ยกเลิกเกณฑ์ทหาร(1): ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลก?

เมื่ออนาคตใหม่เร่งเครื่องข้อเสนอ ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’

การยกเลิกเกณฑ์ทหารกำลังเป็นกระแสอย่างมากในปัจจุบันหลังพรรคอนาคตใหม่เสนอ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฉบับใหม่ที่จะเปลี่ยนจากระบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคเดียวที่เสนอเรื่องนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ยังมีพรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

กระนั้น หลังจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นสภาพความเป็น ส.ส.จนอาจนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาและการยุบพรรค พรรคก็ผลักดันเรื่องนี้โดยไม่รีรอ เสมือนใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด 

กฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนนำไปสู่การบังคับใช้จริงได้หรือไม่คงเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป แน่นอนว่ามันไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากฝั่งรัฐบาล แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ก็ได้กล่าวคัดค้านแนวคิดดังกล่าวหลังจากนั้นไม่นานนัก โดยบอกว่าทหารยังมีความสำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติ และเห็นว่าระบบเดิมดีอยู่แล้ว

การผลักดันยกเลิกเกณฑ์ทหารถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อจุดหนึ่งของสังคมไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือชายไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21-26 ปี เฉลี่ยแล้วกองทัพจะประกาศความต้องการทหารประมาณปีละ 100,000 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องบังคับเกณฑ์ทหารประมาณปีละ 60,000 ราย

ส่วนผู้สมัครใจเกณฑ์ทหารด้วยตนเองประมาณปีละ 40,000 รายยังไม่พบข้อมูลว่าเลือกสมัครเพื่อลดระยะเวลาการเกณฑ์จาก 2 ปีเหลือ 6 -12 เดือน เป็นสัดส่วนเท่าใด หรือสมัครเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด 

อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับเต็มว่าหน้าตาชัดๆ จะเป็นอย่างไร โจทย์เรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหารจึงยังเป็นคำถามปลายเปิด และยังมีพื้นที่ให้เจรจาต่อรองถึงความเป็นไปได้รูปแบบต่างๆ

สำหรับเนื้อหาในเบื้องต้นตามที่ พล.ท.พงศกร รอดชมพู ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอไว้ก็คือ

  • อายุผู้รับการเกณฑ์ทหารจะลดลงจาก 21 ปี เป็น 18 ปี
  • เกณฑ์เฉพาะช่วงที่มีสงคราม รัฐมนตรีมีอำนาจในการเรียกเกณฑ์ทหาร
  • เกณฑ์ได้ 1 ปีเท่านั้นโดยให้ฝึกขั้นต้น 3 เดือน ขั้นสูง 3 เดือน และให้รอดูสถานการณ์ว่าจะมีสงครามหรือไม่อีก 6 เดือน
  • ในภาวะปกติคนทุกเพศที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี สามารถสมัครเกณฑ์ทหารได้ตามสมัครใจ โดยจะมีสวัสดิการและเงินเดือนให้ เพิ่มเวลาการฝึกเพิ่มความชำนาญจาก 2 ปี เป็น 5 ปี และสามารถขึ้นเป็นทหารกองประจำการได้ปกติ คือ นายทหารประทวนและนายทหารสัญญาบัตร โดยจะมีการจัดสอบทุก 5 ปี และกำหนดเกษียณตอน 46 ปี เป็นได้ถึงยศพันโท

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการยกเลิกเกณฑ์หทารไม่ใช่เรื่องใหม่หรือถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในสังคมไทย  

ใครบ้างเคยเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร

อันที่จริงสังคมไทยคุ้นเคยกับการผลักดันเพื่อยกเลิกเกณฑ์ทหารมาบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยพยายามเสนอให้รัฐธรรมนูญ 2517 กำหนดไว้ในมาตรา 29 ว่า “บุคคลมีเสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือ” แทนคำว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการไม่ต้องเกณฑ์ทหารได้บนฐานของมโนธรรมสำนึก ไม่ใช่แค่พระหรือนักบวชของศาสนาต่างๆ เพียงอย่างเดียว 

ความพยายามดังกล่าวของป๋วยไม่ประสบความสำเร็จ และข้อความดังกล่าวก็ยังปรากฏเรื่อยมา โดยปัจจุบันอยู่ในมาตราที่ 31 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขององค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2540 ในมาตรา 18 ของสนธิสัญญาดังกล่าวรับรองให้บุคคลมีเสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือ (และดังนั้นจึงรับรองสิทธิบุคคลในการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร) แต่ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเกณฑ์ทหารของไทยซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2497 ไม่สอดคล้องกับทิศทางของสนธิสัญญาดังกล่าว

ความพยายามในการยกเลิกเกณฑ์ทหารเคยเกิดขึ้นในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยแถลงนโยบายต่อสภาในฐานะนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 ว่าจะต้องมีการ “ปรับปรุงระบบการคัดเลือกทหารให้เป็นไป ด้วยความสมัครใจ” แต่เนื่องจากพล.อ.ชวลิตประกาศลาออกกระทันหันหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน ปี 2540 แผนในการยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ร่างไว้จึงไม่ได้มีการนำไปทำต่อ 

การยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นประเด็นอีกครั้งภายใต้บรรยากาศการเมืองปัจจุบันโดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นจากข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหารที่มีการรายงานออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงเวลาที่ทหารควบคุมการเมืองเบ็ดเสร็จยาวนาน

ข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้พบว่า ตั้งแต่ปี 2550 มีทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 15 คน (ดูรายชื่อผู้เสียชีวิต) รวมไปถึงกรณีล่าสุดในปีนี้เกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลทหารลือชานนท์ นันทบุตร หลายคนจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน

คนแรกๆ ที่ออกมาเสนอให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารหลังการรัฐประหารปี 2557 คือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่ประกาศตนเป็นผู้คัดค้านการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลมโนธรรมสำนึกในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน และขอผ่อนผันเกณฑ์ทหารเป็นครั้งที่ 3 แล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ต่อมาในปี 2558 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ผู้ลี้ภัยทางการเมืองก็ทวีตท้าทายเช่นกันว่า “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพลและนายทหารระดับสูงลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จะมีพรรคการเมืองไหน มีความกล้าหาญพอจะเสนอนี่เป็นนโยบายไหม?”

4 ปีต่อมาหลังการท้าทายของสมศักดิ์ มีพรรคการเมืองที่เสนอว่าจะปฏิรูปกองทัพแล้วจริงๆ หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

งานวิจัยเผย ระบบไพร่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม

แม้จะมีการเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหารอยู่เนืองๆ แต่มันก็ยังมีพลังไม่มากพอจะท้าทายระบบไพร่ที่แทรกซึมอยู่ในการบังคับเกณฑ์ทหารและฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานกว่าร้อยปี 

งานวิจัยประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารของธนัย เกตวงกต โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ระบุว่า การเกณฑ์ทหารรูปแบบสมัยใหม่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังมีการประกาศทดลองใช้ ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) โดยเริ่มที่มณฑลนครราชสีมาก่อน

บริบทก่อนเกิดข้อบังคับนี้คือ ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดกบฎขึ้นในสยามหลายครั้งเช่นการขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง (สมัยที่ยังขึ้นกับสยามอยู่) ในปีพ.ศ.2428 กบฏผีบุญ ร.ศ.120 (พ.ศ.2444–2445) รวมถึงผู้ร้ายที่ก่อการจลาจลในมณฑลพายัพเมื่อ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) กอปรกับอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มขยายอำนาจระบอบอาณานิคมเข้ามาในอินโดจีน 

ระบบการเกณฑ์ทหารรูปแบบเก่าก่อนหน้านี้ไม่สามารถหากำลังพลได้เพียงพอ การเกณฑ์ทหารในยุคโบราณผูกติดอยู่กับระบบไพร่ โดยชายทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปีจะต้องเข้าทะเบียน “เกณฑ์เลข” กับเจ้าพนักงานด้วยการสักท้องมือระบุสังกัด จากนั้นขึ้นตรงกับขุนนางตามหัวเมืองต่างๆ แต่เนื่องจากระบบนี้เปิดโอกาสให้จ่ายเงินแก่ขุนนางเพื่อผ่อนผันการเกณฑ์ทหารมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา คนจึงพยายามจ่ายเงินเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหารมาตลอด เพราะ “คนที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารในช่วงเวลานี้...ถูกมองว่ามีสถานะที่ต่ำกว่าไพร่ทั่วไป คือเป็นคนที่ไม่มีเงิน หรือเป็นคนต้องโทษ” นอกจากนี้ยังเป็นพวก “จำเป็นต้องทำหน้าที่เหมือนผู้ใช้แรงงานโดยไม่มีทางเลือก” 

เพื่อหากำลังพลให้เพียงพอต่อการปราบกบฏและรับมือกับการล่าอาณานิคม รัชกาลที่ 5 จึงเริ่มใช้การเกณฑ์ทหารรูปแบบบังคับเป็นครั้งแรก และกำลังพลต้องขึ้นตรงต่อสถาบันกษัตริย์โดยตรงภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แทนที่จะขึ้นกับขุนนางและหัวเมืองต่างๆ

ทั้งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งจบวิชาการทหารจากต่างประเทศเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงกองทัพสยาม หลังจากประกาศข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร รัชกาลที่ 5 ก็ทรงประกาศเลิกทาสต่อมาใน ร.ศ. 124 โดยส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อลดอิทธิพลของขุนนางและเพิ่มอำนาจรวมศูนย์ของสถาบันกษัตริย์

ผ่านไปร้อยกว่าปี แม้ว่ารูปแบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล แต่อิทธิพลระบบไพร่ที่ยังอยู่ในการเกณฑ์ทหารก็คือ การนำพลทหารไปรับใช้นอกราชการ ซึ่งงานวิจัยระบุว่าเป็นความต่อเนื่องมาจากอดีต 

“สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการนำพลทหารไปเป็นทหารรับใช้หรือทหารบริการนั้น เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต กล่าวคือ ในอดีตก่อนที่จะมีการปฏิรูปทางการทหารให้มีความทันสมัย ขุนนางเป็นผู้ควบคุมไพร่และสามารถจะมีไพร่ติดตามคอยรับใช้ที่เรือนได้ตลอดเวลา ต่อมาภายหลังการปฏิรูปทางสังคมยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส ส่งผลให้ขุนนางไม่สามารถจะมีไพร่หรือทาสไว้รับใช้ที่เรือนได้ จำเป็นต้องใช้เงินในการจ้างตอบแทน ขณะที่ฝ่ายทหารเกือบทุกกรมกองและลำดับชั้นก็ไม่สามารถจะมีนายทหารรับใช้ ยกเว้นนายทหารสัญญาบัตรที่มีหน้าที่ปกครองทหารในกรมกองและผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นขึ้นไปเท่านั้นที่มีอนุญาตให้มีทหารรับใช้ได้ เพราะเป็นการประหยัดพระราชทรัพย์ของพระเจ้าอยู่หัว [รัชกาลที่ 5]”

งานวิจัยระบุด้วยว่า “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่นายทหารผู้ช่วยพลรบต่างๆ จำนวนมากเพราะไม่สามารถมีทหารรับใช้ได้ จึงต้องการจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าว อันเนื่องจากก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ”

แม้ว่าความพยายามในการเปลี่ยนแปลงข้อระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ของทหารจะไม่ประสบความสำเร็จในรัชกาลที่ 5 แต่อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่ามันกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งในปัจจุบัน หลังจากทหารมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ไม่ว่าการนำ “ไพร่/พล” มาเป็นทหารบริการจะสอดคล้องกับระเบียบปัจจุบันหรือไม่ก็ตาม

“จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แต่เดิมเรื่องการครอบครองไพร่หรือทาสหรือทหารรับใช้เป็นอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งของขุนนางที่มีมาแต่เดิมตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปทางด้านสังคมให้ยกเลิกระบบไพร่และระบบทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับอภิสิทธิ์ของขุนนางดังกล่าวยังคงสืบทอดอยู่ต่อเนื่องมา เมื่อสถาบันทางทหารเริ่มมีอำนาจอีกครั้งจึงเป็นการหวนกลับไปสู่การเกิดระบบทหารรับใช้ต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และกลายเป็นที่ยอมรับสืบทอดต่อกันมา โดยไม่ได้ถูกตั้งคำถามอย่างจริงจังในสังคมไทยแต่อย่างใด"

ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งจากงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือการที่กฎหมายเกณฑ์ทหารได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการยกเว้นเอาไว้เสมอ แม้หลักเกณฑ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นอกจากนี้งานวิจัยยังพบเห็นตัวอย่างการหนีทหารมาโดยตลอด

ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนว่าชายไทยไม่อยากเกณฑ์ทหารตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน การหาจุดสมดุลระหว่างความมั่นคงและเสรีภาพเป็นปัญหาทางทฤษฎีและทางปฏิบัติที่สำคัญมาโดยตลอด คำถามคืออะไรจะเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทยได้บ้าง

ทางเลือกสำหรับสังคมไทย

หากลองพิจารณาตำราต่างๆ จะพบว่าการผลักดันเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่ได้มีอยู่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่เป็นประสบการณ์ของผู้คนมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์

ตัวอย่างเช่น นักบุญแม็กซิมิเลียนแห่งเทเบสซาที่ขอไม่มีส่วนร่วมในการเกณฑ์ทหารของกองทัพโรมันใน ค.ศ.295  เพราะเห็นว่าการเข่นฆ่าเป็นสิ่งผิดตามหลักศาสนาคริสต์ จนถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในที่สุด

กรณีของนักบุญแม็กซิมิเลียนนับว่าน่าสนใจ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่เรียกว่า “การคัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก (conscientious objection)” หมายถึงการคัดค้านเกณฑ์ทหารเพราะเชื่อว่าการจับอาวุธเพื่อเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งผิด ความเชื่อที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมาจากรากฐานของศาสนา แต่อาจจะมาจากมโนธรรมสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีของคนคนนั้นเองก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่นำไปสู่การยกเลิกเกณฑ์ทหาร อาจไม่ได้มาจากศาสนาหรือศีลธรรมเกี่ยวกับการสงครามด้วยตัวมันเองเสมอไป แต่อาจมาจากเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องศีลธรรมสูงส่งด้วยก็ได้ เช่น การเกณฑ์ทหารทำให้พลาดโอกาสสำคัญในชีวิต ไม่มีโอกาสดูแลครอบครัวในยามยาก ไม่อยากเผชิญกับความรุนแรงในค่ายทหาร

วิธีการหลีกเลี่ยงเกณฑ์ทหารของคนในประเทศต่างๆ

ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย

การต่อต้านระบบเกณฑ์ทหาร

ขอใช้สิทธิของผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก บนฐานความเชื่อทางจริยธรรมและศาสนา

ขอใช้สิทธิของผู้คัดค้านด้วยมโนธรรมสำนึก ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญในความเชื่อทางศาสนาและจริยธรรมอย่างไม่จริงใจ

ปฏิเสธที่จะไปลงทะเบียนเพื่อเกณฑ์ทหาร ในประเทศที่กฎหมายกำหนดให้ต้องลงทะเบียน

ขอใช้สิทธิผ่อนผัน เมื่อยังอยู่ในระหว่างกำลังศึกษา

ขอใช้สิทธิผ่อนผัน เมื่อนักเรียนนักศึกษาตั้งใจศึกษาในโรงเรียนต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

ไม่รายงานผลการตรวจร่างกาย หรือผลการคัดเลือกทหาร หรือไม่ไปรายงานตัวในประเทศที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำ

ขอใช้สิทธิผู้ป่วยทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเจ็บป่วยจริงและร้ายแรง

ขอใช้สิทธิผ่อนผัน เมื่อนักเรียนนักศึกษาตั้งใจศึกษาในโรงเรียนต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

มีส่วนร่วมในการเผาหมายเรียกเกณฑ์ทหาร หรือการเข้ามอบตัว

ขอใช้สิทธิคนรักเพศเดียวกัน เมื่อเป็นคนรักเพศเดียวกันจริง ๆ และกองทัพไม่รับคนรักเพศเดียวกันเป็นทหาร

ขอหรือจ้างให้หมอออกใบรับรองว่าผู้เข้าคุณสมบัติไม่สามารถเกณฑ์ทหารได้เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

ใช้เอกสารปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น หลังจากตรวจพบว่าหนีทหาร

ขอใช้สิทธิคนจน เมื่อยากจนจริง ๆ และกองทัพรับรองสิทธิดังกล่าว

ขอใช้สิทธิคนรักเพศเดียวกัน แม้ไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกัน

หนีไปยังประเทศอื่น แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก

ทำงานในตำแหน่งที่รัฐบาลรับรองให้ยกเว้นเกณฑ์ทหารได้

ขอใช้สิทธิคนจน แม้ไม่ได้จนถึงขนาดที่กล่าวอ้าง

ยอมเข้าคุก แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกหรือบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน

จ่ายเงินเพื่อยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ในประเทศที่อนุญาตให้สามารถทำได้

จงใจสอบไม่ผ่านในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทหาร

 

จัดประท้วงอย่างสันติบนท้องถนนเพื่อคัดค้านการเกณฑทหาร หรือสร้างขบวนการต่อต้านสงคราม งเห็นว่าการต่อต้านการเกณฑ์ทหารเป็นส่วนคัญที่ขาดไม่ได้ของขบวนการดังกล่าว

จับฉลากแล้วไม่ถูกเลือก หรืออายุไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร

ตั้งใจมีครรภ์เพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในประเทศที่ผู้หญิงต้องเป็นทหาร

สนับสนุน ส่งเสริม ให้หนีเกณฑ์ทหาร และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่หนีการเกณฑ์ทหาร

ไม่มีเงินจ่ายค่าเกราะ เมื่อรัฐบาลกำหนดให้ต้องนำเกราะมาเอง

ขอให้คนที่มีอิทธิพลในกระบวนการเกณฑ์ทหารช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

ทำลายเอกสารของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเกณฑ์ทหาร

 

ติดสินบนเจ้าพนักงานที่รับผิดชอบกระบวนการเกณฑ์ทหาร

ก่อเหตุหรือมีส่วนร่วมในการจลาจลเพื่อต่อต้านการเกณฑ์ทหาร

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Draft_evasion

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าผู้คนในโลกมีเหตุผลและวิธีการในหลีกเลี่ยงหรือคัดค้านการเกณฑ์ทหารหลากหลายวิธี วิกิพีเดียรวบรวมเอาไว้ได้ถึง 32 วิธี แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ วิธีการภายใต้กรอบของกฎหมาย วิธีการที่ใช้ช่องโหว่ของกฏหมาย และวิธีการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฏหมาย ขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ก็ได้พยายามพัฒนาระบบเพื่อรองรับแนวคิดการไม่เกณฑ์ทหารไว้หลายรูปแบบ 

ข้อมูลจาก Pew Research Center ของสหรัฐอเมริการายงานในเดือนเมษายน 2562 ว่า ปัจจุบันประเทศทั้งหมด 191 ประเทศทั่วโลกที่หาข้อมูลได้ มีประเทศที่ยังบังคับเกณฑ์ทหารในบางรูปแบบอยู่ประมาณ 60 ประเทศ ถือว่าน้อยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นประเทศที่บังคับเกณฑ์ผู้ชายเป็นทหารเท่านั้น 45 ประเทศ และบังคับเกณฑ์ทั้งชายและหญิงด้วยทั้งหมด 11 ประเทศ ส่วนอีก 4 ประเทศไม่ทราบเพราะไม่มีข้อมูลเรื่องเพศกำหนดไว้ 

ส่วนประเทศที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้ว แบ่งเป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารอีกต่อไปแล้ว 85 ประเทศ ประเทศที่ไม่มีกองทัพประจำการ 23 ประเทศ และมีกฎหมายเกณฑ์ทหารแต่ไม่มีการบังคับใช้ 23 ประเทศ 

ประเทศที่ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ในบางรูปแบบ

ที่

ประเทศ

เพศ

บำเพ็ญประโยชน์ทดแทน*
[บางประเทศอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ]

1.

รัสเซีย

ชายเท่านั้น

มี

2.

ฟินแลนด์

ชายเท่านั้น

มี

3.

สวีเดน

ทั้งชายและหญิง

มี

4.

นอร์เวย์

ทั้งชายและหญิง

ไม่ต้องบำเพ็ญประโยชน์​ทดแทน

5.

เดนมาร์ก

ชายเท่านั้น

มี

6.

เกาหลีเหนือ

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

7.

เกาหลีใต้

ชายเท่านั้น

มี (เฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพเท่านั้น)

8.

มองโกเลีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

9.

คาซัคสถาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

10.

เวียดนาม

ชายเท่านั้น

ไม่มี

11. 

ลาว

ชายเท่านั้น

ไม่มี

12.

ไทย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

13.

สิงคโปร์

ชายเท่านั้น

ไม่มี

14.

คีร์กีซสถาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

15.

ทาจิกาสถาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

16.

อุซเบกิสถาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

17.

เติร์กเมนิสถาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

18.

อิหร่าน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

19.

คูเวต

ชายเท่านั้น

ไม่มี

20.

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ชายเท่านั้น

ไม่มี

21.

การ์ตา

ชายเท่านั้น

ไม่มี

22.

จอร์เจีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

23.

อาร์เมเนีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

24.

อาร์เซอร์ไบจาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

25.

ตุรกี

ชายเท่านั้น

มี

26.

ซีเรีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

27.

เอสโตเนีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

28.

ลัตเวีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

29.

ลิทัวเนีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

30.

เบลารุส

ชายเท่านั้น

ไม่มี

31.

ยูเครน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

32.

มอลโดวา

ชายเท่านั้น

ไม่มี

33.

สวิตเซอร์แลนด์

ชายเท่านั้น

มี

34.

ออสเตรีย

ชายเท่านั้น

มี

35.

กรีซ

ชายเท่านั้น

มี

36.

โมร็อกโก

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

37.

แอลจีเรีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

38.

ตูนีเซีย

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

39.

อียิปต์

ชายเท่านั้น

ไม่มี

40.

ซูดาน

ชายเท่านั้น

ไม่มี

41.

เอริเทรีย

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

42.

มาลี

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

43.

ไนเจอร์

ไม่ทราบข้อมูล

ไม่มี

44.

เบนิน

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

45.

เซเนกัล

ไม่ทราบข้อมูล

ไม่มี

46.

กินี-บิสเซา

ไม่ทราบข้อมูล

ไม่มี

47.

อิเควทอเรียลกินี

ไม่ทราบข้อมูล

ไม่มี

48.

แองโกลา

ชายเท่านั้น

ไม่มี

49.

โมซัมบิก

ทั้งชายและหญิง

ไม่มี

50.

บราซิล

ชายเท่านั้น

ไม่มี

51.

โบลิเวีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

52.

ปารากวัย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

53.

โคลอมเบีย

ชายเท่านั้น

ไม่มี

54.

เวเนซุเอลา

ชายเท่านั้น

ไม่มี

55.

คิวบา

ชายเท่านั้น

ไม่มี

56.

เม็กซิโก

ชายเท่านั้น

ไม่มี

57.

อิสราเอล

ทั้งชายและหญิง

มี

58.

ไซปรัส

ชายเท่านั้น

มี

59.

เอลซัลวาดอร์

ชายเท่านั้น

ไม่มี

60.

กัวเตมาลา

ชายเท่านั้น

ไม่มี

ในจำนวนประเทศที่มีและไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร หากเข้าไปดูเป็นรายประเทศจะพบว่าแต่ละประเทศมีการบริหารจัดการความมั่นคงแตกต่างหลากหลาย

ในบริบทของการเมืองของไทย ระบบเหล่านี้มีความเหมาะสมมากน้อยต่างกันไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเสนอให้เปลี่ยนจากระบบบังคับไปสู่ระบบสมัครใจไปแล้ว คงสร้างข้อจำกัดให้พรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ในสังคมไม่สามารถขยับกลับไปสู่ข้อเสนอที่รอมชอมกับกองทัพกว่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะพบว่าระบบสมัครใจเป็นหนึ่งในทางเลือกหลายๆ รูปแบบที่มีอยู่ในโลก

ในตอนหน้าเราจะทำความเข้าใจกันแบบละเอียดในระบบสมัครใจของสหรัฐอเมริกา ต่อด้วยโมเดลที่แตกต่างออกไปอีก ไม่ว่าแบบออสเตรียหรือคอสตาริกา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท