มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดสถิติ 'ปิดล้อมบังคับ-ข่มขู่เก็บ DNA' ชายแดนใต้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยสถิติปัญหาการร้องเรียนจากปฏิบัติการณ์บังคับตรวจพันธุกรรมหรือ DNA ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 พบข้อร้องเรียนจากคนพื้นที่ถูกบังคับอย่างน้อย 139 กรณี

14 ธ.ค. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดเผยสถิติปัญหาการร้องเรียน จากปฏิบัติการณ์บังคับตรวจพันธุกรรมหรือ DNA ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 พบข้อร้องเรียนจากคนพื้นที่ถูกบังคับอย่างน้อย 139 กรณี มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2555 ได้รับรายงานว่าหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ริเริ่มปฏิบัติ การบังคับตรวจสารพันธุกรรม (DNA หรือ 'ดีเอ็นเอ') ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นจำนวนมาก โดยพบว่าผู้ถูกเก็บเกือบทุกคนเป็นชาวมลายูมุสลิม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มักกล่าวอ้างว่าเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อประกอบฐานข้อมูลของ หน่วยงานความมั่นคงที่ใช้ในการค้นหาผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่

ต่อมาในปี 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากรายงานข่าวและเอกสารราชการ พร้อมทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ถูกเก็บ DNA จำนวนกว่า 20 คน พบว่ากระบวนการเก็บ DNA มักใช้วิธีการสุ่มบังคับตรวจ โดยอาศัยวิธีการ เช่น การตั้งด่านตรวจในบางชุมชน, การปิดล้อมตรวจค้นครัวเรือน หมู่บ้าน หอพัก และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา รวมไปถึงชุมชนชาวจังหวัดชายแดนใต้ที่กรุงเทพฯ การเก็บมีขั้นตอนดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ (ทหารหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ) มักใช้ก้านสำลียาว (ในบางกรณี เจ้าหน้าที่จะนำไปชุบน้ำยา) ป้ายที่กระพุ้งแก้มสองข้างเพื่อขูดเอาเยื่อบุกระพุ้งแก้ม 2. นำตัวอย่าง DNA เก็บใส่กล่องทึบสีน้ำตาล รูปร่างคล้ายกล่องยาสีฟัน และ 3. เจ้าหน้าที่ให้เจ้าของดีเอ็เอเซ็นชื่อตนเองบนกล่อง

ปฏิบัติการดังกล่าวมักพุ่งเป้าไปที่หมู่บ้านหรือชุมชนที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงหรือมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการฯ ทั้งนี้ คนที่ถูกตรวจล้วนเป็นประชาชน ผู้บริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ต้องหาตามกฏหมาย (แม้เจ้าหน้าที่อาจมีข่าวกรองว่าเป็นผู้ที่น่าสงสัยก็ตาม) โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่มักไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ถูกเก็บและในบางกรณี ในบางกรณี อาจให้เจ้าของ DNA เซ็นแบบฟอร์มยินยอมหลังจากกระบวนการตรวจเก็บเสร็จสิ้น 

ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อร้องเรียนและตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับตรวจ DNA ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อย 139 กรณีในพื้นที่ชายแดนใต้ มีตัวอย่างกรณีสำคัญ เช่น การเก็บ DNA เด็กนักเรียนชาวกัมพูชา 30 คนจากโรงเรียนปอเนาะมัดรอสาตูลฟาละห์ อ.มายอ จ.ปัตตานี1 และชาวบ้าน 60 คนจากบ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นต้น นอกจากการบังคับตรวจ DNA ตามชุมชน ยังมีการบังคับตรวจ DNA ของชายผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอจังหวัดสงขลาผู้ จำนวนกว่า 19,000 คน ในช่วงเกณฑ์ทหารระหว่างวันที่ 4-11 เม.ย. 2563

ในขณะที่ผู้ถูกเก็บ DNA ระหว่างการเกณฑ์ทหารได้เซ็นใบยินยอมก่อนให้เก็บตัวอย่าง DNA แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอว่า DNA นั้นจะถูกนำไปทำอะไร เก็บที่ไหน ใครเข้าถึงได้บ้าง และมีกำหนดเวลาในการทำลายตัวอย่างหรือไม่ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธการให้ DNA ได้ ในภาพกว้างของสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ การเก็บตัวอย่าง DNA เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของภาครัฐในการปราบปรามความรุนแรงด้วยวิธีการสอดแนมประชากรในพื้นที่เพื่อรวบรวมข่าวกรอง ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น การเก็บข้อมูลใบหน้าประชากรในพื้นที่ผ่านการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ การถ่ายรูปบัตรประชาชนและทะเบียนรถ เป็นต้น 

แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ และไม่รู้ว่า DNA ที่เก็บไปจะถูกส่งต่อไปที่ไหนหรือมีผลลัพธ์อย่างไร สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงได้รุกหน้าในการเก็บข้อมูลตามแผนปฏิบัติ ทว่าตามหลักมาตรา 131 และ 131/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ระบุไว้ว่าผู้เก็บต้องเป็นพนักงานสอบสวน หรือ เจ้าหน้าที่ตรวจชั้นสัญญาบัตร แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ และต้องเกี่ยวกับคดีความผิดสูงกว่า 3 ปี และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกเก็บ หากผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าผลตรวจเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้นแล้วแต่กรณี

โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เสนอให้ต้องเฝ้าระวังการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ได้ยึดหลักการตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อป้องกันการสุ่มเสี่ยงการละเมิดสิทธิไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้หรือพื้นที่อื่น ก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติโดยไร้มนุษยธรรม

อ่านรายเอกสารฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท