‘ทางเลือกโทษประหาร’ มองลึกถึงโครงสร้าง รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อผู้ก่ออาชญากรรม

เสวนา “ทางเลือกต่อการประหารชีวิต:การคุมขัง การกลับใจ การให้อภัย และการเยียวยา” อดีตประธานกรรมการสิทธิฯชี้ ครม. เห็นชอบแก้กฎหมายโทษประหารตั้งแต่ปี 59 แต่ทางปฏิบัติยังไม่เกิด นักวิชาการต่างประเทศระบุยิ่งประเทศเป็นอำนาจนิยมมากเท่าไหร่ โทษประหารก็ยังจะดำเนินต่อไปได้เท่านั้น


จากซ้ายไปขวา ณัฏฐา โกมลวาทิน, วิษณุ ธัญญอนันต์, แดเนียล ปาสโค, ลูซี่ แฮร์รี่

16 ธ.ค. 2562 วันนี้ เครือข่ายยุติโทษประหารจัดเสวนาในหัวข้อ “ทางเลือกต่อการประหารชีวิต:การคุมขัง การกลับใจ การให้อภัย และการเยียวยา” ที่สมาคมฝรั่งเศส เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 71 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวเปิดปาถกฐาโดย อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเสวนาโดย วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย แดเนียล ปาสโค (Daniel Pascoe) ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Last Chance for Life: Clemency in Southeast Asian Death Penalty Cases” ลูซี่ แฮร์รี่ (Lucy Harry) นักศึกษาปริญญาเอกที่ทำการวิจัยเรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกและคณะ  ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

ครม. เห็นชอบแก้กฎหมายโทษประหารตั้งแต่ปี 59 แต่ทางปฏิบัติยังไม่เกิด

 


อมรา พงศาพิชญ์

อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวปาถกฐาถึงความพยายามในการเสนอแนะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องโทษประหารว่า ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้นเริ่มทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องโทษประหารและหลักสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งไทยได้ทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไว้ และโทษประหารชีวิตก็ถือว่าขัดต่อหลักปฏิญญาดังกล่าว

“ทางเราทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายส่งให้แก่ ครม. หนึ่งคือควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบางมาตราที่มีโทษประหารชีวิตบางฐานความผิดก่อน สองคือ ไม่ควรกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมาย สามคือ ครม. ควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีบทลงโทษประหารชีวิตไว้สถานเดียว สี่คือ ครม. ควรแก้ไขกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกฐานความผิด เมื่อสังคมมีความเข้าใจและความพร้อม” ศ. ดร. อมรากล่าว

อมรายังชี้ว่า ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายนั้น ในปี 2559 กระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอเรื่องเข้า ครม. ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเป็นการเสนอแนะแนวทางเพื่อเตรียมกระบวนการรองรับการยกเลิกโทษประหารชีวิต จึงสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ขัดข้อง

ขณะเดียวกันอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวต่อว่า ที่มีปัญหาคือ แม้ ครม. และกระทรวงยุติธรรม เห็นชอบแล้ว และหากไม่มีการประหารครบ 10 ปี ก็จะถือเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารในทางปฏิบัติ แต่เมื่อเกิดการประหารชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ตนรู้สึกตกใจและผิดหวัง ทำให้เห็นว่าแม้จะผ่านมติ ครม. แล้ว แต่ทางสถานะทางกฎหมาย มติ ครม. ก็ยังมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ก็ยึดกฎกระทรวงเป็นหลัก

 

ยิ่งประเทศเป็นอำนาจนิยมมากเท่าไหร่ โทษประหารก็ยังจะดำเนินต่อไปได้เท่านั้น

แดเนียล ปาสโค (Daniel Pascoe) ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Last Chance for Life: Clemency in Southeast Asian Death Penalty Cases” กล่าวว่า สิทธิที่จะได้รับการอภัยโทษเป็นสิ่งสำคัญมากของคนที่ได้รับโทษประหาร ไทยก็ได้ลงนามปฏิญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้มีสิทธิลงโทษอย่างอื่นทดแทนโทษประหาร เช่น  การจำคุกตลอดชีวิต เป็นแนวนโยบายที่ปรากฎทั่วไปในประเทศ 

แดเนียลชี้ว่า ข้อมูลจากสื่อหลายประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลในประเทศกลุ่มอาเซียน พอว่าในไทยมีอัตราการอภัยโทษสูงสุดถึง 95% ซึ่งเป็นการให้อภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ตามวาระและโอกาสต่างๆ ขณะที่สิงคโปร์มีอัตราการอภัยโทษที่ 0.6% เท่านั้น มาเลเซีย 55-63% และอินโดนีเซีย 25-32%

แดเนียลระบุว่า ผลจากการศึกษาพบว่าการอภัยโทษนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง กระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง สองสถานะผู้ตัดสินใจลดโทษคือใคร เป็นทั้งเรื่องของการเมือง และการแสดงบารมี สามระยะเวลารับโทษ ในไทยโทษประหาร เป็นระบบที่ประหารชีวิตก่อนตั้งแต่ศาลชั้นต้น ต่อมาอาจลดโทษได้ในขั้นอุทธณ์ หรือเมื่อพิพากษาสิ้นสุดแล้วก็มีขอพระราชทานอภัยเป็นรายบุคคล หรือในช่วงโอกาสพิเศษ ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์

“ต้องตั้งคำถามว่ารัฐสมควรพรากชีวิตไปจากคนหรือไม่ ทัศคติของคนที่เห็นด้วยจะเปลี่ยนถ้ามีการนำเสนอข้อเท็จจริงว่ามีการลงโทษประหารผิดคน นี่เป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสาธารณชน ซึ่งการให้อภัยโทษนั้นก็ไม่สามารถยุติการประหารชีวิตได้อย่างสิ้นเชิง”                          

“การใช้โทษประหารชีวิตก็มีรากฐานมาจากสังคมที่มีวัฒนธรรมในการใช้ความรุนแรงหรือยอมรับความรุนแรง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัจจัยหนึ่ง คำอธิบายที่แท้จริงของการยังคงมีโทษประหารชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยม ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตย แต่บางครั้งก็อาจมีผู้นำที่มีลักษณะอำนาจนิยม ยิ่งประเทศเป็นอำนาจนิยมมากเท่าไหร่ โทษประหารชีวิตก็ยังจะดำเนินต่อไปได้เท่านั้น” แดเนียลกล่าว

 

งานวิจัยชี้โทษประหารไม่ได้ผลกับคดียาเสพติด

ลูซี่ แฮร์รี่ (Lucy Harry) นักศึกษาปริญญาเอกที่ทำการวิจัยเรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อธิบายว่า งานวิจัยของตนเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตต่อคดีป้องปรามการค้ายาเสพติดในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตรานักโทษจำนวนมาก ผลจากการศึกษาพบว่าการใช้โทษประหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นซับซ้อนกว่าคดีฆาตกรรม เพราะฐานความผิดมีหลายกรณี เช่น การใช้ยา ขายยา การมีไว้ในครอบครอง โทษประหารอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ควรต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่แค่การลงโทษร้ายแรงเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นด้วยที่มีนัยสำคัญต่อการก่อคดีเหล่านี้  มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเองก็มีการศึกษาว่าโทษประหารมีผลต่อคดียาหรือไม่ ในอาเซียนนั้นปรากฎว่าคดียาเสพติดไม่ได้ลดลง เนื่องจากยังมียาอยู่ในตลาดจำนวนมาก 

ลูซี่ยังชี้ว่า งานวิจัยของตนและของคนอื่นๆ มีผลไปในทางเดียวกันว่าคนที่ถูกตัดสินลงโทษร้ายแรงจากคดียาเสพติดมักเป็นคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกลงโทษตัดสินในคดียาเสพติด โดยเกิดจากการหลอกลวงด้วย

“ทางเลือกอื่นๆ ที่ป้องปราม ควรใช้มาตรการที่ไม่ใช้ความรุนแรง นั้นคือการเยียวยา และการทำให้ผู้ใช้ยาไม่เป็นอาชญากร นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นสำคัญ” ลูซี่กล่าว

 

เน้นเยียวยา ไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เห็นว่า โทษประหารชีวิตจะคงอยู่หรือยกเลิก กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญสุด แต่สิ่งที่เหนือกว่ากฎหมายคือความเมตตา ขณะที่ประเทศอื่นมีคุกลดลง แต่ประเทศไทยกลับมีคุกเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งโป๊บฟรานซิสเสด็จมาเยือนไทยครั้งล่าสุดท่านก็ทรงเห็นถึงปัญหานี้ และอยากไปเยี่ยมคนในคุกด้วย

“นี่เป็นเรื่องของความเชื่อ บัญญัติไว้ใพระคัมภีร์ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ความยุติธรรมต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ทำอย่างไรให้คนเท่าเทียมกัน ต้องแก้ปัญหาเรื่องความจน ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องแบบนี้ต้องเกิดจากศาสนาไม่ว่าศาสนาใดก็ตามก็สอนเรื่องการเคารพและมีเมตตาซึ่งกันและกัน ซึ่งของเราเน้นการเยียวยา เราจะไม่แก้ปัญหาใดๆ จากปลายเหตุ และนอกจากนี้ต้องพูดถึงคนที่ตกเป็นเหยื่อด้วย ไม่ใช่เพียงผู้กระทำ” วิษณุกล่าว

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต กล่าวว่า โทษประหารเกี่ยวข้องกับคนสองประเภทคือการค้ายากับการฆ่าคน โทษประหารนั้นอาจได้รับอภัยโทษ แต่ต้องได้รับการจำคุก 10 ขึ้นไป ซึ่งปัญหาของคนที่อยู่ในคุกนานคือตกยุคสมัย ไม่รู้ว่าโลกภายนอกเป็นยังไง 

ลัดดาวัลย์ยกตัวอย่าง พระรัตน์ (นามสมมติ) ซึ่งได้รับโทษประหารชีวิต ติดคุก 18 ปีก่อนได้รับการอภัยโทษ ออกสู่โลกภายนอกเขาพบว่าเทคโนโลยี วิถีชีวิต เปลี่ยนไปหมด ดังนั้นสังคมจะต้องไม่ประณามและทอดทิ้งคนเหล่านี้ ต้องให้โอกาสเขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ พระรัตน์ยังกล่าวว่าจุดเปลี่ยนชีวิตนั้นง่ายนิดเดียว การขังไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่เครื่องมือถือการแก้ปัญหาได้คือการเยียวยาความคิดและจิตใจของผู้คน 

 

มองลึกถึงโครงสร้าง รัฐมีส่วนรับผิดชอบการก่ออาชญากรรมของคนในประเทศ

 


ทิชา ณ นคร และอดีตเยาวชนจากบ้านพักกาญจนาฯ

 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตอนนี้ไทยมีเรือนจำ 143 แห่งทั่วไทย บ้านกาญจนาเจอเด็กที่กระทำผิดมาแล้วหลายครั้ง น่าตั้งคำถามว่าเด็กเหล่านี้เป็นคนดีไม่ได้หรือระบบจัดการสถานควบคุมมีปัญหาบางอย่างที่เราต้องตั้งคำถาม

“คนส่วนใหญ่มักตัดสินคนๆ หนึ่งจากระดับปัจเจกมากเกินไป เราไม่ได้มองเห็นปัญหาเชิงระบบที่รัฐจัดการไม่ได้ หรือกลไกรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการกระตุ้นเพื่อไปให้ถึงเชิงนโยบาย ถึงระบบ ถึงกลไกของรัฐ คนที่เป็นอาชญากรนั้นมีปัจจัยร่วมหลายอย่าง การตัดสินประหารชีวิตเท่ากับรัฐเพิกเฉยความรับผิดชอบของตนเอง รัฐเองก็ต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมของคนในประเทศนี้ด้วยเช่นกัน” ทิชากล่าว

ทิชากล่าวต่อว่า  ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเปนอาชญากร แต่มีปัจจัยแวดล้อมเยอะแยะไปหมด ดังนั้นเด็กทุกคนที่เข้ามาที่บ้านกาญจนา สิ่งแรกที่ทำคือการกอดพวกเขา รับขวัญ ปลดกุญแจมือ แล้วใส่สายสิญจน์แทน และบอกเขาว่าถ้าปาฎิหาริย์มีจริง ย้อนกลับไปได้เราเชื่อว่าเขาจะไม่ทำอย่างนั้น 

“ผู้เสียหายเคยเข้ามาที่บ้านกาญจนา ในฐานะลูกเขาตายแล้วและคนที่ฆ่าลูกเขาอยู่ในบ้าน ถามเราว่าเอาหัวหรือตีนคิดที่ดูแลคนที่ฆ่าลูกดีอย่างนี้ เราพูดคำแรกว่า ขอโทษ ถ้าอนุญาตให้ป้ากราบขอโทษ ป้าก็จะทำ แต่ถึงที่สุดเราค่อยๆอธิบายว่าทำไมเราต้องดูแลเด็กแบบนี้ ก่อนหน้านี้เราใช้ตาต่อตาฟันต่อฟันกับพวกเขามาตลอด ถามว่าเราได้พวกเขาคืนมาสักเท่าไหร่ ทำไมเราถึงอยากจะทำอย่างนั้นกันอีก หลังจากนั้นครอบครัวเขาใจเย็นลง เรายืนยันโทษและขอโอกาส เขาอาจผิดพลาดครั้งนึง แต่จะไม่ผิดซ้ำ แต่เห็นด้วยว่าเราต้องทำงานกับเหยื่อให้มากกว่านี้ด้วย” ทิชากล่าว

อดีตเยาวชนในบ้านพักกาญจนาคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ในวันเกิดเหตุตนซึ่งเรียนอาชีวะเจอคู่อริต่างสถาบัน มองหน้ากัน เกิดมีเรื่อง และได้ทำให้คู่อริคนนั้นเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตคนนั้นเป็นน้องของ เต๋า-สมชาย เข็มกลัด เรื่องกลายเป็นข่าวดัง ตนยอมรับว่าเป็นเพียงแค่ชั่ววูบ หลังจากนั้นสำนึกผิดและอยากขอขมา แต่ทางครอบครัวของสมชายยังไม่พร้อม ต่อมาเมื่อออกจากบ้านกาญจนาตนจึงตัดสินใจบวช บวชนาน 3 ปี เพิ่งสึกออกมาได้ประมาณหนึ่งเดือน

“ไม่มีใครบังคับให้บวช ผมรู้สึกว่าผมบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่เสียชีวิต เราทำสิ่งที่เราควรทำ และเราตั้งใจตว่าจะไม่สึกจนกว่าจะรู้สึกสบายใจ” อดีตเยาวชนคนดังกล่าวเล่า

ไผ่ คืออีกหนึ่งอดีตเยาวชนบ้านกาญจนา สำหรับไผ่นั้นหลายปีก่อนได้ร่วมกับเพื่อน 7 คนทำร้ายร่างกายและปล้นทรัพย์ บรูซ แกสตัน นักดนตรีวงฟองน้ำ ไผ่เล่าว่าตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเกิดผลเสียอะไร แต่พอทำลงไปแล้วก็สำนึกผิด และเสียใจอยากขอขมา กรณีของไผ่โชคดีที่บรูซนั้นยอมเปิดใจและเดินทางมาที่บ้านกาญจนา

“วันนั้น อ.บรูซมาหาที่บ้านกาญจนา เขาบอกว่า ผมมีลูกสองคนแต่เขาโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ตอนนี้ผมมีคนที่สามก็คือคนนี้ (ไผ่) เด็กอิจฉากันใหญ่ เมื่อเขาให้อภัย มันมีพลังมหาศาล และมันคลี่คลายปมในใจได้” ทิชาเล่าแทนไผ่ 

“ตอนที่ อ.มาให้อภัย ผมรู้สึกดีที่สุด ไม่คิดว่าจะมีโอกาสขอโทษ ไม่คิดว่าจะให้อภัยผม พอได้ยิน ผมรู้สึกดี มันเป็นบาดแผลในใจที่รุนแรงมาก เราไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิด แต่มันเกิดเราต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอได้ยินเขาพูดให้อภัย ทุกอย่างโล่ง ไม่มีอะไรต้องคิดอีกต่อไป” ไผ่เล่า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท