Skip to main content
sharethis

"การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะมีความหมายอะไรถ้าการคุกคามทางเพศยังมีอยู่" เครือข่ายนักกิจกรรมส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยุติการคุกคามทางเพศในกลุ่มนักกิจกรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันในเรื่องความปลอดภัยต่อทุกเพศภายในขบวนการเคลื่อนไหว

10 ธ.ค. 2562 เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้ร่วมกันยุติการคุกคามทางเพศในกลุ่มนักกิจกรรม โดยระบุว่าการคุกคามทางเพศและอคติทางเพศสร้างพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน และเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพในการเคลื่อนไหวของขบวน

โดยจดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่าการคุกคามทางเพศ คือ “การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดในเชิงเพศ หรืออึดอัดเกี่ยวกับความเป็นเพศของตนเอง และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ” นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างรูปแบบการคุกคามทางเพศที่พบในกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม เช่น

การแซวหรือวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาและเสื้อผ้า, การตั้งคำถามเกี่ยวกับความโสดหรือสถานภาพการสมรสของผู้หญิงบ่อย ๆ, การพูดจีบอยู่เสมอแม้ได้รับการปฏิเสธ, การจับหัว จับตัว จับหลังมากเกินไป

การจองห้องพักที่ทะลุถึงกันโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือการพยายามขอเข้ามาในห้องพัก, การพูดล้อเล่นถึงเพศใดเพศหนึ่งเสมือนไม่มีคุณค่าหรือเป็นของเล่นทางเพศให้เพศนั้นได้ยิน แม้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ, การพูดในเชิงต้องการมีความสัมพันธ์หรือเพศสัมพันธ์แบบล้อเล่น, พูดลอย ๆ พูดกระทบ แซว การรุกเร้าขอมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

นอกจากนี้ จดหมายดังกล่าวยังระบุว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของอำนาจที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ และความเสียหายทางจิตใจจะมากขึ้นเมื่อผู้กระทำเป็นผู้ที่มีอำนาจทางสังคมมากกว่าผู้ถูกกระทำ และมีความสามารถทำให้อีกฝ่ายถูกเบียดขับออกจากพื้นที่หรือไม่ได้รับการยอมรับได้ เช่น เป็นรุ่นพี่ เป็นหัวหน้างาน หรือเป็นคนที่สามารถเข้าถึงช่องทางหรือเครือข่ายต่าง ๆ ได้มาก 

“เราขอเรียกร้องให้เพื่อนร่วมขบวนการและนักสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกเพศ ใช้ความกล้าหาญ หัวใจที่รักความเป็นธรรม และเจตจำนงค์เพื่อเสรีภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน และร่วมกันยุติการคุกคามทางเพศในกลุ่มเพื่อนร่วมอุดมการณ์  ถึงเวลาแล้วที่นักสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะสนับสนุนซึ่งกันและกันในเรื่องความปลอดภัยต่อทุกเพศภายในขบวนการ ไม่ทนต่อการทำร้ายและบั่นทอนด้วยการคุกคามทางเพศ เอื้อให้ผู้กระทำได้เรียนรู้ และโอบอุ้มผู้ถูกกระทำ แทนการตำหนิหรือตั้งคำถาม” จดหมายเปิดผนึกระบุ

จดหมายฉบับดังกล่าวมีองค์กรที่ร่วมลงนามคือ กลุ่มการเมืองหลังบ้าน กลุ่มโรงน้ำชา (Togetherness for Equality and Action – TEA) กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และร่วมลงนามโดยสุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และชุทิมา ชื่นหัวใจ จากกลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง นอกจากนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะให้ผู้เข้าร่วมงาน Tai Pride : Be Proud of Diversity 2019 ที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่สวนครูองุ่น มาลิก ร่วมลงนามด้วย

000

"การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะมีความหมายอะไรถ้าการคุกคามทางเพศยังมีอยู่"

10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักกิจกรรมทางสังคม

การสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกคุกคามทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกไม่ได้ของสังคมที่เป็นธรรม

การคุกคามทางเพศและอคติทางเพศสร้างพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน ทำให้ผู้ที่เป็นเป้าของการถูกกระทำตึงเครียด หวาดระแวง หรือหวาดกลัว และทำให้บุคคลแวดล้อมรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ความสบายใจ และพลังภายในของคนในขบวนการ เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไปของขบวนอย่างเต็มศักยภาพ และเป็นเรื่องที่ควรได้รับการจัดการดูแล เพื่อให้การทำงานของพวกเราปลอดภัยจากภายในกลุ่ม และเพื่อนร่วมทางทุกคนสามารถมีความสุขกับการทำงาน

การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของอำนาจที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ ความเสียหายทางจิตใจจะมากขึ้นเมื่อผู้กระทำเป็นผู้ที่มีอำนาจทางสังคมมากกว่าผู้ถูกกระทำ เช่น เป็นรุ่นพี่ เป็นหัวหน้างาน เป็นคนทำงานที่เข้าถึงช่องทางหรือเครือข่ายได้มาก มีความสามารถทำให้อีกฝ่ายถูกเบียดขับออกจากพื้นที่หรือไม่ได้รับการยอมรับได้ การเป็นผู้ชายเองก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะเป็นเพศที่ได้รับอนุญาตให้มีอิสระในเรื่องเพศโดยไม่มีบทลงโทษทางสังคมมากเท่าผู้หญิง

การคุกคามทางเพศ คือ การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดในเชิงเพศ หรืออึดอัดเกี่ยวกับความเป็นเพศของตนเอง และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ รูปแบบที่พบในกลุ่มคนทำงานทางสังคม ได้แก่

- การแซวหรือวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาและเสื้อผ้า
- การตั้งคำถามเกี่ยวกับความโสดหรือสถานภาพการสมรสของผู้หญิงบ่อย ๆ 
- การพูดจีบอยู่เสมอแม้ได้รับการปฏิเสธ 
- การจับหัว จับตัว จับหลังมากเกินไป  
- การจองห้องพักที่ทะลุถึงกันโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือการพยายามขอเข้ามาในห้องพัก 
- การพูดล้อเล่นถึงเพศใดเพศหนึ่งเสมือนไม่มีคุณค่าหรือเป็นของเล่นทางเพศให้เพศนั้นได้ยิน แม้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
- การพูดในเชิงต้องการมีความสัมพันธ์หรือเพศสัมพันธ์แบบล้อเล่น พูดลอย ๆ พูดกระทบ แซว
- การรุกเร้าขอมีเพศสัมพันธ์
- ฯลฯ

เราขอเรียกร้องให้เพื่อนร่วมขบวนการและนักสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกเพศ ใช้ความกล้าหาญ หัวใจที่รักความเป็นธรรม และเจตจำนงค์เพื่อเสรีภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน และร่วมกันยุติการคุกคามทางเพศในกลุ่มเพื่อนร่วมอุดมการณ์  ถึงเวลาแล้วที่นักสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะสนับสนุนซึ่งกันและกันในเรื่องความปลอดภัยต่อทุกเพศภายในขบวนการ ไม่ทนต่อการทำร้ายและบั่นทอนด้วยการคุกคามทางเพศ เอื้อให้ผู้กระทำได้เรียนรู้ และโอบอุ้มผู้ถูกกระทำ แทนการตำหนิหรือตั้งคำถาม

ด้วยความศรัทธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net