Skip to main content
sharethis

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เปิดเผยถึงเรื่องที่คนทำงานกลายเป็นผู้แบกรับภาระทางภาษีมากขึ้น ในขณะที่บรรษัทใหญ่กลับจ่ายภาษีน้อยลงเรื่อยๆ โดยอ้างอิงจากตัวเลขปีงบประมาณก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดของประเทศมาจากภาษีเงินได้ของคนทำงานร้อยละ 7.8 เทียบกับภาษีจากบรรษัทที่คิดเป็นรายได้ของประเทศร้อยละ 0.9 เท่านั้น

20 ธ.ค. 2562 สื่อบิสิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า คนงานเป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการที่พวกเขาเป็นคนจ่ายภาษีเงินได้ที่เอื้อต่อการประกันสังคมและการประกันสุขภาพให้กับประชาชนชาวอเมริกัน 10 ล้านคน เรื่องที่น่าสนใจคือ คนงานเหล่านั้นแบกรับภาระภาษีหนักกว่าบรรษัทที่ร่ำรวยเสียอีก

งานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์สายก้าวหน้าสองคนคือเอ็มมานูเอล ซาเอซ และกาเบรียล ซัคมาน จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เปิดเผยว่าภาษีเงินได้ที่เก็บจากเงินค่าจ้างของคนทำงานกลายเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ สูงกว่าภาษีจากบรรษัทโดยที่บรรษัทจ่ายภาษีน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ข้อมูลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าภาษีเงินได้ที่เก็บจากประชาชนคนทำงานทั่วไปเป็นรายได้ของประเทศสหรัฐฯ ร้อยละ 7.8 ขณะที่บรรษัทเสียภาษีเป็นรายได้ทั้งหมดของประเทศคิดเป็นร้อยละ 0.9 เท่านั้น นอกจากนี้เมื่อคิดจากรายได้จากภาษีรัฐบาลกลางทั้งหมดแล้วภาษีเงินได้ของคนทำงานคิดเป็นร้อยละ 35 มากกว่าภาษีจากบรรษัทร้อยละ 9

ทั้งนี้จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2561 เผยให้เห็นว่าเดิมทีแล้วรัฐบาลได้รับรายได้จากภาษีบรรษัทมากกว่าภาษีเงินได้คนทำงาน โดยในปี 2493 ภาษีเงินได้คิดเป็นรายได้ของรัฐราวร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่ภาษีบรรษัทคิดเป็นรายได้ของรัฐราวร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 7 แต่ตลอดช่วงหลายสิบปีหลังจากนั้น ภาษีเงินได้ก็หลายมาเป็นสิ่งที่ก่อรายได้ให้กับรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บรรษัทกลับมีส่วนในการสร้างรายได้ให้รัฐผ่านทางภาษีน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลืออยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1

ซัคมานกล่าวว่าคนทำงานในสหรัฐฯ มองว่าค่าแรงของพวกเขามี "ความซบเซา" จากตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้จากการที่ถูกรีดภาษีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กลุ่มคนร่ำรวยอย่างบรรษัทต่างๆ กลับเสียภาษีน้อยลงเรื่อยๆ "ความไม่เป็นธรรมด้านภาษีแบบนี้ถือเป็นกลไกที่มีอิทธิพลต่อความเหลื่อมล้ำ" ซัคมานกล่าว

ในสหรัฐฯ คนทำงานทั้งลูกจ้างและนายจ้างต่างก็ต้องเสียภาษีเงินได้โดยหักจากเงินเดือนของตัวเองเท่ากันหมดอยู่ที่ร้อยละ 6.2

แต่ตลอดช่วงราว 30 ปีที่ผ่านมา ส.ส. ในรัฐบาลชุดต่างๆ ก็ทำการปรับลดภาษีให้กับกลุ่มคนรวยระดับสูงๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสมัยโรนัลด์ เรแกน ที่มีการปรับถึงสองครั้ง สมัยจอร์จ บุช ผู้พ่อกับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช รุ่นลูก มาจนถึงสมัยบารัค โอบามา เองก็มีการขยายการปรับลดภาษีให้กับบรรษัทที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยบุชถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก และในปี 2556 ก็ทำให้การตัดภาษีบรรษัทบางส่วนกลายเป็นกฎเกณฑ์ถาวร เมื่อมาถึงสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีการปรับแก้กฎหมายภาษีสหรัฐฯ ในปี 2560 ที่ตัดลดภาษีให้กับบรรษัทยิ่งกว่าเดิมอย่างใหญ่หลวง ทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีบรรษัทดิ่งลงหนักมาก

ทั้งนี้ ภาษีเงินได้ของคนทำงานกลับมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีการปรับลดในช่วงปี 2553 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว แต่ก็มีการปรับขึ้นอีกในช่วง 3 ปีหลังจากนั้นเพื่อเตรียมรับกับการที่มีวัยเกษียณอายุมากขึ้น วิลเลียม เกล ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์นโยบายภาษีเออร์เบิร์น-บรูกกิงส์ กล่าวว่าที่มีการปรับขึ้นภาษีเพราะมีผู้รับสวัสดิการมากขึ้น แต่เกลก็ชี้ว่าโครงสร้างภาษีในปัจจุบันทำให้คนทำงานในระดับล่างต้องแบกรับภาระมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เพราะคนงานต้องอาศัยรายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าแรงของพวกเขา

เกลระบุว่าปัญหามาจากการตั้งเพดานจำนวนเงินค่าจ้างสูงสุดที่เก็บภาษีได้ที่ 128,000 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเก็บภาษีในอัตราล้าหลัง ในทางกลับกัน บรรษัทกลับมีการจ่ายภาษีลดลงถึงแม้ว่าจะทำกำไรสูงขึ้นเมื่อวัดจากจีดีพี

เรียบเรียงจาก

One jarring chart shows how taxes on workers have essentially replaced those on corporations, The Business Insider

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net