นิธิ เอียวศรีวงศ์: สถาบันกษัตริย์ใน “สี่แผ่นดิน”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนจำนวนมากที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีลักษณะดังพรรณนาไว้ในสี่แผ่นดินตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ดังกล่าวแปรเปลี่ยนในประวัติศาสตร์มาโดยตลอด

ยิ่งไปกว่านั้น จะว่าสี่แผ่นดินจำลองความสัมพันธ์ตามที่เป็นจริงในสมัย ร.5-ร.7 ผมก็ให้สงสัยว่าไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริงของผู้เขียน เพราะเท่าที่ผมเข้าใจจากหลักฐานต่างๆ ของรัชสมัยเหล่านั้น ก็ยังไม่ตรงตามความสัมพันธ์ที่สี่แผ่นดินสร้างขึ้น

เป็นไปได้มากกว่าว่า ผู้เขียนสี่แผ่นดินมุ่งจะสร้างอุดมคติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรขึ้น เพื่อให้เหมาะกับกาลสมัยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อพระมหากษัตริย์หมดสิ้นพระราชภาระในการบริหารปกครองบ้านเมืองแล้ว

ทำไมตัวเอกของเรื่องจึงต้องเป็นผู้หญิงในรั้วในวัง ก็เพื่อทำให้พระบรมโพธิสมภารปกแผ่ชีวิตของราษฎรด้วยพระมหากรุณาธิคุณทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองใดๆ เลย ตรงตามสถานภาพของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ผมคงนึกเรื่องนี้ไม่ออกถ้าไม่ได้อ่าน “โลกของแม่พลอย โลกของใคร?” ของคุณชุติเดช เมธีชุติกุล ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ใน “อ่านคนละเรื่อง” แม้ว่าคุณชุติเดชพูดถึงมิติอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ของสี่แผ่นดินก็ตาม บทความของคุณชุติเดชปลุกเร้าจินตนาการให้เลยมาถึงเรื่องนี้ได้อย่างไร ผมก็ไม่ทราบ แต่อยากบันทึกความขอบคุณไว้ด้วย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนและพิมพ์สี่แผ่นดินในระหว่าง 2494-2495

ช่วงเวลาดังกล่าวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกอะไรบ้าง ผมคิดว่าบอกหลายอย่างทีเดียว

ประการแรกที่ควรสนใจเป็นพิเศษก็คือ หลังการปฏิวัติ 2475 บทบาทของพระมหากษัตริย์ในความสัมพันธ์ทางการเมืองพึงเปลี่ยนไปอย่างไร รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนพอสมควรแล้ว แต่ความสัมพันธ์ด้านอื่นระหว่างพระมหากษัตริย์กับสังคมควรเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรกำหนดไว้ให้ เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องหาจุดลงตัวที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเอาเอง หลังจากที่ ร.7 ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระมหากษัตริย์ที่ดำรงราชสมบัติสืบมาทรงพระเยาว์และประทับอยู่นอกราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างจารีตของความสัมพันธ์ใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญระหว่างสถาบันกับสังคมขึ้นได้

แม้การรัฐประหาร 2490 จะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอนุรักษนิยม ฐานพลังทางการเมืองของคณะราษฎรถูกทำลายลงเกือบสิ้นเชิง แต่โอกาสที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็หมดไป เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งถึง 2494 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.นำเอารัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2492 พื้นที่สำหรับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ทางการเมืองก็ถือได้ว่ามลายหายสูญไปเลย

ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกับสังคมจึงยังคงเป็นช่องว่างที่ไม่มีคำตอบใดๆ ในช่วงที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนสี่แผ่นดิน

ตัวเขาเองก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีส่วนร่วมก่อรัฐประหาร 2490 เข้าดำรงตำแหน่งใน ครม.ชุดแรกของรัฐบาลจอมพล ป. แล้วก็ลาออกในเวลาต่อมา แต่แทนที่จะกลับเข้าพรรคการเมืองใดๆ คุณคึกฤทธิ์กลับเดินหน้าเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์เต็มตัว ผมเชื่อว่าเขาย่อมรู้ดีว่าสยามรัฐเป็นการ “ทำการเมือง” อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งภายใต้เผด็จการของกองทัพ จะมีประสิทธิภาพเสียยิ่งกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองในสภาเสียอีก

กล่าวโดยสรุปก็คือ สี่แผ่นดินไม่ได้เป็นแต่เพียงบันทึกความทรงจำในวัยเด็กของผู้เขียนซึ่งเคยใช้ชีวิตในวังหลวง หรือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จากเจ้านายที่ยังทรงพระชนม์อยู่ นั่นก็อาจใช่บางส่วน แต่หน้าที่หลักของรายละเอียดของสังคมฝ่ายในคือสร้างความสมจริง เพื่อรองรับอุดมคติทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนเสนอในท้องเรื่องเท่านั้น

และหนึ่งในอุดมคตินั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสังคมในระบอบที่ถูกเรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งใน พ.ศ.2494-2495 ยังหาความชัดเจนแน่นอนใดๆ ไม่ได้

อุดมคติดังกล่าวนี้เป็นเช่นไร?

ผมคิดว่าสี่แผ่นดินสร้างให้สถาบันพระมหากษัตริย์คือศูนย์กลางของเมตตาบารมี ทรงพระกรุณาแก่พสกนิกรทั่วไป โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยาก เช่นพลอยซึ่งเป็นลูกเมียน้อยของเจ้าคุณ เมื่อเลิกร้างกับเจ้าคุณแล้วจะหาเลี้ยงตัวอย่างไรก็ยาก จึงต้องนำลูกสาวมาพึ่งพระบารมีของ “เสด็จ”

จริงอยู่นวนิยายไม่ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์พระมหากษัตริย์เลย แต่ทุกบรรทัดก็ทำให้ผู้อ่านสำนึกได้ว่า พระมหากษัตริย์ย่อมเป็นประธานของสถาบัน อุดมคติของความเมตตากรุณาดังกล่าวจึงเป็นของสถาบัน (สังเกตด้วยว่าทั้งเรื่องแทบไม่ได้พูดถึงมิติด้านพระราชอำนาจของสถาบันเลย)

แต่ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า อุดมคตินี้เป็นจริงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้ พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์จากสมัยนั้นแสดงอุดมคติทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ด้วยอิทธิพลของวรรณกรรมสันสกฤตซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษจำนวนมาก ส่งผลให้ชนชั้นปกครองไทยสมัยนั้นสร้างอุดมคติทางสังคมคล้ายอุดมคติของฮินดู คือคนแต่ละกลุ่มต่างมีหน้าที่ของตนเอง ซึ่งควรปฏิบัติให้ถึงที่สุด กษัตริย์หรือผู้ปกครองคือ “นักรบ” จึงมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ นับเป็นอุดมคติที่สอดรับกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างดี

จริงอยู่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ก็แสดงความตั้งพระทัยจะ “บำรุงสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร” แต่พระมหากรุณาธิคุณเช่นนั้นไม่เหมือนกับในสี่แผ่นดินเสียทีเดียวนัก พระมหากรุณาธิคุณในต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อช่วยให้ราษฎรพ้นอบายภูมิ เช่น ออกกฎหมายพระสงฆ์, ประกาศห้ามสูบฝิ่น, หรือรบต่อตีพม่าข้าศึกซึ่งถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า อุดมคติของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ไม่ได้อยู่คงที่เหมือนเดิมตลอดประวัติศาสตร์ ใครอ่านขุนช้างขุนแผนก็นึกออกทันทีว่า พระพันวษายึดถืออุดมคติที่แตกต่างอย่างยิ่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รวมทั้งแตกต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ในสี่แผ่นดินด้วย

พระพันวษาในขุนช้างขุนแผนก็ไม่ต่างอะไรมากนักกับพระเจ้าปราสาททอง ตามที่ฟานฟลีตบรรยายไว้ คือทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดและสมบูรณ์ด้วยพระองค์เอง จนยากที่ขุนนางจะสามารถคาดเดาได้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร พูดอีกอย่างหนึ่งคือเกรงกลัวพระราชอาชญาเสียจนไม่มีชีวิตสงบสุขได้เลย คนละเรื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสี่แผ่นดินลิบลับทีเดียว

ผมเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาสืบมาจนสิ้นรัชสมัยพระเจ้าตากสินก็ยังคงเน้นด้านพระราชอำนาจ (ทั้งทางโลกย์และทางธรรม) ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบมา พระมหากษัตริย์ในต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสิ้นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ยังให้ความสำคัญแก่พระราชอำนาจ แต่เป็นพระราชอำนาจที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร ในต้นรัตนโกสินทร์ก็เพื่อสร้างสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม ในสมัยต่อมาก็เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของพระราชอาณาจักร แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า เราแทบไม่เห็นมิติด้านพระราชอำนาจในสี่แผ่นดินเลย

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า การนิยามอุดมคติของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมักเกิดขึ้นในระยะที่สังคมไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนผ่านอย่างใดอย่างหนึ่ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 การค้านานาชาติทำให้ทรัพย์ศฤงคารเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก Anthony Reid ตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายรัฐการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กษัตริย์จะรวบอำนาจมาไว้ในมืออย่างเต็มที่ เพื่อกีดกันพ่อค้า (ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ) มิให้ได้ผลประโยชน์จากการค้าอย่างที่เคย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบอบจักรวรรดินิยมก็บังคับให้สถาบันกษัตริย์ต้องปรับเปลี่ยนอุดมคติและบทบาทของตนเช่นกัน

และแน่นอนว่าการปฏิวัติ 2475 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เช่นกัน แต่จนถึงปีที่แต่งสี่แผ่นดิน ก็ยังไม่มีนิยามใหม่ให้แก่อุดมคติของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ระบอบใหม่แต่อย่างใด

คงไม่ต้องพูดถึงมากนักว่า สี่แผ่นดินมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนไทยเพียงไร ภาพยนตร์, ละครทีวี, จนถึงละครเพลงช่วย เผยแพร่และสืบทอดนวนิยายเรื่องนี้ไปอย่างกว้างขวางกว่าครึ่งศตวรรษ และให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ในอุดมคติแก่สังคมไทยสืบมา เช่น แม้ไม่กัมมันตะหรือ inactive ในทางการเมือง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระบรมโพธิสมภารสูงส่ง อย่างที่ปรากฏในนวนิยาย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแกนกลางของศีลธรรมทางสังคม เข้าถึงจุดอ่อน (weakness) ของมนุษย์ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากทุกกลุ่ม

พระบรมฉายาลักษณ์ที่แสดงพระเมตตาและการอุทิศพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน เช่น ภาพที่ยื่นพระหัตถ์สัมผัสกระพุ่มไหว้ของยายแก่, ภาพพระเสโทไหลย้อย ฯลฯ เป็น “ภาพที่มีอยู่ทุกบ้าน” ถ้าพูดภาษาของคุณชุติเดช เมธีชุติกุล ย่อมช่วยสร้างและตอกย้ำ “สามัญสำนึก” ของคนไทยทั้งประเทศ ยิ่งภายใต้รัชสมัยอันยาวนานของ ร.9 “สามัญสำนึก” นี้ยิ่งฝังแน่นในความคิดแบบไทยๆ มากขึ้นไปอีก

พระเมตตาบารมีของพระมหากษัตริย์มิได้จำกัดอยู่ในสำนึกของข้าราชบริพารใกล้ชิดเท่านั้น แต่เป็นสำนึกของราษฎรทั่วไปซึ่งอาจไม่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เลยตลอดชีวิตด้วย

คงจำได้ว่า ก่อน ร.4 ราษฎรต้องปิดบ้านปิดช่องเมื่อจะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่าน หากบังเอิญหลบไม่ทัน ก็ให้ลงหมอบก้มหน้าอย่าได้เงยขึ้นจนกว่าขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว

เห็นได้ชัดจากภาพเช่นนี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรทั่วไปกับพระมหากษัตริย์คือความเกรงกลัวและสยบยอมต่อพระบรมเดชานุภาพอย่างถึงที่สุด

“สี่แผ่นดิน” จึงเป็นมากกว่านวนิยายเกี่ยวกับชีวิตชาววังสมัยก่อน แต่เป็นนวนิยายที่สร้างความจริงอันใหม่ขึ้นใน “สามัญสำนึก” ของคนไทยทั่วไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_254572

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท