นักกฎหมายสิทธิฯ ชงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาฯ ต่อ กมธ.กฎหมายฯ

คณะทำงาน สสส. เสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาฯ ต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน 1) ข้อเสนอในการปฏิรูกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นเจ้าพนักงาน และกฎหมายว่าด้วยกองทุนยุติธรรม 2) ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่ง (Anti-SLAPPs LAW) และ 3) การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

ภาพจากเฟสบุ๊ค Suntaree H. Saeng-ging 

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ว่าทาง สสส. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน เครือข่ายทนายความ เครือข่ายผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ ได้เข้าร่วมประชุม และยื่นข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลมาจากการรวบรวมข้อเสนอมาจากการรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน 9 อนุภูมิภาค และนำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐยังคงมีอยู่ และเมื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมดังตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนี้

  1. กรณี ชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิตจากการยิงของทหาร และมีระเบิดวางไว้ข้างศพ  ซึ่งเป็นกรณีวิสามัญฆาตกรรม  แต่พบว่าพยานหลักฐานสำคัญในคดีนี้ได้ถูกทำลายไป คือ หลักฐานจากกล้องวงจรปิด ทั้งที่เหตุการณ์ดังกล่าวพนักงานฝ่ายปกครอง และตำรวจในท้องที่มีส่วนสำคัญที่ต้องช่วยกันรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อส่งต่อให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ฝ่ายปกครอง และแพทย์นิติเวช ชันสูตรพลิกศพต่อไป   
  2. กรณีจำเลย 2 คน สัญชาติพม่า คือนายซอ ลิน หรือโซเรน และนายเวพิว หรือวิน สัญชาติพม่า  ถูกกล่าวหาว่าลงมือฆ่านายเดวิด  วิลเลียม  มิลเลอร์ และฆ่าข่มขืนนางสาว ฮันนาห์ วิกตอเรีย วิตเทอร์ริดจ์  นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่บริเวณหาดทรายรี ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557  ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินว่าจำเลยสองคนมีความผิดจริง ได้รับโทษประหารชีวิต ปัญหาที่พบเกี่ยวกับพยานหลักฐานดังนี้ คือ ตำรวจใช้ล่ามแปลภาษาที่ไม่เชี่ยวชาญภาษาพม่า กรณีผลตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม หรือ DNA บางตำแหน่งไม่ตรงกับ DNA ของจำเลย และไม่พบ DNA ของจำเลยบนด้ามจอบที่คนร้ายใช้เป็นอาวุธสังหารสองนักท่องเที่ยว  จำเลยอ้างว่าถูกซ้อมทรมานในชั้นสอบสวน กรณีมีการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นที่สงสัย
  3. กรณี เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาทิ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการซักถามของเจ้าหน้าที่ในชั้นการควบคุมคัว จับกุม อายัดตัวซ้ำ ภายใต้กฎหมายพิเศษ (ตรวจสอบการใช้อำนาจ) มีการซ้อมทรมาน จับกุมไม่ชอบ ไม่มีสิทธิคุ้มครองในชั้นซักถาม ที่จะพบทนายความ ญาติ หรือการเข้าเยี่ยม ขาดการตรวจสอบสถานที่โดยองค์กรอิสระ ไม่มีการพบแพทย์ที่เป็นอิสระ ไม่มีการตรวจสอบข้อร้องเรียน และไม่มีแจ้งสถานที่ควบคุมตัว อาทิกรณี นายกรณี นายอับดุลเลาะถูกจับและควบคุมตัว ภายใต้ อำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 16:00 น. หลังจากเจ้าหน้าที่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ได้นำตัวนายอับดุลเลาะไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี จ.ปัตตานี ก่อนนำตัวส่งไปยังหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ประจำค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลาประมาณ 19:30 น. เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา ในเวลา 9.00 น. ญาติพบว่า นายอับ ดุลเลาะได้ถูกส่งตัวไปยังห้อง ไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี
  4. คดีการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (ฟ้องปิดปาก/Anti SLAPPs Law) ในหลายกรณีดังนี้
    1. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ฟ้องนักวิชาการกะเหรี่ยง และอดีตผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ข้อหาหมิ่นประมาท หลังโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการครอบครองพื้นที่ในป่าสงวนแห่งชาติ
    2. สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กับแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
    3. นักข่าว Voice TV ถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาท กรณีทวิตข้อความเกี่ยวกับคดีแรงงานฟาร์มไก่จำนวน 14 คน
    4. บริษัทธรรมเกษตรฟ้องคดีต่อ งามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จากการเผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไรท์ ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทต่อ สุธารี วรรณศิริ และนาน วิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
    5. นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความถูกนายทุนที่ดินจังหวัดลำพูนแจ้งความดำเนินคดี ฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ พร้อมกับชาวบ้าน บ้านสันตับเต่า อีก 2 รายในข้อหาเบิกความเท็จ

ข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นเจ้าพนักงาน และกฎหมายว่าด้วยกองทุนยุติธรรม

หลักการสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคือ “การนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมารับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ และปกป้องผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรม” ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอดังนี้

1. ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในประเด็น การจับกุม ควบคุมตัว ขัง ปล่อยชั่วคราว สอบสวน ชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนมูลฟ้อง  ดังต่อไปนี้

  • การแจ้งสิทธิ เพื่อทำให้หลักประกันสิทธิสิทธิของบุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวมีความรัดกุมมากขึ้น และป้องกันการเลี่ยงกฎหมายของเจ้าหน้าที่
  • การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง
  • การค้น เพื่อเพิ่มเติมหลักประกันการคุ้มครองสิทธิในการค้นบุคคลในที่สาธารณะ การตรวจค้นยานพาหนะให้ชัดเจนขึ้น และป้องกันการกระทำโดยมิชอบหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่
  • การปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี เพื่อไม่ให้มีการควบคุมตัวบุคคลไว้โดยไม่จำเป็น ซึ่งกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และสิทธิที่จะสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย ตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  • การสอบสวน จะต้องมุ่งค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้กระทำ
  • ปรับปรุงการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการ
  • ปรับปรุงการไต่สวนมูลฟ้อง โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกลั่นกรองคดีมากยิ่งขึ้น และห้ามองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนมูลฟ้องเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ตนได้ไต่สวนมูลฟ้อง

2. ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ – Anti Strategic Lawsuit Against Public Participation/Anti-SLAPPs Law)

ปัญหาสำคัญคือ การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ กับบุคคลที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ต่อสาธารณะ  ส่งผลให้เกิดการใช้เครื่องมือทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ผลกระทบที่เกิดขึ้น  ทำให้บุคคลที่ถูกฟ้องคดีต้องแบกรับภาระและความกดดันต่างๆ เช่น การเดินทางมาติดต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการบ่อยครั้ง ทำให้ต้องขาดงาน ขาดรายได้  รวมถึงการต้องเตรียมหาเงินมาประกันตัวในกรณีที่มีการคุมขัง เป็นต้น ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะหยุดการแสดงความคิดเห็นและยุติการปกป้องประโยชน์สาธารณะในที่สุด

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นและการกระทำที่ปกป้องคุ้มครองเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ดังต่อไปนี้

  • กำหนดขอบเขตการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยกำหนดนิยามทางกฎหมายใช้คำว่า “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” เพื่อให้ครอบคลุมการถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ
  • อนุญาตให้จำเลยมีช่องทางเฉพาะในการยื่นคำร้องเพื่อให้ยกฟ้องตั้งแต่เริ่มต้นในกระบวนการดำเนินคดี
  • กำหนดให้มีการไต่สวนคำร้องอย่างเร่งด่วนทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง  เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินการ
  • กำหนดให้จำเลยผู้ยื่นคำร้องมีภาระการพิสูจน์ด้วยการแสดงพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักยิ่งกว่าคดี อันเป็นที่มาของการยื่นคำร้องนี้เป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ถ้าจำเลยพิสูจน์ได้ ให้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ฝ่ายโจทก์
  • กำหนดให้โจทก์ชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายต่างๆให้แก่จำเลย เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องตามคำร้องของจำเลยโดยเห็นว่าคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ 
  • เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องตามคำร้องขอให้ยุติคดีด้วยเหตุว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะแล้ว ให้ศาลส่งคำพิพากษาไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามความเหมาะสมต่อไป

3. การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยกองทุนยุติธรรมในปัจจุบันยังมีอุปสรรคปัญหา  ที่ทำให้ประชาชนไม่เข้าถึงกองทุนยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า และยังไม่สอดคล้องกับหลักการและแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายครบถ้วน จึงมีข้อเสนอต่อการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้

  • แก้ไขและกำหนดคำนิยามเพิ่มเติม เพื่อให้มีความชัดเจน และครอบคลุมมากขึ้น
  • แยกสำนักงานกองทุนยุติธรรมออกมาจากสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม และกำหนดให้บริหารงานเป็นอิสระ
  • เพิ่มรายรับของกองทุน จากค่าธรรมเนียมเงินทอดตลาดหลักทรัพย์ และแก้ไขรายได้จากเงินที่ศาลสั่งบังคับจากอัตราไม่เกินร้อยละห้า มาเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าแทน
  • แก้ไขเงินใช้จ่ายของกองทุนให้มีการดำเนินกิจการที่ครอบคลุมตามคำนิยามของ “ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  • ปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานและการช่วยเหลือทางกฎหมาย (ภาพที่ 1) และโครงการคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ (ภาพที่ 2)

 

ภาพที่ 1 โครงสร้างของสำนักงานและการช่วยเหลือทางกฎหมาย

ภาพที่ 2 โครงการคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

รายชื่อคณะทำงานโครงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยพลังประชาชน

รายชื่อกรรมการระดับชาติ

  • ผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชน สาวนัยนา สุภาพึ่ง มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมชาย หอมลออ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, สุนทรี เซ่งกิ่ง สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  • ผู้แทนทนายความ/นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นิกร  วีสเพ็ญ  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ, นิวัติ แก้วล้วน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), รัษฎา มนูรัษฎา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ส.รัตนมณี  พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
  • ผู้แทนนักวิชาการ ศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดร. ธานี วรภัทร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต อัยการน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวกาญจนบุรี

รายชื่อกรรมการระดับอนุภูมิภาค

ภาคตะวันออก (ภาค 2) ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ไพรัช  สุภัคคะ  ทนายความ ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความจากชลบุรี ณริศ ศรศรีวิวัฒน์ ทนายความจากนครปฐม มานพ สนิท นักพัฒนา/ เครือข่ายภาคตะวันออก

ภาคอีสานใต้ (ภาค 3) ดร. ดำเกิง โถทอง มหาวิทยาลัยราชภัฐสุรินทร์ ขรรค์เพชร ชายทวีป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เถกิง  ลัทธิวงค์ ทนายความ ทองดี ทองผาย ทนายความ จังหวัดศรีสะเกษ ดร.นิรันดร์ กุลฑานันท์  นักพัฒนา/ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์

ภาคอีสานเหนือ (ภาค 4)อาจารย์นิสิต(ฟาริดา) ศักยพันธิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความ สุดารัตน์ เพ็งค่ำ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี                 

ภาคเหนือตอนบน (ภาค 5) นิตยา หว่างไพบูลย์ ทนายความ นิพจน์ เทียนวิหาร ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน ไพสิฐ พาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  วิทิต หว่างไพบูลย์ ผู้ช่วยทนายความและผู้ประสานงาน สุมิตรชัย หัถตสาร  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ภาคเหนือตอนล่าง (ภาค 6) ดร.กานดิศ ศิริสานต์ ภาควิชานิติศาตสร์ วิทยาลัยการบริหารจัดการและการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม พิษณุโลก ชวลิต นักระนาด ทนายความ, นักกฎหมาย,อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ประพจน์ ศรีเทศ นักวิชาการอิสระ พิชัย นวลนภาศรี ทนายความและภาคประชาสังคม สาคร สงมา นักพัฒนา มูลนิธิคนเพียงไพร/ NGOs

ภาคตะวันตก (ภาค 7) จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความ ร.ต.ต.สุศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา  ทนายความ

ภาคใต้ตอนบน (ภาค 8) กฤษดา สัญญาดี คุนัญญา สองสมุทร นักพัฒนา ณัฐชัตยากร กัญฐณา ทนายความ ทิพพวรรณ ถิ่นมะลวน ทนายความ สุพรรณษา มะเหร็ม ทนายความ

ภาคใต้ตอนล่าง (ภาค 9) กฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ พูลไท ลวากร นักสิทธิมนุษยชน ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ทนายความ/มูลนิธิอันดามัน สันติชัย ชายเกตุ ทนายความ ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา, 

คณะที่ปรึกษา/คณะทำงานภาคกลาง

  • นายกวิน                ชุติมา             สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  • รศ.ดร.จตุรงค์          บุณยรัตนสุนทร  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • นายไพโรจน์            พลเพชร          มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม/ ที่ปรึกษา สสส.
  • นางสาวศยามล         ไกยูรวงศ์         กรรมการ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  • นายศราวุฒิ             ประทุมราช      นักสิทธิมนุษยชน                              

 คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการปฏิรูปตำรวจ

  • นายบุญแทน            ตันสุเทพวีรวงศ์  เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ
  • นางสมศรี               หาญอนันทสุข    เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ                       

ทีมงานเจ้าหน้าที่

  • ผู้ประสานงาน

          นายอนุชา         วินทะไชย (เอก) ๐๘๓-๐๗๙๖ ๔๑๑/ eakucl@gmail.com

  • เจ้าหน้าที่โครงการ

          นางสาวเบญจพร บัวสำลี (ก้อย)    ๐๘๙-๕๐๕๕ ๔๙๔/ nongkoy.sd@gmail.com

ที่ตั้ง 109 ซ.สิทธิชน ถ.สุทธิสารวินิจฉัย สามเสนนอก ห้วยขวาง กทม. 022754231

Email:uclthailand@gmail.com/  Website : ucl.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท