Skip to main content
sharethis

เขตสายไหมพบประชากรแฝงกลุ่มใหญ่ติดอันดับต้นๆ ในกรุงเทพฯ ส่วนมากใช้สิทธิบัตรทองแต่ยังมีอุปสรรคการเข้าถึงบริการสาธารณสุข หน่วยบริการสุขภาพในชุมชนมีไม่เพียงพอมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือไม่สะดวกไปรับบริการตามสิทธิบัตรทอง

14 ธ.ค. 2562 นางสาวรัชนี ประดับ ผู้จัดการโครงการพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนสิทธิสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง กล่าวว่าในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2562 โครงการพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนสิทธิสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง สนับสนุนโดย สสส.ได้ร่วมกับผู้นำชุมชนเขตสายไหมระดมสมองถกปัญหาด้านสุขภาพของกลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าสถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตสายไหม พบประชากรแฝงร้อยละ 80 อยู่ในกลุ่มผู้ใช้สิทธิบัตรทองแต่ยังมีอุปสรรคการเข้าถึงบริการสาธารณสุข กล่าวคือ

จากการระดมสมอง ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าประชากรแฝงในพื้นที่ส่วนมาก (ร้อยละ 90) เป็นคนต่างถิ่นไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านพื้นที่เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร หรือกล่าวอีกทางหนึ่งว่าเป็นคนต่างจังหวัดย้ายเข้ามาอยู่ ปัญหาสุขภาพของกลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่ พบว่าการเจ็บป่วยของกลุ่มประชากรแฝงมีสาเหตุจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพมากเป็นอันดับหนึ่ง อันได้แก่ การซื้ออาหารนอกบ้าน ทำงานหนัก ไม่ออกกำลังกาย และรวมถึงผลกระทบจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน ดังนั้นโรคที่พบมากในกลุ่มประชากรแฝงยังคงเป็นโรคในกลุ่ม NCDS หรือโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น โรคเบาหวานโรคมะเร็งต่าง ๆ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วนลงพุง และโรคตับแข็ง

ในส่วนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่พบปัญหาว่าหน่วยบริการสุขภาพในชุมชนมีไม่เพียงพอมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือไม่สะดวกไปรับบริการตามสิทธิบัตรทอง ดังนั้นในยามเจ็บป่วยคนกลุ่มนี้จึงเลือกไปใช้บริการคลินิกเอกชนและร้านขายยาเป็นลำดับแรก ข้อเสนอที่ชาวบ้านเห็นตรงกันคือเรื่องการบริหารจัดการปัญหาสุขภาพของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง ควรเป็นความร่วมมือหลายฝ่ายระหว่างรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบบริการของรัฐ ในขณะที่ ข้อเสนอแนวทางการให้บริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง ข้อเสนออันดับแรกคือการส่งเสริมป้องกันโรค ข้อเสนออันดับสองคือการให้ความช่วยเหลือในการรับบริการด้านสาธารณสุข และอันดับสามคือการสร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net