Skip to main content
sharethis

ในอินเดียมีการประท้วงต่อต้านกฎหมายพลเมืองฉบับใหม่ที่หลายฝ่ายมองว่ากีดกันผู้นับถือศาสนาอิสลาม ละเมิดหลักการรัฐฆราวาส ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจอินเดียนำกำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 ราย

ธงชาติอินเดีย (ที่มา:Nishant Vyas from Pexels)

17 ธ.ค. 2562 มีการประท้วงของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจาเมีย มิลเลีย อิสลาเมีย (JMI) ในกรุงนิวเดลี และในมหาวิทยาลัยอาลิการ์มุสลิมในอุตตรประเทศ (AMU) หลังจากที่รัฐบาลประกาศกฎหมายสัญชาติ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2562 ที่จะมีกระบวนการแบบลัด (Fast-track) ให้ผู้ลี้ภัยและผู้อาศัยในอินเดียอย่างผิดกฎหมายมาก่อน 31 ธ.ค. 2557 ได้สัญชาติภายใน 6 ปี จากเดิม 12 ปี

กฎหมายดังกล่าวสร้างข้อกังขาและความไม่พอใจอย่างมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิประโยชน์ด้านการให้สัญชาติแก่ผู้นับถือศาสนาฮินดู ซิกข์ พุทธ เจน และคริสต์ ที่มาจากประเทศใกล้เคียงอย่างบังกลาเทศ ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ทำให้ฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนมากมองว่ากฎหมายนี้กีดกันให้ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย ละเมิดรัฐธรรมนูญอินเดียเรื่องการเป็นรัฐฆราวาส และจุดกระแสหวาดกลัวการทะลักของผู้ลี้ภัยตามพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม

การประท้วงดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 วันแล้ว เมื่อ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมามีกลุ่มประชาชนผู้อยู๋อาศัยในเซาธ์เดลีเข้าร่วมขบวนของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย JMI เดินขบวนประท้วงไปยังรัฐสภา มีเหตุปะทะกันเกิดขึ้นหลังจากตำรวจพยายามสลายการชุมนุมในช่วงที่ขบวนประท้วงเคลื่อนไปจนถึงย่านซารายจูเลนาใกล้กับมหาวิทยาลัยโดยการใช้แก๊สน้ำตาและมีการใช้ไม้กระบองทุบตีทำร้ายจนมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 ราย มีรถประจำทางและรถส่วนบุคคลถูกจุดไฟเผาหลายคัน

ตำรวจยังบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย JMI และยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ห้องเรียนบางส่วน สื่ออินเดียรายงานว่านักศึกษาที่กำลังละหมาดที่มัสยิดก็ถูกโจมตีด้วย หลังเกิดเหตุรุนแรงเหล่านี้มีนักศึกษาเกือบ 100 รายถูกจับกุมถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะบอกว่านักศึกษา JMI ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการเผายานพาหนะก็ตาม

วาซีม อาห์เหม็ด หัวหน้าฝ่ายควบคุมความประพฤตินักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าวว่าตำรวจใช้กำลังบุกเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการทุบตีทำร้ายทั้งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษาบีบให้พวกเขาต้องออกจากมหาวิทยาลัย

นักศึกษาที่ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัวในช่วงเช้าของวันที่ 16 ธ.ค. หลังจากที่มีนักกิจกรรมและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในนิวเดลีไปประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจของเมือง นอกจากนี้ยังมีการประท้วงจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหลังจากที่มีการประท้วงหน้าสถานีตำรวจด้วย

การใช้กำลังของตำรวจในครั้งนี้กลายเป็นการทำร้ายนักศึกษาบางส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วมประท้วงไปด้วย เช่น  โมห์หมัด มินฮัจ อุดดิน นักศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย JMI บอกว่าเขามีอาการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่องที่ดวงตาหลังจากที่ถูกทุบตีจากตำรวจ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เข้าร่วมการประท้วงเลยและกำลังอยู่ในห้องสมุดในขณะที่ตำรวจบุกทลายประตูห้องสมุดเข้ามา ในตอนนั้นเขาตื่นตระหนกและล้มลงกับพื้นก่อนที่พวกตำรวจจะทุบตีเข้าที่ตาของเขามีโรงพยาบาลสองแห่งที่รับผู้บาดเจ็บเปิดเผยว่ามีผู้บาดเจ็บจากการถูกปราบปรามได้รับการส่งตัวเขารักษารวมแล้วมากกว่า 100 ราย

ตำรวจนิวเดลีอ้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุมว่าเป็นเพราะในหมู่ผู้ชุมนุมราว 4,000 คนนั้นมี "กลุ่มคนที่เผารถประจำทาง" ถ้าหากม็อบนี้ชุมนุมอย่างสงบสันติพวกเขาก็จะ "สลายการชุมนุมอย่างสันติ" ชินมอย บิสวัล เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสที่กล่าวในเรื่องนี้ยังบอกอีกว่าสาเหตุที่พวกเขาบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยนั้นก็เพื่อ "รักษาความสงบเรียบร้อย" และมีเจ้าหน้าที่ 6 นายได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกัน

นอกจาก JMI แล้วยังมีการชุมนุมอีกแห่งหนึ่งใน AMU ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดสำหรับชนกลุ่มน้อยในอินเดีย มีผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาร่วมกันประท้วงที่หน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเองตำรวจก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วทำร้ายนักศึกษาด้วยไม้กระบองและยิงแก็สน้ำตาใส่พวกเขา ทั้งนี้ทางการประจำเขตอาลีการ์ก็สั่งปิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้

กลุ่มชาวมุสลิม พรรคฝ่ายค้าน และนักกิจกรรมด้านสิทธิฯ ในอินเดียกล่าวว่ากฎหมายให้สัญชาติฉบับใหม่นี้เป็นหนึ่งในวาระของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ในการที่จะกีดกันชาวมุสลิม 200 ล้านคนในอินเดียให้เป็นชายขอบ

โมดี กล่าวโต้ตอบการประท้วงที่เกิดขึ้นโดยกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือพรรคคองเกรสที่ยุยงให้เกิดความรุนแรง ขณะที่พรรคคองเกรสโต้กลับว่าพรรครัฐบาล BJP ไม่สามารถรักษาสันติภาพในประเทศได้

การประท้วงที่ดำเนินติดต่อกัน 5 วันนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 รายเหตุเกิดขึ้นในรัฐอัสสัม หลังจากที่มีผู้ประท้วงต่อต้านกฎหมายนี้เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการส่งเสริมให้ชาวบังกลาเทศอพยพเข้ามามากตั้งรกรากมากขึ้น เจ้าหน้าที่ทางการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ของรัฐที่มีการประท้วงโดยอ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย

เรียบเรียงจาก

India police storm Jamia, AMU to break citizenship law protests, Aljazeera, 16-12-2019

Citizenship (Amendment) Act: What does it do, why is it seen as a problem, The Economic Times, Dec. 17, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net