Skip to main content
sharethis

เมื่อองค์กรที่ทำแต่ข้อมูลหนักๆ อย่าง 'ไอลอว์' ลุกขึ้นมาเปิดเวที 'ความฝัน' ให้ผู้คนทุกระดับ ทุกวัย ทุกกลุ่ม ได้ปล่อยของดีไซน์รัฐธรรมนูญของตนเอง พบนักเรียนมัธยมตื่นตัวมาก กรรมการเอ่ยปากชม อาจเป็นเพราะพวกเขาเริ่มต้นจากสิ่งที่อยากจะเห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่

15 ธ.ค.2562 เพจ iLaw รายงานว่าที่หอศิลปวัฒธรรมกรุงเทพฯ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานประกาศรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดข้อเสนอว่าด้วย "รัฐธรรมนูญในฝัน" โครงการดังกล่าวเปิดรับข้อขียนและคลิปวิดีโอมาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม - 10 พฤศจิกายน 2562 โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 158 คน ทั้งในระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และบุคคลทั่วไป แบ่งเป็นกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 112 คน ระดับอุดมศึกษา 30 คน และบุคคลทั่วไป 16 คน ภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑลมีผู้ส่งผลงานมากที่สุด ตามมาด้วยสามจังหวัดชายแดนใต้ ถัดมาเป็นพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือตามลำดับ

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า ต้องการรวบรวมความคิดเห็นของคนทั่วไปเกี่ยวกับการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมามักมีแต่เสียงของผู้เชี่ยวชาญ หวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวในการร่วมกับสร้างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ใฝ่ฝันและยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์กล่าวว่า ไอลอว์เป็นองค์กรที่จัดทำข้อมูลที่หนักแน่นจำนวนมาก เกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 จนกระทั่งจมอยู่กับปัจจุบันอันไร้หวัง การทำโครงการเกี่ยวกับ “ความฝัน” นับเป็นการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เติมเต็มความแห้งแล้งของข้อมูลและความสิ้นหวังของในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของคนทำงานด้วย

สำหรับภาพรวมของผลงานนั้น ผู้ส่งประกวดทั้งหมดมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ตรงกันคือ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ทั้งในเชิงที่มาซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เพราะถูกร่างขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่คณะรัฐประหาร คสช.แต่งตั้ง บรรยากาศในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็เต็มไปด้วยความหวาดกลัว เนื้อหาก็ยังไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพียงพอ

สำหรับข้อเสนอของผู้ที่ส่งประกวดมีหลากหลาย หากแบ่งเป็นหมวดหมู่กว้างๆ ได้แก่ ประเด็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 30% รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน 16% การส้างสวัสดิการพื้นฐานด้านต่างๆ 15% การกระจายอำนาจสนับสนุนท้องถิ่น 7% สร้างความเท่าเทียมทางเพศ 7% ปฏิรูปกงอทัพและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 6% จัดการกับองค์กรอิสระให้มีความเป็นกลางและมีที่มายึดโยงกับประชาชน 5% ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งหรือลดอำนาจ ส.ว.จากการแต่งตั้ง 3% แก้ระบบเลือกตั้งให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง 3% ประชาชนมีสิทธิถอดถอนข้าราชการและนักการเมือง 2% ให้การรัฐประหารมีความผิด 1% ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 1%

“ควรยกเลิกกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เพราะไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน บทบาทขององค์กรอิสระในต่างประเทศเป็นได้เพียงองค์กรที่ปรกึษาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันประเทศไทยกลับให้อำนาจมหาศาลกับองค์กรที่มาจากการสรรหา แล้วกล่อมเกลาว่า นี่เป็นประชาธิปไตย” ข้อความตอนหนึ่งในงานของ วุฒิชัย บุญเกื้อ ผู้ส่งประกวดระดับมัธยมศึกษา

