม่เหมือนการคิดเป็นของหุ่นยนต์เพราะการคิดเป็นของหุ่นยนต์นั้น “คิดเป็น” ตามกรอบโปรแกรมที่กำหนดไว้ให้ (ซึ่งน่าจะเหมือนเปี๊ยบกับสิ่งที่คุณสุวิทย์และพรรคพวกอยากให้เยาวชนไทย “คิดเป็น”) ในขณะที่การคิดเป็นของมนุษย์นั้นมีความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ

การเรียนรู้แต่ทักษะกับการคิดเป็นตามกรอบที่ผู้มีอำนาจกำหนดนี่เองส่งให้ผู้เรียน “จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปีสิ่งที่เรียนมาโดยเฉลี่ยใช้ไม่ได้แล้ว” อย่างที่คุณสุวิทย์พูด ในขณะที่ความรู้ที่ทำให้คิดเป็นนั้นผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ดัดแปลงได้ตามศักยภาพของตนเอง

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องภาวะคอมฟอร์ตโซนของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งคุณสุวิทย์อาจจะพูดถูกแต่ก็เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่คุณสุวิทย์พูดมาคือพูดอย่างไม่รอบด้านและแคบ อีกทั้งตรรกะในเรื่องนี้ของคุณสุวิทย์ก็ย้อนแย้งในขณะที่คุณสุวิทย์เห็นว่าปัญหาคอมฟอร์ตโซนของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของการอยู่ในตลาดไม่แข่งขันแต่คุณสุวิทย์กลับเสนอให้ควบรวมหลักสูตรซึ่งทำให้เกิดตลาดผูกขาด!!!

การอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจจะเป็นเรื่องของการอยู่ในตลาดที่ไม่แข่งขันก็จริง แต่ต้นเหตุของการอยู่ในสภาวะไม่แข่งขันของอาจารย์มหาวิทยาลัยเกิดจากอะไร? กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้ที่อยู่ในอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในคอมฟอร์ตโซนเพราะอยู่ในอำนาจที่ตรวจสอบโดยสังคมยาก (เน้นว่าโดยสังคมไม่ใช่โดยกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง)

การเข้าถึงอำนาจและมีอำนาจโดยไม่มีฐานอำนาจและการตรวจสอบจากสังคมต่างหากทำให้ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในคอมฟอร์ตโซนเพราะไม่ต้องมีความรับผิดรับชอบกับผู้ใด ใช้อำนาจโดยพละการโดยเอาความเห็นและผลประโยชน์ของพวกพ้องจำนวนน้อยเป็นที่ตั้ง (คุณสุวิทย์ถึงกล้าพูดว่า “ไม่อย่างนั้นผมไม่ให้” ราวกับว่างบประมาณกระทรวงศึกษานั้นเป็นเงินส่วนตัวของคุณสุวิทย์) 

ดังนั้นนโยบายที่วางอยู่บนฐานเป้าหมายทางเศรษฐกิจคับแคบแบบอำนาจนิยมจึงจะผันงบประมาณกระทรวงทางปัญญาที่ควรใช้เพื่อพัฒนาประเทศในภาพรวมไปเป็นนโยบายและแบบฟอร์มที่คอยสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยและกิจกรรมที่สอดรับพอเหมาะพอเจาะกับอาจารย์และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีปลายทางของงานวิจัย “ที่มีประโยชน์” สำหรับกลุ่มบุคคลจำนวนน้อยที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และอาจารย์และนักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ว่าจะมีฝีมือหรือมีงานวิจัยที่มีคุณภาพหรือตัวชี้วัดรูปธรรมที่ดีเด่นแค่ไหนอย่างไร มันก็จะเป็นผลงานในมิติเดียวที่ปราศจากการแข่งขันจากผู้อื่นเนื่องจากอำนาจกำหนดนโนบายและงบประมาณไว้เช่นนั้น

อำนาจรวมศูนย์อันมีที่มาที่ไปคับแคบและเพื่อเป้าหมายที่คับแคบโดยปราศจากการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากสังคมต่างหากคือที่มาของคอมฟอร์ตโซน

การแก้ปัญหาคอมฟอร์ตโซนของอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรวมหรือไม่รวมหลักสูตรหรือเอามหาวิทยาลัยไปแข่งขันไต่อันดับโลกโดยตัวมันเองเพราะเป็นปัญหาปลายเหตุ ปัญหานี้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจ จะแก้ปัญหานี้ก็ต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของตัวแสดงและสถาบันต่าง ๆ ในระบบการศึกษาของไทยใหม่ เป็นต้นว่าลดอำนาจอาจารย์ เพิ่มอำนาจนักศึกษา ทำได้อย่างไร? ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ไม่ต้องมีพิธีไหว้ครูก็อาจเป็นช่องทางหนึ่ง 

ในขณะเดียวกันก็ต้องยกเลิกการผูกขาด ดังนั้นหน่วยงานให้ทุนวิจัยของประเทศก็ควรจะมีหลายหน่วยงานมากกว่าหน่วยงานเดียวที่ทำงานตามเป้าหมายรัฐบาลที่มักจะสั้น ตื้นและฉาบฉวย และที่สำคัญที่สุดจะต้องลดอำนาจการบริหารจัดการการศึกษาโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจำนวนน้อยลงด้วย เพราะการผูกขาดอำนาจนี้เองเป็นต้นตอของปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

การจะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยออกจากคอมฟอร์ตโซนจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการออกจากคอมฟอร์ตโซนของผู้มีอำนาจ ถ้าผู้มีอำนาจไม่ยอมออกจากคอมฟอร์ตโซนของตนเองก่อน นโยบายเพื่อรื้อคอมฟอร์ตโซนของอาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเพียงการสร้างคอมฟอร์ตโซนให้ตนเองและพวกพ้องเท่านั้นเอง 

    

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ข่าวสด ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์‘อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะคอมฟอร์ตโซน’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท