Skip to main content
sharethis

ประกันสังคมเร่งรัด จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แล้วเสร็จตรงเวลา

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีสถานพยาบาลร้องเรียนมายังสำนักงานประกันสังคมว่า สำนักงานประกันสังคมมีหนี้ค้างจ่ายซึ่งเป็นค่าบริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลเป็นเงินรวมจำนวน 3,000 ล้านบาท ทำให้มีผลกระทบทางการเงินกับสถานพยาบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาล ซึ่งขณะนี้พบว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการจ่ายเงินให้สถานพยาบาลครบถ้วนทุกแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ ยังได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการกำหนดขอบเขตระยะเวลาที่ชัดเจนในการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาล โดยได้แบ่งเป็นรายการค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้ ค่าบริการเหมาจ่าย จ่ายภายในวันที่ 10 ของเดือน โรคภาระเสี่ยงจ่ายภายในวันที่ 20 ของเดือน โรคค่าใช้จ่ายสูง จ่ายภายในวันที่ 25 ของเดือน เกณฑ์คุณภาพตามตัวชี้วัด ปี 2561 จ่ายแล้วสำหรับในปี 2562 กำหนดจ่ายภายในเดือนมกราคม 2563

การดำเนินการกรณีการจ่ายเงินค้างชำระค่าบริการทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคมแก่สถานพยาบาลให้แล้วเสร็จในครั้งนี้ จะช่วยให้สถานพยาบาลเกิดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีปัญหาเรื่องระบบบัญชี อันจะส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลนั้น ๆ ได้รับบริการทางการแพทย์ที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันมีสถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมจำนวน 239 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถานพยาบาลของรัฐ 160 แห่ง และสถานพยาบาลของเอกชน 79 แห่ง มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 รวมจำนวนกว่า 13 ล้านคน ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/12/2562

ตม.เกาหลีออกกฏใหม่คุมเข้ม ‘ผีน้อย’ ปรับ 5 แสน แบน 10 ปี

13 ธ.ค. 2562 สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul เผยแพร่มาตรการใหม่ของเกาหลีใต้ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าเมืองโดยผิดวัตถุประสงค์ หรือกลุ่มที่เข้าเมืองเกาหลีใต้เพื่อเข้ามาเป็นแรงงาน

รายละเอียดระบุว่า แรงงานไทยที่อยู่อาศัยในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายและเกินวีซ่าเข้าเมืองกำหนด หากรายงานตัวกลับไทยโดยสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 - วันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะไม่เสียค่าปรับ และไม่ถูกสั่งห้ามให้เดินทางเข้าเกาหลีใต้อีก แต่หากอยู่ต่อและนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป จะต้องจ่ายค่าปรับเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะมีค่าปรับ 30% เมื่อเดินทางกลับระหว่าง 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2563 และจะเสียค่าปรับ 50% หากเดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ระหว่างช่วงเวลาตามข้างต้น หากแรงงานที่ผิดกฎหมายถูกจับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จะต้องเสียค่าปรับตามระยะเวลาที่อยู่เกินวีซ่า นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกจับและอยู่เกินวีซ่า 3 ปีขึ้นไป จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 20 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 500,000 บาท

มาตรการดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ผู้ที่เดินทางกลับแต่ไม่จ่ายค่าปรับ จะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าเกาหลีใต้อีกตั้งแต่ 1-10 ปี นับตั้งแต่เดินทางกลับระหว่าง 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2563 และหากเดินทางกลับหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป จะถูกสั่งห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้ตั้งแต่ 3-10 ปี

ที่มา: TNN, 13/12/2562 

กสร. ตั้งวงเงินกู้ 50 ล้าน ให้กู้ยืมผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือรัฐวิสาหกิจไปปลดหนี้สิน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ส่งความปรารถนาดีไปยังพี่น้องผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง ด้วยการมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ให้แรงงานไทยจำนวน 5 ชิ้น ภายใต้แนวคิด “สุขใจถ้วนหน้า มากกว่าคำว่า “ให้” ด้วยรักจากใจกระทรวงแรงงาน นั้น ซึ่ง 1 ใน 5 ชิ้นเป็นของขวัญที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีความยินดี และมีความพร้อมจะมอบให้ คือโครงการเงินกู้เพื่อวิถีแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชา ที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน มีมติเห็นชอบให้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานนำเงินกองทุนส่วนหนึ่งมาสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้กับพี่น้องแรงงาน โดยมีเงื่อนไขในการปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ และรัฐวิสาหกิจกู้ยืมไม่เกินสหกรณ์ละ 10 ล้านบาท ระยะส่งคืนสูงสุดไม่เกิน 5 ปี นำไปให้ลูกจ้างหรือพนักงานที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์กู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยลดภาระอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ใช้แรงงานจ่ายให้สหกรณ์ ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อนำไปพัฒนารายได้ ลดภาระหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต มุ่งหวังให้มีทางออกในการดำเนินชีวิตใหม่ โดยไม่มีหนี้สิน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างความสุขที่ยั่งยืน

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเตรียมงบประมาณในการดำเนินการไว้จำนวน 50 ล้านบาท สหกรณ์ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 31 กรกฎาคม 2563 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 12/12/2562 

ครม.รับทราบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บ.ทั่วประเทศ เริ่ม 1 ม.ค. 2563

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 ประกอบด้วย

1.จ.ชลบุรี และ จ.ภูเก็ต อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 336 บาทต่อวัน 2.จ.ระยอง 335 บาทต่อวัน 3.กรุงเทพฯ จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 331 บาทต่อวัน 4.จ.ฉะเชิงเทรา ได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาทต่อวัน 5.จ.กระบี่ จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ จ.ตราด จ.นครราชสีมา จ.พระนครศรีอยุธยา จ.พังงา จ.ลพบุรี จ.สงขลา จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.สุราษฎร์ธานี จ.หนองคาย และ จ.อุบลราชธานี ได้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน

6.จ.ปราจีนบุรี ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 324 บาทต่อวัน 7.จ.กาฬสินธุ์ จ.จันทบุรี จ.นครนายก จ.มุกดาหาร จ.สกลนคร และ จ.สมุทรสงคราม ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 323 บาทต่อวัน 8.จ.กาญจนบุรี จ.ชัยนาท จ.นครพนม จ.นครสวรรค์ จ.น่าน จ.บึงกาฬ จ.บุรีรัมย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.พัทลุง จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.เพชรบุรี จ.พะเยา จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.เลย จ.สระแก้ว จ.สุรินทร์ จ.อ่างทอง จ.อุดรธานี และ จ.อุตรดิตถ์ ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 320 บาทต่อวัน 9.จ.กำแพงเพชร จ.ชัยภูมิ จ.ชุมพร จ.เชียงราย จ.ตรัง จ.ตาก จ.นครศรีธรรมราช จ.พิจิตร จ.แพร่ จ.มหาสารคาม จ.แม่ฮ่องสอน จ.ระนอง จ.ราชบุรี จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.ศรีสะเกษ จ.สตูล จ.สิงห์บุรี จ.สุโขทัย จ.หนองบัวลำภู จ.อุทัยธานี และ จ.อำนาจเจริญ ได้รับค่าจ้างอัตราขั้นต่ำ 315 บาทต่อวัน และ 10.จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 313 บาทต่อวัน

ทั้งนี้มติดังกล่าวคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย การพิจารณาจะนำไปสู่ข้อยุติซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสภาวะการครองชีพของประชาชน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 11/12/2562 

ก.แรงงาน จี้สถานประกอบการ-หน่วยงานของรัฐ ที่ประสงค์จะให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตาม ม.35 เร่งยื่นเอกสารการให้สิทธิกับกรมการจัดหางานภายใน 31 ธ.ค. 2562 นี้

11 ธ.ค. 2562 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการสร้างงานและการส่งเสริมอาชีพให้คนพิการอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เลี้ยงตนเองได้ โดยได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งสร้างการรับรู้แก่นายจ้าง/สถานประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 โดยมาตรา 33 ระบุให้หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้าง/สถานประกอบการรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ในสัดส่วนลูกจ้างคนพิการ 1 คน ต่อลูกจ้าง 100 คน และ มาตรา 35 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ประสงค์รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีพิเศษ ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งการยื่นเอกสารการให้สิทธิตามมาตรา 35 ต้องดำเนินการภายในวันที่ 31 ธ.ค. ของทุกปี

“ ขณะนี้ ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาในการขอยื่นเอกสารให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 แล้ว จึงขอประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรา 35 ยื่นความจำนงกับกรมการจัดหางาน ในท้องที่ๆเป็นที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการ โดยเขตกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และในจังหวัดอื่นๆ แจ้งที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ” นายสุชาติฯ กล่าว

ในส่วนของ การดูแล คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนพิการนั้น กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตการจ้างงานคนพิการ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์และแบบแผนแห่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการร่วมดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุจริตการจ้างงานคนพิการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ และการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนพิการ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีผู้พิการในประเทศไทยจำนวนกว่า 1.9 ล้านคน เป็นคนพิการที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน 842,999 คน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562) ทั้งนี้ จากสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ปี 2562 นั้น มีสถานประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 14,451 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนคนพิการ จำนวนทั้งสิ้น 69,953 คน โดยมาตรา 33 เป็นการจ้างงานโดยตรงระหว่างคนพิการกับสถานประกอบการจำนวน 38,150 คน กระทรวงแรงงานมีส่วนช่วยเหลือโดยการขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงาน และประสานส่งต่อเพื่อให้นายจ้างคัดเลือกและบรรจุงาน (ในปี 2562 บรรจุงานได้ จำนวน 1,899 คน) ซึ่งคนพิการจะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 112,420 บาท/คน/ปี ส่วนมาตรา 35 เป็นกรณีสถานประกอบการให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้มีโอกาสประกอบชีพ หรือได้รับความช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ 7 ประเภท มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่ได้รับสิทธิ จำนวน 14,198 คน นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนพิการทั้งสิ้นกว่า 1,615,447,160 บาท

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 11/12/2562

กรมการจัดหางาน ให้กู้ยืมกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ดอกเบี้ย 0%

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2562 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ กรมการจัดหางานในฐานะหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำให้กับแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ โดยส่งเสริมอาชีพในรูปแบบของการรับงานไปทำที่บ้าน ให้ผู้ที่สนใจเป็นผู้รับงานได้มีการรวมกลุ่มกัน และ มีกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้กู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต หรือขยายการผลิตเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน จึงขอส่งความสุข โดยมอบโครงการ “สร้างสุขแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านและชุมชน” ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี

“ คุณสมบัติของผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน ต้องมีกิจกรรมส่งเสริมด้านการลดการใช้พลาสติกหรือวัสดุที่สร้างขยะมลพิษ หรือต้องไม่มีกิจกรรมที่เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมหรือกิจกรรมที่สร้างมลพิษ และมีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้านหรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยประเภทบุคคลต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ส่วนประเภทกลุ่มบุคคลจะต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท วงเงินกู้สำหรับบุคคลไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี ขณะที่กลุ่มบุคคลมีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี

อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมกองทุนฯ ร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 โดยไม่ปลอดเงินต้น และงวดที่ 13 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสัญญา คิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี กรณีไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามกำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดหรือเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 ต่อปี กำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้ ตั้งแต่วันนี้ – 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 10/12/2562

เตือน 'ผีน้อย' กลับบ้านสมัครใจวันนี้ถึง 30 มิ.ย. 2563 ไม่เสียค่าปรับ

11 ธ.ค.2562 เฟสบุ๊คเพจ "สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul" ได้เผยแพร่ประกาศประกาศมาตรการ ตม.เกาหลี มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2562 ถึง 30 มิ.ย.2563 เปิดให้รายงานตัวกลับโดยสมัครใจ โดยไม่เสียค่าปรับ และไม่ห้ามเดินทางเข้าประเทศ

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 จะต้องจ่ายค่าปรับ เมื่อรายงานตัวเดินทางกลับ โดย 1 ก.ค.-30 ก.ย.2563 จะเสียค่าปรับ 30% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป จะเสียค่าปรับ 50% ผู้ที่ถูกจับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จ่ายค่าปรับตามระยะเวลาที่อยู่เกินวีซ่า ผู้ที่ถูกจับ และอยู่เกินวีซ่า 3 ปีขึ้นไป จะเสียค่าปรับ 20 ล้านวอน ผู้ที่จ่ายค่าปรับก่อนกลับประเทศ ไม่ห้ามเดินทางเข้าประเทศ (ตม.จะตรวจสอบก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศ)

ผู้ที่เดินทางกลับ และไม่จ่ายค่าปรับ ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย.2563 จะห้ามเข้า 1-10 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป จะห้ามเข้า 3-10 ปี และตั้งแต่ 11 ธ.ค.2562-31 มี.ค. 2563 นายจ้างภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม หากสมัครใจแจ้งการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย จะไม่ต้องจ่ายค่าปรับ และอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมายได้ชั่วคราว

ที่มา: ThaiPBS, 11/12/2562 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ขยับค่าแรงขั้นต่ำ 'ร้านอาหาร-ค้าปลีก-ก่อสร้าง' ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2562 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ส่งผลให้ต้นทุนรวมของสถานประกอบการขนาดต่างๆเพิ่มขึ้น 0.3% โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ก่อสร้าง และ ภาคเกษตรกรรม

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 หากรวมกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะอยู่ที่ 0.7% ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้นกับร้านค้าอีคอมเมิร์ซ การชะลอตัวของเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ทำให้การส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าแต่ละประเภทของผู้บริโภค รวมถึงการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจ คือการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็น ต้นทุนทางด้านแรงงานของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผ่านระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน ผู้ประกอบการต้องรับภาระไว้เอง ซึ่งในบางรายจะเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1.6% จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณ 0.01 % ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 11/12/2562 

ก.แรงงาน แจกของขวัญปีใหม่ 'กู้ดอกเบี้ยต่ำ-อบรมภาษาอังกฤษ-ตรวจสุขภาพฟรี-ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านฟรี'

10 ธ.ค. 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่าเนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ 2563 กระทรวงแรงงานขอส่งความปรารถนาดี มายังพี่น้องผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีด้วยกันทั้งหมด 5 ชิ้น ประกอบด้วย

1. การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5-6 บาททั่วประเทศ ไม่เกิดผลกระทบต่อประเทศ ทั้งราคาสินค้า การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.นี้

2. ให้เงินกู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชา อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ วงเงินงบประมาณโครงการ 50,000,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด สหกรณ์ฯ ละไม่เกิน 10,000,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะส่งคืนสูงสุดไม่เกิน 5 ปี สามารถลดภาระอัตราดอกเบี้ย ผู้ใช้แรงงานที่จ่ายให้สหกรณ์ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี

3. ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมร้อยละ 0 ต่อปี แก่แรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน งวดที่ 1-12 ร้อยละ 0 ต่อปี งวดที่ 13 ร้อยละ 3 ต่อปี กรอบวงเงินปล่อยกู้ 3,000,000 บาท รายบุคคลยื่นกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มไม่เกิน 200,000 บาท โดยยื่นกู้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2562-29 ก.พ. 2563

4. ให้ความรู้และให้บริการเปิดฝึกอบรมภาษาอังกฤษ 30-60 ชม. จำนวน 1,440 คน และฟรีค่าแรงรับซ่อม เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทุกชนิดที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

5. เพิ่มโปรแกรมตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการ เชิงรุกโดยร่วมกับ สถานพยาบาลเข้าไปตรวจสุขภาพผู้ประกัน ตนภายในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยจะเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง ในเดือน มิ.ย. 2563 และนิคมอุตสาหกรรม จ.สมุทรปราการ ในเดือน พ.ย. 2563 ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วย งานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาคทั่วประเทศหรือโทรสายด่วน 1506

ที่มา: TNN24, 10/12/2562 

สำนักงานสถิติฯ เผยคนว่างงาน พ.ย. 2562 แตะ 4.29 แสนคน ถูกเลิกจ้างพุ่ง 251%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรล่าสุด พบว่าในเดือน พ.ย. 2562 จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.71 ล้านคน ลดลง 5.5 แสนคน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผู้มีงานทำ 38.26 ล้านคน

ทั้งนี้ จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมลดลงสูงถึง 4.7 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาปลูกข้าวเหนียว กิจกรรมอื่นๆที่สนับสนุนการผลิตพืชผล และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมนั้น แม้ว่าในภาพรวมจะลดลง 8 หมื่นคน แต่หากพิจารณาเป็นรายสาขาจะพบว่าผู้มีงานทำสาขาการผลิตลดลง 2.1 แสนคน สาขาที่พักแรมฯลดลง 1.4 แสนคน และสาขาขายส่งขายปลีกฯ ลดลง 1.1 แสนคน ขณะที่สาขาที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขากิจกรรมด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 7 หมื่นคน และสาขาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 6 หมื่นคน เป็นต้น

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน พ.ย. 2562 พบว่าอยู่ที่ 4.29 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.1% โดยจำนวนผู้ว่างงานดังกล่าวเพิ่มขึ้น 6 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2561 ที่มีผู้ว่างงาน 3.69 แสนคน (อัตราว่างงาน 1.0%)

และหากเทียบกับเดือนก่อน (ต.ค. 2562) ที่มีผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน (อัตราว่างงาน 0.9%) พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.4 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 20%

ทั้งนี้ จำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.29 แสนคนในเดือนพ.ย. 2562 ดังกล่าว ถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน

ขณะที่เหตุผลที่ทำให้แรงงานว่างงาน พบว่าแรงงานจำนวน 4.75 หมื่นคน ระบุว่า ถูกนายจ้างเลิกจ้าง หยุด ปิดกิจการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 1.89 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 251% และแรงงาน 3.85 หมื่นคน ระบุว่า ว่างงานเพราะหมดสัญญาจ้างงาน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 6,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 641%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของผู้ว่างงานพบว่า ผู้ว่างงานที่มีระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษามีมากที่สุด คือ 1.32 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.07 แสนคน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.1 หมื่นคน

ที่มา: TNN, 10/12/2562 

“สศอ.” ศึกษาความต้องการแรงงานรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พบต้องการตั้งแต่ปี 2562-67 มีความต้องการสูงถึง 2.25 ล้านคนเฉพาะปี 2563 ต้องการ 3.52 แสนคน

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่นักลงทุนมีความกังวลถึงการขาดแคลนแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สศอ.จึงศึกษาโครงการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่พบว่ามีความต้องการแรงงานตั้งแต่ปี 2562-2567 ปริมาณรวม 2.25 ล้านคน โดยปี 63 มีความต้องการแรงงาน 3.52 แสนคน และช่วงปี 2563-2567 มีความต้องการแรงงาน 1.75 ล้านคน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาศักยภาพผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอ

“ปัญหาแรงงานตกงานถือเป็นเรื่องระยะสั้น อยากให้มองประเด็นระยะยาว เรื่องความต้องแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยกำลังมีความต้องการอย่างมากด้วย โดยตัวเลขความต้องการรวม 2.25 ล้านคน เป็นต้องการทั่วประเทศไม่ใช่แค่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีเท่านั้น โดยใช้การวิเคราะห์ทั้งใช้สมมติฐานในกรณีต่างๆ เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรม การทดแทนแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม” นายอดิทัตกล่าว

สำหรับตัวเลขความต้องการแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีความต้องการแรงงานรวม 2.35 แสนราย แบ่งเป็นระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จำนวน 6.34 หมื่นราย วิชาชีพ 1.15 แสนราย อุดมศึกษา 5.68 หมื่นราย, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการรวม 2.41 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 6.14 หมื่นราย วิชาชีพ 2.95 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.50 แสนราย, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีความต้องการรวม 2.28 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.8 หมื่นราย วิชาชีพ 1.26 แสนราย อุดมศึกษา 8.45 หมื่นราย, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพมีความต้องการรวม 2.28 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 2.09 แสนราย วิชาชีพ 8.67 พันราย อุดมศึกษา 9.81 พันราย

ส่วนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีความต้องการรวม 2.36 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 9.78 พันราย วิชาชีพ 6.97 หมื่นราย อุดมศึกษา 6.87 หมื่นราย, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีความต้องการรวม 2.11 แสนราย แบ่งเป็นวิชาชีพ 7.4 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.37 แสนราย, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์มีความต้องการรวม 2.13 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.7 หมื่นราย วิชาชีพ 1.17 แสนราย อุดมศึกษา 7.89 หมื่นราย

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีความต้องการรวม 2.16 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 5.2 หมื่นราย วิชาชีพ 7.37 หมื่นราย อุดมศึกษา 8.99 หมื่นราย อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการรวม 2.17 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.73 หมื่นราย วิชาชีพ 5.43 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.45 แสนราย, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีความต้องการรวม 2.21 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.77 หมื่นราย วิชาชีพ 6.64 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.37 แสนราย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/10/2562 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net