หญิงไทยผู้สร้างครอบครัวในเดนมาร์ก : เมื่อไทยไร้โอกาส แต่รัฐสวัสดิการมอบชีวิตใหม่อีกครั้ง

 

คุยกับ สมหมาย คำสิงห์นอก จากสารคดี 'Heartbound (รักเอย)' ตามติดชีวิตเหล่าหญิงชาวอีสานที่แต่งงานไปอยู่ประเทศเดนมาร์ก เล่าถึงชีวิตที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน พี่สาวที่ป่วยตายเพราะไม่มีสวัสดิการรักษาจากรัฐ การตัดสินใจคว้าหาโอกาสที่พัทยา และการโบยบินสู่เดนมาร์ก ประเทศที่ทำให้เธอได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง

 


สมหมาย คำสิงห์นอก

 

"จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันบาป แต่ทำไงได้ ก็มันทำไปแล้ว ถ้าจะตกนรกก็ต้องตก ถามว่าอายไหม ก็อายมาก"

คือสิ่งที่ สมหมาย คำสิงห์นอก วัย 64 ปี พูดใน Q&A ของหนังสารคดีเรื่อง 'Heartbound (รักเอย)' ซึ่งเกี่ยวกับเหล่าหญิงชาวอีสานที่แต่งงานและอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก โดยเยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) และ ซิเนอ พลามเป็ก (Sine Plambech) นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์ก ที่ตามติดชีวิตพวกเธอกว่า 10 ปี

สมหมายคือหญิงไทยคนแรกๆในแคว้นทุ (Thy) ของเดนมาร์ก หลังจากทำงานที่พัทยาได้ 9 เดือน เธอก็เจอกับนีลส์ และตัดสินใจไปอยู่อาศัยที่เดนมาร์กกับเขาหลังจากนั้น ตามด้วยการเป็นแม่สื่อ คอยช่วยเหลือญาติพี่น้อง เหล่าหญิงสาวผู้มีอดีตน่าเศร้าให้ได้พบรักอยู่กินกับชาวเดนมาร์ก จนปัจจุบันแคว้นทุมีหญิงไทยอยู่อาศัยกว่า 900 คน

จนถึงตอนนี้ "เมียฝรั่ง" ก็ยังคงเป็นคำที่ทำให้สมหมายรู้สึกต่ำต้อย ไม่เข้าพวก แม้จะผ่านมานาน 30 กว่าปีนับแต่เธอได้ผัวฝรั่ง มีเงินมีทองส่งกลับบ้านให้ญาติพี่น้องไม่เคยขาด สายตาคนในหมู่บ้านเริ่มมองเธอเปลี่ยนไปในแง่ดี และเป็นตัวเอกในสารคดีชนะรางวัลที่เดินสายทั่วยุโรปและอเมริกาจนมาถึงไทย แต่ความรู้สึกผิดบาปและความอับอายยังคงเกาะกินเธอ

หนังฉายให้เห็นว่า เมื่อไปอยู่เดนมาร์ก ใช่ว่าพวกเธอเหล่านี้จะสบายมีผัวเลี้ยงดู พวกเธอยังคงทำงานหนักไม่ต่างจากเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือนอกจากพวกเธอจะส่งเงินกลับบ้านได้มากกว่าเดิมแล้ว เธอยังมีเงินเหลือพอจะนำมาจับจ่ายในสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ที่พวกเธอไม่เคยทำได้เลยตลอดชีวิตที่ผ่านมา

เรามีโอกาสได้นั่งสนทนากับสมหมายในบ่ายแก่วันหนึ่งก่อนที่สารคดีจะเริ่มฉาย มองอย่างไรเธอก็ดูสาวกว่าคนอายุ 64 ปี ความใจดีฉายในแววตาเธอ น้ำเสียงเธออ่อนโยน บางครั้งก็หนักแน่น บางครั้งก็เกิดจากความอัดอั้นถึงชีวิตที่ผ่านมา เราฟังเธอและเห็นความยากลำบากเหลือเกินในการเป็นพลเมืองของประเทศไทย เพราะสิ่งที่เธอย้ำนักย้ำหนาว่าประเทศนี้ไม่มีก็คือ ‘โอกาส’

“วัยเด็กเราคิดว่าเราขาดโอกาสมาก เราเป็นคนเรียนเก่ง ชอบเรียนมาก ไม่เคยเกเร แต่เราไม่มีโอกาส ตอนนั้นเราโทษพ่อแม่ แต่ตอนนี้เรารู้ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันไม่ใช่ที่พ่อแม่ แต่เพราะสังคมเราไม่อำนวยโอกาสให้เราเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างต้องใช้เงินหมด แม้แต่สมุด รองเท้า เสื้อผ้านักเรียน” สมหมายเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของเธอให้ฟัง

 

วัยเด็ก

 

สมหมายเกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นครูและเป็นผู้ใหญ่บ้าน พี่ชาย พี่สาว ของเธอได้เรียนหนังสือจนถึง มศ.5 แต่โชคร้ายที่ต่อมาพ่อแยกทางกับแม่และไปมีครอบครัวใหม่ แม่จึงไม่อาจส่งเธอกับพี่สาวคนติดกันให้เรียนต่อได้

หลังจบป.4 พี่ชายพยายามจะส่งให้เธอเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าโรงเรียนที่พาไปสมัครนั้นที่เต็ม สมหมายจึงเรียนซ้ำ ป.4 อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง ทั้งหมด 3 ครั้งเพื่อรอ ‘โอกาส’ แล้วเธอก็พบว่าโตเกินกว่าจะเริ่มต้นเรียน ป.5 กับเด็กคนอื่นแล้ว จึงเลือกมาทำงานรับจ้างรายวันในไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ได้วันละ 12 บาท

“ย้อนกลับไป ตอนเราอายุ 15-16 พ่อแม่ว่าอะไร เราก็จะเถียงว่า ก็นี่แหละ เห็นไหม คนมันไม่ได้เรียนหนังสือมันเป็นแบบนี้ ยิ่งพอเราเป็นสาว เวลาเราไปเจอเพื่อนฝูง เขาใส่ชุดนักเรียนมา โอ้โห เรายิ่งเสียใจ เราไม่ได้เรียน เราไม่มีโอกาส ทำยังไงเราถึงจะเหมือนเขา เราถึงมีโอกาสได้ใส่กระโปรงนักเรียนบ้าง แต่เราก็คิดว่าเราหมดโอกาสแล้ว เพราะเราโตแล้ว”

“เราก็ย้อนคิดว่าถ้าเรามีโอกาสเราก็คงได้ทำงานที่ดีกว่านี้ ถ้าเราได้เรียนหนังสือเราก็คงไม่ต้องไปเดนมาร์ก เพราะเพื่อนๆ สมัยนั้นพอได้เรียนหนังสือ ทุกคนก็ได้ทำงานหมด เป็นครูบ้าง หมอบ้าง แต่ก็น่าจะประมาณสัก 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้เรียนต่อ และคนที่ได้เรียนต่อเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้ทำงาน” สมหมายเอ่ยอย่างอัดอั้น

 

แต่งงานครั้งแรกและครั้งที่สอง

 

สมหมายเล่าว่า ชีวิตมาดีหน่อยก็ตอนแต่งงานครั้งแรก สามีเป็นจ่าอากาศเอก แต่งงานได้ 2-3 ปีก็คลอดลูกคนแรก และมีคนที่สองอยู่ในท้อง แต่โชคร้ายก็มาเยือนอีกเมื่อสามีโดนคดีต้องขึ้นศาล เนื่องจากของที่อยู่ในความรับผิดชอบเกิดหายไป จึงถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“พอหยุดปฏิบัติหน้าที่ แกก็ไปทำงานซ่อมไฟ แล้วก็โดนไฟช็อต แกเลยเสียชีวิต” สมหมายเล่า

หลังจากนั้นสมหมายก็กลับบ้านเดิมของเธอ หอบลูกคนหนึ่งและในท้องอีกคนหนึ่งกลับมาด้วย ในบ้านมีทั้งหมด 13 ชีวิตที่เธอต้องช่วยดูแล ขณะเดียวกันพี่สาวเธอก็ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เธอกลับมาทำงานรับจ้าง แต่ก็ยังไม่พอจุนเจือครอบครัว นั่นทำให้เธอตัดสินใจแต่งงานใหม่อีกครั้ง

“เราตัดสินใจแต่งงานใหม่เพื่อที่จะให้คนนั้นมาช่วยดูแลเรา ช่วยเราเลี้ยงลูก ก็เลยมีลูกอีก 2 คนกับสามีคนใหม่ ต่อมาสามีไปทำงานที่ซาอุฯ อยู่ไปอยู่มา ครอบครัวสามีก็บอกว่า ดูแล้วเป็นไปไม่ได้หรอกนะที่ลูกเขาจะไปทำงานเมืองนอกแล้วส่งมาจุนเจือ 10 กว่าชีวิต ทั้งที่จริงๆ เราก็ทำงานรับจ้าง หลานที่จบป.6 ก็รับจ้าง ช่วยกันทำมาหากิน แต่สรุปแล้วก็อยู่กันไม่ได้ เขาไม่สามารถมารับผิดชอบครอบครัวเรา เราก็เลยแยกกันด้วยดี ลูกก็อยู่กับเรา เขาก็ให้เงินมานิดๆหน่อยๆ” สมหมายเล่าอย่างสบายๆ ไม่มีทีท่าความโกรธเคือง

ขณะเดียวกันเธอบอกว่านั้นคือสาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจไปพัทยา

 

พัทยา

 

“ตอนเราตัดสินใจจะไปพัทยา ตอนนั้นลูกคนโตอยู่ม.1 แล้ว ก็บอกเขาว่า เธอพาน้องเข้าไปหาตากับยาย แม่จะไปพัทยา แล้วเราก็เขียนจดหมายให้ลูกคนโตถือไป ในจดหมายก็เขียนว่าจะไปทำงานที่พัทยา เพราะกลับไปบ้านก็คงต้องไปรับจ้าง ไม่รู้จะทำยังไงถึงจะพอกิน พี่สาวก็ต้องรักษา แล้วเราก็นั่งรถพาลูกไปโคราช มันจะมีรถวิ่งเข้าหมู่บ้านวันละ 1 เที่ยว เราก็ส่งลูกขึ้นรถ แล้วก็ไปพัทยา เงินค่ารถก็ได้จากที่เอาเครื่องเล่นเทปไปจำนำ ได้มา 400 บาท”

สมหมายเล่าว่า ชีวิตที่พัทยาค่อนข้างลำบาก เพราะเธอไปตอนอายุ 30 กว่าปีแล้ว ซึ่งถือว่าอายุมากกว่าคนอื่น และตอนนั้นเธอก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

“ส่วนใหญ่เราจะอยู่แต่ข้างหลังบาร์ ล้างแก้วอะไรไป จนเด็กคนอื่นถูกอ๊อฟไปแล้ว เราถึงจะมีโอกาสบ้าง พอเราหาเงินได้เราก็ต้องรีบส่งกลับบ้าน ทุกบาททุกสตางค์ ส่งบ้านหมด เราไม่มีโอกาสได้ใช้เงิน เราไม่มีโอกาสซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ใส่เอง แต่ไม่ได้มีใครบังคับเรานะ แต่เราก็รู้ว่าที่บ้านคนเยอะ ต้องกินต้องใช้”

สมหมายใช้ชีวิตเช่นนี้ในพัทยาได้ 9 เดือน ก็เจอกับนีลส์  

“เราเจอกันแค่ 9 วัน เขามาเที่ยวแล้วก็กลับไป แล้วเขาก็เขียนจดหมายมาบอกว่า ฉันชอบคุณนะ เราก็เขียนกลับไปว่า ฉันก็ชอบคุณ”

ทั้งคู่เขียนหากันอยู่ 2-3 เดือน สุดท้ายนีลส์เขียนมาชวนสมหมายให้ลองไปอยู่ที่เดนมาร์กด้วยกัน และแฟร์พอจะบอกว่าไม่ต้องแต่งงานกันก็ได้ ถ้าไม่อยากอยู่หรือไม่ชอบก็สามารถกลับได้ทุกเมื่อ

“เราก็พูดกับเขาตรงๆ ว่า เราอยากหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวนะ เขาบอกว่า ผมก็ไม่ใช่ผู้ชายที่รวย แต่มีบ้านให้อยู่ ถ้าแต่งงานกัน คุณก็สามารถเอาลูกไปอยู่ด้วยได้ วันข้างหน้าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็ช่วยเหลือครอบครัวคุณได้”

อาจด้วยความจริงใจเช่นนี้ของนีลส์ สมหมายจึงรู้สึกอุ่นใจขึ้น แม้กล้าๆกลัวๆที่จะไปยังดินแดนต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่มีแต่คนแปลกหน้า สมหมายก็ตัดสินใจเดินทางไปหานีลส์ที่แคว้นทุ และเพราะเหตุผลสำคัญคือในที่สุด ‘โอกาส’ ก็มาถึงเธอสักที

ปีเดียวกับที่เธอโบยบินสู่เดนมาร์ก พี่สาวของเธอก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และอีกหลายปีต่อมาสมหมายก็ป่วยด้วยโรคเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือเธอมีสวัสดิการการรักษาฟรีที่เดนมาร์ก

 

เดนมาร์ก ประเทศรัฐสวัสดิการ

 

“ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะรอดนะ”

สมหมายบอกแบบนั้น เธอป่วยอยู่ 3 ปีเต็มตั้งแต่ปี 2539-2542 ไม่สามารถทำงานได้ และต้องเข้าออกโรงพยาบาลประจำ อยู่ครั้งละ 1-2 เดือน หมอวินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ สมหมายต้องฉีดยาให้ตัวเองนาน 18 เดือน พร้อมกับการไปพบหมออยู่เรื่อยๆ จากสองอาทิตย์เป็นหนึ่งเดือน จากหนึ่งเดือนเป็นสองเดือน จากสองเดือนเป็นหกเดือน และเป็นปี จนถึงปี 2546 ก็หายเป็นปกติไม่ต้องรับการรักษาอีก

“ทุกวันนี้ไปตรวจสุขภาพก็ปกติแล้ว คิดว่าหายป่วยได้ก็คือเกิดใหม่เลย แล้วเขาให้เราไปขอประวัติการป่วยของพี่สาวที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราช โคราช สรุปว่าเราเป็นโรคเดียวกัน แต่พี่สาวเขาไม่มีโอกาสรักษา เขาป่วยอยู่ 7 ปี เขาตายตอนอายุ 38 ถ้าเราอยู่เมืองไทย เราก็ต้องตายเหมือนเขาเพราะไม่มีโอกาสรักษา”

“เรื่องสุขภาพนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ อยากจะให้รัฐบาลดูแลเรื่องตรงนี้ ถ้าเกิดเรามีคนมาดูแลในส่วนตรงนี้ ทั้งสุขภาพอนามัยหรือว่าการศึกษา เราก็จะมีโอกาสได้ทำอย่างอื่นบ้าง มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้บ้าง ไม่ต้องมาเป็นหนี้เป็นสิน อยากให้บ้านเรามีบ้าง” สมหมายสะท้อนความรู้สึกออกมา

ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ เดนมาร์กซึ่งถือว่าเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ยังมีสวัสดิการที่ครบถ้วนให้พลเมืองตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยแนวคิดว่า ทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าพวกเขาจะมีพื้นฐานหรืออุปสรรคในชีวิตอย่างไรก็ตาม

สมหมายเล่าว่าตอนที่เธอพาลูกคนเล็กมาที่เดนมาร์กเพื่อเข้าเรียนในระดับชั้น ป.1 เมื่อใกล้เปิดเทอมเธอสงสัยว่าทำไมสามีถึงไม่บอกให้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนให้กับลูกเลย คำตอบของนีลส์คืออุปกรณ์ทุกอย่าง หนังสือ สมุด ดินสอ โรงเรียนจัดไว้ให้พร้อมหมดแล้ว

 

ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกนระบุว่า สิทธิประโยชน์ที่จะได้จากรัฐสวัสดิการนี้ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนในทุกระดับชั้นจนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมอื่นๆ เงินสนับสนุนส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ซึ่งเทียบเท่ากับร้อยละ 14 ของงบประมาณรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนนักศึกษายังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐและค่าเบี้ยเลี้ยงรายเดือนสำหรับค่าอาหาร หนังสือ ค่าใช่จ่ายอื่นๆ ส่วนค่ารักษาพยาบาลใช้งบประมาณร้อยละ 8.6 ของ GDP  นอกจากนี้ส่วนใหญ่ของรายจ่ายภาครัฐร้อยละ 43 ถูกนำไปในกับ “ประกันสังคมและสวัสดิการ” เช่น สิทธิประโยชน์ของคนว่างงาน เงินบำนาญ

 

“อยู่ไปอยู่มาเราก็เริ่มเห็นโน่นนั่นนี่ อะไรเนี่ย มันช่างตรงข้ามกับบ้านเราเลย เราถึงมารู้ว่าเพราะอย่างนี้นี่เอง ฝรั่งเขาถึงไปเที่ยวบ้านเราได้ เพราะเขาทำงานเก็บเงิน เขาก็ใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อของ ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ แค่นั้น ส่วนอื่นเขาไม่ต้อง ถึงทุกวันนี้ เราอยากให้บ้านเราทำได้บ้าง สักครึ่งนึงของเขาก็ยังดี เราจะได้เอาเงินมาใช้ในสิ่งที่เราอยากทำบ้าง อย่างน้อยพาครอบครัวไปเที่ยวซักปีละครั้งก็ดี การไปเที่ยวได้มันเป็นข้อดีสำหรับเรานะ อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น ได้เห็นสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์”

“อยู่เดนมาร์กเสียภาษีเยอะมาก 39% จากเงินรายได้ แต่ข้อดีคือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราเสียภาษีไปมันจะย้อนกลับมาให้เราหมดเลย และมันจะมีข้อยกเว้นหลายอย่าง เช่น ถ้ามีลูกหลายคน ค่าใช้จ่ายเยอะ ก็อาจจะไม่เก็บภาษีเราเลย หรือถ้ารวยก็ต้องเสียภาษีเยอะกว่า” สมหมายเอ่ยชมสวัสดิการของเดนมาร์กไม่ขาดปาก

“แล้วถ้างั้นเงินก้อนแรกที่ได้จากการทำงานที่เดนมาร์กนอกจากส่งกลับให้ครอบครัวแล้วเราเอาไปใช้ทำอะไรเพื่อตัวเองไหม” เราถามเธออย่างนึกคำตอบว่าอาจจะนำไปซื้อชุดสวยๆที่เธออยากได้สักชุดหนึ่ง

“ก็ส่งบ้านนี่แหละ สิ่งที่ตัวเองมีความสุขคือได้ส่งบ้าน พี่สาวเราแต่ก่อนซื้อข้าวเป็นกิโล ก็ได้ซื้อเป็นกระสอบเลย เมื่อก่อนกระสอบป่าน เป็นร้อยโลเลยนะ แล้วก็ให้ลูกได้เงินไปโรงเรียนเต็มที่เลยนะ ห้าบาทสิบบาท ซื้อกระโปรงให้ลูก ซื้อกระโปรงให้เด็กทุกคน ไปร้านศรทองในตัวเมืองโคราชที่ขายชุดนักเรียนโดยเฉพาะ ชุดหนึ่งประมาณ 130 150 ลูกก็ได้ใส่ชุดนักเรียน คืออย่างน้อยเราไม่ต้องกลัวว่าพรุ่งนี้จะไม่มีข้าวแล้ว นี้คือความสุขที่สุด ความภูมิใจที่สุด ที่เราอยากจะทำมานานมาก” สมหมายเล่าพร้อมรอยยิ้ม

 

ชีวิตยามเกษียณ (3): ‘ชีวิตดี’ เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในชาตินี้

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(3): รัฐสวัสดิการในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน

 

"Heartbound รักเอย"
10 ปี กับการติดตามชีวิตหญิงอีสาน-ชายเดนมาร์ก 4 คู่
.
ตัวอย่าง https://www.facebook.com/watch/?v=587282762080192
.
ฉายแล้ววันนี้!
ที่ House Samyan (Wed 11: 11.00 / 12.30 / 17.35)
(Thu 12 / Sat 14 - Mon 16 / Wed 18: 12.50 / 17.30 / 19.45)
(Fri 13: 12.50 / 17.30 / 20.45)
(Tue 17: 11.50 / 17.30 / 22.15)
จองบัตรได้ที่ app - House Cinema
หรือ https://www.housesamyan.com/site/Movie/detail/393
.
ที่ Bangkok Screening Room
(https://bkksr.com/movies/heartbound)
.
เริ่มพฤหัส 12 ธ.ค. ที่ Lido Connect
(https://www.ticketmelon.com/lidoconnect/heartbound)
.
ภูเก็ต เสาร์ 7 ธ.ค. ที่ ร้าน หนัง(สือ)2521
(https://bit.ly/2OLrcDo)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท