Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนาสื่อ เล่าตัวอย่างการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จริยธรรมบนหน้าข่าวสารพัดในยุคที่โซเชียลมีเดียทำให้ใครก็เป็นสื่อมวลชนได้ ตั้งโจทย์ ทำอย่างไรจะผสานระหว่างเรตติ้งกับจริยธรรม ใส่ความเป็นมนุษย์ลงในข่าว โลกออนไลน์ทำให้การล่าแม่มดรุนแรงขึ้น แต่ต้องยืนยันหลักการความเป็นส่วนตัวเอาไว้ 

ซ้ายไปขวา: สุภิญญา กลางณรงค์ ลักษณา คล้ายแก้ว ระวี ตะวันธรงค์ อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

20 ธ.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานเสวนา ‘จริยธรรมการสื่อสารออนไลน์เพื่อลดการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม’ จัดโดย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ Center for Humanitarian Dialogue

งานเสวนามีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รศ.ลักษณา คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยสื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ระวีกล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  มีหน้าที่ดูแลจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ภายใต้การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ โจทย์ก็คือ ทำอย่างไรให้สื่อออนไลน์อยู่รอดบนจริยธรรมเดิม ปัจจุบันมีสำนักข่าวร่วมเป็นสมาชิกในสมาคมทั้งสิ้น 28 องค์กร ชิ้นงานต่อวันมีราว 1,500 ชิ้น แต่ว่าการแสดงผลบนโซเชียลมีเดียนั้นถูกจัดการโดยผู้ให้บริการ ตามความสนใจของผู้ใช้บริการ หรือที่เรียกว่าอัลกอริธึม ทำให้บางเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อสังคม จำพวกรายงานพิเศษ ไม่เป็นที่มองเห็นเท่ากับการรายงานข่าวเฉพาะหน้าที่คนกำลังให้ความสนใจ เช่นกรณีการจับกุมสมคิด พุ่มพวง ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ที่รายงานพิเศษสืบเนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่เป็นที่สนใจมากเท่าความเป็นไปล่าสุด

นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์กล่าวว่า ในวันนี้ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้จากการมีเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ทำให้บางทีมีการคัดลอกข่าว มีการนำเสนอเนื้อหาที่ละเมิดจริยธรรมเพียงเพื่อต้องการยอดปฏิสัมพันธ์ หรือยอดวิว ตอนนี้สมาคมกำลังคิดหาวิธีลงโทษ ในส่วนโฆษณานั้น ทางสมาคมฯ ร้องขอกับสมาชิกสื่อในสมาคมฯ ว่าถ้าใครเปิดรับโฆษณาจากกูเกิ้ล (Google Ads) ขอให้เป็นการรับในลักษณะ premium publisher คือให้มีการคัดกรองเนื้อหาของสิ่งที่จะโฆษณาให้มีความเหมาะสมและไม่ผิดกฎหมาย

กรณีการล่าแม่มดบนสื่อออนไลน์ที่มีประชาชนและนักวิชาการเคยตกเป็นเหยื่อในการถูกประจานเพราะแนวคิดทางการเมืองนั้น ระวีตอบว่า อย่างไรก็ต้องยืนยันว่าไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะว่าตอนเป็นโทรทัศน์ก็แบบหนึ่ง เห็นเงา เห็นซอยก็พอจะนึกออก พอมาเป็นออนไลน์ ถ้าเปิดเผยซอยที่อยู่ แค่นำภาพเปิดกูเกิลก็เจอแล้ว

เรื่องล่าแม่มดนั้น ตอบตรงๆ ว่าพูดยาก เรื่องการเมืองก็ตอบยาก การรายงานข่าวภาคสนามกับปลายทางสุดท้ายก่อนจะเผยแพร่ ข้อความอาจไม่เหมือนกันทุกที่ คนรายงานข่าวภาคสนามมีจริยธรรม แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองตอนนั้นก็อาจจะทำงานลำบาก การนำเสนอสื่อ สีเสื้อก็ไม่เหมือนกัน เราคงไม่สามารถควบคุมและลงโทษกันได้ทุกครั้ง ก็ต้องค่อยๆ ปรับและค่อยๆ ขอความร่วมมือกันไป

ลักษณากล่าวว่า ในปัจจุบันมีสื่อหลายประเภท ทั้งสื่อออนไลน์ที่เป็นมาตรฐาน และสื่อที่อยู่ด้วยตัวเอง ไม่ได้อิงกับอะไร ลักณะการนำเสนอก็เป็นการพาดหัวชวนเข้าไปชม การทำสื่อโทรทัศน์ก็มีเนื้อหาที่ดราม่า ต้องมีตัวละคร ขยายผลด้วยการสัมภาษณ์ตัวละครแวดล้อมในเหตุการณ์ ผู้ชมก็ต้องถามตัวเองว่ากำลังดูอะไร สิ่งที่ดูเกิดประโยชน์อะไรกับสังคมและผู้ชม กลายเป็นว่าการนำเสนอผ่านสื่อยิ่งผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านสื่อ ที่อยากได้ยอดวิว คลิก แชร์ เรตติ้ง หยิบใช้เนื้อหาวนกันไปมา แนวโน้มของคนทำงานสื่อตอนนี้คือ จะหาสมดุลระหว่างเรตติ้งและจริยธรรมได้อย่างไร

เอื้อจิต ที่เคยเป็นผู้อำนวยการโครงการเฝ้าระวังสื่อ มีเดีย มอนิเตอร์ นำเสนอประเด็นความรุนแรงและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนโลกโซเชียลที่รายล้อมการนำเสนอข่าว ยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลัลลาเบล ที่กลายเป็นที่สนใจของชาวเน็ต กลายเป็นว่ามีทั้งสื่อมวลชนและโลกออนไลน์ไปขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวของผู้เสียชีวิต ทั้งๆ ที่กรณีนี้ควรยกระดับบทเรียนไปเป็นเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างในเรื่องค่านิยม ยาเสพติด เพศ และการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อีกกรณีคือ ‘หนุ่มแว่น’ ที่มีการเผยแพร่วิดีโอท่าทีของผู้ประสบอุบัติเหตุรายหนึ่ง จนชาวเน็ตมีไปปขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว จนทำให้มีผลกระทบและต้องตกงาน

กรณีการเมือง กระแสเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ปะทะ ปารีณา ไกรคุปต์ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีเหตุการณ์ที่คู่กรณีปะทะทางข่าว ส.ส. ชาย 2 คนบอกว่า "นั่งใกล้คนสวย อย่ากอดผมมากกว่านะ" และ "ท่านมองอย่างอื่นของคุณปารีณามากกว่า" กลายเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศ 

เอื้อจิตให้ความเห็นว่า จะต้องมีกลไกในตัวสื่อ กลไกในสังคม ใช้โลกออนไลน์ในการทำให้เกิดคุณค่าต่อมนุษยธรรมและการรับผิดชอบ อย่างประเทศเดนมาร์ก ที่ให้นักเรียนเรียนวิชาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ให้ไปเล่าเรื่องที่เจอ ที่รู้สึก แล้วให้คนอื่นฟังอย่างตั้งใจ ร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ อยากให้สังคมอยู่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เชื่อว่าวัฒนธรรมเห็นอกเห็นใจมีอยู่

อลงกรณ์กล่าวว่า โซเชียลมีเดียมีข้อเด่นตรงที่ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันฑ์ได้มากกว่า 2 ทาง มีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงติดต่อกัน แต่ความเห็นแตกต่าง มีการตีตรา ข้อมูลก็ล้นหลาม ในมุมมองนักข่าว โซเชียลมีเดียเอื้อประโยชน์ตรงที่สามารถให้ผู้ชมช่วยชี้ประเด็น แต่สื่อก็ไม่ใช่จะเพียงแต่ไปหยิบยกของจากออนไลน์มานำเสนอเลยอย่างเดียว อาจต้องลองให้ใส่คุณค่าของมนุษย์ลงไปในข่าวด้วย โลกออนไลน์ทำให้การล่าแม่มด การกลั่นแกล้งกันรุนแรงมากขึ้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ในส่วนของสื่อมวลชนไทยตอนนี้ก็ยังไม่เปิดบทบาทเชิงรุกในการเปิดประเด็นเรื่องคุณค่ามนุษย์ในสื่อโซเชียล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net