คกก.คุ้มครองสื่อเผย นักข่าวติดคุกจีนมากสุดในโลกจากนโยบายปราบสื่ออิสระ

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ซึ่งเป็นองค์กรจับตามองด้านเสรีภาพสื่อเปิดเผยว่า จีนเป็นประเทศที่มีการคุมขังคนทำสื่อมากที่สุดในโลกรองลงมาคือตุรกีและซาอุดิอาระเบีย ในรายงานประจำปีของพวกเขาซึ่งระบุว่าในปีนี้มีนักข่าวอย่างน้อย 250 รายอยู่ในที่คุมขังเพราะงานของพวกเขา น้อยลงกว่าปีที่แล้ว 5 ราย

ที่มาภาพ:Pixabay

สื่อฮ่องกงฟรีเพรสรายงานเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) เปิดเผยรายงานประจำปีในวันที่ 11 ธ.ค. ระบุว่าในปีนี้มีนักข่าวอยู่ในคุกอย่างน้อยรวมแล้ว 250 ราย จากทั่วโลก โดยที่ส่วนใหญ่ถูกคุมขังในจีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 48 ราย ท่ามกลางบรรยากาศของการยกระดับการปราบปรามสื่ออิสระในจีนภายใต้การนำของรัฐบาลสีจิ้นผิง

ประเทศที่คุมขังนักข่าวจำนวนมากรองลงมาคือตุรกี อยู่ที่ 47 ราย เท่ากับจำนวนของจีนในปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับตุรกีในปีก่อนๆ ถือว่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี  CPJ ระบุว่านักข่าวจำนวนมากที่ถูกคุมขังเหล่านี้เผชิญกับข้อหา "ต่อต้านรัฐ" หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาเรื่อง "สร้างข่าวเท็จ" โดยนอกจากสองประเทศนี้แล้ว ประเทศอื่นๆ ที่มีการคุมขังนักข่าวคือซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ เอริเทรีย เวียดนาม และอิหร่าน

ในวันเดียวกับที่มีรายงานจาก CPJ ทางการจีนได้แถลงเชิงปัดป้องว่าพวกเขารักษาเสรีภาพสื่อ การที่มีคนถูกจับกุมเป็นเพราะรัฐบาลจีน "ทำตามกฎหมาย"

รายงานของ CPJ ระบุอีกว่าถึงแม้ตุรกีจะมีนักข่าวถูกคุมขังน้อยลงเทียบกับปีที่แล้วที่มีคนถูกคุมขัง 68 ราย แต่สถานการณ์ในตุรกีก็ไม่ได้ถือว่ามีพัฒนาการดีขึ้น โดยยังสะท้อนให้เห็นว่าประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์และสื่ออิสระได้สำเร็จ

CPJ รายงานว่าทางการตุรกีทำการปิดสื่อมากกว่า 100 แห่งและตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายต่อคนทำสื่อเหล่านั้น ทำให้นักข่าวจำนวนมากตกงาน และนักข่าวรายอื่นๆ ก็ถูกข่มขู่คุกคาม CPJ ระบุอีกว่าถึงแม้นักข่าวจะไม่อยู่ในคุกแต่ก็มีหลายสิบรายที่เผชิญกับการดำเนินคดี ขณะที่บางส่วนถูกตัดสินแล้วแต่อุทธรณ์หรือถูกตัดสินในแบบที่พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาตดีและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมถ้าหากพวกเขาเดินทางกลับประเทศ

รายงานของ CPJ พูดถึงการที่ภาวะอำนาจนิยม การขาดเสถียรภาพและการประท้วงในตะวันออกกลางทำให้มีเหตุการณ์ที่นักข่าวถูกจับกุมในพื้นที่เหล่านั้นมากขึ้น ประเทศที่คุมขังนักข่าวมากเป็นอันดับที่ 3 ในปีนี้คือซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 26 ราย โดยมี 18 รายถูกคุมขังโดยไม่ได้มีการเปิดเผยว่าคุมขังด้วยสาเหตุใด นอกจากนี้ CPJ ยังได้แสดงความกังวลจากรายงานที่ว่ามีการทารุณกรรมนักโทษการเมืองรวมถึงนักข่าว 4 รายด้วยวิธีการต่างๆ อย่างการทุบตีทำร้าย การทำให้เกิดแผลไหม้ และการทำให้อดอาหาร

ในอียิปต์ก็มีกรณีการจับกุมตัวนักข่าวหลายรายในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประท้วงต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในเดือน ก.ย. ที่มีการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาร์ เอลซีซี ออกจากตำแหน่ง

CPJ ระบุว่าจำนวนนักข่าวที่ถูกคุมขังรวม 250 รายทั่วโลก ถือเป็นจำนวนที่มากอย่างน่าเป็นห่วง ถึงแม้ว่าจะลดลงจากเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วบ้างเล็กน้อย CPJ แถลงว่า "นักข่าวไม่ควรถูกคุมขังเพราะทำงานของพวกเขา"

ในรายงานยังมีการอ้างอิงถึงกรณีสำคัญ เช่น กรณีที่นักข่าวอิสระชาวจีน โซเฟีย หวง สเหว่ฉิน ที่ถูกจับกุมในเดือน ต.ค. เพราะเขียนเกี่ยวกับการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองในฮ่องกง อีกกรณีหนึ่งที่เน้นความสำคัญคือกรณีของนักข่าวเศรษฐกิจอิหร่าน โมฮัมหมัด มอสซาอิด ผู้ที่ถูกจับกุมหลังจากที่ยังคงใช้ทวิตเตอร์ในช่วงที่มีการปิดอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลในการที่จะปิดกั้นข่าวสารการประท้วงต่อต้านราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ในสถิติของ CPJ ยังระบุอีกว่ามีหลายประเทศที่อ้างกล่าวหานักข่าวว่า "รายงานข่าวเท็จ" มาเป็นตัวจับกุมดำเนินคดีพวกเขา เช่น อียิปต์ รัสเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้จำนวนนักข่าวที่ถูกจับกุมร้อยละ 98 เป็นนักข่าวในประเทศตัวเองโดยมีอยู่บางกรณีที่เป็นคนมีสัญชาติต่างประเทศ เช่น กรณีในซาอุดิอาระเบียและในจีน นักข่าวที่ถูกจับกุมมากที่สุดมาจากสาเหตุการรายงานข่าวการเมือง รองลงมาคือการรายงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน

เรียบเรียงจาก

China biggest detainer of journalists worldwide, says watchdog, Hong Kong Free Press, Dec. 12, 2019

China, Turkey, Saudi Arabia, Egypt are world's worst jailers of journalists, CPJ, Dec. 11, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท