Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชนชั้นนำมีสถานะนำและอยู่บนโครงสร้างที่ได้เปรียบ เครือข่ายเส้นสายที่มีอยู่ทั้งในหน่วยงานราชการพลเรือน หน่วยงานความมั่นคง รัฐวิสาหกิจ บริษัท สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ทำให้การบรรลุผลประโยชน์ของชนชั้นนำสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการกระซิบข้างหู บอกกล่าวประชาสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะฝ่ายเดียว จัดตั้งขับเคลื่อนมวลชนทั้งทางความคิดและภาคปฏิบัติหรือสนับสนุนกองทัพยึดอำนาจรัฐจากฝ่ายตรงข้าม

ชนชั้นนำสามารถเล่นการเมืองได้หลากหลายวิธี ด้วยการจัดการลับและใช้ทรัพยากรทางวัตถุส่วนตัวในการเล่นการเมืองต่ำมากหรือกระทั่งไม่จำเป็นต้องใช้เลย เนื่องจากการขับเคลื่อนวาระของตนเองในหมู่ชนชั้นนำที่กระทำผ่านเครือข่ายมักใช้งบประมาณภาครัฐและต้นทุนของสังคมเป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ สำหรับชนชั้นนำแล้วพรรคการเมืองมีความสำคัญต่อพวกเขาไม่มากนักเพราะไม่ใช่เครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจรัฐเพียงชนิดเดียวและอาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ ที่มีและเคยใช้มาก่อน

ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองจะไม่ค่อยสำคัญต่อชนชั้นนำและมีต้นทุนในการดำเนินการสูงแต่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งบีบบังคับและเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำต้องมีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทน แต่พรรคการเมืองของชนชั้นนำผู้ได้ประโยชน์จากการอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ก็ย่อมมีลักษณะอนุรักษนิยมปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่มากนัก 

ในขณะที่สามัญชนหรือประชาชนทั่วไปนอกจากจะขาดสถานะนำ อยู่บนโครงสร้างที่เสียเปรียบแต่แรกแล้วพวกเขายังขาดเครือข่ายที่เข้าถึงอำนาจรัฐ หน่วยงานราชการ กองทัพ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาและบริษัทไม่ใช่หน่วยงานและสถาบันที่จะพร้อมรับฟังและปฏิบัติตามผลประโยชน์ของสามัญชนคนธรรมดา
 
การต่อสู้ต่อรองเจรจาผลประโยชน์ของประชาชนจึงไม่สามารถใช้การพูดคุยส่วนตัวหรือเสนอวาระต่อสังคมวงกว้าง วิธีการส่งเสียงเรียกร้องรักษาแสวงหาประโยชน์ของพวกเขาที่สามารถกระทำคือการรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งใช้ต้นทุนส่วนตัวสูงและมักจะไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จในระดับต่ำ ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีของประเทศไทย รัฐไทยมีนโยบายกีดขวางสร้างอุปสรรคทำให้การรวมตัวกันของประชาชนเกิดขึ้นได้ยากหรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วกลไกรัฐที่อยู่ข้างชนชั้นนำเป็นทุนเดิมก็จะปราบปราม หนทางในการ “เล่นการเมือง” ของประชาชนจึงตีบตัน ต้นทุนสูง ประสิทธิภาพต่ำ

ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องแสวงหาสมาชิก ระดมทุน รวบรวมผู้สมัคร รณรงค์หาเสียงเพื่อให้ผู้สมัครของตนเองได้รับเลือกตั้งเข้าไปในสภาให้มากที่สุด มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อกุมอำนาจรัฐจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้ประกาสไว้หรือหากไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็สามารถมีปากมีเสียงในสภา ในช่วงเวลาที่ไม่มีการเลือกตั้งพรรคการเมืองก็จะต้องทำหน้าที่รักษาและขยายฐานมวลชนของตนออกไปอย่างกว้างขวางโดยมีเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป 

การรณรงค์หาเสียงและการรักษาและขยายฐานมวลชนของพรรคออกไปอย่างกว้างขวางโดยคาดหวังที่จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสภาเพื่อเข้าสู่อำนาจนั้นเป็นการบังคับให้กิจกรรมสำคัญต่างๆ ที่พรรคกระทำจะต้องกระทำโดยเปิดเผย การระดมทุน การคัดสรรบุคลากรขึ้นดำรงตำแหน่งบริหาร การคัดสรรผู้สมัคร ตลอดจนการประกาศนโยบายโดยเปิดเผยนั้นก็คือการนำเอาการต่อสู้ต่อรองเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของประเทศมาวางในที่แจ้ง ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมทางการเมืองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของสถาบันอื่นๆ ที่มิใช่พรรคการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องกระทำกิจกรรมดังกล่าวในที่สาธารณะเพราะความต้องการและการยอมรับจากประชาชนไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการเจรจาต่อรอง 

การเลือกตั้งจึงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนในการเข้าถึงอำนาจด้วยการมีพรรคการเมืองเป็นตัวกลางรวบรวมเสียงสามัญชนทั่วไปเป็น “ประชาชน” ที่มีพลัง ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาเพื่อประชาชนจะทำให้พรรคการเมืองรับปัญหาภาระของประชาชนไปดำเนินการไม่มากก็น้อย

การเลือกตั้งทำให้การเข้าสู่อำนาจการเมืองมีความไม่แน่นอน แต่ความไม่แน่นอนนี้ตั้งอยู่บนความนิยมจากประชาชน สำหรับพรรคการเมืองแล้วประชาชนจึงเป็นเครื่องมือประกันความแน่นอนของการเข้าสู่อำนาจที่การรักษาความแน่นอนนี้เป็นไปได้ด้วยการรักษาและแสวงหาประโยชน์เพื่อประชาชน ในแง่นี้พรรคการเมืองจึงเป็นตัวแทนของประชาชนในการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์จากชนชั้นนำโดยปริยายเพราะผลประโยชน์ของชนชั้นนำกับประชาชนนั้นโดยพื้นฐานแล้วแตกต่างกัน 

แม้ว่าชนชั้นนำจะครองอำนาจและได้เปรียบแต่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกล้วนหันไปในทิศทางที่ประชาชนเติบใหญ่และมีอำนาจมากขึ้น ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้พรรคการเมืองในเครือข่ายของชนชั้นนำไม่สามารถปรับตัวและสร้างสรรค์นโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในวงกว้างได้เนื่องจากจะขัดแย้งกับโครงสร้างผลประโยชน์ของชนชั้นนำที่ได้เปรียบอยู่ พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากจึงเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งเพราะมักจะเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนผู้ปรารถนาความเปลี่ยนแปลง

จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมชนชั้นนำจึงมีความพยายามตัดตอนบั่นทอนความมั่นคงยั่งยืนของสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ตั้งพรรคการเมืองยาก ออกแบบกติกาการเลือกตั้งให้นักการเมืองและพรรคการเมืองไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในฐานะตัวแทนประชาชนหรือกระทั่งยุบพรรคการเมือง

ในความเป็นจริงแม้ว่าพรรคการเมืองอาจเป็นภัยคุกคามชนชั้นนำ แต่ก็มีคุณสมบัติหลายประการที่เป็นคุณ เป็นต้นว่าสามารถแปรความเดือดร้อนโกรธเกรี้ยวที่พร้อมจะระเบิดเป็นความรุนแรงให้กลายมาเป็นการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐเกิดขึ้นโดยสันติ ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในสนามการเมืองนี้อย่างยืดหยุ่นไม่จำเป็นต้องแตกหัก

กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรคการเมืองนี้แหละคือกันชนระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน พรรคการเมืองทำหน้าที่ประนีประนอมรอมชอมผลประโยชน์ของชนชั้นนำกับประชาชนเข้าด้วยกัน ไม่มีพรรคการเมืองใดในระบอบประชาธิปไตยที่จะสามารถประกาศและดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเต็มร้อยเพราะทั้งในพรรคและผู้สนับสนุนพรรคเองก็มีเครือข่ายชนชั้นนำไม่มากก็น้อย

ถ้าไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน สังคมก็จะเห็นชัดขึ้นว่าการเมืองก็จะเป็นเรื่องของชนชั้นนำ การต่อสู้ต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะจำกัดวงแคบและอยู่ในที่ลับหรือในที่แจ้งอย่างไม่เกรงอกเกรงใจสังคม 

คำถามคือเมื่อถึงจุดที่ประชาชนเหลือทน พวกเขาจะลุกขึ้นสู้เพื่อประโยชน์ของพวกเขาเองอย่างไรในเมื่อเครื่องมือและหนทางเรียกร้องโดยสันติถูกทำลายและปิดลง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net