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า แต่ละชิ้นมีจุดเด่นต่างกัน บางชิ้นโดดเด่นในเชิงประเด็น บ้างเด่นทางวรรณศิลป์ บางส่วนเน้นความคิดสร้างสรรค์
“ส่วนตัวพบว่าพวกเด็กมัธยมนำเสนอออกมาได้ดีที่สุด อาจเป็นเพราะเด็กกล้าฝันมากกว่า เขาตั้งต้นจากจุดที่ฝันว่าอยากจะเห็นอะไร พอเราอ่านแล้วรู้สึกมองไปข้างหน้า เด็กจะตั้งคำถามง่ายๆ เป็นคำถามซื่อๆ ที่กระแทกปัญหาได้ชัดเจนดี เช่น อายุสิบห้าผ่านรัฐธรรมนูญมาโชกโชนสามฉบับ โดยรวมทั้งหมดเมื่ออ่านแล้วได้ความรู้สึกอย่างหนึ่งคือ ฉันอยากจะเป็นเจ้าของกฎกติกาอันนี้ อยากนำเสนอ ซึ่งมันสะท้อนสิ่งที่ขาดหายไปในสภาพความเป็นจริงที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความฝัน บอกแค่ว่าจะแก้ปัญหาในอดีตยังไงบ้างและเต็มไปด้วยการออกแบบที่ซับซ้อนพิสดาร” ประจักษ์กล่าว

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและนักเขียน หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวว่า ประทับใจในไอเดียที่หลากหลายของความเรียง และหลายคนดึงประเด็นที่ให้แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีควาสำคัญและสัมพันธ์ต่อชีวิตของผู้เขียนอย่างไร เช่น บางบทความพูดถึงเรื่องจังหวัดชายแดนใต้ว่าทำไมต้องมีกฎหมายพิเศษและนำมาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของคนเขียน หรือบางคนก็เปิดจินตนาการที่เรานึกไม่ถึง เช่นการมีตัวแทนแบบสุ่ม ใช้ AI และปฏิบัติการในโลกเสมือน เพื่อแก้ปัญหาการมุ่งหาผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจต่างๆ

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หนึ่งในคณะกรรมการโครงประกวดรัฐธรรมนูญในฝัน กล่าวว่า นับถือน้องๆ ที่ส่งประกวดวีดีโอเพราะโจทย์ยากมาก

“ผมเป็นคนทำหนัง ให้โจทย์นี้มาผมไม่ทำนะ มันเป็นสื่อที่ยากสำหรับหัวข้อนี้ แต่ถ้าเป็นบทความผมว่าโอเค สรุปเกณฑ์ในการตัดสินดูที่เจตนามากกว่าที่น้องแสดงออกถึงความเห็นของตัวเอง น้องพูดถึงประเด็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้สูงส่งมาจากสรรค์ชั้นฟ้า แต่พูดถึงรัฐธรรมนูญที่กินได้ พูดถึงเรื่องปากท้อง ...สำหรับผมรัฐธรรมนูญในฝันมันง่ายมากเอาฉบับเดิมกลับมาแค่นั้นเอง รัฐธรรมนูญที่ช่วยกันร่าง ช่วยกันทำประชามติอย่างรัฐธรรมนูญ 40” วิศิษฏ์กล่าว

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope หนึ่งในคณะกรรมการกล่าวว่า ถ้าเราตัดสินรางวัลหนังตามปกติก็จะดูเรื่องโปรดักชั่น ความสามารถในการถ่ายทอด การแคสติ่ง การกำกับ แต่เรื่องนี้ พอเห็นโจทย์แล้วเกาหัวเลยว่าจะทำเป็นหนังยังไง ดังนั้นเราต้องกลับมาย้อนดูที่วัตถุประสงค์ของโครงการว่าเราไม่ได้ต้องการหานักทำภาพยนต์ที่ยอดเยี่ยม เราแค่ต้องการคนที่มีส่วนร่วมแม้ว่าจะเป็นหัวข้อยากแต่ก็ยังอยากพูด

“ในที่สุดแล้วประเทศเป็นของเรา เราต้องจินตนาการว่าจะอยู่ต่อไปในประเทศแบบไหนเราอาจจะอยู่อีกไม่กีปี แต่ถ้าเรามีลูกก็ต้องนึกถึงคนรุ่นใหม่ มันเป็นสิทธิของคนและต้องทำให้เป็นความจริงไม่ใช่ความฝัน” ธิดากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net