Skip to main content
sharethis

เข้าใจงาน 'วิ่งไล่ลุง' ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ผ่าน 4 ข้อ วิ่งไล่ใคร ใครจัด วิ่งที่ไหน ไกลไหม เป็นงานชุมนุมหรือไม่ 'นักวิ่งไล่ลุง' จะโดนดำเนินคดีหรือไม่ ท่าทีของเหล่า 'ลุงๆ' ที่ดูไม่ได้เห็นดีเห็นงาม แถมยังมีจัดงานวิ่งมาชนอีก เหตุใดลุงๆ ถึงหวาดกลัวการแสดงออกทางการเมืองผ่านการวิ่งขนาดนี้

กิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ งานวิ่งที่ชูประเด็นการเมืองชัดเจน ได้รับคำตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนทั่วไป สะท้อนจากยอดนักวิ่งที่ลงสมัครร่วมกิจกรรมที่เต็มจำนวน 8 พันคนในเวลาเพียง 2-3 วัน กระแสตอบรับอีกด้านคือการตอบโต้ กดดันของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งการคุกคาม ต่อรองทั้งผู้จัดงานและเจ้าของสถานที่เมื่อจะมีการจัดแถลงข่าวเรื่องกิจกรรมถึง 2 ครั้ง แถมยังมีอีกสารพัดงานวิ่งที่ออกมาจัดตอบโต้

ก่อนจะซ้อมวิ่ง เตรียมยาดม ประชาไทนำเสนอ 4 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน แง่มุมทางกฎหมายที่นักวิ่งไล่ลุงต้องรู้ ไปจนถึงปฏิกิริยาของ 'ลุงๆ' ต่อการวิ่งที่พูดเรื่องการเมืองตรงๆ

1. ‘วิ่งไล่ลุง’ วิ่งไล่ใคร คืออะไร จัดที่ไหน เมื่อไหร่ 

วิ่งไล่ลุง จัดโดยคณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย จะมีขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลา 04.30 - 08.00 น. เป็นงานวิ่งระยะทาง 7 กม. โดยเริ่มต้นที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ออกวิ่ง 05.30 น.

เส้นทางวิ่งจะไปตามเส้นทางถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬ ถ.นครสวรรค์ ถ.พะเนียง ถ.หลานหลวง มาที่สะพานผ่านฟ้า ถ.ราชดำเนิน วิ่งวนซ้ายรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 รอบ เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อประชาธิปไตยในประเทศที่กำลังจะตาย ก่อนจะกลับมาที่ มธ. ท่าพระจันทร์ 

เส้นทางวิ่ง (ที่มา:Facebook/วิ่งไล่ลุง - Run Against Dictatorship)

ตามคำนิยามของผู้จัดที่มีการแถลงข่าวจนได้ในที่สุดที่ มธ. ท่าพระจันทร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) ‘ลุง’ หมายความว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศตกต่ำ ย่ำแย่ ถ่วงความเจริญของชาติ เพื่อส่งสัญญาณให้กับ ‘ลุงๆ’ และผู้มีอำนาจทั้งหลายได้รับรู้ว่าประเทศมีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมซุกอยู่ใต้พรมของความสงบเรียบร้อยที่รัฐบาลพยายามสร้าง และประชาชนจะไม่อดทน

ข้อเรียกร้องของผู้จัดมี 3 ประเด็น หนึ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำตามสัญญาที่เคยหาเสียงไว้ สอง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย  และสาม ปลดล็อค ประกันสิทธิ เสรีภาพประชาชน หยุดใช้อำนาจช่วยเหลือพวกพ้อง รังแก คุกคามผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมสามารถลงทะเบียนได้ที่เพจ วิ่งไล่ลุง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสามารถจ่ายเงิน 650 บาทเพื่อรับเสื้อวิ่ง เหรียญสัญลักษณ์และสติ๊กเกอร์ นอกจากนั้นยังสามารถสั่งเสื้อยืดวิ่งไล่ลุงได้ในราคา 300 บาทผ่านเพจ 

สำหรับผู้ที่เคยชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หากนำภาพถ่ายที่ในม็อบ กปปส. หรือนกหวีดลายธงชาติ สามารถนำมาโชว์ได้ที่งานและแลกรับเหรียญปราบกบฏเป็นของที่ระลึกได้ทันที

ธนวัฒน์ วงศ์ไชย หนึ่งในแกนนำของสมาพันธ์ฯ ผู้จัดงานระบุว่า รายได้หลังจากหักภาษีและค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำไปมอบให้กับมูลนิธิต่างๆ

2. เป็น ‘ชุมนุมการเมือง’ หรือไม่ แล้วยังไง?

ตั้งแต่ทหารก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 การแสดงออกในเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและน้อยลงเรื่อยๆ จากการกดปราบของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมาย และคำสั่ง คสช. แม้มีความพยายามจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ มาเรื่อยๆ แต่กิจกรรมที่ทำผ่านกีฬานั้นแทบจะไม่ปรากฏด้วยซ้ำ 

‘วิ่งไล่ลุง’ น่าสนใจในฐานะที่ตำแหน่งแห่งหนของกิจกรรมอยู่สักแห่งระหว่างคำว่า ‘การรวมกลุ่ม’ กับ ‘การชุมนุมทางการเมือง’ ถ้าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก็จะต้องดำเนินการจดแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ดี ในมาตรา 3 (3) ระบุว่า พ.ร.บ. ไม่บังคับใช้กับการชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา

แล้วงานวิ่งที่พูดเรื่องการเมืองมันอยู่ตรงไหนในกฎหมายไทย?

ธนวัฒน์ยืนยันว่า ‘วิ่งไล่ลุง’ เป็นกิจกรรมวิ่ง ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดแจ้งการชุมนุม รูปแบบกิจกรรมและการดำเนินการนั้นทำเป็นการวิ่งจริงๆ มีการลงทะเบียน มีเส้นทางการวิ่ง และขอใช้พื้นผิวจราจรกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตั้งแต่ 6 ธ.ค. ตามระเบียบการขอจัดงานวิ่งทั่วไปที่ต้องขอล่วงหน้าภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวสอบถามคนที่เคยจัดงานวิ่งมาก่อน ได้รับข้อมูลว่า การจะจัดงานวิ่งนั้นต้องขอใช้พื้นที่จากเจ้าของสถานที่ ถ้าเป็นถนนก็ต้องขอตำรวจจราจรส่วนกลางในการใช้ถนน ขอตำรวจท้องที่เพื่อดูแลในวันงาน ทั้งนี้ หากวิ่งในพื้นที่สาธารณะ การวิ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เอื้อให้กับหน่วยงานหาประโยชน์ งานวิ่งจึงมีการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์

สำหรับกรณีวิ่งไล่ลุง การขอใช้พื้นผิวจราจร จนถึงวันที่ 18 ธ.ค. ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนผู้จัดกังวลว่าจะเป็นการดึงเชิงจากทางเจ้าหน้าที่อย่างที่เคยเกิดขึ้นจากการโดนกดดันไม่ให้แถลงข่าวแล้วถึง 2 ครั้ง ธนวัฒน์ระบุว่า แม้จะมีการแสดงออกทางการเมืองในงานวิ่ง ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตย 

“ในขณะที่เราขอไปเนี่ย เราทำตามข้อกฎหมายที่เขาเขียนขึ้น เขาบอกตลอดให้เราทำตามกฎหมาย พอเราทำปุ๊บก็มาใช้เล่ห์กลต่างๆ ไม่ให้เราจัด แล้วพอเราไม่ขอเขาตามกฎหมาย เขาก็โจมตีเราว่าเป็นพวกไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มันสะท้อนได้ชัดเจนว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งประชาชน” 

“ผมอยากให้เขาให้เราจัดเถอะ มันแค่งานวิ่งธรรมดา มันไม่มีอะไรเลย ยิ่งเขามายุยง มาเสี้ยม ทำให้มันจัดไม่ได้ คนก็จะยิ่งออกมามากขึ้น ฉะนั้นอนุญาตเถอะ เรายืนยันว่าจะทำให้ดูว่ามันเป็นงานวิ่งจริงๆ”

“เรายืนยันว่างานเราไม่ใช่ม็อบ เราไม่ได้เกลียดกลัวคำว่าม็อบ แต่งานเรามันเป็นงานวิ่งจริงๆ เราเห็นว่าม็อบหรือการชุมนุมมันทำได้อยู่แล้ว แต่งานวิ่งของเราไม่ใช่การชุมนุม” ธนวัฒน์กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หัวหน้าพรรคเกียน ผู้มีประสบการณ์ในการออกแบบกิจกรรมทางการเมืองมองว่า ‘วิ่งไล่ลุง’ เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ถูกที่ ถูกเวลา และจะเป็นกิจกรรมที่มีคนออกมาร่วมมากแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะกดดันและจัดในตอนเช้ามืด

“ก็สนุกดี มันเป็นการเล่นกันของอารยะขัดขืน ทำให้เรื่องนี้มันดูสนุกดี มีเรื่องมีราวดี เป็นแง่มุมที่สนุกดี ไม่งั้นมันก็จะราบรื่น ไม่มีอะไรน่าสนใจ” สมบัติกล่าวถึงกิจกรรมการวิ่งทางการเมืองครั้งนี้

3. กฎหมายที่รายล้อม ‘นักวิ่งไล่ลุง’

เมื่อประเมินจากกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาในยุค คสช. และหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ผู้จัดงานและประชาชนที่เข้าร่วมแสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลมักถูกดำเนินคดีสารพัดข้อหาเท่าที่จะมีได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุม มั่วสุมทางการเมืองจำนวน 5 คนขึ้นไปเป็นข้อหา ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

แม้คำสั่ง 3/2558 จะถูกยกเลิกไปแล้ว ความผิดทางอาญาอื่นๆ ก็ยังคงถูกหยิบใช้มาฟ้องร้อง ดำเนินคดีกันอย่างต่อเนื่อง กรณีล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือการแจ้งความดำเนินคดีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และผู้ร่วมชุมนุมในกรณีการนัดหมายทำแฟลชม็อบที่สกายวอล์คปทุมวัน เมื่อ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นการสร้างความหวาดกลัวว่าการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอาจมีชนักทางกฎหมายปักหลัง

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ลงทะเบียนร่วมวิ่งและรับเสื้อแล้ว ระบุว่า เท่าที่ทราบมา รูปแบบกิจกรรมของวิ่งไล่ลุงเป็นไปในแบบที่งานวิ่งทำกัน ไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะที่มีการนัดหมายและเคลื่อนขบวน การทำกิจกรรมอื่นๆ ใน มธ. ก็ไม่อยู่ในข่ายการบังคับใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ จะอ่านแถลงการณ์หรือข้อเรียกร้องก็ได้อยู่แล้ว โดยตัวของการจัดงานวิ่งเองไม่ได้มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายอะไร 

ในส่วนของผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม ภาวิณีให้ข้อมูลว่า การลงทะเบียนมาวิ่งไม่มีความผิดทางกฎหมาย เว้นแต่จะมีกิจกรรมเช่นไฮด์ปาร์ก แสดงออกซึ่งข้อความ โพสท์ภาพในอินเทอร์เน็ต ก่อความวุ่นวาย หรือกระทำการอื่นๆ ก็จะเป็นกรณีเฉพาะตัว

ในกรณีการวิ่งที่มีประเด็นทางการเมือง ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า รูปแบบของงานวิ่งนั้นมีหลายแบบ ในบางลักษณะถ้ามองกว้างๆ ก็เป็นเรื่องของการเมือง เช่นการวิ่งระดมทุนเพื่อโรงพยาบาล ถ้าเลือกปฏิบัติกับ ‘วิ่งไล่ลุง’ จะนำมาซึ่งคำถามว่า ไม่เช่นนั้นงานวิ่งอื่นๆ ที่จัดก็จะถือว่าเป็นการชุมนุมหมดเลยใช่หรือไม่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ถืออำนาจในการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมาย

“ก็อยู่ที่หน่วยงานรัฐจะใจกว้างแค่ไหน ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าแค่แถลงข่าวก็ยังไม่ให้แถลงเลย ตรงนี้ทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐมีความกังวลกับกิจกรรมนี้มาก ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมว่าอาจจะจัดไม่ได้หรือถูกห้ามจัด ก็มีความเป็นไปได้ เพราะเขาก็คงไม่อยากให้คนมาวิ่งกันเยอะๆ เพราะมันก็เสียภาพลักษณ์เขาเหมือนกัน คนที่ลงชื่อเข้าร่วมก็อาจจะต้องเข้าใจด้วยว่าธรรมชาติเป็นแบบนี้ ผู้จัดก็พยายามอยู่ แต่อาจจะมีการบล็อคจากหน่วยงานรัฐ ก็อาจจะต้องดูว่าแผนสำรองคืออะไร”

“แต่โดยรวมๆ แล้วคิดว่าผู้เข้าร่วมไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เขาเปิดลงทะเบียนไปวิ่ง เราก็ไปวิ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าวันนั้นมีการก่อกวน หรือทำให้ไม่เป็นไปตามแผนวิ่ง ก็อาจจะต้องดูว่าเราจะเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน” ภาวิณีกล่าว

4. ท่าทีของ ‘ลุงๆ’ 

เหล่าลุงๆ ฟากฝั่งรัฐบาลมีท่าทีกับการวิ่งไล่ลุงต่างกันไป ตั้งแต่โหนกระแสไปจนถึงไม่อยากให้เกิด ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าขอไม่ตอบคำถามนักข่าวเรื่องงานวิ่งดังกล่าว หากได้รับอนุญาตก็ทำไป ก่อนหน้านั้น ประยุทธ์ได้ชวนให้คนไปร่วมงาน ‘วิ่งเพื่อแผ่นดิน’ ตามรอยสงครามเก้าทัพ ในอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ จ.กาญจนบุรี ระหว่าง 13-15 ธ.ค. (ที่มา:ไทยโพสท์)

ลุงป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) ว่าไม่เห็นด้วยกับการนำมวลชนลงถนนหรือก่อม็อบ เพราะเวลานี้ประเทศมีความลำบาก ยุ่งยากมามากแล้ว มีบทเรียนมากมาย การลงถนนไม่ใช่ทางออกและยังส่งผลกระทบ

ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้ยืนยันเมื่อวานนี้ว่าไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรับมือม็อบ ส่วนกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จะจัดกันนั้น ไม่ได้มีการส่งหน่วยความมั่นคงไปเกาะติดสถานการณ์แต่อย่างใด

ลุงอู๊ด พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่เตรียมมีการจัดงานในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ว่าฝ่ายจัดยังไม่ได้มีการยื่นเรื่องขออนุญาตจัดงาน และอาจมีความผิด โดยต่อมาธนวัฒน์ ได้เปิดเผยเอกสารยื่นขอใช้พื้นผิวจราจรที่ บช.น. ลงเลขรับเรื่องไว้ตั้งแต่ 6 ธ.ค.

ลุงหนู อนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รมว.กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขให้จัดงาน ‘วิ่งไล่ยุง’ เพื่อรณรงค์การกำจัดไข้เลือดออกและลูกน้ำ ยุงลาย โดยระบุว่าจะจัดก่อนวันที่ 12 ม.ค. ที่เป็นวันงานวิ่งไล่ลุง อนุทินกล่าวว่า ให้สาธิตเป็นหัวหน้าแคมเปญแทนที่จะไป "วิ่งไล่ลุง" ก็ไป "วิ่งไล่ยุง" กันดีกว่า เพราะวิ่งไล่ลุงไม่มีใครป่วย ลุงก็ยังอยู่ได้สบาย แต่วิ่งไล่ยุง ถ้ายุงไม่ไป พวกเราป่วยแน่ (ที่มา:ไทยรัฐ)

นอกจากท่าทีของเหล่าลุงๆ ฟากฝั่งรัฐแล้ว เพจเฟสบุ๊ค “เชียร์ลุง” ได้โพสต์แจ้งข่าวการลงทะเบียนจัดกิจกรรมทางการเมือง “เดินเชียร์ลุง” ที่สวนลุมพินี ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เป็นการจัดงานชนกับวิ่งไล่ลุง ที่เดิมจะจัดที่สวนลุมพินี

เรื่องที่ดูเป็นกระแสความหวาดกลัวที่ชัดเจนในหมู่เผด็จการในเอเชียคือการลุกฮือของประชาชนแบบไร้การจัดตั้งเนื่องจากเป็นสิ่งที่จัดการ ปราบปรามได้ยาก และพร้อมที่จะเกิดใหม่ได้ทุกครั้งที่การบริหารความไม่พอใจล้มเหลว ภาพการชุมนุมลากยาวตั้งแต่ มิ.ย. ในฮ่องกงกลายเป็นประหนึ่งหนังสยองขวัญสำหรับพวกเขา ดังที่เห็นในความพยายามปราบปรามการลุกฮือทั้งกรณีแฟลชม็อบของธนาธร และที่รัฐบาลฮุนเซนมีต่อการประกาศกลับประเทศของสม รังสี ที่กัมพูชาเมื่อ พ.ย. ปีนี้

ชวนดู 'สม รังสี' กลับกัมพูชา เข้าใจความวิตก 'ฮุน เซน' ที่ประเทศเพื่อนบ้านสนับสนุน

ธนวัฒน์ยังยืนยันว่า การแสดงสิทธิ เสรีภาพเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญประกันไว้ว่าทำได้ และขอเชิญชวนให้คนออกมาวิ่งกันเยอะๆ โดยหลังจากจัดการเรื่องยอดโอนเงินแล้ว ผู้จัดจะเปิดรับสมัครอีกรอบ

“ยืนยันว่าเราใช้สิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเรื่องอะไรต้องกลัว ถ้าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ มันไม่เลือกปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้กระบวนการยุติธรรม ถ้าคนอื่นเขาทำมาอย่างไรเราก็ทำตามที่เขาทำ จะมาพิเศษแค่งานวิ่งของเรางานนี้งานเดียวจัดไม่ได้ก็คงไม่ใช่

“และถ้าจัดไม่ได้ก็คงสะท้อนว่าประเทศนี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิ เสรีภาพจริงๆ รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุด มีผู้มีอำนาจ มีลุงบางคนที่เหนือรัฐธรรมนูญ มันจะอยู่กันอย่างไร ถ้าเราไม่ยอมอีกต่อไปก็ออกมาเถอะ ถ้าวันนั้นมากันเยอะ คิดว่า 10 ประยุทธ์ก็ทำอะไรเรากันไม่ได้”

“อย่าให้เขาบ่นว่าเราเก่งแต่บนโลกออนไลน์หรือแฮชแท็ก เรายืนยันว่าเรามีการวางระเบียบตามงานวิ่งทุกประการ มีระบบ มีจัดซุ้ม มีแจกน้ำเหมือนกันทุกประการกับงานวิ่ง หวังว่าผู้มีอำนาจหรือลุง จะไม่ใช้วิธีการสกปรกด้วยการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นมาเอง”

“ขนาดคุณจัดสวนลุมฯ เราก็ถอยแล้ว สวนลุมพินีกับธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์นี่ห่างกันเยอะมาก เวลาก็ไม่ตรงกันด้วย เราถอยให้คุณขนาดนี้แล้ว เราพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ความขัดแย้งขนาดนี้แล้ว ถ้าคุณยังสร้างสถานการณ์อยู่อีก ประชาชนก็คงยอมรับไม่ได้” ธนวัฒน์กล่าว

ooooooooooo

ชะตากรรมของ ‘วิ่งไล่ลุง’ และ ‘นักวิ่งไล่ลุง’ จะเป็นมาตรวัดเพดานการแสดงออกทางการเมืองและความ ‘ปอด’ ของชนชั้นนำไทยในยุคประชาธิปไตยลายพรางแบบนี้

สิ่งที่น่าสงสัยคือ รัฐบาลและสังคมแบบไหนที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม และแปลกใหม่ได้เพียงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net