ครช. ออกแถลงการณ์ 'ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ'

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ออกแถลงการณ์ 'ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ' เรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สะท้อนเจตนารมณ์และตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชน

15 ธ.ค. 2562 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ออกแถลงการณ์ 'ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ' ระบุว่ารัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดที่บังคับใช้กับประชาชนในรัฐ กำหนดว่าบุคคลอยู่ตรงไหนได้อำนาจและประโยชน์ไปมากน้อยเพียงใด ด้วยวิธีการอย่างไรและด้วยกลไกใด พร้อมกับรับรองว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพเพียงใด มีหน้าที่อะไร รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมาจากการเห็นพ้องต้องการของประชาชน

แต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือฉบับปัจจุบันไม่ได้มาจากความเห็นพ้องต้องการของประชาชน หากแต่เริ่มต้นจากคณะบุคคลก่อรัฐประหารปล้นอำนาจของประชาชน ตามด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า จากนั้นก็ตั้งพรรคพวกของตนเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายใต้การบงการของตน ไม่มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด และแม้จะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนมี “ส่วนร่วม” บ้างดังเช่นการทำประชามติ แต่กระบวนการนี้ก็ไม่สามารถนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่ามติของประชาชนได้ เพราะเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว พร้อมกับปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม และฟ้องร้องดำเนินคดีผู้นำเสนอข้อมูลอีกด้าน อีกทั้งยังมีการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้งหลังจากผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว จึงยิ่งทำให้ไม่สามารถกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ

ด้วยความที่ไม่เห็นหัวประชาชนตั้งแต่ต้น เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน หากแต่สะท้อนเจตจำนงของคณะบุคคลที่ต้องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศใหม่ เป็นการสถาปนาอำนาจชนชั้นนำในนามความมั่นคงของรัฐท่ามกลางการลดคุณค่าและความหมายของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนถูกเปลี่ยนสถานะจากองค์ประธานแห่งสิทธิเป็นผู้รอรับการอุปถัมภ์ ไม่อยู่ในสถานะที่จะเรียกร้องทวงถามสิ่งพึงมีพึงได้ ได้แต่เฝ้ารอการสงเคราะห์จากรัฐ สิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า เช่น สิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิการมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อม สิทธิในการแสดงความเห็นต่อโครงการต่างๆ และสิทธิในการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหายไป ขณะที่สิทธิบางด้านถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐจะทำตามหน้าที่นั้นหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างเงื่อนไขให้ตัวแทนของประชาชนเช่นนักการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอและอยู่ในอาณัติขององค์กรที่ไม่ได้มาหรือยึดโยงกับประชาชน เช่น ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมและสูตรคำนวณเก้าอี้ ส.ส. ซึ่งส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ และนำไปสู่รัฐบาลที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพเพราะต้องอยู่กับการต่อรองระหว่างพรรคต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอย่างกว้างขวางในการกำกับควบคุมพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่นับรวมการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ส่งผลให้นโยบายพรรคการเมืองแทบไร้ความหมาย การมีบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่เหนือกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการเขียนให้คำสั่ง ประกาศ และการกระทำของ คสช. และหัวหน้า คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิก เป็นต้น

นอกจากถูกเขียนขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจชนชั้นปกครองและลดอำนาจประชาชนดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ในบทเฉพาะกาลละเมิดสิทธิประชาชนและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2559 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 ยกเว้นการใช้กฎกระทรวง ให้ใช้ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท คำสั่งหัวหน้า คสช. 9/2559 ยกเว้นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ขณะที่ในช่วงเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ได้อาศัยรัฐธรรมนูญสร้างความได้เปรียบให้ตนเอง เช่น ใช้คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามผู้สมัครจากพรรคการเมืองหาเสียงขณะที่ตนเองหาเสียงได้ภายใต้การเป็นรัฐบาล และเมื่ออนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเฝ้าสังเกตการณ์เวทีปราศรัยและการหาเสียงของผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ประการสำคัญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งรัฐบาล คสช. มีส่วนในการแต่งตั้ง ได้จัดการเลือกตั้งในลักษณะที่เอื้อประโยชน์พรรคร่างทรง คสช. ในหลายลักษณะ นับตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ การมีเจตนาจะไม่ให้มีชื่อและโลโกพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง การประกาศผลคะแนนล่าช้า ไม่ประกาศผลคะแนนรายหน่วย ไปจนกระทั่งการไม่มีคำอธิบายที่รับฟังได้ว่าเหตุใดยอดรวมบัตรเลือกตั้งจึงไม่เท่ากับยอดรวมผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน

ภายหลังการเลือกตั้ง การที่รัฐธรรมนูญเขียนให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ส่งผลให้พรรคร่างทรง คสช. สามารถส่งเทียบเชิญหัวหน้า คสช. มาเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และการเขียนให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. สามารถลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ส่งผลให้หัวหน้า คสช. สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในที่สุด จึงเป็นการอาศัยรัฐธรรมนูญบิดเบือนการเลือกตั้ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ

ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีปัญหา แต่ความตระหนักรู้ยังคงจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำต้องอยู่กับการแก้ปัญหาปากท้องเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบกับการเดินตามแนวคิดของรัฐธรรมนูญที่มองประชาชนเป็นผู้รอการอุปถัมภ์ และนโยบาย “รัฐสมคบคิดทุนใหญ่แล้วเจียดกำไรไปให้ทานคนจน” เช่น โครงการประชารัฐ โครงการไทยนิยมยั่งยืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการชิมช็อปใช้ ที่อาจช่วยยืดเวลาการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจออกไปได้อีกระยะ แต่สุดท้ายก็จะปะทุออกมาเพราะว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ดังจะเห็นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวอย่างมาก เกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ทั้งในแง่รายได้ ทรัพย์สิน รวมถึงการถือครองที่ดิน เพราะปัญหาความยากจนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการจนเงิน จนรายได้ แต่เป็นเรื่องของการจนสิทธิ จนโอกาส และจนอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งหายไปในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จึงเรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สะท้อนเจตนารมณ์และตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชน ดังนี้ 1. สวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้า ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา รายได้ รวมถึงการคมนาคม โดยไม่มีเงื่อนไขด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศสภาวะ และอุดมการณ์ทางการเมือง 2. สิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล รวมถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย 3. การคุ้มครองการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลพิษ และสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชน 4. สิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุม ไม่ใช่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน 5. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม 6. สิทธิการปกครองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจ และลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น และ 7. การปรับปรุงแก้ไขกลไกและกระบวนการครอบงำสถาบันตัวแทนประชาชน เช่น ระบบการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา แผนยุทธศาสตร์ชาติ และคุณสมบัติและการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จะสร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับสังคม พร้อมกับผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติ “การรับฟังและดำเนินการตามมติมหาชนที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560” ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร โดยอาศัยมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย...(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน” ซึ่งจะนำไปสู่การรับฟังเสียงและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นมติมหาชนที่ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่อไป เพราะในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท