Skip to main content
sharethis

ซีรีส์บทสัมภาษณ์ Thailand Unsettled ตอนที่ 9 พูดคุยกับสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ย้ำว่าภายใต้ระบอบการเมืองที่ยังมีปัญหา การคาดหวังให้สถาบันตุลาการดำรงอยู่อย่างเป็นกลางย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหากคิดจะปฏิรูปสถาบันตุลาการ

ซีรีส์บทสัมภาษณ์ 'Thailand Unsettled' ชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างประชาไทและ New Mandala ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก Coral Bell มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560

  • ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2557 พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมาก
  • อุดมการณ์ทางสังคมในช่วงปี 2549 ผลักดันให้เกิดตุลาการภิวัตน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้สถาบันตุลาการเป็นปฏิปักษ์ต่อกับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมาก
  • การอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่ทั้งหมดมันมีปัญหา การคาดหวังให้สถาบันตุลาการดำรงอยู่อย่างเป็นกลางย่อมเป็นไปไม่ได้
  • ต้องสร้างระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหากคิดจะปฏิรูปสถาบันตุลาการ

ความขัดแย้งทางการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นห้วงยามที่สถาบันตุลาการได้พิสูจน์ตัวเอง ซึ่งผลที่ออกมาไม่ชวนให้ประทับใจสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาดคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นพูดกันว่าไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมาย ไม่จำเป็นต้องรู้ข้อเท็จจริงทางคดี แค่ดูว่าใครเป็นผู้ถูกฟ้องก็สามารถเดาผลคำวินิจฉัยได้แล้ว

ข้อหาละเมิดอำนาจศาล หมิ่นศาล ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองและการวิพากษ์วิจารณ์ ไล่เรียงมาจนถึงกรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะยิงตนเองในศาลที่จังหวัดยะลา ปรากฏการณ์เหล่านี้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

“ก่อนหน้านี้มีคนถามผมเรื่องคดีคุณธนาธร ผมก็ตอบเลยว่าคุณธนาธรน่าจะเผชิญปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ แล้วผลก็ออกมาในลักษณะนั้น ถ้าถามผมว่าผมคาดหมายจากอะไร ผมไม่ได้คาดหมายจากหลักวิชาเลย ผมคาดหมายเพราะผมคิดว่าคุณธนาธรเป็นใคร เช่นเดียวกันกับกรณีคุณประยุทธ์เรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกันผมก็คาดเดาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่สร้างปัญหาให้กับคุณประยุทธ์ ผมคาดเดาจากหลักวิชาไหม ผมไม่ได้คาดเดาจากหลักวิชาเลย ผมคาดเดาจากการดูว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นใคร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจจะให้เหตุผลไปได้ว่า เราไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเลย เราคิดตามหลักวิชา ก็ว่าไป

“ตอนนี้เวลาพิจารณาเรื่องพวกนี้ผมใช้แง่มุมจากหลักวิชาน้อยมาก ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับแง่มุมอื่นๆ เป็นสำคัญ พอเป็นแบบนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือบทบาทขององค์กรอิสระที่เป็นอยู่ตอนนี้อาจจะเป็นละครเรื่องเดิมที่มีตอน 1 ตอน 2 ขยายตอนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้คนทุกคนก็จะสามารถเดาได้ว่าละครเรื่องนี้เขียนขึ้นบนพล็อตแบบหนึ่ง แล้วมันก็จะจบลงแบบหนึ่ง พล็อตเรื่องที่แล้วมีพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ร้าย บัดนี้ ผู้ร้ายเปลี่ยนแล้ว ซึ่งจะมีคนทำหน้าที่อยู่ตลอด”

การที่ผู้คนสามารถคาดหมายได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร สำหรับสมชายแล้ว มันคือการบอกว่าเรื่องนี้ใหญ่กว่าศาลรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เกิดขึ้นแค่กรณีเดียว เขาอธิบายว่าอย่างน้อยหลังปี 2549 เป็นต้นมา มีการยึดอำนาจ มีรัฐธรรมนูญปี 2550 มีศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่หลังรัฐธรรมนูญปี 2550 จนถึง 2562 สิ่งที่ผู้คนน่าจะมองเห็นคล้ายๆ กันก็คือบทบาทศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางที่พอจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คำตัดสินจะเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนฟ้อง ใครเป็นคนถูกฟ้อง

ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทางการเมืองจากการเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมาก
โดยหลักคือการวินิจฉัยต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย แต่จากการอ่านคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2557 ของสมชาย พบว่า

“ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อหรือมีปัญหากับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมาก

“ในช่วงเวลานั้นถ้าเราเอาคดีมาคลี่ สิ่งที่ผมพบก็คือถ้าเมื่อไหร่คนที่ถูกกล่าวหาเป็นสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมาก คำวินิจฉัยที่ออกมาจะมีปัญหากับผู้ถูกกล่าวหา แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นคำกล่าวหาที่มีกับสถาบันทางการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ไม่ใช่เสียงข้างมาก เราจะพบว่าหลายๆ ครั้งคำวินิจฉัยออกมาในแบบที่ชวนให้ประหลาดใจ เช่นกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบด้วยเหตุผลว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ทำหน้าที่ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งน่าสนใจ กกต. ไม่ได้ทำการยุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรก ยื่นยุบมาหลายพรรคแล้วก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหา แต่พอจะยุบพรรคประชาธิปัตย์ กกต. ไม่ได้ทำให้ตรงกรอบระยะเวลา เพราะฉะนั้นยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ คือถ้าเราอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2557 จะพบว่านี่คือสิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน”

คำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการเมืองต่อจาก 2557 มา สิ่งที่เห็นคือองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนไปในทางที่ตุลาการบางคนหมดอายุแล้วก็มีเข้ามาใหม่ คนที่หมดอายุคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ขยายอายุให้บางคนและบางส่วนที่คัดเลือกมาใหม่โดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับ คสช. หมายความว่าในเชิงองค์ประกอบหรือที่มา มันก็สะท้อนว่าจะคาดหวังอะไรได้กับศาลรัฐธรรมนูญที่มีคุณสมบัติแบบนี้

‘ตุลาการภิวัตน์’ จุดเริ่มต้นการเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันทางการเมืองจากการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่าอะไรทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมาก สมชายตอบกลับทันทีว่า “ตุลาการภิวัตน์”

“ก่อนหน้าเมษายนปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญของไทยยังไม่มีแนวโน้มอย่างนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ก่อนหน้าเมษายน 2549 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทางการเมืองเสียงข้างมาก แต่พอหลัง 2549 เป็นปฏิปักษ์อันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

“ถามว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ผมคิดว่าเพราะข้อเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ที่จะเข้ามาจัดการกับการเมือง ถ้าย้อนกลับไปผมจำได้ว่ามีข้อเสนอของธีรยุทธ บุญมี ซึ่งอธิบายว่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองตอนนั้น ตุลาการน่าจะเป็นองค์กรที่เหมาะสมที่สุดในการเข้ามาจัดการความขัดแย้งทางการเมือง โดยธีรยุทธ บุญมี ได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศจำนวนมากว่าศาลได้เข้ามาจัดการความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งสิ่งที่ธีรยุทธเสนอมาในช่วงนั้นก็ดูเหมือนจะสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เกลียดชังนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีหลายกลุ่มตั้งแต่ชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นสูงก็ผลักดันอุดมการณ์นี้ให้เกิดขึ้นเป็นปฏิบัติการทางการเมือง หมายความว่าการที่ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมือง ในแง่หนึ่งเป็นเพราะว่าอุดมการณ์ในทางสังคมได้ผลักให้เขาเข้ามายืนในตำแหน่งนี้ด้วย”

อีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่าฝ่ายตุลาการก็ยินยอมพร้อมใจที่จะกระโดดเข้ามาเล่นบทบาทนี้ นั่นทำให้เห็นกรณีการยุบพรรคการเมือง การล้มการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระแสมาเป็นระลอก

000

ที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการ มันเป็นอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ข้างในสถาบันตุลาการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า คสช. เขามีความเข้าใจจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปโยกย้าย ปลด แต่งตั้ง ไม่จำเป็นเลย เพราะรู้ว่าสถาบันตุลาการจะทำหน้าที่แบบไหนเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น

สถาบันตุลาการไม่สัมพันธ์กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม สมชายคิดว่าสถาบันตุลาการในสังคมไทยมีปัญหามาตั้งแต่ก่อนปี 2549 ที่ชัดเจนที่สุดคือสถาบันตุลาการสัมพันธ์กับสังคมเบาบางมาก สถาบันตุลาการหลังปี 2557 มีการพูดกันมากว่าสถาบันตุลาการซึ่งรวมถึงศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญว่า มีอุดมการณ์ มีคำวินิจฉัยที่สอดรับกับการรัฐประหาร เขาตั้งข้อสังเกตว่าหลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา คสช. แทบไม่ได้ออกกฎระเบียบใดๆ ที่เข้ามาแทรกแซงศาล ไม่มีการสั่งย้ายผู้พิพากษา ไม่มีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา กล่าวคือ คสช. แทบไม่ได้แตะต้องฝ่ายตุลาการเลย

“สิ่งที่ผมจะบอกก็คือเอาเข้าจริงๆ อุดมการณ์หรือแนวทางปฏิบัติที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการ มันเป็นอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ข้างในสถาบันตุลาการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า คสช. เขามีความเข้าใจจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปโยกย้าย ปลด แต่งตั้ง ไม่จำเป็นเลย เพราะรู้ว่าสถาบันตุลาการจะทำหน้าที่แบบไหนเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ซึ่งผมคิดว่าคำวินิจฉัยหลายๆ คดีก็จะเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยจำนวนมากไม่เห็นด้วย เช่น การรับรองให้คำสั่งของคณะรัฐประหารมีผลเป็นกฎหมายโดยไม่ตรวจสอบเข้าไปถึงเนื้อหาบ้างเลยว่ามีปัญหามากน้อยขนาดไหน”

ปัญหาหลักของสถาบันตุลาการคือความเชื่อมโยงกับสังคม เรียกได้ว่าระบบตุลาการในสังคมไทยเป็นระบบปิด  มีความสัมพันธ์เบาบางกับประชาชน ถ้าถามว่าประธานศาลฎีกาในไทยสัมพันธ์กับประชาชนอย่างไร ก็มาจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) เป็นผู้เลือก โดยที่ กต. มีทั้งหมด 15 คนประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ผู้แทนจากศาลฎีกา 6 คน ผู้แทนจากศาลอุทธรณ์ 4 คน ผู้แทนจากศาลชั้นต้น 2 คน และบุคคลภายนอก 2 คน

“เคยมีคนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่อยู่ใน กต. ให้สัมภาษณ์ ถามว่าบุคคลภายนอกมีหน้าที่อะไร เขาบอกว่าไม่ค่อยมีหน้าที่หรอก ส่วนใหญ่บรรดาผู้พิพากษาเขาก็ฟังกันเอง”

สมชายยังเล่าถึงกรณีที่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่เสนอว่า กต. ไม่ควรมีคนนอก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จารีตของศาล ควรมีแต่ผู้พิพากษาเท่านั้น ทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายจึงอยู่ในแวดวงหรือในขอบเขตของผู้พิพากษาเป็นหลัก ข้อดีคือทำให้นักการเมืองเข้ามาแทรกได้ยาก ในขณะเดียวกันปัญหาที่ตามมาก็คือผู้พิพากษาไม่สัมพันธ์กับสังคมเลย

คำถามคือถ้าไม่สัมพันธ์กับสังคมเลย เวลาที่มีคำวินิจฉัยหรือการกระทำที่หลุดไปจากบรรทัดฐาน สังคมจะทำอะไรกับผู้พิพากษาได้บ้าง สังคมจะทำอะไรกับกระบวนการยุติธรรมได้บ้าง คำตอบคือยากมาก สมชายจึงมีความเห็นว่าระบบตุลาการเป็นระบบปิด ซึ่งเน้นความเป็นอิสระจากการควบคุมของนักการเมือง แต่แทบไม่สัมพันธ์กับประชาชนเลย

Thailand Unsettled ย้อนหลัง

ระบอบการเมืองมีปัญหา สถาบันตุลาการย่อมมีปัญหา

“ผมคิดว่าหลายๆ คนจะคาดหวังว่าพอมีการเลือกตั้งแล้ว เมื่อเราพ้นจากรัฐประหาร อำนาจของ คสช. เบาบางลง สถาบันตุลาการน่าจะกลับมาทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้มากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าความคาดหวังนี้เป็นความคาดหวังที่ไม่สัมพันธ์กับเงื่อนไขในเชิงโครงสร้าง หมายความว่าเวลาที่สถาบันตุลาการทำหน้าที่อะไรก็ตาม เขาไม่ได้ทำแค่จากจุดยืนทางการเมือง คือไม่ได้ทำจากอุดมคติเพียงอย่างเดียว แต่มันมีโครงสร้าง มีอุดมการณ์อื่นๆ ที่กำกับเขาเอาไว้ เพราะฉะนั้นต่อให้ คสช. สลายตัวไป ต่อให้มีการเลือกตั้งก็ตาม แต่ตราบเท่าที่โครงสร้างอุดมการณ์ต่างๆ หรือวัฒนธรรมของสถาบันตุลาการไม่เปลี่ยน ผมคิดว่าอย่าเพิ่งหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ง่าย”

สมชายอธิบายว่าระบอบการเมืองโดยรวมตอนนี้เป็นระบอบที่เรียกชื่อไม่ได้ "พูดง่ายๆ ระบอบการเมืองโดยรวมที่เราเห็นตอนนี้ เข้าใจว่าบรรดาคนที่สนใจการเมืองไทยตอนนี้ก็ยังมึนงงกันอยู่นะครับว่าจะเรียกระบอบที่เราอยู่ว่าระบอบอะไร อาจารย์เกษียร เตชะพีระก็บอกว่าเป็น "ระบอบที่เรียกชื่อไม่ได้" หรือคือเป็นระบอบที่เราก็มึนงงว่าจะอธิบายว่าอย่างไร"

เพราะระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นหลักการพื้นฐานมาตั้งแต่อย่างน้อยปี 2520 กว่าๆ พอมาถึงปี 2550 มันเริ่มเปลี่ยน ระบอบตอนนี้เป็นระบอบที่จะเริ่มเห็นความพิสดารขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง รวมถึงตัวรัฐธรรมนูญด้วย

“คือพอตัวระบอบมันเป็นปัญหาแบบนี้ การคาดหวังว่าจะให้สถาบันตุลาการเป็นองค์กรที่ตรงไปตรงมา ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชา อยู่เหนือความขัดแย้ง ผมคิดว่าไม่สู้จะเป็นความคาดหวังที่น่าจะเกิดขึ้นได้ ในทัศนะผม เวลาเราพูดถึงองค์กรตุลาการ นี่คือองค์กรทางการเมืองชนิดหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าตุลาการมาจากการเลือกตั้ง แต่การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ขององค์กรตุลาการมันสัมพันธ์กับปัจจัยทางการเมืองในความหมายอย่างกว้าง เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นแบบหนึ่ง ในระบอบเผด็จการก็เป็นแบบหนึ่ง ในระบอบประชาธิปไตยเป็นแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าคุณอยู่ภายใต้ระบอบที่ทั้งหมดมันมีปัญหา องค์กรตุลาการจะดำรงอยู่อย่างเป็นกลาง อย่างปราศจากการเอียงข้างทางการเมือง ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้”

แน่นอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้จะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นจากข้อหาละเมิดอำนาจศาล แต่สมชายเสนอว่าต้องมองให้เห็นสิ่งที่ใหญ่กว่าปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้น คำพิพากษา คำวินิจฉัย เป็นปฏิบัติการชนิดหนึ่ง แต่มันมีโครงสร้าง อุดมการณ์ และวัฒนธรรม รวมถึงผลประโยชน์กำกับอยู่เบื้องหลัง
การคิดแก้ไขปัญหาในสถาบันตุลาการ สมชายเห็นว่าจำเป็นต้องแก้เรื่องการเมืองก่อนหรือแก้ไปพร้อมๆ กัน แต่อย่าคิดว่าจะสามารถสถาปนากระบวนการยุติธรรม องค์กรตุลาการที่พอจะเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจได้ในเมื่อทุกองคาพยพของสังคมบิดเบี้ยว การคาดหวังให้องค์กรตุลาการเป็นองค์กรเดียวที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมจึงเป็นไปได้ยาก

“ในสังคมต่างๆ เวลาที่สร้างระบบกฎหมายขึ้นมา สร้างกระบวนการยุติธรรมขึ้นมา เพราะคาดหวังว่าจะใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมากำกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้อยู่ในกรอบกติกา แต่ในสังคมไทยมีความแตกต่างชนิดหนึ่งก็คือหลัง 2475 เป็นต้นมา ระยะแรกเราอาจจะเห็นความพยายามสร้างกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้กำกับการเมืองให้เป็นไปตามกติกา แต่หลังๆ ผมคิดว่ามันกลับตาลปัตรกัน มันกลายเป็นว่าระบบการเมืองเข้ามากำกับกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อตอบสนองต่อระบอบการเมือง”

000

ตอนนี้ไม่มีระบอบประชาธิปไตย แล้วจะสร้างสถาบันตุลาการที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องทำคือต้องพยายามผลักหรือสถาปนาระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยต้องทำให้มันพอจะเป็นที่รับกันได้

จะปฏิรูปสถาบันตุลาการต้องสร้างประชาธิปไตย

ฟังแล้วดูเหมือนสิ้นหวัง แต่สมชายไม่ได้คิดเช่นนั้นเสียทีเดียว หากเชื่อว่าสถาบันตุลาการก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กินเวลากว่า 100 ปี จวบจนถึงปี 2549 เสียงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันตุลาการเบาบางมาก ทว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่สังคมมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น ซึ่งจะลดความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมลงได้ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะสามารถทำได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต

"ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมต้องถูกคิดถึงในฐานะเป็น political Being เป็นสถาบันทางการเมืองชนิดหนึ่งไม่ใช่ moral being ก่อนหน้านี้เวลาที่เราพูดถึงกระบวนการยุติธรรมหรือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมักจะคิดว่านี่คือ moral being คือคนที่อยู่ในองค์กรนี้จะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ บางคนเรียกว่าครึ่งคนครึ่งพระด้วยซ้ำผมคิดว่าต้องดึงคนเหล่านี้จากโลก โลกที่ชอบอธิบายว่าเป็นโลกุตระ ไม่ใช่เราก็โลกียะเหมือนกันนั่นแหละเพียงแต่ว่าคนนี้ทำตำแหน่งนี้ คนนี้ไปทำตำแหน่งนี้ เราต่างอยู่ในโลกของโลกียะนี่แหละ"

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญนั้น สมชายเห็นว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่โดยแนวโน้มของโลกประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญหลังปี 1990 เป็นต้นมาส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การมีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเป็นศาลที่อิสระและเป็นกลาง หากขึ้นอยู่กับเงื่อนปัจจัยทางการเมืองภายใน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันตุลาการหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการต้องสัมพันธ์และถูกกำกับตรวจสอบโดยสังคมและประชาชนได้

เมื่อสนทนาเรื่องสถาบันตุลาการคำถามซ้ำซากที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ คือจะปฏิรูปให้สถาบันตุลาการสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

“ตอบแบบง่ายที่สุดเลยคือทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยก่อน คือตอนนี้ไม่มีระบอบประชาธิปไตยแล้วจะสร้างสถาบันตุลาการที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องทำคือต้องพยายามผลักหรือสถาปนาระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยต้องทำให้มันพอจะเป็นที่รับกันได้

“ผมคิดว่าภารกิจเบื้องหน้าคือต้องทำให้อุดมการณ์หรือคุณค่าประชาธิปไตยถูกยอมรับให้กว้างขวาง รวมถึงการปรับสถาบันทางการเมืองให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นกันอยู่ว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น การวางหมุดหมายใหญ่ของระบอบการเมืองจึงมีความสำคัญ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net