โพลระบุคนสนใจข่าวการเมือง 'ปารีณารุกที่ดิน' ตามมาด้วย 'ยุบอนาคตใหม่' - อยากให้ยุบสภาแก้ปัญหาล่มบ่อย

'สวนดุสิตโพล' เผยปม 'ปารีณารุกที่ดิน' เป็นข่าวการเมืองที่คนสนใจมากที่สุด ตามมาด้วย 'ยุบพรรคอนาคตใหม่' - 'นิด้าโพล' สำรวจความเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาล่ม พบว่าส่วนใหญ่ 45.08% ระบุว่าสภาล่มบ่อย ๆ ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ - 'ซูเปอร์โพล' ระบุคน 85.9% เห็นว่าไม่เคยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของนักการเมือง อาทิ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การไม่ถวายสัตย์ฯ การวิ่งไล่ลุง และอื่นๆ


ที่มาภาพประกอบ: mohamed_hassan (Pixabay License)

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 สวนดุสิตโพล ระบุว่า “การเมือง” เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นหรือแย่ลง โดยในช่วงสัปดาห์ ที่ผ่านมากระแสข่าวการเมืองค่อนข้างร้อนแรงเป็นที่จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่มีความห่วงใยในบ้านเมือง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมือง “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,271 คน ระหว่างวันที่ 10-14 ธ.ค. 2562 สรุปผลได้ ดังนี้   

“5 อันดับข่าวการเมือง” ที่ประชาชนสนใจติดตามมากที่สุด 

อันดับ 1 ปารีณา รุกป่า-รุกที่ดิน จ.ราชบุรี  62.18%
เพราะ  เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นฝ่ายรัฐบาล อยากรู้ความคืบหน้าในการดำเนินคดี  เป็นกรณีตัวอย่างให้กับประชาชนและคนจน ที่ถูกดำเนินคดีลักษณะนี้ อยากรู้ว่ากฎหมายไทย 2 มาตรฐานจริงหรือไม่ เป็นประเด็นที่สะท้อนถึงปัญหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ  

อันดับ 2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้เงินธนาธร 191.2 ล้านบาท 52.96%
เพราะ  เป็นพรรคใหม่ มีอุดมการณ์ มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก มีหลายประเด็นที่ กกต. ชี้แจงไม่ชัดเจน  อาจเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หากยุบพรรคจริงอาจเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง กลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น ฯลฯ

อันดับ 3 นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล  22.44%
เพราะทุกวันนี้ประชาชนยังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาแบบประชานิยมมากเกินไป ไม่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว อยากให้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตรงจุด  รัฐบาลมีการกู้เงินและใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นห่วงการพิจารณางบประมาณและการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ฯลฯ

อันดับ 4 ส.ส.งูเห่า ลาออก ย้ายฝ่าย 19.39%
เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่มีให้เห็นจากการเมือง ลุ้นว่าจะมีใครเพิ่มอีกหรือไม่ อยากให้เข้ามาเพื่อช่วยเหลือทำประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังอำนาจหรือหวังผลใดๆ นักการเมืองขาดคุณธรรมจริยธรรม ไม่คำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ ฯลฯ

อันดับ 5 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 15.79%
เพราะอยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่อยากเห็นกฎหมายที่เอนเอียง สองมาตรฐาน ใช้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งแตกแยก ใส่ร้ายโจมตี ทำให้เกิดความวุ่นวาย เหมือนเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ 

'นิด้าโพล' สำรวจความเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาล่ม พบว่าส่วนใหญ่ 45.08% ระบุว่าสภาล่มบ่อย ๆ ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่

วันเดียวกันนี้ (15 ธ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปัญหาสภาล่ม”   ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 และ 11 - 12 ธันวาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ  รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มบ่อยครั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูล ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มบ่อยครั้งเพราะไม่ครบองค์ประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.13 ระบุว่า สภาล่มบ่อยจะทำให้ประชาชนเบื่อและเกิดความเสื่อมศรัทธา รองลงมา ร้อยละ 33.02 ระบุว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เล่นเกมการเมืองมากเกินไป ร้อยละ 23.49 ระบุว่า เป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นทุกสมัยอยู่แล้ว ร้อยละ 19.92 ระบุว่า ส.ส. ไม่ค่อยเข้าประชุม ทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือน ร้อยละ 7.86 ระบุว่า ประธานวิปพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 5.95 ระบุว่า ปัญหาเกิดจากฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภามากกว่าฝ่ายค้านเพียงนิดเดียว ร้อยละ 4.76 ระบุว่า เป็นความผิดของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่โดดประชุมสภา และร้อยละ 3.10 ระบุว่า เป็นความผิดของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่สนใจแต่จะเล่นการเมือง 

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาล่ม พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.08 ระบุว่า สภาล่มบ่อย ๆ ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไปเลย รองลงมา ร้อยละ 23.25 ระบุว่า ใครไม่อยากประชุมสภาก็ให้ลาออกไป ร้อยละ 20.08 ระบุว่า ควรมีการประกาศชื่อ ส.ส. ที่ไม่เข้าประชุมสภา ร้อยละ 14.76 ระบุว่า ปัญหานี้ไม่ต้องแก้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นทุกสมัยอยู่แล้ว ร้อยละ 9.13 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรรับผิดชอบหากสภาล่มเกิดจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าประชุมสภา ร้อยละ 5.71 ระบุว่า ควรเปลี่ยนประธานวิปพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 4.05 ระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านควรรับผิดชอบหากสภาล่มเกิดจาก ส.ส. ฝ่ายค้านไม่เข้าประชุมสภา ร้อยละ 2.38 ระบุว่า ปัญหานี้แก้ไม่ได้ เพราะ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ส.ส. แต่ละท่านไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเอง                      

อย่างเต็มความสามารถ เห็นแก่ตัว เอาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ร้อยละ 1.90 ระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลต้องหาทางเพิ่ม ส.ส. งูเห่า (ส.ส. ฝ่ายค้านที่หันไปสนับสนุนรัฐบาล) ร้อยละ 0.48 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ควรมีกฎ ระเบียบ ที่ชัดเจนและเด็ดขาดสำหรับบุคคล (ส.ส.) ที่ไม่เข้าร่วมประชุม และ ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ   

'ซูเปอร์โพล' ระบุคน 85.9% เห็นว่าไม่เคยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของนักการเมือง อาทิ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การไม่ถวายสัตย์ฯ การวิ่งไล่ลุง และอื่นๆ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 11,703 ตัวอย่าง ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของนักการเมือง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,195 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุไม่เคยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของนักการเมือง อาทิ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การไม่ถวายสัตย์ฯ การวิ่งไล่ลุง และอื่น ๆ เป็นต้น  ในขณะที่ร้อยละ 14.1 ระบุเคยได้รับประโยชน์ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ระบุความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การนัดวิ่ง การชวนนัดคนให้ชุมนุมประท้วง และการโน้มน้าวต่าง ๆ ทำไปเพื่อความอยู่รอดผลประโยชน์ล้วน ๆ ของนักการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ระบุทำเพื่อประโยชน์แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ระบุ ตอนนี้ กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก ต้องการบ้านเมืองสงบสุขประเทศชาติมั่นคง ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ไม่กลัว 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า กลุ่มเคลื่อนไหวของนักการเมืองกำลังเข้าถึงคนในโลกโซเชียลทั้งหมด 8,549,358 คน หรือ แปดล้านกว่าคน แต่มีคนที่สนใจพูดถึง กลุ่มเคลื่อนไหวของนักการเมืองนี้ในโลกโซเชียลจำนวน 101,711 คน หรือ หนึ่งแสนคนเศษ อย่างไรก็ตาม คนในโลกโซเชียลร้อยละ 53.8 ไม่ได้ตอบรับ Like การเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ ร้อยละ 46.2 ให้เสียงตอบรับ Like 

ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย ซึ่งคนบางกลุ่มในโลกโซเชียลไม่กลัวเพราะมีกินมีใช้อยู่ในช่วงความวุ่นวายของบ้านเมืองได้อย่างสบาย แต่คนยากจนข้นแค้นไม่มีจะกินถ้าวุ่นวายวันหนึ่งกระทบต่อการทำมาหากินของพวกเขาใครจะรับผิดชอบเยียวยารายได้น่าสงสารพวกเขาขนาดไหน ดังนั้น เสียงของคนในโลกโซเชียลที่มาจากคนไทยและต่างชาติจึงมีจำนวนมากที่กลับ Like การเคลื่อนไหวของนักการเมืองเหล่านั้นที่จะนัดชุมนุมกัน จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายน่าจะช่วยกันคิดถึงผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่

“คนนอกโลกโซเชียลส่วนใหญ่ไม่ต้องการความวุ่นวาย ต้องการความสงบ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ ส่วนเรื่อง ความเดือดร้อนของประชาชนปัญหาปากท้องนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล บ่นกันทุกรัฐบาลไปตรวจสอบย้อนหลังความรู้สึกของประชาชนช่วงรัฐบาลต่าง ๆ ในอดีตดูได้ ตอนนี้กระแสสร้างความเกลียดชังเริ่มต้นในโลกโซเชียลที่แรงและเร็ว จึงจำเป็นที่ประชาชนทุกคนต้อง “รู้จักยับยั้งชั่งใจ” ช่วยกันรักษาความสงบสุขของบ้านเมืองให้ได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เพิ่งเริ่มทำงานแก้ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศได้ประมาณ 6 เดือน ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะเน้นที่ความมั่นคงของชาติมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อประเทศมั่นคงแล้วก็จะทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปพร้อมกัน เพราะถ้าบ้านรวยแต่ไม่มั่นคงความร่ำรวยก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ประชาชนส่วนใหญ่คิดได้และกลัวในสิ่งที่ควรจะกลัวคือกลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย #กลัวที่ความวุ่นวายบานปลาย #กลัวที่ไหน” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท