Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เรากล้าใช้คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นคนแรกๆ ตั้งแต่หลายปีก่อน” คือคำกล่าวของตัวแทนจากองค์กร Fortify Rights ในงานเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่าย Identity: A Photo Exhibition on the Rohingya Struggle for Citizenship จัดขึ้นที่ Whiteline เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนิทรรศการที่บอกเล่าถึงความสำคัญของเอกสารประจำตัวและความยากลำบากของชาวโรฮิงญาในการเข้าถึงสิทธิพลเมืองของประเทศเมียนมา ฝีมือของ Saiful Huq Omi ช่างภาพชาวบังคลาเทศที่ติดตามถ่ายเรื่องราวชาวโรฮิงญามานานกว่าสิบปี โดยเรื่องราวในนิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเรื่อง “Tools of Genocide” National Verification Cards and the Denial of Citizenship of Rohingya Muslims in Myanmar ที่องค์กร Fortify Rights เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โรฮิงญา เป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนผูกพันกันหลายมิติทั้งในแง่ของเชื้อชาติ ศาสนา ความมั่นคง กองกำลังติดอาวุธ ผู้ลี้ภัย สิทธิมนุษยชน ผลประโยชน์ ฯลฯ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นยืดเยื้อมานานนับศตวรรษ และยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง ทำให้หลายๆ คนจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง โดยเฉพาะกับผู้ที่มีมิตรหรือคนรู้จักในเมียนมา แต่ความเงียบในพื้นที่กลับส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จนทั่วโลกได้ยินเสียงความรุนแรงที่เกิดขึ้นและนำมาสู่การยื่นฟ้องเมียนมาในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลกในข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นอกจากหลักฐานการกระทำความรุนแรงอย่างโหดร้ายและป่าเถื่อนของกองทัพเมียนมาต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการปล้น วางเพลิงเผาหมู่บ้าน ข่มขืน ซ้อมทรมาน การสังหาร ฯลฯ องค์กร Fortify Rights รายงานว่าการปฏิเสธสิทธิพลเมืองและการมีอยู่ของชาวโรฮิงญาผ่านบัตรพิสูจน์สัญชาติ (National Verification Cards-NVC) ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่รัฐบาลเมียนมาใช้กำจัดชาวโรฮิงญา 

มาจากที่ไหน เข้ามาทางด่านชายแดนอะไร เดินทางมาประเทศเมียนมาอย่างไร วันที่เดินทางมาถึง เชื้อชาติและสัญชาติอะไร ฯลฯ คือคำถามในแบบฟอร์มทำบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) ที่ชาวโรฮิงญาถูกทางการเมียนมาใช้ความรุนแรงและบีบบังคับให้ถือแทนบัตรที่แสดงถึงสิทธิพลเมืองประเภทอื่นๆ ซึ่งบัตรพิสูจน์สัญชาติมีไว้สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองเดิมในประเทศเมียนมา หากพวกเขาเปลี่ยนมาถือบัตรนี้ก็เท่ากับยอมรับว่าพวกเขาเป็นชาวต่างชาติตามที่ทางการเมียนมากล่าวอ้าง ดังที่ชาวโรฮิงญาในค่ายลี้ภัยที่เมืองค็อกซ์บาซา ฝั่งบังคลาเทศคนหนึ่งได้โชว์เอกสารต่างๆ ที่แสดงถึงสิทธิในที่ดินและการอยู่อาศัยในรัฐยะไข่มาอย่างยาวนานและบอกว่า “ผมไม่รับบัตร NVC เพราะเมื่อไหร่ที่ถือบัตรนี้ผมก็จะกลายเป็นชาวเบงกาลีทันที” ซึ่งการเป็น ‘คนอื่น’ คือสิ่งที่ทางการมักอ้างถึงเหตุที่ไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมียนมา

แต่หากย้อนดูลำดับเหตุการณ์ของการเป็นพลเมืองโรฮิงญาในประเทศเมียนมาตามรายงาน ตั้งแต่ที่ประเทศเมียนมาได้รับเอกราชในปี 1948 ภายใต้รัฐบาลอู นุ ก็มีการยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นชนพื้นเมืองเดิมในประเทศตามกฎหมายสัญชาติแห่งสหภาพ (Union Citizenship Act) ก่อนที่นายพลเนวินจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจและเปลี่ยนมาใช้กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ในปี 1982 (Citizenship Law) ที่แบ่งพลเมืองเป็น 3 ประเภท คือ พลเมืองพม่า พลเมืองร่วม และพลเมืองแปลงสัญชาติ ซึ่งชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธการถือบัตรทั้งสามประเภทนี้ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองในประเทศได้อย่างเท่าเทียมกับชาติพันธุ์อื่นๆ และต่อมาโรฮิงญาก็ไม่ถูกนับรวมอยู่ใน 135 ชาติพันธุ์ ตามที่ทางการประกาศรับรองอีกด้วย ในปี 2012 รัฐบาลเตงเส่งเริ่มมีการพิสูจน์ความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นในรัฐยะไข่และระบุว่าเป็นชาวเบงกาลี หรือเบงกาลี/อิสลาม และในปี 2016 รัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี ก็มีการทำบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) ที่ปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาและปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮิงญาในเมียนมามาโดยตลอด 

ในรายงานที่สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องมา 600 กว่าคน และเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบัน จากพื้นที่รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เมืองค็อกซ์บาซา ประเทศบังคลาเทศ และกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระบุว่าในกระบวนการทำบัตรพิสูจน์สัญชาติ (NVC) นี้ มีการใช้ความรุนแรงและบีบบังคับใช้ชาวโรฮิงญาถือบัตร โดยมีการจำกัดสิทธิในสัญชาติ กล่าวคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่อนุญาตให้ระบุเชื้อชาติว่าเป็นชาวโรฮิงญาในแบบฟอร์ม แต่ต้องการให้ระบุว่าเป็นชาวเบงกาลีหรือชาวต่างชาติอื่นๆ แทน ชาวโรฮิงญายังถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนที่หากไม่ถือบัตร NVC โดยพวกเขาไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ แม้แต่หมู่บ้านข้างเคียง หรือบางคนที่มีบัตรก็ยังไม่อนุญาตไม่ออกนอกพื้นที่ และหากใครไม่มีบัตร NVC ก็ยังถูกจำกัดสิทธิในการดำรงชีพ ซึ่งในรัฐยะไข่กว่า 43% ของประชากรประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม แต่ทางรัฐบาลกลับบังคับให้ชาวบ้านต้องมาถือบัตรนี้ เช่น ให้เหตุผลว่าการถือบัตร NVC ก็เหมือนเป็นใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพประมง หรือจะต่ออายุใบอนุญาตทำประมงได้ก็ต้องทำบัตร NVC ก่อน มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปหาปลา และหากใครไม่มีบัตร NVC ก็จะถูกจับขังและบังคับให้ทำ หากใครไม่ทำก็จะถูกข่มขู่ ซ้อมทรมาน กระทั่งทำให้ถึงแก่ชีวิต

ในบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่ บัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารที่แสดงถึงความเป็นพลเมืองของชาตินั้นๆ นับเป็นสิ่งสำคัญในฐานะหลักฐานรูปธรรมที่ทำให้เราเข้าถึงสิทธิ การยอมรับ และความคุ้มครองต่างๆ ตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันเอกสารจากทางรัฐก็กลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ปฏิเสธตัวตนและการเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมือง ความโหดร้ายรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงความพยายามของรัฐในการออกกฎหมายและบังคับใช้มาสร้างความชอบธรรมในการกีดกันชาวมุสลิมโรฮิงญาออกจากประเทศเป็นเหตุให้มีชาวบ้านต้องอพยพลี้ภัยไปยังไปบังคลาเทศและที่อื่นๆ นับล้านคน และไม่เพียงแต่ชาวโรฮิงญา แต่กับชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศเมียนมาก็ประสบปัญหาความขัดแย้งมาอย่างยาวนานอย่างไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ความรุนแรงเหล่านี้จะจบลงเช่นไร 

หากกระดาษหนึ่งแผ่นกับเส้นแบ่งแดนจะนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตแล้วชีวิตเล่าและละเมิดย่ำยีความเป็นมนุษย์อย่างไม่รู้จบ แล้วผลผลิตของมนุษย์นี้ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม? 

หลายฝ่ายเห็นว่าชาวโรฮิงญาคือคนนอก หลายฝ่ายมองว่าพวกเขาคือชนพื้นเมืองเดิม แต่สิ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเพื่อนมนุษย์ และไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวโรฮิงญาหรือชาติพันธุ์ใด จะมีสิทธิในความเป็นพลเมืองเมียนมาหรือไม่ หรือศาลโลกจะมีคำตัดสินออกมาว่าอย่างไร แต่กระบวนการแก้ไขปัญหานี้ไม่ควรต้องแลกด้วยชีวิตและศักดิ์ศรีของใครอีกแม้แต่คนเดียว… 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net