Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับ 'สัณหวรรณ ศรีสด' นักกฎหมายจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ตั้งแต่รากฐานความคิดของคนในสังคม ตัวเรา ทนายความ ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม ดูเหมือนว่าไม่มีชิ้นส่วนไหนเลยที่ไม่ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

  • ความคิด ความเชื่อของในสังคมที่เชื่อว่าโทษรุนแรง คนจะเกรงกลัว ทำให้เกิดภาวะ Overcriminalization หรือการใช้โทษอาญาล้นเกิน ทั้งการตัดสินไปแล้วว่าใครกระทำความผิดและต้องการรู้ผลอย่างรวดเร็วก็กดดันเจ้าหน้าที่ในการทำคดีอย่างรอบคอบรัดกุม
  • สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในขั้นตอนการสอบสวนคือ confirmation bias หรือการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตน แทนการมองหาความเป็นไปได้ต่างๆ ของคดี
  • นักนิติวิทยาศาสตร์และแพทย์นิติเวชควรเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่เข้าถึงสถานที่เกิดเหตุเพื่อเก็บข้อมูล หลักฐาน และควรแยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมตัวประชาชน ข้อมูลที่ได้จากการใช้กฎหมายพิเศษต้องไม่ถูกใช้ประกอบการพิจารณาคดีเพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  • ผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอิสระ ขณะที่สถาบันตุลาการกลับมีลักษณะปิดไม่เชื่อมโยงกับสังคม
  • การลงโทษและฟื้นฟูผู้กระทำผิดของกรมราชทัณฑ์ยังขาดประสิทธิภาพ ปัญหาใหญ่มาจากคนล้นคุก ซึ่งก็เป็นผลพวงจากภาวะ Overcriminalization

ช่วงนี้เราได้เห็นการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานอยู่เป็นเนืองนิจ หลายคนอดเปรียบเทียบไม่ได้ว่าถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกันผลลัพธ์คงจบลงที่คุกไปแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยมาโดยตลอด การลงโทษทางอาญามักเกิดกับคนขาดมากกว่าคนมี ไม่ใช่เพียงผลลัพธ์ปลายทางหรอก อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่วิธีคิดของผู้มีอำนาจและผู้คนในสังคมซึ่งสะท้อนออกมาผ่านกฎหมายที่ถูกตราขึ้น

ใช่ที่ว่าไม่มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศใดที่มีความสมบูรณ์แบบ และเพราะเหตุนี้เราจึงต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยเป็นไปตามหลักการสากลที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่ายากเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ นานา ตั้งแต่ระดับยิบย่อยจนถึงระดับโครงสร้าง แม้กระทั่งตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้

สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมายโครงการเอเชีย-แปซิฟิค คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล

‘ประชาไท’ สนทนากับ สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมายโครงการเอเชีย-แปซิฟิค คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล เพื่อเห็นภาพปัญหาให้กว้างที่สุดอย่างย่นย่อที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Overcriminalization โทษอาญาล้นเกิน ผลสะท้อนจากสังคม

อย่างที่บอก มันเริ่มต้นจากความคิด ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาจำนวนมากและเกินจำเป็น เกิดสภาพที่เรียกว่า Overcriminalization สัณหวรรณกล่าวว่าสังคมไทยยังเห็นดีเห็นงามกับการลงโทษหนักอย่างการจำคุกหรือการประหารชีวิต ด้วยความเชื่อว่ายิ่งโทษหนักเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งเกรงกลัวการกระทำผิดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งขัดกับแนวคิดทางอาชญวิทยาในปัจจุบัน แล้วก็สะท้อนผ่านกฎหมายต่างๆ ที่ออกมา

สัณหวรรณไม่ได้ปฏิเสธโทษจำคุก แต่แนวคิดของเรื่องนี้คือการฟื้นฟูผู้ที่กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคม ไม่ได้วางอยู่บนทฤษฎีตาต่อตาฟันต่อฟันอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด นอกจากนั้น ยังมีการลงโทษรูปแบบอื่นๆ แทนการจำคุกที่ควรนำมาใช้

“ในบางที่จะมีโปรแกรมเลยว่าถ้าคุณทำผิดแบบนี้ การทำสาธารณประโยชน์ของคุณต้องทำตามโปรแกรมนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาทำผิด เช่น ถ้าทำร้ายร่างกายคนจากการบันดาลโทสะ เขาอาจจะให้ไปนั่งทำงานในโรงพยาบาลคอยช่วยเหลือคนนานเท่าไหร่ แต่พอเราจะใช้วิธีการทำสาธารณประโยชน์ก็เจอปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่พอบ้าง งบไม่พอบ้าง ก็เลยต้องเอาคนโทษหนักโทษเบามารวมกัน แล้วก็ทำเหมือนกัน กลายเป็นว่าการทำงานสาธารณประโยชน์ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับความผิดนั้น

“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ากฎหมายร่างโดยผู้แทนราษฎร มันเป็นการสะท้อนความต้องการของคนในแต่ละที่ ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ยังอยากให้มีการใช้โทษที่มีความรุนแรงอยู่ เชื่อในทฤษฎีตาต่อตาฟันต่อฟัน รูปแบบของการออกกฎหมายที่ทำให้คนมีความสุขหรือว่าพึงพอใจมันก็จะสะท้อนออกมาทางกฎหมาย”

ไม่เพียงเท่านั้น ความรู้สึกของสังคมยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระบวนการยุติธรรมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะกระแสสังคมจากสื่อต่างๆ ที่โถมการตัดสินไปอีกด้านหนึ่งและต้องการรู้คำตอบอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลกดดันต่อการทำสำนวนอย่างเลี่ยงไม่ได้

“การทำงานสืบสวนสอบสวนต้องรวดเร็ว แต่รวดเร็วไม่ได้หมายถึงว่าไม่ละเอียดถี่ถ้วน คือมันต้องรวดเร็วในระดับที่มีความละเอียดถี่ถ้วนตามหลักวิชาชีพ แต่ทุกวันนี้อาจเป็นไปได้ยาก ต่อให้ไม่ใช่ตัวเจ้าหน้าที่เองก็อาจเป็นเจ้านายหรือหัวหน้าที่บอกว่าคดีนี้เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ ดังนั้น ต้องรีบทำ”

ขณะเดียวกัน การที่ประชาชนไม่รู้สิทธิ์ของตนเองก็เป็นปัญหา เช่น บางคนไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทำเป็นความผิด เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ขณะที่กฎหมายมีบทสันนิษฐานว่าทุกคนต้องถือว่ารู้กฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ หลายครั้งไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่ไม่รู้กฎหมาย แต่เพราะกฎหมายเองก็ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ทั้งที่ตามหลักระหว่างประเทศ กฎหมายใดๆ ที่ไปจำกัดสิทธิของประชาชน กฎหมายนั้นต้องมีความละเอียดชัดเจนพอให้คนควบคุมการกระทำของตนเองได้ ทั้งที่กฎหมายเกือบทุกฉบับเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ทั้งต้องยอมรับด้วยว่ากฎหมายบางฉบับนักกฎหมายก็ยังต้องเวลากว่าจะเข้าใจ และต่อให้เข้าใจก็ไม่ได้แปลว่าศาลจะตีความเหมือนกัน

ไม่ใช่ทนายทุกคนจะทำการบ้านมาดีหรือมีความเชี่ยวชาญทุกเรื่อง

เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา สิทธิสำคัญของประชาชนคือการมีทนายความ แต่สัณหวรรณยอมรับว่าไม่ใช่ทนายจะเตรียมตัวทำคดีมาอย่างรัดกุมถี่ถ้วนทุกคน ซึ่งการเตรียมตัวไม่ดีส่งผลต่อการสู้คดีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในหลายกรณียังมีทนายที่แนะนำลูกความไม่ให้ให้การในชั้นสอบสวน แต่ไปให้การในชั้นศาลแทน สัณหวรรณเห็นว่าเป็นปัญหาเพราะสำนวนถูกเตรียมมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน เมื่อไปถึงชั้นศาลต่อให้เรียกพยานมาซัก แต่ก็จะถูกจำกัดมาแล้วในระดับหนึ่งจากสำนวนในชั้นสอบสวน ดังนั้น ทิศทางของคดีจะถูกจำกัดลงมาก แต่หลายครั้งที่ทนายให้คำแนะนำลักษณะนี้เป็นเพราะไม่เชื่อในกระบวนการในชั้นสอบสวน หรือในคดีบางประเภททนายความก็ไม่มีความเชี่ยวชาญพอก็ทำให้ประสบปัญหาในการต่อสู้คดี เช่น พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้หลักฐานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ทนายไม่มีความเชี่ยวชาญ ต่อให้เตรียมตัวก็ยังยาก

ขณะที่ตำรวจจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น เพราะตำรวจเริ่มแบ่งเป็นหน่วยเฉพาะในส่วนกลาง ดังนั้น ตำรวจจึงจัดเตรียมข้อมูลได้ค่อนข้างพร้อม เมื่อขึ้นไปถึงชั้นอัยการ อัยการก็แบ่งเป็นหน่วยเฉพาะทางและมีความเชี่ยวชาญอีกเช่นกัน ต่างจากทนายที่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

“ศาลไทยใช้ระบบที่เรียกว่าผสม แต่ในกระบวนการศาลจะมีความเป็นระบบกล่าวหาก็คือจะไม่ทำอะไร นั่งเป็นกรรมการมากกว่า แล้วให้ทนายกับอัยการเป็นคนซักพยาน ข้อมูลที่ได้จากการซักพยานของทนายและอัยการจึงสำคัญมาก ถ้าทำการบ้านมาไม่สมดุลกัน ข้อมูลที่ออกมาก็จะไม่สมดุลกัน จริงๆ เรามีกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการซักและเรียกพยาน แต่อาจจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมด้วยที่ศาลส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นเท่าไหร่”

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือคดียาเสพติดที่ทนายมักแนะนำให้ลูกความสารภาพ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ปกติของทนาย เนื่องจากโทษสูงสุดในคดียาเสพติดคือประหารชีวิต การสารภาพจะได้รับการลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตหรือน้อยกว่านั้น เรื่องนี้จะเป็นปัญหากับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด เพราะการต่อสู้คดีจนถึงที่สุดโดยไม่รับสารภาพก็อาจถูกตัดสินประหารชีวิต หากศาลเชื่อว่าจำเลยทำผิดจริง แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งกฎหมายยาเสพติดของไทยก็เป็นปัญหาและมีลักษณะ Overcriminalization ด้วย

พยาน ความทรงจำ และการบันทึกภาพ-เสียง

“ในส่วนของพยาน ปัจจุบันเราใช้ประจักษ์พยานน้อยลง คือพยานผู้เห็นเหตุการณ์ สมัยก่อนใช้เยอะมาก เดี๋ยวนี้ที่ใช้น้อยลงหลักๆ เลยก็คือความจำของคนมันสับสน บางครั้งไม่ได้สั้น แต่เราผสมมันกับประเด็นอื่นๆ พอเราถาม คำให้การพยานมันก็จะขยับไปเรื่อยๆ และที่สำคัญคือพยานของไทยกว่าจะขึ้นศาลใช้เวลานาน ความทรงจำก็ยิ่งน้อยลง เพราะในชั้นตำรวจ พยานไปให้การ ตำรวจจดไปก็ไม่ได้ challenge กลับมาก ในศาลจะถูก challenge หลังผ่านไปแล้วเกือบปี ความทรงจำก็จะเลือนลางต่อให้เห็นเหตุการณ์ติดตา แต่เราไม่ได้สังเกตทุกอย่าง พอถึงเวลาจริงๆ การที่เราพึ่งพาพยานผู้เห็นเหตุการณ์มากก็ค่อนข้างน่าห่วง แต่มันจะไม่ค่อยเป็นปัญหาถ้าเกิดว่ากระบวนการสืบสวนของไทยในขั้นแรกๆ เก็บข้อมูลของพยานผู้เห็นเหตุการณ์มาได้อย่างครบถ้วน

“อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องพยานคือได้มาโดยดัดแปลงข้อมูลหรือเปล่า เพราะการที่เราจดทุกอย่างลงในสำเนาสอบสวนโดยเป็นคำทางการ ถ้าบางครั้งเป็นพยานที่เป็นตาสีตาสาพอออกมาเป็นคำทางการ เขาก็อาจไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด เพราะมันเป็นคำกฎหมายและต่อให้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ง่ายขนาดนั้น แล้วเขาจะต้องเซ็นรับรองในสิ่งที่เขาพูด ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรคือพอไปถึงชั้นศาลพอโดนซัก เขาก็บอกว่าจดผิดหรือฟังไม่รู้เรื่องหรือเขาพูดอีกอย่างหนึ่ง

สัณหวรรณอธิบายว่าระหว่างที่พนักงานสอบสวนซักถามพยานก็จะทำการพิมพ์คำให้การไปด้วย ซึ่งไม่ตรงกับคำพูดแบบคำต่อคำ บางครั้งจึงเกิดกรณีที่พยานปฏิเสธว่าไม่ได้พูดอย่างที่พนักงานสอบสวนใส่ลงไปในสำนวน แต่จุดนี้สามารถแก้ได้ด้วยการที่บันทึกภาพและเสียงในชั้นสอบสวนตั้งแต่ขั้นแรกๆ ที่พยานยังพอจดจำเหตุการณ์ได้และสังเกตอาการกิริยาว่าตอบอย่างมั่นใจหรือไม่

พนักงานสอบสวนและอัยการ

ในส่วนของพนักงานสอบสวน โดยหลักการแล้วคือการตรวจสอบความเป็นไปได้ทั้งหมดในหนึ่งคดี แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พนักงานสอบสวนมีอคติหรือมีข้อสรุปไว้แล้วจากประสบการณ์หรือความเชื่อ ก็น่ากังวลว่าสำนวนการสอบสวนจะเอนเอียงไปตามนั้น

“สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับการสอบสวนคือสิ่งที่เรียกว่า confirmation bias หรือการหาข้อมูลไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ทั้งหมด แต่เพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง เพราะเขาเป็นคนเดียวที่มีอำนาจในการเรียกคนนั้นคนนี้มาเป็นพยานเพิ่มเติม อัยการไทยตอนนี้ก็ยังไม่มีอำนาจลงมาตั้งแต่แรก กว่าเขาจะได้ข้อมูลก็ทีหลังแล้ว ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไร แน่นอนเรามีตำรวจดีๆ เยอะแยะที่พยายามดูความเป็นไปได้ทั้งหมด บางครั้งไม่ใช่เขาเป็นคนไม่ดี แต่เขาไม่รู้ตัว เหมือนเขาคิดไปแล้วว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ด้วยประสบการณ์”

สัณหวรรณจึงสนับสนุนให้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับตำรวจที่ทำสำนวนคดี โดยวางความเป็นไปได้ทั้งหมดในสำนวนเพื่อที่จะเรียกพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความเป็นไปได้ทั้งหมด และแจกแจงในสำนวนให้อัยการและศาลรับรู้ อย่างไรก็ตาม การทำแบบนี้ก็มีอุปสรรคเรื่องเงื่อนเวลาในการปิดคดีที่อาจถูกบีบจากผู้บังคับบัญชาหรือสังคมที่ต้องการรู้คำตอบและดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถตรวจสอบความเป็นไปได้ทั้งหมดของคดี อีกทั้งตำรวจไทยยังมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลากหลาย ไม่สามารถทุ่มเวลากับคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะได้

“หลายครั้งที่คุยกับตำรวจ ตำรวจก็บอกว่าแบบนี้มันยากที่เขาจะทำสำนวนที่ดีและตอนนั้นที่คุยเรื่อง confirmation bias และควรพิสูจน์ทุกๆ ความเป็นไปได้ ตำรวจบอกว่าทำได้เพียงแต่เวลาที่จะให้เขาทำคดีอย่างเดียวอยู่ที่ไหน”

ข้อเสนอที่ว่าควรแยกพนักงานสอบสวนให้เป็นหน่วยงานอิสระ สัณหวรรณเห็นว่าหากทำได้ก็ดีเพราะทุกวันนี้มีประเด็นเรื่องการตรวจสำนวนโดยผู้กำกับในสถานีตำรวจซึ่งอาจกระทบกับความอิสระในการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน อีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาในสายงานนี้ เพราะการแยกออกไปจะทำให้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานได้มากกว่า

ถามว่าควรมีระบบอะไรมาตรวจสอบถ่วงดุลการทำสำนวนของพนักงานสอบสวน สัณหวรรณตอบว่า

“จริงๆ คืออัยการ จึงมีคำพูดว่าอัยการควรร่วมตั้งแต่แรกหรือไม่ เพราะว่าอัยการเองก็อยากร่วมด้วย อัยการบางคนก็ไม่อยากร่วมเพราะงานเยอะ แต่อัยการหลายคนอยากร่วมเพราะคนที่ต้องเอาสำนวนไปว่าความในศาลคืออัยการ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อัยการเข้าไปร่วมนั่งฟังการสอบสวนด้วย อัยการจะรู้ว่าข้อต่อสู้คืออะไร แต่เขาไม่เคยได้สำนวนเลยจนกว่ามันจะถึงจุดที่พนักงานสอบสวนทำเสร็จ ถ้าทำเสร็จเร็ว เขาก็มีเวลามาก แต่ถ้าทำเสร็จช้าจะหมดช่วงฝากขัง เขาก็ต้องรีบฟ้องศาล เขาก็พูดเองว่าบางทีก็ต้องส่งไปเท่าที่มีดีกว่าปล่อยคนผิดแล้วมีปัญหาจึงต้องรีบส่งก่อนหมดช่วงฝากขัง”

ตรงนี้ทำให้เราเกิดความสงสัยในใจเพราะตามหลักการกฎหมายแล้วต้องสันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์

สัณหวรรณกล่าวต่อว่า

“แต่อัยการบางคนก็พูดเองว่าอัยการไม่ควรเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่แรกเพราะว่ามันเป็นการให้อัยการมา check and balance ข้างบน ไม่ใช่ว่ามาทำด้วยกันตั้งแต่แรกแล้วขึ้นไปเป็นแท่ง แต่สุดท้ายก็ประสบปัญหาว่าไม่มีเวลา check and Balance อยู่ดี พนักงานอัยการถ้าจะแก้ต่อให้มีเวลา สิ่งที่เขาทำได้คือส่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม ไม่สามารถลงมาล้วงลูกเองได้ เพราะถือว่าเป็นเส้นแบ่ง ส่วนใหญ่ในต่างประเทศพนักงานอัยการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก แล้วไป check and Balance กันในศาลกับทนายของอีกฝั่ง เพราะเขาถือว่าเป็นทีมเดียวกัน ส่วนทนายอีกฝั่งหนึ่งก็สู้ให้เต็มที่ การออกแบบอย่างนี้ก็อาจมีข้อบกพร่องอยู่ ของเราก็มีแบบของเรา”

นักนิติวิทยาศาสตร์และแพทย์นิติเวช

หนึ่งในหลักการสำคัญระหว่างประเทศว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนคือการสืบสวนสอบสวนในที่เกิดเหตุหรือ crime scene investigation ผู้ที่เข้าถึงที่เกิดเหตุคนแรกควรเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เจอเหตุการณ์ต้องกั้นที่เกิดเหตุไว้หากรู้ว่าเหยื่อในเหตุการณ์เสียชีวิตแล้ว จะสามารถเข้าไปได้เพื่อช่วยคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เนื่องจากพยานหลักฐานทุกอย่างที่จะนำไปพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ต้องปนเปื้อนน้อยที่สุด ต้องถูกคนสัมผัสและเดินผ่านน้อยที่สุด ทั้งยังต้องถูกเก็บไปโดยเร็วที่สุดและถูกวิธีที่สุด ทว่า ปัญหาในทางปฏิบัติ ผู้ที่ไปถึงที่เกิดเหตุคนแรกกลับเป็นเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครกู้ภัย

“แต่ปัญหาจริงๆ คือต่อให้เป็นตำรวจก็ไม่สามารถเก็บได้เพราะเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จริงๆ ควรเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ที่เราก็มีน้อย แล้วก็เข้าถึงช้า วิธีเข้าถึงของนักนิติวิทยาศาสตร์ก็คือตำรวจไปก่อน แล้วตำรวจค่อยเรียก ทั้งที่จริงๆ ควรจะเป็นทีมที่ไปด้วยกัน ในบางพื้นที่มีที่ไปด้วยกันเป็นทีม โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในบางพื้นที่เขาไม่ได้ไปด้วยกันเป็นทีม รวมถึงหมอนิติเวช ในหลายประเทศพาหมอนิติเวชไปที่เกิดเหตุด้วย เพราะเขาจะช่วยดู ช่วยเก็บข้อมูลได้ซึ่งจะช่วยคดีได้มาก แต่เราขาดแคลนหมอนิติเวช ส่วนนักนิติวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในพื้นที่ใหญ่ๆ พื้นที่ห่างไกลก็ขาดแคลน”

เรื่องนี้เคยมีการเสนอว่านักนิติวิทยาศาสตร์และแพทย์นิติเวชควรเป็นหน่วยงานอิสระหรือไม่ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญและเป็นหนึ่งในพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ปัจจุบันยังอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อีกหน่วยหนึ่งอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ขณะที่แพทย์สังกัดกับกระทรวงสาธารณสุข

“แต่ว่าโมเดลนี้ก็น่าสนใจเพราะมาตรฐานระหว่างประเทศและในหลายๆ ประเทศ พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะไม่ถูกตรวจโดยที่เดียว ญาติสามารถเอาไปตรวจได้ มันจะมีพวกองค์กรอิสระที่คอยดูหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พอญาติได้ข้อมูลแล้วไม่เชื่อก็ไปตรวจกับอีกที่หนึ่งได้ เป็นความคิดเห็นที่ 2 แล้วเอามายันกันในศาลว่าวิธีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ของใครดีกว่ากัน มันเป็นการพัฒนาคุณภาพนิติวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะมีการแข่งขันในระดับหนึ่ง ดังนั้น เขาก็จะต้องทำให้เทคโนโลยีของเขาดีที่สุด การตรวจเที่ยงตรงที่สุด และถ้าคลางแคลงใจก็จะมีที่สำหรับ Double check  ถ้าไม่ตรงกันก็ไปคุยกันในศาล ศาลอาจจะหาความคิดเห็นที่ 3 ก็ได้ เพื่อดูว่าของใครน่าเชื่อถือที่สุด”

สัณหวรรณแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่าหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชไม่ควรอยู่ภายใต้ สตช. ยกตัวอย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความคลางแคลงใจระหว่างคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ที่อยู่ในสังกัดของรัฐเป็นผู้ชันสูตร ญาติจะไม่เชื่อใจ

อย่างในกรณีของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี โดยทางเจ้าหน้าที่บอกว่าลื่นล้มในห้องน้ำ ผู้ตรวจชันสูตรเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลอิงคยุทธที่เป็นทหารและอยู่ในระบบบังคับบัญชา ต่อให้ปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ทำให้ความคลางแคลงใจของครอบครัวหรือของคนในพื้นที่หมดไป

“ตามหลักระหว่างประเทศก็ไม่ต้องการให้เกิดความคลางแคลงใจนี้ ผู้ตรวจชันสูตรจึงควรเป็นแพทย์ที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางทั้งในเชิงความเป็นจริงและในเชิงสถาบัน การที่จะไม่ให้แพทย์นิติเวชผ่าชันสูตรจะต้องออกเป็นคำพิพากษาว่าทำไมถึงปฏิเสธ แต่ของไทยหลายครั้งเสียชีวิตในห้องขังแล้วชอบส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือเราไม่ค่อยมีหมอนิติเวชด้วย เราไม่มีหมอที่เชี่ยวชาญด้านนี้มากทำให้ส่งไปได้ไม่กี่ที่ แล้วหลายที่ที่ส่งไปก็เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ส่งมา อย่างโรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฎ แม้จะมีหมอนิติเวชเก่งๆ แต่ผลที่ออกมาบางครั้งอาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ศาลจะรับค่อนข้างหมดขอให้เป็นแพทย์เขียนมา”

ข้อมูลจากกฎหมายพิเศษต้องไม่ถูกนำมาใช้พิจารณาในคดี

พูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเอ่ยถึงกรณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าบางครั้งข้อมูลในชั้นตำรวจได้มาในระหว่างถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งในอดีตศาลไม่รับฟัง แต่ปัจจุบันศาลเริ่มรับฟังในบางคดี ซึ่งหากยึดตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัดไม่ควรรับฟังได้ เพราะในขั้นตอนการคุมขังไม่ได้ผ่านขั้นตอนของศาล ไม่มีการออกหมายจับ หรือช่วงที่จะต่ออายุการคุมขังตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ผลัดละ 7 วัน เจ้าหน้าที่ก็สามารถร้องขอต่อศาลโดยไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกควบคุมตัวไปยังศาลเพื่อให้ผู้พิพากษาซักถามแต่อย่างใด

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงทนาย แม้กระทั่งการพบญาติก็ยังเป็นเรื่องยาก ปัจจุบัน เมื่อศาลเริ่มรับฟังมากขึ้น แม้ไม่ใช่พยานหลักฐานหลัก แต่นำมาประกอบก็ตาม ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเนื่องจากบางครั้งการนำพยานหลักฐานจากการใช้กฎหมายพิเศษมาประกอบไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวพูด แต่เป็นคำพูดของพยานซัดทอด

“แล้วเจ้าหน้าที่ก็อาจจะกันคนนั้นไว้เป็นพยาน แต่เรามีพยานซัดทอดที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามปกติ ไม่ได้ผ่านกระบวนการตามวิอาญา มีการใช้ข้อมูลอย่างการพาไปที่สถานที่เกิดเหตุและไปค้นพบข้อมูล พวกนี้มันควรจะได้เหมือนกันในกระบวนการกฎหมายอาญาตามปกติในขั้นของตำรวจ

“แต่ปัจจุบันมันมาจากขั้นที่มีการร้องเรียนว่าถูกบังคับหรือถูกทรมาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เพราะไม่มีการสืบสวนสอบสวนในเคสแบบนั้น ส่วนใหญ่เขาก็แค่มาร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ อาจเพราะไม่มีกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานด้วยจึงทำให้ไม่มีคดี ถ้าข้อมูลได้มาจากการถูกบังคับจริง ข้อมูลมันก็ควรใช้ไม่ได้ แต่ถ้ามีการรับฟังขึ้นมาก็น่ากังวลเพราะเคสในสามจังหวัดแต่ละเคสเดี๋ยวนี้เป็นเคสก่อการร้ายที่มีโทษประหารชีวิต”

ผู้พิพากษาและสถาบันตุลาการ

ในส่วนของศาลหรือสถาบันตุลาการ เราอาจตั้งคำถามได้ตั้งแต่เรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา สัณหวรรณ์กล่าวว่าการไม่ให้ประกันควรเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเท่านั้น ส่วนในกรณีอื่นๆ อาจใช้การทำแบบประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีก่อน ถ้าความเสี่ยงต่ำจึงปล่อยตัวโดยให้ใช้วิธีมารายงานตัวแทนการจำคุกหรือใช้วงเงินประกันตัว ซึ่งทำให้คนยากจนเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัวได้ แม้ว่าในกฎหมายจะไม่ได้ระบุว่าต้องใช้เงินในการประกันตัวก็ตาม ขณะที่ในต่างประเทศจะเน้นปล่อยตัวเพราะถือว่าผู้ถูกกล่าวยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

“เป็นแนวปฏิบัติของศาลเพราะว่าของไทยเวลาเราจะอุทธรณ์ฎีกายังต้องหาหลักทรัพย์ไปวางเหมือนกับเป็นแนวความเชื่อ ทั้งที่การอุทธรณ์กับฎีกาก็เป็นสิทธิ เหมือนกับว่าจะมีจ่ายแน่ๆ หรือเปล่าถ้าจะไปอุทธรณ์ ฎีกา ให้เอาหลักทรัพย์ไปวางก็มี หรือว่าในการประกันตัวบอกว่าไม่มีพฤติกรรมหลบหนี อะไรคือไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ก็นี่ไงวางเงินไว้ขนาดนี้ ใครจะหนี อาจจะเป็นความคิดของคนทำแนวปฏิบัติ ณ เวลานั้น ซึ่งปัญหาก็จะมาตกกับคนที่ไม่สามารถหาเงินได้”

ประเด็นผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สถาบันตุลาการถูกตั้งคำถามว่า มีการทบทวนคำพิพากษาโดยผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เพราะตามหลักแล้วคำพิพากษาจะต้องถูกทบทวนโดยศาลที่สูงขึ้นไป เมื่อกล่าวว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระ แต่ยังต้องมีหัวหน้ามาช่วยทบทวนคำพิพากษา ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนคำพิพากษาไม่ได้ แต่การที่ผู้พิพากษามีความเห็นไม่ตรงกับผู้บังคับบัญชาย่อมเกิดแรงกดดันกับตัวผู้พิพากษา

“ถ้าอยากจะให้มีการทบทวนจริงๆ เรื่องข้อกฎหมายก็ยังพอเข้าใจได้ ถ้ามองว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอาจจะเป็นผู้พิพากษาใหม่ ในบางประเทศแก้ปัญหานี้โดยการให้ผู้พิพากษาอาวุโสมานั่งเป็นองค์คณะร่วมกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่แรก แต่การทบทวนข้อเท็จจริงหรือวิจารณญาณบางส่วนจะค่อนข้างเสี่ยงเพราะตัวหัวหน้าไม่ได้มานั่งอยู่ในห้องระหว่างไต่สวน ไม่ได้เห็นลักษณะท่าทางของพยาน การพูดจาหรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้รูปแบบการทบทวนในลักษณะนี้ค่อนข้างมีปัญหา แล้วปกติของศาลไทยพอขึ้นไปศาลสูง ศาลสูงก็ไม่กลับมาดูข้อมูลพวกนี้ ดังนั้น ถ้าศาลสูงจะกลับคำพิพากษาก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน

“มีการเสนอว่าควรจะมีการอัดวีดีโอไปเลยในขั้นพิจารณาโดยเฉพาะศาลสูง เพราะว่าตามหลักระหว่างประเทศควรจะเป็นศาลสูงไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาที่มาทบทวน ถ้าศาลสูงจะมาทบทวนก็จะได้มีวีดีโอด้วยว่าเขามีอากัปกิริยาอย่างไร หรือไม่คุณก็ต้องเรียกตัวเขาไป แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่เพราะยังทำงานกับตัวเอกสารที่มาจากศาลชั้นต้นเสียมากกว่า”

ทำงานกับเอกสารมากกว่านั่งบนบัลลังก์ในห้องไต่สวน แต่ศาลระดับสูงมีอำนาจกลับคำพิพากษาได้

“คดีวิสามัญกรณีสงครามยาเสพติดศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ลงโทษตำรวจ แต่ศาลฎีกากลับคำตัดสิน ญาติก็ผิดหวังมาก เขาบอกว่าคุณไม่ได้มาดูสำนวนตั้งแต่แรก ทำไมชั้นเดียวจึงตัดสินกลับได้ทุกชั้น เราเอาระบบอาวุโสด้วยเพราะผู้พิพากษาอาวุโสจะไปอยู่ศาลฎีกา ดังนั้น จึงต้องอิงตามศาลฎีกา

“ตามหลักการระหว่างประเทศระบุว่าให้มีอย่างน้อย 1 ศาลข้างบนในการทบทวน ซึ่งวิธีการดีไซน์ 2 ชั้นไม่ได้จำเป็นเสมอไปว่าชั้นแรกจะเป็นของคนอายุน้อยในองค์คณะผู้พิพากษาอาจจะมีผสม แล้วชั้น 2 อาจจะเป็น senior หมดก็ได้ แต่ของเรามี 3 ชั้นซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนมีโอกาสมากขึ้นอีกชั้นหนึ่งในการให้คนมาช่วยทบทวน แต่ในเวลาเดียวกันถ้า 2 ศาลเห็นเหมือนกันแล้ว ศาลที่ 3 เห็นอีกด้านหนึ่ง ก็มีคนพูดอยู่เหมือนกันว่ามันดูไม่สมดุลเลย เหมือนมี 2 คนบอกว่าต้องทางนี้ แต่คนอายุมากสุดบอกว่าทางนี้ เราก็เลยต้องไปทางนี้”

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างและวัฒนธรรมในสถาบันตุลาการมีผลต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งยังเป็นสถาบันปิดที่คนภายนอกแทบไม่รู้อะไรเลย แม้กระทั่งเวลาที่มีการตั้งกรรมการสอบก็มีความเป็นเอกเทศมาก ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมรับรู้ใดๆ ได้

นอกจากนี้ สถาบันตุลาการก็ดูจะมีระบบป้องกันตัวเองไม่ให้สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์ (กรณีศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด) สัณหวรรณกล่าวว่าในคดีอาญาปัจจุบันสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้โดยใช้ข้อต่อสู้ว่าวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แต่มีการกระทำบางอย่างในพื้นที่เขตศาลที่ยังเป็นปัญหา

“เมื่อไม่นานมานี้มีร่างข้อคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ มาดูเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม เขาตีความคำนี้ว่าไม่ควรมีการกำหนดเขตห้ามชุมนุม รวมถึงในบริเวณศาล แต่ปัจจุบันบริเวณศาลถือว่าละเมิดหมดเลย ไปชุมนุม ไปทำนั่นทำนี่ไม่ได้ ตอนนี้มันยังเป็นร่างอยู่แต่ถ้าออกมาก็น่ามานั่งดูเหมือนกันว่าการที่เราบอกว่าการทำกิจกรรม การแสดงออกบางอย่างในบริเวณศาล ถ้าเราห้ามอาจจะเป็นการขัดแย้งกับการตีความของไอซีซีพีอาร์ (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง-International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ในอนาคตอันใกล้”

ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง

ในส่วนของการลงโทษและฟื้นฟูผู้กระทำผิด สัณหวรรณยกกรณีโทษประหารในสังคมไทยว่าการที่บอกว่าคนนี้ควรถูกประหารชีวิตหมายถึงต้องการตัดคนคนนี้ออกจากสังคมไปตลอดกาล แต่ประเด็นเบื้องข้อหนึ่งคือสาธารณชนกลัวว่าคนดังกล่าวจะออกมากระทำความผิดซ้ำ ทว่า ปัญหาการกระทำความผิดซ้ำอาจไม่ได้อยู่ที่โทษไม่ร้ายแรงพอ แต่เป็นเพราะระบบไม่สามารถฟื้นฟู ปรับเปลี่ยน ผู้กระทำผิดให้กลับสู่สังคมได้หรือเปล่า อัตราการกระทำผิดซ้ำของไทยจึงค่อนข้างสูง

“เคยคุยกับนักโทษเหมือนกันว่าเรียนเป็นยังไง เขาก็บอกว่าบางเรือนจำก็ไม่ได้เรียนง่ายเพราะมันมีคิว ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยากเรียนแล้วจะได้เรียน รูปแบบการเรียนการสอนในเรือนจำก็ยังมีปัญหาอยู่เพราะว่าหลายคนอยากเรียน แต่เขาไม่สามารถเรียนได้เต็มที่ ห้องสมุดที่มีหนังสือก็น้อย ต้องคอยคนบริจาค แล้วอาจจะเป็นหนังสืออะไรก็ไม่รู้ ทุกครั้งที่เข้าไปในเรือนจำเคยถามเขาว่าอยากได้อะไร เขาก็บอกว่าหนังสือเพราะเขาไม่มีอะไรทำ เขาก็จะยืมหนังสือไปนั่งอ่านฆ่าเวลา แต่ก็ไม่ค่อยมีหนังสือดีๆ เพราะก็แย่งกัน

“ส่วนเรื่องฝึกอาชีพจะเห็นว่ามีรูปแบบการฝึกอาชีพไม่กี่อย่าง ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่ใช่อาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้อีกแล้ว ทำแห ทำอวน มันไม่ใช่อาชีพที่ตลาดต้องการ ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่ปัจจุบันคนก็ไปซื้อตามห้างแล้ว เข้าใจว่าเรือนจำแต่ละที่ก็มีความท้าทายในการหางบประมาณและบุคลากรมาสอน แล้วเขาก็เอาคนเข้าคุกเยอะไป ทำให้เขาไม่สามารถจัดการทั้งเรื่องการเรียนการสอนและการฝึกอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ออกแบบมาให้คนที่ออกมาแล้วใช้ชีวิตประกอบอาชีพได้จริงๆ”

ขณะที่ในบางประเทศที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีผู้ต้องขังน้อยทำให้ควบคุมมาตรฐานและคุณภาพการบำบัดฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนคนได้ แต่ของไทย แม้ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะพยายามทำ แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ยากเพราะผู้ต้องขังล้นคุก อีกทั้งการไม่ให้ประกันตัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ตั้งแต่ย่อหน้าแรกถึงย่อหน้านี้แสดงให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีจุดที่ต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงวิธีคิดของสังคมในการลงโทษผู้กระทำความผิด ระบบกฎหมายที่ทำให้เกิดภาวะ Overcriminalization ซ้ำหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กันตัวเองออกจากสังคมและปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ หากใช้แว่นขยายส่องดูในแต่ละขั้นลงไปอีก เราคงเห็นอะไรอีกมาก แต่การจะทำเช่นนั้นก็ยากเกินกว่าที่จะบรรจุไว้ในบทสัมภาษณ์เพียงชิ้นเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net