กาง ม.72 ที่ กกต.ฟ้องยุบอนาคตใหม่ 'สมชัย อดีต กกต.' ชี้มาตรานี้แค่ห้ามรับ 'เงินสกปรก'

สมชัย อดีต กกต. กาง ม.72 ที่ กกต. ปัจจุบันฟ้องยุบพรรคอนาคตใหม่ ชี้มาตรานี้สาระอยู่ห้ามรับ "เงินสกปรก" เช่น เงินบ่อน เงินซ่อง เงินค้าอาวุธสงคราม เงินค้าของหนีภาษี ฯลฯ เท่านั้น  ไม่ใช่เรื่องบริจาคเงินเกินกว่า กฎหมายกำหนด ขณะที่ รองเลขาธิการ กกต.ปฎิเสธชี้แจงถึงเหตุผล

12 ธ.ค.2562 ภายหลังจากวานนี้ (11 ธ.ค.62) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แล้ว โดย ที่ประชุมเห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก ธนาธร เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ต่อมา สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คในหัวข้อ '5 :2 มติเสียงข้างมากในฤดูหนาว' โดยระบุว่า 

"อ่านข่าวแจก 8 บรรทัดของ กกต.แล้ว จะเห็นว่าการลงมติของ กกต. ไม่พยายามพูดถึง เงินกู้เป็นเงินบริจาค เพราะเงินกู้คือเงินกู้ ไม่ใช่เงินบริจาค ดังนั้น จึงไม่สามารถไปเอาความผิดพรรคอนาคตใหม่ว่าไปรับเงินบริจาคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ เหตุผลจึงออกมาในการอิง มาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

แต่หากพิจารณาสาระของ มาตรา 72 จะอยู่ที่ เงินที่บริจาคที่ "ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ไม่ใช่เรื่องบริจาคเงินเกินกว่า กฎหมายกำหนด

สาระของมาตรานี้ จึงเป็นการห้าม "เงินสกปรก" ที่จะเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง เช่น เงินบ่อน เงินซ่อง เงินค้าอาวุธสงคราม เงินค้าของหนีภาษี ฯลฯ ไม่ว่าจะบริจาคสักกี่บาทก็ตาม ถือว่า ห้ามรับ เพราะเป็นการเอาเงินธุรกิจสีเทามาสนับสนุนฝ่ายการเมือง

คำถามจึงกลับไปที่ กกต.ว่า "แน่ใจแล้วหรือที่ใช้มาตรานี้ ในการจัดการกับพรรคอนาคตใหม่ ท่านรู้แล้วใช่ไหมว่าเงินที่มาให้กู้เป็นเงินสกปรก"

ความหนาวจึงมาเยือน กกต.เสียงข้างมากที่ลงมติ หากจะมีการร้องกลับว่า กกต.ใช้วินิจฉัยโดยมิชอบ เพราะหาก กกต.ผิดจริง ความผิดจะตกกับเสียงข้างมากที่ลง ส่วน 2 เสียงที่ลงมติ นั้น ถ้า 5 เสียงถูกต้อง เขาไม่ได้ผลกระทบอะไร แต่ 5 เสียงผิด เอกสารการลงมติจะช่วยยืนยันว่า เขามิได้เห็นด้วยในเรื่องนี้

มติข้างน้อยที่ลง จึงเป็นเครื่องอำนวยให้อบอุ่นในหน้าหนาวนี้"

 

รองเลขาธิการ กกต.ปฎิเสธชี้แจงถึงเหตุผล

ขณะที่วันนี้ (12 ธ.ค.62) วอยส์ออนไลน์ รายงานว่า แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ปฎิเสธที่จะชี้แจงถึงเหตุผลของ กกต.ในประเด็นการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้ยืมเงิน ธนาธร จำนวน 191 ล้านบาท เนื่องจากวานนี้ตนเองไม่ได้อยู่ในห้องประชุม และ กกต.ได้มีมติส่งศาลไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องเป็นผู้พิจารณา ไม่สามารถให้ความเห็นได้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.อยู่ระหว่างยกร่างคำร้อง เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่า น่าจะใช้เวลาไม่นาน ทั้งนี้ในการส่งเรื่องดังกล่าว ทางกกต.เห็นว่าเรื่องการกู้ยืมเงิน ข้อเท็จจริงยุติแล้ว เพราะนายธนาธร และพรรค ยอมรับว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง จึงเหลือเพียงประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่าพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะมาตรา 62 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เขียนต่างจากปี 2550 ที่จะกำหนดรายได้อื่นไว้ ทำให้พรรคการเมืองในขณะนั้นมีการกู้ยืมเงินจากหัวหน้าพรรค แต่จะเป็นประเภทของเงินทดรองจ่ายไปก่อน

นอกจากนี้ เมื่อกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลบริจาคได้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท และเงินกู้ที่เกินวงเงินจะถือว่าเป็นการบริจาคเกินที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงจำเป็นต้องส่งศาลให้พิจารณาจนสิ้นสุดความ 

ส่วนที่ กกต.มีมติในคำร้องนี้โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้ ธนาธร หรือผู้แทนของพรรคมาชี้แจง เป็นการใช้อำนาจของ กกต.ตามมาตรา 93 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่เปิดช่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นพร้อมรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานส่ง กกต.พิจารณาได้เลย

สำหรับ มาตรา 62 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ว่า

พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้

(1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง

(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(3) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง

(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค

(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน

(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

การได้มาซึ่งรายได้ตาม (2) (3) (4) และ (5) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม (3) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (4) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท