Skip to main content
sharethis

ต่อกรณีที่มีความเป็นไปได้ว่ามีการบังคับพนักงานบริษัทให้ลาออกเพราะเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ที่ประชุม กมธ.แรงงานเสนอเรียกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ยันจุดยืนทางการเมืองไม่เกี่ยวกับการทำงานสื่อ ไม่มีความผิดและไม่กระทบต่องาน ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ เลขานุการ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ระบุ ทั้งหมดคือกระแสสังคมที่เหนือกฎหมายและทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

19 ธ.ค. 2562 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการที่เกาะติดเรื่องสวัสดิการและแรงงาน โพสต์ข้อความเล่าถึงการประชุม คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร วันดังกล่าว(18 ธ.ค.62) ว่า ไชยวัฒน์ วรรณโคตร เลขาอนุกรรมาธิการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอต่อกรรมาธิการการแรงงานในประเด็นการบังคับลาออกหรือการลงโทษตามข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผ่านการละเมิดสิทธิพื้นฐานเช่นเสรีภาพในการแสดงออก หรือการชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างถึง ฎีกา 4052/2548 ว่าหากนายจ้างระบุว่าหากไม่ลาออกจะไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และลูกจ้างเกิดความรู้สึกกลัวและเซ็นใบลาออกทันที ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างและต้องจ่ายค่าชดเชย

ทั้งนี้จากเอกสารที่ไชยวัฒน์ยังระบุว่า การที่บริษัทตั้งกรรมการสอบเหตุการณ์ซึ่งทางบริษัทมิได้ระบุไว้ในประกาศ จึงไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุ เกี่ยวกับข้อบังคับในการทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หมวด 9 การควบคุม มาตรา 108 หรือไม่ หากไม่เกี่ยวข้องการที่บริษัทตั้งกรรมการสอบพนักงานตามกระแสสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นการใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน จนนำมาสู่การลาออกในท้ายที่สุดนั้น การกระทำของบริษัทในลักษณะนี้ขอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

นอกจากเรื่องค่าชดเชย ไชยวัฒน์ยังเสนอให้กรรมาธิการแรงงาน ส่งต่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน สหภาพแรงงาน เจ้าของกิจการ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและวินัยเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยขอเสนอ อุตสาหกรรมภาคการผลิต อุตสาหกรรมด้านการบริการและการเงิน อุตสาหกรรมด้านสื่อสารมวลชน และขอให้กรรมาธิการแรงงานทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพราะในกรณีดังกล่าวนอกจากประเด็นแรงงานแล้วยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายการกระทำที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสากล

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ในฐานะตัวแทนสถานประกอบการด้านสื่อยืนยันว่า การทำงานด้านสื่อไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา จุดยืนทางการเมือง รสนิยมทางเพศส่วนตัว การชุมนุมทางการเมือง หากไม่มีการแจ้งลาเป็นเท็จเช่นลาป่วยเพื่อการชุมนุมก็ไม่ถือมีความผิด และไม่กระทบต่องาน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุอันใดที่บริษัทด้านสื่อจะมีข้อบังคับการทำงานที่ขัดกับสิทธิพื้นฐานได้

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เลขานุการ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ (ผู้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู) ให้ข้อมูลยืนยันว่า การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไม่เข้าองค์ประกอบการผิดกฎหมายใด และบริษัทไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ว่าผิดข้อบังคับไหน หรือผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างไร ดังนั้นเรื่องทั้งหมดคือกระแสสังคมที่ เหนือกฎหมาย และทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

นี้คือความคืบหน้าเบื้องต้น ติดตามฉบับเต็มและทิศทางของ กรรมาธิการแรงงานต่อเรื่องนี้ ทาง เพจ ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน

ษัษฐรัมย์ยังระบุว่า ในเบื้องต้นจะมีการประสานองค์กรสิทธิที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับเรื่องนี้ สิ่งที่ต้องยืนยันคือนี่ไม่ใช่กรณีแรก ไม่ใช่กรณีสุดท้าย เกิดกับทุกคนได้ แม้แต่ตัวเราเอง กรรมาธิการการแรงงานต้องสร้างบรรทัดฐานเรื่องนี้ต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net