เกรตา ทุนเบิร์ก 'เด็กเหลือขอ' ของ ปธน. บราซิล สู่บุคคลแห่งปีนิตยสารไทม์

ย้อนดูวีรกรรมของเกรตา ทุนเบิร์ก นักกิจกรรมรุ่นเยาว์ด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศผู้จุดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้ดังเป็นพลุแตกในปีนี้จนนิตยสาร 'ไทม์' ยกให้เป็นบุคคลแห่งปีที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนขวัญใจผู้อ่านทางบ้านได้แก่ผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงที่ตอนนี้ประเด็นลุกลามไปถึงสิทธิทางการเมืองและความเป็นธรรม รับคะแนนร้อยละ 30 จากคนโหวต 27 ล้านเสียง

กลาง: เกรตา ทุนเบิร์ก

12 ธ.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) นิตยสาร Time ได้เลือกให้เกรตา ทุนเบิร์ก นักกิจกรรมด้านวิกฤตภูมิอากาศอายุ 16 ปีจากสวีเดนเป็นบุคคลแห่งปี 2562 โดยนับเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้

ไทม์ระบุว่า "ทุนเบิร์กไม่ใช่ผู้นำของพรรคการเมืองหรือกลุ่มรณรงค์กลุ่มใด เธอไม่ได้เป็นคนแรกที่เตือนเรื่องวิกฤตภูมิอากาศหรือเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ไขปัญหานี้ เธอไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์หรือนักการเมือง เธอไม่ใช่คนที่สามารถเข้าถึงเครื่องมือต่อรองอิทธิพลแบบดั้งเดิม ไม่ใช่เศรษฐี ไม่ใช่เจ้าหญิง ไม่ใช่ดาราดัง และยังไม่แม้แต่เป็นผู้ใหญ่ เธอเป็นวัยรุ่นหญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เรียกความกล้าที่จะพูดความจริงต่อคนที่มีอำนาจ กลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย โดยการอธิบายเรื่องอันตรายที่เป็นนามธรรมให้กระจ่างด้วยวิธีการเกรี้ยวกราด ทุนเบิร์กกลายเป็นเสียงที่กระตุ้นความสนใจมากที่สุดในประเด็นที่มีความสำคัญที่โลกที่โลกกำลังเผชิญ"

เธอได้รับการชื่นชมจากการเริ่มโดดเรียนมาปักหลักประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนตั้งแต่เดือน ส.ค. 2561 เส้นทางรณรงค์ของเธอกินแดนขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปีนี้เธอได้เข้าร่วมประชุมและพูดต่อหน้าเหล่าผู้นำโลกในที่ประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน 4 ล้านคนประท้วงในวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการรวมตัวประท้วงในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในที่ประชุมของยูเอ็นครั้งล่าสุดที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อเช้าของวันที่ 11 ธ.ค. ทุนเบิร์กวิจารณ์เหล่าผู้นำโลกอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องที่มีการอาศัย "ช่องโหว่จากการเจรจา" และมีการใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพให้ดูเหมือนว่าพวกเขาดำเนินการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างตรงเป้าหมายแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทุนเบิร์กลังเลที่จะยึดสถานะคนมีชื่อเสียงแบบนี้ไว้คนเดียว เธอกล่าวในที่ประชุมเมื่อเช้าวันที่ 11 ธ.ค. ขอร้องให้สื่อที่คอยตามติดเธอให้ไปรับฟังเรื่องราวจากกลุ่มนักกิจกรรมและจากเยาวชนที่เป็นชนพื้นเมืองต่างๆ บ้าง แทนที่จะมาไล่ตามตัวเธอ

ในประเด็นชนพื้นเมือง ทุนเบิร์กเคยระบุในโซเชียลมีเดีย วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบราซิลที่นำโดยประธานาธิบดีฝ่ายขวา จาอีร์ บอลโซนาโร ว่า "กลุ่มชนพื้นเมืองถูกสังหารเพราะพยายามปกป้องผืนป่าจากการถูกบุกรุกตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า" ในโพสต์เดียวกันทุนเบิร์กยังได้นำเสนอวิดีโอแสดงให้เห็นเหตุการณ์หลังจากที่มีคนยิงลอบสังหารกลุ่มผู้นำชนพื้นเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

บอลโซนาโรโต้ตอบทุนเบิร์กผ่านสื่อด้วยรอยยิ้มเยาะหยันว่า "เกรตาพูดเรื่องที่พวกอินเดียนเสียชีวิตเพราะพวกเขาปกป้องป่าอเมซอน" ... "มันน่าพิศวงที่ว่าทำไมสื่อถึงให้พื้นที่มากมายกับ 'เด็กเหลือขอ (Pirralha)' แบบนี้" คำว่า Pirralha เป็นภาษาโปรตุเกสที่แปลว่าเด็กเหลือขอ (brat) หรือสิ่งมีชีวิตจำพวกที่ก่อความรำคาญ (pest)

ทุนเบิร์กดูเหมือนจะใช้คำด่า "เด็กเหลือขอ" ของบอลโซนาโรมาเป็นตราเกียรติยศอะไรสักอย่างโดยเปลี่ยนประวัติในทวิตเตอร์ให้มีคำว่า "Pirralha" ลงไปด้วย ก่อนจะเอาออกไปในวันที่ 11 ธ.ค.

ไม่ใช่แค่ทุนเบิร์กคนเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้กับรัฐบาลบอลโซนาโรในเรื่องการทำลายป่าฝนอเมซอนเพิ่มขึ้นและการใช้กำลังโจมตีกลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มสภาผู้เผยแพร่ศาสนาของกลุ่มชนพื้นเมืองซึ่งเป็นกลุ่มด้านสิทธิของชนพื้นเมืองรายงานเมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมาว่าตั้งแต่เริ่มต้นปี 2562 พื้นที่ของชนพื้นเมืองถูกบุกรุกแล้ว 153 กรณี มากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า พวกเขาบอกว่าโวหารเชิงรุกรานของบอลโซนาโรถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการโจมตีนักกิจกรรมชนพื้นเมืองจนถึงแก่ชีวิตหลายราย เมื่อ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการสังหารเกิดขึ้นที่รัฐทางตอนเหนือมารันเฮา ทำให้มารินา ซิลวา รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของบราซิลแถลงผ่านโซเชียลมีเดียว่าควรจะมีการโต้ตอบอย่างจริงจังและทันท่วงทีจากเจ้าหน้าที่ทางการบราซิลต่อสถานการณ์นี้ ซอเนีย กัวจาจารา หนึ่งในผู้นำกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงกล่าวว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกตัดหางปล่อยวัดและไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลบราซิล

วุฒิสมาชิกจากอเมซอนกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่ากลุ่มชนพื้นเมืองเสมือนต้องเผชิญกับการถูกคุกคามอีกครั้งหลังจากที่บอลโซนาโรเปิดให้มีการถางป่าทำเหมืองแร่เชิงพาณิชย์ พวกเขาไม่ต้องเผชิญกับการคุกคามในระดับนี้มานานแล้วนับตั้งแต่ในช่วงสมัยยุคเผด็จการปี 2507-2528

"ผู้ประท้วงฮ่องกง" ชนะคะแนนโหวตจากผู้อ่าน

ทั้งนี้ไทม์ยังเปิดให้มีการโหวตบุคคลแห่งปีจากผู้อ่าน ซึ่งประชาชนนับแสนคนที่เข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองในฮ่องกงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดในปีนี้คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 30 ของคะแนนโหวตจากทั่วโลกทั้งหมด 27 ล้านเสียง

ไทม์ระบุว่าผู้ประท้วงชาวฮ่องกงเหล่านี้เริ่มประท้วงมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. เพื่อต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ถูกมองว่าจะเอื้อให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ใช้อำนาจกำจัดผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ง่ายขึ้น และต่อมาการประท้วงก็ยกระดับกลายเป็นการเรียกร้องอิสรภาพในการปกครองตัวเองมากขึ้น

ไทม์ระบุต่อไปว่าการประท้วงส่งผลให้รัฐบาลฮ่องกงถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังส่งผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีขึ้นในเดือน พ.ย. แต่การประท้วงก็เริ่มมีความก้าวร้าวมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาหลังจากที่ตำรวจใช้ยุทธวิธีรุนแรงมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่สุดโต่งจำนวนหนึ่งในหมู่ผู้ประท้วงที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง

แปลและเรียบเรียงจาก

2019 PERSON OF THE YEAR GRETA THUNBERG, Time, Dec. 11, 2019

Hong Kong Protestors Win TIME’s 2019 Person of the Year Reader Poll, Time, Dec. 11, 2019

Greta Thunberg named Time magazine's person of the year, The Guardian, 11-12-2019

Greta Thunberg labelled a 'brat' by Brazil's far-right leader Jair Bolsonaro, The Guardian, Dec. 10, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท