Skip to main content
sharethis

ชิโอริ อิโต หญิงชาวญี่ปุ่นที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของขบวนการ #MeToo ในญี่ปุ่น ชนะคดีความที่มีการกล่าวหาว่านักข่าวทีวีชื่อดัง โนริยูกิ ยามางุจิ ข่มขืนเธอ ผู้ต้องหาถูกสั่งให้ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับอิโตเป็นเงิน 3.3 ล้านเยน (ราว 910,000 บาท)

ชิโอริ อิโต (ที่มา:Twitter/Motoko Rich)

19 ธ.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ศาลแขวงโตเกียวตัดสินให้ ชิโอริ อิโต หญิงชาวญี่ปุ่นชนะคดีกรณีที่เธอฟ้องร้อง โนริยูกิ ยามางุจิ อดีตหัวหน้าสำนักงานสาขาสหรัฐฯ ของสื่อทีบีเอส กรณียามางุจิล่วงละเมิดทางเพศเธอ ทำให้จำเลยต้องถูกสั่งปรับเป็นเงิน 3.3 ล้านเยน (ราว 910,000 บาท) และสั่งยกฟ้องคดีที่ยามางุจิฟ้องร้องกลับอิโต

ชิโอริ อิโต เคยเป็นคนที่จุดกระแสคดีนี้ตั้งแต่ปี 2560 เธอเคยแถลงข่าวเล่าเรื่องเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นว่า เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2558 ยามางุจินัดเธอดื่มด้วยกันโดยอ้างว่าเพื่อคุยเรื่องงาน แต่หลังจากที่เธอร่วมดื่มกับเขาเธอก็ไม่สติอีกเลยจนกระทั่งรู้ตัวอีกทีก็ตื่นมาในร่างเปลือยเปล่าในโรงแรมพร้อมกับยามางุจิที่อยู่บนตัวเธอ ทำให้เธอตัดสินใจแจ้งความในเรื่องที่ยามางุจิมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้สติ

ไม่ล่าแต่ท้าชน 'ชิโอริ' หญิงญี่ปุ่นผู้ยืนหยัดต่อสู้คดีข่มขืนจนสะเทือนถึงรัฐสภา

ศาลระบุในคำตัดสินว่าอิโต "ถูกบีบบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันในสภาพที่ไม่ได้สติและกำลังเมาอย่างหนัก" และ "พวกเรา (ศาล) รับทราบว่าโจทก์ยังคงมีความทุกข์จากการเห็นภาพในอดีตและเกิดอาการตื่นตระหนกมาจนถึงตอนนี้"

หลังจากที่อิโตเปิดเผยเรื่องนี้ เธอต้องเผชิญกับการข่มเหงรังแกในโลกออนไลน์ เพราะในญี่ปุ่นมีน้อยคนที่เปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวทางอินเทอร์เน็ต แต่คำตัดสินจากศาลก็ทำให้เธอสามารถชูป้าย "ชนะ" ที่หน้าศาลได้ เธอกล่าวว่า "พวกเราชนะ การถูกฟ้องกลับก็ถูกตีตกไป"

แต่นอกจากกระแสต่อต้านและการข่มเหงรังแกแล้ว เธอยังได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมากให้ตัดสินใจดำเนินคดีกับยามางุจิด้วย รวมถึงเล่าว่า "ตั้งแต่ที่ฉันตื่นขึ้นมาในตอนเช้าวันนี้ ฉันได้เห็นข้อความจากที่ต่างๆ ทั่วโลกบอกว่าพวกเขาอยู่ข้างฉันไม่ว่ามันจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม เพราะแค่การแสดงออกของฉันมีความหมายแล้ว"

อิโตเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกข่มขืนในหนังสือที่ชื่อ Black Box หรือ "กล่องสีดำ" ว่า เป็นไปได้ที่เธออาจจะถูกวางยาให้หมดสติก่อนข่มขืนแต่กระบวนการของตำรวจที่ไม่รับผิดชอบมากพอต่อผู้เผชิญการข่มขืนก็ทำให้เรื่องการวางยาไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะตำรวจไม่ได้ทดสอบว่ามีสารเคมีอะไรในร่างกายเธอในตอนที่เธอฟ้องตำรวจ

ยามางุจิพยายามปัดป้องว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิดและเคยให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารในปี 2560 ว่าเขาไม่เคยรู้จักยาที่ทำให้หมดสติเพื่อข่มขืนมาก่อน และกล่าวหาว่าอิโตดื่มมากเกินไปจนเมา นอกจากนี้ตำรวจยังตัดสินใจไม่จับกุมตัวยามางุจิ ทำให้อิโตต้องหันไปยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งแทน เรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าญี่ปุ่นล้มเหลวในเรื่องการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ยังเคยมีกรณีที่อัยการไม่ยอมสั่งฟ้องยามางุจิมาก่อนหน้านี้โดยอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม อิโตบอกว่ากระแส MeToo ทำให้เธอมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการฟ้องร้องต่อไป ทั้งนี้ยังมีคนบางส่วนที่ให้เครดิตกับอิโตในฐานะผู้ที่จุดกระแสให้เกิดมุมมองเรื่องการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศเปลี่ยนแปลงไปในสังคมญี่ปุ่น

"ฉันคิดว่า 'มันไม่ใช่แค่ฉัน!' และฉันเชื่อว่ามีคนอื่นๆ ที่คิดแบบเดียวกันด้วย" อิโตกล่าว "ฉันเห็นผู้หญิงในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาอภิปรายกันอย่างแข็งขันและยืนหยัดร่วมกันแต่ฉันไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในเวลาเดียวกัน"

จากข้อมูลที่สำรวจเมื่อปี 2560 ระบุว่ามีผู้หญิงเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นในญี่ปุ่นที่เปิดเผยในเรื่องที่เคยเผชิญการข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ในปีเดียวกัน ส.ส. ญี่ปุ่นก็ทำการแก้ไขกฎหมายการข่มขืนที่เก่าแก่เกือบร้อยปี โดยเพิ่มโทษจำคุกขั้นต่ำและขยายนิยามเรื่องผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศให้กว้างขึ้น  การแก้ไขกฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรงประเด็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่ามีความรุนแรงหรือการข่มขู่ที่ผู้เผชิญการข่มขืน "ไม่สามารถต่อต้านได้"

เรียบเรียงจาก

Shiori Ito, symbol of Japan's MeToo movement, wins rape lawsuit damages, The Guardian, Dec. 18, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net