นิทรรศการ ‘จุก’ โดยกลุ่ม ‘จุกๆ’ เมื่อสังคมไทยอยู่ในสภาวะค้างคา-อัดอั้นทางความคิด

ชวนชมนิทรรศการ ‘จุก’ ที่ Cartel Artspace ตั้งแต่วันนี้ถึง 16 ธ.ค.62 พบผลงานของศิลปินจากหลายแขนงที่รวมตัวกันเพื่อตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ถึงเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคม พร้อมอ่านวงเสวนาถกเรื่องจุกๆ ที่เจอในเรื่องการเมือง สังคม ไปจนถึงศิลปะ ที่ดูเหมือนในบ้านเราศิลปินจะยังก้าวไปไม่ถึงการเป็นนักกิจกรรมการเมืองได้สักที 


 

13 ธ.ค. 2562 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ Cartel Artspace ‘กลุ่มจุกๆ’ ได้เปิดนิทรรศการ ‘จุก’ ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10-16 ธ.ค. นี้ โดยมีศิลปินและนักสร้างสรรค์หลายแขนงตั้งแต่นักศึกษาศิลปะ ศิลปินอิสระ กราฟฟิคดีไซเนอร์ ไปจนถึงนักเขียน รวมตัวกันเพื่อสร้างผลงานศิลปะแบบต่างๆ ตั้งแต่งานภาพพิมพ์ จิตรกรรม สื่อผสม งานจัดวาง ไปจนถึงการแสดงสด และการแสดงหมอลำ

กลุ่มจุกๆ อธิบายว่า กลุ่มพวกตนเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของศิลปินหลากแขนงผู้มีใจรักในเสรีภาพการแสดงออก เมื่อพวกเขามีความรู้สึกร่วมกันว่าขณะนี้สังคมไทยกำลังอยู่ใน “สภาวะจุก” ทางความคิด อันเนื่องมาจากสภาพของรัฐที่ไร้สมรรถภาพ คำถาม ความค้างคาใจ ความอัดอั้น ทำให้พวกเขาต้องหาหนทางการระบายออกซึ่งเสรีภาพ ความเท่าเทียม และเป็นธรรม

อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจุกๆ อธิบายว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อย ถูกกดทับไม่ให้มีเสรีภาพการแสดงออก หากรวมตัว เสียงก็จะดังขึ้น กลุ่มจุกมีศิลปินทั้งทัศนศิลป์ สถาปัตย์ การแสดง หนัง และไม่ใช่กลุ่มศิลปินอย่างเดียว แต่อยากให้ทุกคนมีพื้นที่แสดงออก กลุ่มเพื่อน กลุ่มนักวิชาการ นักวิจารณ์ จนไปถึงนักการเมือง หรือผู้อุปถัมภ์งาน

“ทั้งแวดวงศิลปะและทางการเมือง มีเหมือนกันคือการผูกขาด ผลงานศิลปินที่ทำงานไม่ตรงกับเป้าหมายรัฐก็ถูกทำให้หายไป เราพยายามรวมกลุ่มตั้งคำถามและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสร้างสุนทรียะใหม่ๆให้วงการศิลปะ” อุทิศกล่าว

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจุกๆ เล่าว่างานนี้เป็นการเปิดตัวกลุ่มและเป็นการระดมทุนไปด้วย เพื่อที่จะจัดงานครั้งใหญ่อีกทีตอนปีหน้า แต่ระหว่างนี้ก็จะเคลื่อนไหวทางศิลปะเมื่อเกิดประเด็นใดก็ตามที่คิดว่าควรมีแอคชั่น ซึ่งการสื่อสารหลักตอนนี้คือเพจ JUX JUX . COM

อาจิณโจนาธาน กล่าวถึงลักษณ์ของศิลปินที่มารวมกันนี้ว่า แต่ละคนก็เป็นพวกไม่อยากรวมกลุ่มกับใครเสียเท่าไหร่ แต่ตนคิดว่ามันเป็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งที่คนที่เป็นพวกปัจเจกบุคคล(individual) เหล่านี้คิดว่า มันต้องรวมกลุ่มกันได้แล้ว แม้มีความขัดแย้งทางความคิดบ้าง แต่คิดว่าคงไปได้ในระยะยาวพอสมควร

อาจิณโจนาธานย้ำว่า กลุ่มจุกๆ พยายามจะสื่อสารกับคนส่วนใหญ่ โดยย้ำว่า หากอยากทลายความจุกก็ต้องสื่อสารกับคนส่วนใหญ่ คนที่คิดไม่เหมือนเราด้วย เนื่องจากคนเหล่านั้นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราจุกจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเราได้เคลียร์สิ่งที่ค้างคา สิ่งที่จุกในใจต่อกันได้ เราก็จะคลี่คลายอะไรบางอย่างได้

“งานศิลปะก็เหมือนรสนิยมของแต่ละคนในการสื่อสาร ซึ่งเฉพาะคนมากๆ การพูดตรงๆ ก็มีความจำเป็น แต่ความมีชั้นเชิงก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่สำคัญกว่านั้นคือความกล้าที่จะพูด เรากล้าที่จะลุกขึ้นมาพูดถึงสิ่งที่เราจุกไหม” อาจิณโจนาธานกล่าวทิ้งท้าย

 

เสวนาเรื่องจุกๆ ถึงการเมืองและสังคมช่วงที่ผ่านมา


จากซ้ายไปขวา อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ, ถนอม ชาภักดี, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, อานนท์ นำภา, คงกฤช ไตรยวงค์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

ในงานเปิดตัวนิทรรศการยังมีจัดเสวนา "เจ็บจนจุกเจียนใจจะจากจร" ซึ่งร่วมแลกเปลี่ยนโดย ถนอม ชาภักดี หนึ่งในผู้ริเริ่มเทศกาลศิลปะ #ขอนแก่นเมนิเฟสโต้, อานนท์ นำภา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ไอลอว์, คงกฤช ไตรยวงค์ คณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร และ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ ดำเนินรายการโดย อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ

ถนอม ชาภักดี หนึ่งในผู้ริเริ่มเทศกาลศิลปะ #ขอนแก่นเมนิเฟสโต้กล่าวว่า ตนรู้สึกจุกมาตลอดชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้จุกจนไม่ไหวแล้วคือปีที่แล้ว จึงเริ่มทำเทศกาลขอนแก่นเมนิเฟสโต้

ถนอมชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของวงการศิลปะ ถ้าขีดเส้นตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ศิลปะไม่ได้ขยับขึ้นมาในฐานะที่เป็นแอคติวิสเลย ศิลปะถูกกลไกของรัฐเหลาเสียจนไม่มีเหลี่ยมอะไรเลย เขาไม่ได้ฝึกให้คนเรียนศิลปะมีอาชีพทางศิลปะ แต่เขาฝึกให้คนเรียนศิลปะเป็นอาจารย์ศิลปะและมาเป็นศิลปินด้วย นั้นจึงทำให้ศิลปะถูกกำกับอยู่ด้วยกรอบศีลธรรมและจริยธรรม

“เราเรียนวิจารณ์ศิลปะแต่เรื่องความจริง ความดี ความงาม ไม่ได้เรียนการวิจารณ์เพื่อเกิดกระบวนการวิพากษ์ที่ชัดเจน และสร้างกลไกการวิจารณ์ต่อเงื่อนไขทางสังคม กระบวนการวิจารณ์ศิลปะในประเทศนี้จึงล้มเหลว นักวิจารณ์กลายเป็นศัตรูสำคัญของศิลปิน นักวิจารณ์จะอยูรอดได้แค่การรีวิวธรรมดา” ถนอมกล่าว พร้อมอธิบายว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปะไม่ได้เข้าสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งต่างจากอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ที่เขาเทรนด์คนเรียนศิลปะให้เข้าสู่วงการศิลปะอย่างแท้จริงโดยไม่สนใจรัฐ  ยอกยาการ์ตา ของอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางเคลื่อนไหวของแวดวงศิลปะ หรือศิลปินฟิลิปปินส์ก็ตั้งกลุ่มไถ่ถอนนักโทษทางการเมือง

ถนอมตั้งคำถามย้อนกลับว่า แล้วกลุ่มจุกๆทำแบบนั้นได้หรือเปล่า

 

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์เล่าว่า ตั้งแต่รัฐประหาร มีคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ  มีการสร้างบรรยากาศความกลัว ตนได้รวมตัวเป็นกลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีการทำคลิปวิดีโอ เผลอไม่นานก็อยู่กับเผด็จการมาถึง 5 ปี ขณะที่คนออกมาต้านก็เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แค่หยิบมือ 

ธีระวัฒน์เห็นว่า ไม่ใช่แค่สถานการณ์ปัจจุบันที่เอื้ออำนวยเผด็จการ แต่เบื้องหลังคือกลุ่มศิลปินฝ่ายจารีต ซึ่งเห็นได้จากพลังด้านวัฒนธรรมที่กล่อมเกลาเราขึ้นมา ทำให้เราต้องมาประเมินใหม่ อะไรคือคู่ต่อสู้ที่เราต้องต่อกรด้วย

“เผอิญผมทำหนัง  ผมคิดว่าหนังเป็นมายา เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ผมจะใช้การทำหนังนำเสนอประเด็นบางอย่างให้สังคมฉุกคิด เวลาผมเถียงกับคนในวงการ ทุกครั้งการถกเถียงของเราจะไปจบที่การรับรู้ของประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน ผมวางเป้าหมายว่าอย่างน้อยผมจะทำหนังเกี่ยวกับ 6 ตุลา ทุกปี ปีละเรื่อง” 

“เราคงไม่ได้เปลี่ยนปลงอะไรมากมายในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ แต่ผมนับถือศิลปินอย่างหนึ่งตรงที่ศิลปินคล้ายกับมนุษย์ที่มีต่อมพิเศษที่สามารถรับรู้ถึงความอยุติธรรม แล้วคุณก็ควรสำแดงความรู้สึกนั้นออกมาในผลงานของคุณ ถึงยุคที่เราต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเราสู้กับอะไร ทุกคนควรสลัดความกลัวออกมาแล้วสร้างงาน” ธีระวัฒน์กล่าว

 

อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ตนเริ่มจุกหลังรัฐประหาร เพราะไม่คิดว่าทหารจะใช้กฎหมายจัดการกับประชาชนขนาดนี้ เพื่อนของตนแค่ไปชูป้ายก็โดนจับไปปรับทัศนคติ บางครั้งเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก ก็ถูกตั้งข้อหาได้ เช่น กรณี “จ้า” ของแม่จ่านิวส์ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวด้านการเมือง ก็ถูกจับเรื่อง ม.112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) ทั้งที่มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะอธิบายว่าไม่ผิด แต่ตอนนั้นทำได้ยากมาก

“เราต้องนำเสนอให้คนเห็นว่าคนที่โดนคดีนั้นโดนเพราะเรื่องไร้สาระ เราก็กลัวแต่ก็ต้องทำ พอเผยแพร่ก็ทำให้คนในสังคมเข้าใจมากขึ้น ทำให้มันคลี่คลาย กลายเป็นเรื่องตลก” ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว พร้อมเล่าถึงรูปแบบคุกคามการแสดงออกแบบใหม่ว่า ปัจจุบันอย่างในทวิตเตอร์เรื่อง #ขบวนเสด็จ เขาก็ไม่ใช้วิธีทางกฎหมาย แต่ใช้วิธีเอาตัวไปถาม เช่น ถามว่าจงรักภักดีหรือไม่ หากตอบว่าเฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องบอกว่า จงรักภักดี หรือกรณีกลุ่มคนที่เผยแพร่แนวคิดเรื่องสหพันธรัฐไท ก็โดนข้อหา ม.116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ไป และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกฆ่าตาย เช่น สุรชัย แซ่ด่าน สยาม ธีรวุฒิ ที่ถูกอุ้มฆ่าอย่างโหดเหี้ยม

ทั้งนี้อานนท์เห็นว่าเรื่องราวระหว่างบรรทัด เช่น กระบวนการในศาล รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถนำมาเผยแพร่เพื่อให้คนทำงานศิลปะ หรือคนเล่าเรื่อง ได้นำวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตเป็นชิ้นงานต่อยอดไปได้

 

คงกฤช ไตรยวงค์ คณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร เล่าถึงประสบการณ์การจุกว่า ครั้งหนึ่งตนแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ตอนที่ได้ฟังแม่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) พูดถึงลูกชายหลังจากที่ไผ่ติดคุกในข้อหา ม.112

“สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยอาจต้องฟังคือเสียงความทุกข์จากคน เรามักพูดเรื่องความดี เรามีมาตราฐานความดีบางอย่าง สิ่งหล่านั้นมีจริง แต่ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของคนที่ทุกข์ คนที่ฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจ 4-5 ปีที่ผ่านมาเรามองหาความเป็นมนุษย์มากเกินไป พอเรามองหาความเป็นมนุษย์ เราเลยไม่เห็นมนุษย์” 

“อาการจุกคือลิ้นเราจุกปาก ไม่สามารพูดออกมาได้ มันมีคนที่อยากพูดอะไรบางอย่างแต่พูดไม่ออก และคนที่ไม่มีหูที่จะฟัง” คงกฤชกล่าว

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เล่าถึงประสบการณ์ที่จุกที่สุดว่า คือวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประะชามติ ตอนนั้นตนรู้แล้วว่ามันจะอยู่อีกนาน

“วันนั้นเป็นวันที่มองเห็นข้างหน้าแล้วว่ามันไม่เห็นอะไรเลย ก็คาดได้แล้วว่าการเลือกตั้งจะเพี้ยน หลายอย่างจะเพี้ยน มันเป็นจริงบ้าง เกินกว่าที่คิดบ้าง น้อยกว่าที่คิดบ้าง” ยิ่งชีพ กล่าว

ยิ่งชีพ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ไอลอว์เพิ่งพบว่า ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง มีกรรมการสรรหาเพียง 10 คน โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเปิดเผยว่าสรรหาอย่างไร แต่เพิ่งเปิดเผยเดือนที่แล้ว เนื่องจากพวกตนยื่นหนังสือขอ พวกตนพบว่าใบรายชื่อที่เขาจัดทำนั้นมีคนหนึ่งที่ได้รับการสรรหามาโดยมีวงเล็บข้างหลังว่า ประธาน กกต. เสนอ ซึ่งก็มีคำถามว่า ประธาน กกต. เสนอ ส.ว. ได้หรือ หรืออีกคนก็วงเล็บข้างหลังว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถอ่านได้ในเว็บไอลอว์

ทั้งนี้ ยิ่งชีพ ทิ้งท้ายอย่างมีความหวังว่า จากการเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ออกมาขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ตนก็รู้สึกมีความหวัง และคิดว่าทุกอย่างกำลังดีขึ้น เพียงแต่ดีขึ้นอย่างช้าๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท