Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้นำคนผิดมาลงโทษทางอาญาให้ถึงที่สุดสำหรับเหตุวิสามัญฆาตกรรม 3 ประชาชนที่เทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส และปฏิรูปวิธีการป้องกันเหตุความรุนแรงชายแดนใต้ 'PerMAS' ขอให้รัฐไทยและคู่ขัดแย้งหลักคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและดำเนินการให้ถึงที่สุด

ภาพประกอบ จาก Facebook/Wartani

18 ธ.ค.2562 จากกรณีเหตุการณ์บริเวณเทือกเขาตะเว พื้นที่ อ.อะแน ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาสเมื่อ วันที่ 16 ธ.ค.62 โดยเดิมทีนั้นข้อมูลที่ออกมาเป็นเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ ต่อมามีการเผยแพร่ข้อมูลว่าผู้ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตเป็นชาวบ้านที่ไปรับจ้างตัดไม้นั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เสนอให้รัฐบาลดำเนินการ 4 ประเด็นเพื่อทบทวนวิธีการทำงานในปัจจุบันเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ ดังนี้

ขอให้นำคนผิดมาลงโทษทางอาญาให้ถึงที่สุดสำหรับเหตุวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน 3 คนที่เทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส และปฏิรูปวิธีการป้องกันเหตุความรุนแรงในจชต.

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีการนำปฏิบัติการตรวจค้นบนเทือกเขาตะเวในพื้นที่หมู่บ้าน อะแน ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่ประชาชน 3 รายซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้แก่ นายมะนาซี สะมะแอ อายุ 27 ปี นายฮาฟีซี มะดาโอ๊ะ อายุ 24 ปี  และนายบูดีมัน มะลี อายุ 26 ปี ชาวบ้านทั้ง 3 คนมีภูมิลำเนาใน ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาครอบครัวของผู้เสียชีวิตและชาวบ้านในบริเวณหมู่บ้านได้ให้การยืนยันว่า ทั้ง 3 คนเป็นเพียงประชาชนบริสุทธิ์ที่ขึ้นไปรับจ้างตัดไม้บนเทือกเขา มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแต่อย่างใด 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาเช้าของวันที่ 16 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งมอบศพให้กับชาวบ้านเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใช้เวลามากกว่า 30 ชั่วโมง จึงทำให้ชาวบ้านได้รับศพในวันที่ 17 ธันวาคม 2562 เพราะต้องส่งร่างของทั้ง 3 ไปยังโรงพยาบาลระแงะเพื่อทำการชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในขณะที่ข้อเท็จจริงหลายส่วนเกี่ยวกับสาเหตุในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ในการวิสามัญฆาตกรรมประชาชนทั้ง 3 รายยังคงเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ชายแดนใต้ก็เริ่มแสดงออกถึงความไม่พอใจในการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและวิธีการนำเสนอข้อมูลของทางการซึ่งได้เผยแพร่สาธารณชนเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ว่า การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้เกิดจากการ “ปะทะกับกลุ่มติดอาวุธหลบซ่อนอยู่บนเทือกเขาตะเว” แต่ต่อมาเมื่อวันที่17 ธันวาคม 2562 มีแถลงการณ์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ภาคที่ 4 เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งว่า การเสียชีวิตของชาวบ้าน 3 รายนั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในขณะปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดจากการ“สำคัญผิด” ว่าเป็นกลุ่มใช้ความรุนแรง  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเน้นย้ำว่า เหตุการณ์การวิสามัญฆาตกรรมในลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มด้วยใจ องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่ญาติผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้เก็บข้อมูลสถิติเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมจากการรายงานข่าวสาธารณะและพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปะทะที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เทือกเขาตะเวไปแล้วทั้งสิ้น 18 รายในปี 2562 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุกาณ์ดังกล่าว และขอชื่นชมที่ทางกอ.รมน.ได้แสดงความเสียใจและแถลงข้อเท็จจริงบางส่วนสู่สาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้

มูลนิธิฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้ มูลนิธิฯ ขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อทบทวนวิธีการทำงานในปัจจุบันเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นหน่วยงานพลเรือน ทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาเต็มความสามารถในการแสวงหาความจริงการวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ โดยทำงานอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลของกองทัพ เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีไต่สวนการตายและการฟ้องร้องคดีอาญาต่อผู้ต้องหากระทำความผิดให้ถึงที่สุด 

2. ขอให้หน่วยงานทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพภาคที่ 4 และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญในการค้นหาความจริง โดยเฉพาะรายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในวันเกิดเหตุที่เขาตะเวในครั้งนี้ โดยขอให้มีการย้ายผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดออกจากพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบสวนสอบสวน

3. ขอให้รัฐจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเป็นธรรมทั้งในรูปแบบตัวเงิน เชิงสัญลักษณ์เช่นการขอโทษต่อสาธารณะ รวมทั้งการเยียวยาด้านความเป็นธรรมโดยการนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในศาลพลเรือน และดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังเปิดเผยต่อสาธารณะ

4. ขอให้มีการปฏิรูปแนวทางการปราบปรามการก่อเหตุความรุนแรงทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การอบรมเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธตามหลักการสากล การปรับทัศนคติการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง การติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยก่อเหตุฯให้มีความรอบคอบ รอบด้านและปราศจากซึ่งอคติทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นมาตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับทิศทางการเจรจาสันติภาพให้เกิดการมีส่วนร่วม (all inclusive)อย่างจริงจัง



ขณะที่ สหพันธ์ นิสิตนักศึกษา นักเรียนและ เยาวชนปาตานี PerMAS ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐไทยและคู่ขัดแย้งหลักคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล (IHL) และให้นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและดำเนินการให้ถึงที่สุด

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์ สหพันธ์ นิสิตนักศึกษา นักเรียนและ เยาวชนปาตานี PerMAS
เรื่อง ขอให้รัฐไทยและคู่ขัดแย้งหลักคำนึงถึงหลักกฎหมายมนุษยธรรมสากล (IHL) และให้นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและดำเนินการให้ถึงที่สุด

ด้วยวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เจ้าหน้าที่ทหารสังหารพลเรือน ณ บ้านอาแน ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิต3ราย สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS เป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสันติภาพปาตานีโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามปาตานีที่กำลังดำเนินอยู่

ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS ขอเรียกร้องให้รัฐไทยในฐานะคู่สงครามหลัก ปฏิบัติการทางการทหารภายใต้กฎกติกาสงคราม (IHL) เพื่อไม่ให้ละเมิดกติกาสากลและรัฐไทยต้องนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานและทบทวนการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อก่อให้เกิดสันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชนและเป็นสันติภาพที่แท้จริง ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.หยุดปฏิบัติการในลักษณะที่ละเมิดมนุษยธรรมขั้นร้ายแรงในภาวะสงครามอันผิดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law)

2.ขอให้รัฐไทยและคู่ขัดแย้งหลักต้องทบทวนการปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นผลให้พลเรือนได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการ และขอให้เข้าสู่การแสวงหาทางออกความขัดแย้งด้วยแนวทางทางการเมือง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดแก่พลเรือน

3.ให้รัฐไทยนำตัว ผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดขึ้นอีก

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS

วันที่18 ธันวาคม 2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net