ปัญหาการใช้อำนาจตามกฎหมายของ กกต. กับการชงเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาการใช้อำนาจตามกฎหมายของ กกต. กับการชงเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ในประเด็นที่ว่า กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง แล้ว เห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีมติเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 

สำหรับกรณีดังกล่าว ผมมีความเห็นว่า การที่ กกต. อ้างเหตุตามมาตรา 72 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่  “เป็นการใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์และผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างมาก” 

การที่พรรคอนาคตใหม่ได้เคยอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าว “มาจากการปล่อยกู้ของคุณธนาธร” พร้อมกับแสดงหลักฐานอย่างอื่นประกอบ แม้สุดท้ายเงินกู้ดังกล่าว อาจถูกตีความได้ว่า “เป็นเงินบริจาค” (ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทาง กกต. ใช้อำนาจตามกฎหมายชงเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กกต. พยายามโยงในประเด็นที่ว่า พรรคอนาคตใหม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ว่าเงินจำนวนนี้เป็นการปล่อยกู้ ทั้งที่โดยแท้จริงเป็นเงินบริจาค) ทาง กกต. ก็ไม่สามารถใช้ “มาตรา 72” เป็นฐานในการอ้างอิง เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 93 ในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง เนื่องจากหากเราลองสังเกตบทบัญญัติมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ว่า…

“ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 72 จะเห็นได้ว่า “ไม่ควรใช้กับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง” เพราะเนื้อหาของมาตรานี้ มีเจตนารมณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อ “การสกัดกั้นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นอันไม่ชอบด้วยกฎหมายที่พรรคการเมืองจะสามารถได้รับบริจาค” กล่าวคือ พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองนั้นก็ได้ แต่เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นนั้นต้อง “สะอาดและมีแหล่งที่มาที่บริสุทธิ์” กล่าวคือ สิ่งที่รับบริจาคเหล่านั้นต้องไม่ผ่านกระบวนการได้มาหรือมีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ในกรณีดังกล่าว ทาง กกต. ยังไม่สามารถที่จะหาหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า เงินกู้ (ที่สุดท้ายอาจถูกตีความเป็นเงินบริจาคตามมาตรา 72 ก็ได้) นั้น “สกปรก” หรือ “มาจากแหล่งไม่บริสุทธิ์” อย่างไร (เช่น อาจพิสูจน์ว่า เงินนั้นมาจากการฟอกเงิน หรือมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเหตุที่ทำให้เข้าเงื่อนไขมาตรา 72 หากแต่ กกต. ไม่ได้กล่าวอ้างถึงเรื่องตรงนี้เลย) เมื่อเป็นเช่นนี้ ทาง กกต. ก็ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 93 เพื่ออ้างเหตุตามมาตรา 72 ในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุคพรรคอนาคตใหม่ได้

การใช้กฎหมายใด ๆ จะต้องเป็นไปอย่างสม “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” นั้น ๆ… อย่าได้ใช้กฎหมายเป็น “เครื่องมือ” ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง…

 

ภาพจาก: เดอะโมเมนตัม งานศิลปะ ‘สหบาทา กกต.’ จัดแสดงโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2562 เมื่อเวลา 9.45 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท