Skip to main content
sharethis

คุยกับเคลมงต์ โวเล่ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิ เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุม สหประชาชาติ ถึงความสำคัญของการกลุ่ม ชุมนุมตามสิทธิที่หลายประเทศและเวทีสากลรับรอง การมีพื้นที่แสดงออกอย่างสันติ เป็นประโยชน์ต่อการมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและสงบสุข กฎหมายควรมีให้ประชาชนแจ้งการชุมนุม ไม่ใช่การขออนุญาต การห้ามชุมนุมต้องมีเหตุผล-เวลาจำกัด ได้สัดส่วน หากรัฐไม่ประกันพื้นที่แสดงออกอย่างสันติและปลอดภัย ประชาชนอาจถูกผลักไปสู่เงื่อนไขการใช้ความรุนแรง

ป้ายข้อความที่ผู้ร่วมชุมนุมแฟลชม็อบ ไม่ถอยไม่ทน ชูบนสกายวอล์ค เมื่อ 14 ธ.ค. 2562

สิทธิ เสรีภาพแห่งการชุมนุมและการรวมกลุ่ม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการระบุเอาไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญไทย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ไทยให้สัตยาบันเอาไว้ในเวทีโลก

แต่ในทางปฏิบัติ การรวมกลุ่มชุมนุมเพื่อแสดงออก โดยเฉพาะข้อความทางการเมืองที่กระแทก เสียดแทงจิตใจของชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจมักเจออุปสรรคในทางกฎหมาย อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ ที่ยังคงมีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ประโยชน์ในการ "ควบคุม" หาใช่การ "ดูแล" ผู้ชุมนุมเยี่ยงอารยประเทศ หรือการข่มขู่หลังไมค์จากเจ้าหน้าที่ มิพักต้องพูดถึงขนบ ทัศนคติในสังคมที่การชุมนุมมักอยู่ในสมการเดียวกันกับการก่อความวุ่นวาย ไม่เป็นอารยะ เรื่อยไปจนถึงขยะแขยง เนื่องด้วยโศกนาฏกรรมในเหตุการณ์การชุมนุมสารพัดทั้งในไทยและต่างประเทศยังติดตา

ปัญหาด้านกฎหมายและทัศนคติของสังคม ไม่เพียงแต่ผลิตซ้ำความเข้าใจผิดต่อการออกมาชุมนุม ในทางร้ายที่สุด ทัศนคติทางการเมืองบางครั้งหนุนให้เขาและเธอมองมันอย่างเลือกปฏิบัติแบบไม่เผาผีกัน ทั้งๆ ที่การชุมนุมโดยสันตินั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ คำถามก็คือ การชุมนุมสำคัญอย่างไร เสรีภาพในการชุมนุมของมนุษย์ถูกรองรับไปไกลขนาดไหน การชุมนุมเท่ากับความวุ่นวายหรือไม่ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร 

ประชาไทคุยกับเคลมงต์  โวเล่ (Clément Nyaletsossi Voule) ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม เพื่อค้นหาคำตอบดังกล่าว และจากที่คุยกันก็พบว่า การมีพื้นที่ให้ประชาชนออกมาชุมนุมอย่างสันตินั้นสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแรงและสงบสุข

(แปลและเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในประชาไท อิงลิช เมื่อ 29 เม.ย. 2562)

ประชาไท: สิทธิในการชุมนุมมีความสำคัญอย่างไร

เคลมงต์: เมื่อเราพูดถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธที่ได้รับการรับรองจาก ICCPR นี่คือเครื่องมือและสิทธิที่สำคัญที่จะทำให้พลเมือง กลุ่มและบุคคลต่างๆ อย่างคุณและผม ได้ตัดสินว่าเราจะจัดตั้งอะไรเพื่อตัวพวกเราเอง ว่าพวกเราอยากจะรวมกลุ่มเพื่อรณรงค์สิทธิที่ธำรงไว้ใน ICCPR

เคลมงต์ โวเล่

เราต้องการที่จะรวมกลุ่มเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพราะมันคือสิทธิที่อนุญาตให้เรารวมเป็นกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มชุมชน เพื่อไปเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ศิลปะ ไปจนถึงแง่มุมต่างๆ อย่างการปกป้องที่ดิน ป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากไม่มีการรวมกลุ่ม เราก็ไม่สามารถที่จะรวมพลังของเราเข้าด้วยกัน และไม่สามารถต่อกรกับความท้าทายที่เราเจอในสังคม

ขณะเดียวกัน เมื่อคุณรวมกลุ่ม คุณจำเป็นต้องมีสิทธิในการชุมนุม เช่นการพบปะ หรือในบางทีก็แสดงออกซึ่งความพอใจหรือความไม่พอใจกับเหล่าผู้นำที่ปกคอรงประเทศอยู่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นพลมือง ในประเทศที่ประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุม พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประท้วงเช่นกัน หากแสดงออกความเห็นว่านโยบายใดดีหรือไม่ดีได้ ก็หมายความว่าเขาไม่ใช่พลเมือง  มันก็เหมือนว่าคุณมีชีวิตอยู่ในประเทศที่คุณไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมในสิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย มีความสำคัญต่อการให้พลเมืองทุกคนเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา

เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุมมีผลอย่างไรกับประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง

สิทธิเหล่านี้มีความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นจากจุดที่ประชาชนรู้สึกว่าเราจำเป็นต้องขยับสังคมไปเป็นอีกแบบหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ในประเทศส่วนใหญ่ที่เกิดการปฏิวัติ การปกป้องสิทธิในการรวมกลุ่มและเสรีภาพในการชุมนุมก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

คุณจะเห็นได้เลยในหลายประเทศ ในหลายๆ สังคม ผมยกตัวอย่างประเทศซีเรีย เพราะว่าประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธในช่วงแรกเริ่ม เราจึงเห็นโศกนาฏกรรมในซีเรียอย่างทุกวันนี้ที่ความหวังของประชาชนในการจะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันตินั้นจบลงด้วยความรุนแรง ก็เพราะว่าสิทธิของพวกเขาในการประท้วงอย่างสันติไม่ได้รับการเคารพและถูกรับรอง 

เมื่อเราพูดถึงการชุมนุมโดยสันติ มันคือความเข้าใจที่ว่ารัฐควรรับรองให้ประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยไม่มีการจำกัดและเกิดอันตรายขึ้นกับพวกเขา เมื่อใดก็ตามที่รัฐใช้กำลังมากเกินไป นั่นคือรัฐกำลังบอกประชาชนว่า "ฉันไม่ยอมรับสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ" และปฏิกิริยาที่จะได้รับจากประชาชนก็คือ "โอเค เราไม่มีสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ" ซึ่งนั่นเป็นตัวจุดชนวนความรุนแรง

สองประเทศแรกที่ผมได้ไปเยือนหลังจากผมรับอาณัติ (รับตำแหน่งผู้รายงานพิเศษ) เป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หนึ่ง ประเทศตูนีเซีย ที่ตั้งแต่ปี 2554 ชาวตูนีเซียตัดสินใจจะขยับไปเป็นประเทศประชาธิปไตย ตูนีเซียเป็นประเทศเดียวที่ปรากฏการณ์อาหรับสปริงจบลงด้วยการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ ประชาชนมีความเข้าใจว่าการการันตีซึ่งสิทธิในการรวมตัวและการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญในการมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

อีกประเทศคืออาร์เมเนีย ที่เมื่อ พ.ย. 2561 ได้เปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย และการชุมนุมประท้วงอย่างสันติมีความสำคัญกับชาวอาร์เมเนียอย่างมากในการแสดงออกว่าระบอบการปกครองแบบไหนที่พวกเขาต้องการ ผมได้ไปที่อาร์เมเนีย และผมก็ยืนยันว่าการชุมนุม รวมกลุ่มโดยสันตินั้นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นมรดกของการเปลี่ยนผ่าน เพราะมันช่วยให้ประเทศก้าวต่อไป มากไปกว่านั้น หากจะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน คุณต้องรับรองการมีอยู่และการเข้าถึงซึ่งสิทธิเหล่านั้นอย่างเต็มที่

"เข้าถึงได้เต็มที่" หมายความว่าทำได้ขนาดไหน

ประการแรกคือการเข้าใจว่าการใช้สิทธิก็คือกฎ การจำกัดใดๆ ควรเป็นข้อยกเว้นซึ่งถูกให้นิยามไว้อย่างแคบ ในมาตรา 21 ของ ICCPR มีข้อจำกัดที่รัฐสามารถจำกัดการชุมนุมอย่างสันติได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นในเวลาที่มีข้อกังวลในด้านความมั่นคงในระดับที่สูงมาก ข้อจำกัดควรมีเวลาสิ้นสุด ไม่ใช่มีกฎหมายภาวะฉุกเฉินที่ผ่านออกมาเพราะบอกว่ามีความกังวลด้านความมั่นคงแล้วก็อยู่แบบนั้นไปตลอด นั่นเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในการชุมนุม คุณต้องรับรองว่ากฎหมายเหล่านั้นมีเวลาจำกัด เมื่อใดก็ตามที่เหตุผลในการจำกัดสิทธิไม่มีแล้ว คุณก็ต้องยกเลิกการจำกัดสิทธินั้น

การจำกัดซึ่งสิทธินั้นจะต้องมีความได้สัดส่วน สำหรับผมหมายความว่า การจำกัดไม่ควรจะก้าวล่วงไปเกินความเสี่ยงที่คุณต้องการจะป้องกัน เช่น คุณไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเพียงเพราะคุณกำลังอยู่ในช่วงเลือกตั้ง การประกันเสรีภาพของประชาชนในการใช้สิทธิการชุมนุมและรวมกลุ่มในช่วงเลือกตั้งมีความสำคัญกับประชาชนและพรรคการเมืองในการพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง คุณไม่สามารถจำกัดสิทธิดังกล่าวเพราะว่าคุณต้องการการเลือกตั้งที่สงบสุข มันไม่มีความได้สัดส่วน 

คิดเห็นอย่างไรกับความคิดว่า การรวมกลุ่มและชุมนุมอย่างเสรี คือการประท้วงและความวุ่นวาย

สิทธิในการชุมนุมไม่ใช่สิทธิในการรบกวนความปลอดภัยสาธารณะ เราต้องถามกันว่าทำไมเราถึงมารวมตัวกัน ซึ่งผมได้อธิบายไปตอนต้นแล้ว เราจำเป็นต้องรวมตัวเพราะเราคือมนุษย์ เพราะพวกเราอยู่ในชุมชน หากไม่มีการรวมกลุ่มแบบนี้ พวกเราก็ไม่สามารถออกมารวมตัวและใช้ความคิดกันว่าพรรคการเมืองจะเสริมสร้างประชาธิปไตยอย่างไร เราจำเป็นต้องมีความหลากหลายของผู้คนและกลุ่มก้อน เพื่อให้มีการถกเถียงว่าอะไรดีต่อประเทศของเรา การประท้วงก็ช่วยเราในการแสดงออกซึ่งมุมมองว่าพรรคการเมืองควรลำดับความสำคัญในเรื่องใดต่อประเทศชาติ

สิทธิในการชุมนุมไม่ใช่แค่การออกมาบนถนนแล้วเดิน แต่ยังมีเรื่องที่ต่างออกไปไม่ว่าจะเป็นการประท้วงผ่านทางศิลปะ เราจำเป็นต้องคิดถึงวิธีต่างๆ ในเชิงบวกที่จะบรรลุซึ่งการพัฒนา เพื่อความปลอดภัยและสันติสุข 

สังคมที่สงบสุขใดๆ ก็ตาม จะอนุญาตให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งมุมมองของพวกเขา เสียงที่ไม่เห็นด้วยนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่ยอมรับความเห็นต่างไม่ได้ คุณก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจว่าประเทศของพวกเขามีวิธีที่สันติทุกอย่างในการแสดงออก พวกเราไม่ต้องการใช้ความรุนแรง ถ้าคุณไม่สามารถรับรองแนวทางสันติให้ผู้คนได้ แนวทางเดียวที่พวกเขาจะใช้ก็คือความรุนแรง เพราะพวกเขารู้ว่าสังคมไม่สามารถรับรองว่าจะรับฟังความเห็นของพวกเขา จึงเป็นประโยชน์ของสังคมในการรับรองแนวทางที่สันติ

ส่วนนี้ยังเป็นงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการคอยย้ำเตือนรัฐบาลว่าการละเมิดแนวทางสันตินั้นเป็นเรื่องอันตราย เพราะมันทำให้ประชาชนอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งบางครั้งจะผลักพวกเขาไปใช้แนวทางรุนแรง ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เรามุ่งหวังในสังคมที่สงบสุข

หลายประเทศในภูมิภาคมีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ กฎหมายนั้นต้องเป็นแบบใดจึงจะดีที่สุด

สิ่งแรกที่ผมยืนกรานเลย สำหรับกฎหมายที่กำกับการชุมนุมหรือการรวมกลุ่ม ก็คือหลักการการแจ้งข้อมูลการชุมนุม ไม่ใช่การขออนุญาตชุมนุม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้คนตัดสินใจจะรวมกลุ่ม กฎหมายไม่ควรทำให้พวกเขาต้องขอเอกสารเฉพาะบางอย่างก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ แนวทางที่ดีที่สุดควรจะเป็นการแจ้งข้อมูลกับทางการโดยส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ เพื่อแสดงถึงวัตถุประสงค์ของการชุมนุมและสิ่งที่พวกเขาต้องการจะรณรงค์ เมื่อพวกเขาส่งเอกสารดังกล่าวไปแล้วก็ควรจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้

แต่ก็มีการรวมกลุ่มในหลายประเทศที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ เช่น การเคลื่อนไหวทางสังคมบางกลุ่มที่ต้องการปกป้องสิทธิ แต่ไม่ต้องการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ กฎหมายก็ควรอนุญาตให้การรวมกลุ่มหลายประเภททั้งในแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะเจตนารมย์ของกฎหมายนั้นคือ ต่อเมื่อการรวมกลุ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สิทธิ เพื่อรับใช้ชุมชน สำหรับผม การรวมกลุ่มเหล่านั้นไม่ควรถูกห้าม เพราะว่ามันเป็นการรับใช้สังคม

การชุมนุมก็เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนต้องการจะชุมนุม กฎหมายก็ควรแค่จะขอให้ประชาชนแจ้งกับทางการ ไม่ใช่ขออนุญาต เพราะว่าการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การแจ้งให้ทางการทราบก็เป็นไปเพื่อรับประกันว่าทางการมีมาตรการที่จำเป็นในการรักษาความปลอดภัยของการชุมนุม เมื่อกฎหมายพยายามจะบอกว่า "โอเค คุณต้องขออนุญาต เพราะว่าเราจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย" นั่นไม่ใช่เรื่องปกติในทุกประเทศที่ประชาชนจำเป็นต้องมีตำรวจก่อนจะมีการชุมนุม

ไม่ใช่ทุกการชุมนุมที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ แต่เมื่อกฎหมายบังคับให้คุณต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนจะมีการชุมนุม นั่นหมายความว่ากฎหมายกำลังบอกว่าการชุมนุมนั้นมีความกังวลด้านความมั่นคงพ่วงอยู่ด้วย เหตุใดสังคมถึงไม่สามารถมารวมตัว และพูดคุยกันบนท้องถนนเพื่อบอกว่าเราคัดค้านภาษีที่เพิ่มขึ้นมาในผลิตภัณฑ์และในทุกสิ่ง เรามีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องกังวลเรื่องความมั่นคงในการมาของพวกเขา ไม่เลย เพราะว่าบางครั้งเราใช้ชีวิตในสังคมที่คนทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ และเชื่อในสิ่งที่พวกเขาออกมาปกป้อง และในสถานการณ์ที่จำเพาะอย่างแคบเท่านั้นที่อาจมีภัยคุกคามอย่างการถูกกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นมาทำร้าย ที่ตำรวจจะมีมาตรการในการประกันว่าคุณสามารถใช้สิทธิของคุณได้โดยไม่มีใครอื่น หรือกลุ่มอื่นมาขัดขวางการชุมนุมไม่ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ 

สถานการณ์เสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างไร 

จากที่ผมได้ฟังจากคำให้การและการอภิปราย พบว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากในการรับประกันว่าทุกคนจะสามารถใช้สิทธิของการรวมกลุ่มและการชุมนุมอย่างสันติ บางรัฐบาลยังคงมีการจำกัดการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวแม้ว่าไม่มีความจำเป็น ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศในเอเชียใต้ ช่วงฤดูการเลือกตั้งเป็นเวลาที่รัฐบาลอยากจะหลีกเลี่ยงการท้าทายทุกชนิดจากพรรคอื่นๆ รัฐบาลใช้ช่วงเวลานี้จำกัดสิทธิบางอย่าง จากที่ผมเคยได้ยินมาคือการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อย่างการลดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจาก 4จี เป็น 2จี เพื่อจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวของประชาชน ในการรวมตัวบนโลกออนไลน์ ซึ่งในมุมมองของผมนั้นถือว่าจำเป็น เพราะว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องได้รับการรับรองให้เข้าถึงสิทธิดังกล่าวเพื่อให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับเหล่าผู้นำพรรคการเมือง หรือท้าทายประเด็นต่างๆ ของพรรคการเมืองได้

ถ้าคุณไม่รับรองว่าประชาชนสามารถใช้แนวทางสันติใดๆ ก็ได้ในการรวมตัวเพื่ออภิปราย พูดคุยถึงอนาคตทางการเมืองของชาติ นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้ให้ความเป็นไปได้แก่ประชาชนในการให้เขาเป็นผู้ตัดสินใจอย่างอิสระว่าอยากได้ใครเป็นผู้นำ อยากมอบความไว้วางใจของพวกเขาไว้กับใคร

นี่เป็นเทรนด์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง และที่กำลังเป็นไปก็คือสถานการณ์สิทธิของการรวมตัวออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีในการเคลื่อนไหวของประชาชนมีความสำคัญ ในเวลาเดียวกัน ผมก็เห็นว่ารัฐบาลได้วางข้อจำกัดหลายประการในการเข้าถึงโลกออนไลน์อย่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ นี่ถือเป็นหนึ่งในข้อกังวลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่ถูกใช้ในทางที่ผิด เพื่อจำกัดสิทธิในการรวมตัวและการชุมนุม

สิทธิการรวมตัวออนไลน์ฟังดูเป็นเรื่องใหม่ ขอให้อธิบายเพิ่มเติมด้วย

การรวมตัวและการชุมนุมออนไลน์เป็นพื้นที่ใหม่ที่ผมพยายามค้นคว้า จากการได้พูดคุยของผมกับรัฐบาลและภาคประชาสังคม หลายคนระบุว่าหน้าที่การรับผิดชอบ (ของผู้รายงานพิเศษ) ควรพูดถึงเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมตัวบนโลกออนไลน์มากขึ้น มีความสนใจจากทั้งรัฐและประชาสังคมในการเข้าใจแง่มุมนี้ให้ดีขึ้น เพราะว่าเทคโนโลยีสำคัญกับชีวิตของพวกเรา เป็นเรื่องยากเวลาจินตนาการถึงการรวมตัวกันทางกายภาพในวันนี้โดยไม่มีการรวมกลุ่มออนไลน์ ซึ่งก็เป็นไปเช่นนั้นในทางกลับกัน เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างเริ่มต้นอยู่ในอินเทอร์เน็ต ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเริ่มต้นการพูดคุย เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผู้คนไม่ได้พบปะกัน แต่ไปรวมตัวกันบนโลกออนไลน์เพื่อส่งเสียงแทน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ อินเทอร์เน็ตก็ช่วยให้พวกเขารวมกลุ่มกับคนอื่นและประท้วงได้

แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็เห็นในหลายประเทศที่นำกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายมาใช้จำกัดการรวมกลุ่มออนไลน์ เพราะพวกเขา (รัฐบาล) รู้ว่าการรวมกลุ่มออนไลน์สามารถระดมคนได้จำนวนมาก ผู้คนเริ่มถกเถียงกันที่นั่นแล้วนัดหมายว่าจะเจอกันที่ไหน จะทำอะไร 

เท่าที่เห็นมา ทิศทางในเสรีภาพการรวมกลุ่มบนโลกกออนไลน์เป็นอย่างไร

เท่าที่ผมได้ยินมา ผู้คนให้ค่ากับการรวมกลุ่มและการชุมนุมออนไลน์  ทุกวันนี้มีหลายตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ผ่านแฮชแท็ก #MeToo หรือการรณรงค์เกี่ยวกับกลุ่มโบโก ฮาราม (แคมเปญ #BringBackOurGirls กรณีกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง โบโก ฮาราม ลักพาตัวนักเรียนหญิง 276 คน ในปี 2557) การรณรงค์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทุกวันนี้ผู้คนเห็นคุณค่าในการประกันว่า อินเทอร์เน็ตจะถูกใช้โดยพลเมืองเพื่อแสดงออกซึ่งความกังวล เพื่อเชื่อมต่อกันและกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศผ่านการรวมตัวในแบบต่างๆ บนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ก็ยังมีข้อท้าทายบางอย่าง เพราะบางกลุ่มก็ใช้คำพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง (เฮทสปีช) บนอินเทอร์เน็ต ประชาชนเหล่านั้นเข้าใจว่าบางประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะประกันว่าการใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกใช้อย่างปลอดภัย แต่มาตรการเหล่านั้นต้องไม่ไปบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน มันต้องมีขึ้นเพื่อช่วยให้คนใช้สิทธิได้ ไม่ใช่ไปจำกัดสิทธิของเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net