Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน พร้อมรับผีน้อยกลับบ้าน เตรียมหลักสูตรอบรมนับพัน

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเป็นห่วงแรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้แบบลักลอบทำงาน โดยทางการเกาหลีใต้ได้ปลดล็อคบัญชีดำแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย สามารถเดินทางกลับไทยโดยไม่ผิดกฎหมายได้ตั้งแต่ 11 ธ.ค. 2562 - 30 มิ.ย. 2563 เพื่อให้แรงงานไทยกลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง หากไม่มารายงานตัวเข้าสู่ระบบ ทางการเกาหลีจะส่งเจ้าหน้าที่กวาดล้างแรงงานไทยที่ผิดกฎหมายอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ กพร.ได้เตรียมหลักสูตรการฝึกอบรมไว้รองรับ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่แรงงานไทย ประกอบด้วยหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตรยกระดับฝีมือ และหลักสูตรฝึกอาชีพเสริม มีระยะเวลาฝึกตั้งแต่ระยะสั้นๆ 18 ชั่วโมง (3 วัน) จนถึง 4 เดือน

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร มีหลายสาขาให้เลือก เป็นการฝึกอบรมตามความต้องการของแรงงานในพื้นที่ แต่ละจังหวัดจึงเปิดฝึกอบรมในสาขาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งลักษณะของวีถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและประเพณี ส่งผลต่อความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดด้วย

ดังนั้น แรงงานไทยที่ไปทำงานที่เกาหลีแบบผิดกฎหมาย ต้องเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 30 มิ.ย. 2563 กพร.จึงได้มอบหมายให้สพร.และสนพ.ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมและวางแผนการฝึกเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับ เพื่อเปิดโอกาสในการเพิ่มเติมความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ สามารถหางานทำในประเทศไทยทั้งเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบกิจการและการประกอบอาชีพอิสระ

หลักสูตรฝึกอบรมที่สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพอิสระได้และมีรายได้ดี ภาคบริการ เช่น พนักงานนวดไทย นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก หัตถบำบัด การประกอบอาหารไทย การตัดเย็บเสื้อผ้า การทำเบเกอรี่ เป็นต้น ด้านช่าง เช่น ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อม ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างปูกระเบื้อง ช่างก่ออิฐ-ฉาบปูน ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ปัจจุบันมีหลักสูตรการฝึกทั่วประเทศมากกว่า 1,000 หลักสูตร ผู้สนใจสามารถสมัครฝึกอบรมได้ที่สพร.หรือสนพ.ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริการฝึกทักษะออนไลน์ ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ www.dsd.go.th เมนู Online Training สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: สยามรัฐ, 20/12/2562 

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงาน 5 วัน ในช่วงปีใหม่

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 ทางเพจ Facebook : กองคุ้มครองแรงงาน กคร. ได้โพสต์ประกาศจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างหยุดงานในช่วงเทศกาลวันปีใหม่

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในที่ประชุมมือวันที่ 29 ตุลาคม 2562 กำหนดให้วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2562 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษอีก 1 วันในปี 2562 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่อง ในช่วงเทศกาลปีไหม่รวม๕วันตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งในช่วงเทศกาล วันปีใหม่ของทุกปีสถานประกอบกิจกรส่วนใหญ่ได้ประกาศเป็นวันหยุดตามประเพณี ในการนี้ เพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดต่อเนื่อง และเป็นโอกาสอันดีที่ลูกจ้างจะได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ณ ภูมิสำเนาของตนเองและร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองงานตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง ดังนี้

1. ให้นายจ้างพิจาณาจัดให้ลูกจ้างหยุดต่อเนื่องตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2562 ถึงวันพุธที่ 1 มกราคม 2563

2. สำหรับงานขนส่งทางบกนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงหากจะทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และในวันทำงานถัดไปห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเริ่มต้นทำงานก่อนครบระยะเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว

3. ในการเดินทางกลับภูมิลำเนาขอให้ลูกจ้างและนายจ้างใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะเดินทางและขอให้วางแผนการเดินทางไปและกลับเพื่อความสะดวกและปลอดภัย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 20/12/2562 

เผยธนาคารกรุงไทยเตรียมปิด 50-70 สาขา พร้อมเตรียมลดพนักงานลง 30% ใน 3 ปี

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2563 ยึดกลยุทธ์ต่อยอดการเติบโตจาก “คู่ค้าของลูกค้า” ผ่านการขับเคลื่อนองค์กรใน 2 รูปแบบสำคัญ ทั้งการเป็น “เรือบรรทุก” หรือ “Carrier” และ “เรือเร็ว” หรือ “สปีดโบ๊ท” โดยจะให้ความสำคัญกับระบบไอทีที่มากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีแผนลดจำนวนสาขาและพนักงานลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเดินตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ IT Infrastructure ที่จำเป็นต้องยึดโยง 4 แกนหลัก คือ 1.แบงก์ต้องรวดเร็ว 2.ต้องมีระบบปฎิบัติการอัจฉริยะ สามารถปรับสเกลได้อย่างรวดเร็ว 3.การเป็น Decontract the core คือการถอนแกนออก โดยเฉพาะระบบไอทีที่ใช้รันธุรกิจต้องไม่ใช่ก้อนใหญ่อีกต่อไป ทุกอย่างต้องเป็น Modular แบบแยกส่วนที่สามารถดึงออกมาเป็นเลโก้ เพื่อนำมาต่อรวมกันได้ในหลายมิติ

สุดท้ายคือต้องเป็นองค์กรที่ดีขึ้น ต้องมีระบบการรับรู้การเข้าถึงลูกค้าในหลายมิติ ซึ่งระบบไอทีของแบงก์ ต้องเป็น มัลติสปีด ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สามารถเข้ากับสภาวะการณ์ต่างๆได้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“ที่ผ่านมากรุงไทยเป็นเหมือนอุลตราแมน แต่อนาคต กรุงไทยต้องเป็นทรานฟอร์เมอร์ที่สามารถแปลงโมดุ ให้เป็นเลโก้ที่ใช้เชื่อมต่อได้ทุกระบบ”

ขณะเดียว การให้บริการของแบงก์ในอนาคต ต้องเป็นโอเพ่นแบงกิ้งมากขึ้น ผ่านการใช้แพลตฟอร์มเป๋าตัง และ อี-วอลเลต ที่เป็นระบบเปิดเพื่อให้ทุกภาคส่วนจะเข้ามาเชื่อมต่อผ่าน API ได้ ทำให้เกิดไฟแนนเชียลวอลเลตที่ครอบคลุม และทุกคนเข้าถึงมากขึ้น

“แนวคิดการเป็นโอเพ่นแบงกิ้งบนแพลตฟอร์มเป๋าตัง ที่จะไปกับสปีดโบท ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นตัวที่ดึง Carrier ตามมา ก็เหมือนหน่วยซีล หน่วยนาวิกโยธิน ที่พาไปหาอาณาจักรใหม่ สถานที่ใหม่ บนโมเดลใหม่ แต่เมื่อเจอมิติที่แน่นอน แบงก์ก็จะนำ Carrier ตามมา อันนี้ คือ บิซิเนสโมเดล ที่แบงก์อยากให้เห็นภาพ”

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารปีหน้า ในส่วนของสาขายังมีแผนทยอยปิดต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะปิดอีกราว 50-70 สาขา เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง ช่วยลดต้นทุนของธนาคารลงได้ ขณะเดียวกันมีแผนเพิ่มฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งเพิ่มเป็น 12 ล้านคนในปีหน้า จากปัจจุบันมีจำนวน 7 ล้านคน

ส่วนแผนระยะกลาง 2-3 ปีข้างหน้า ธนาคารตั้งเป้าหมายลดจำนวนพนักงานลงราว 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.1 หมื่นคน โดยแผนการลดพนักงานดังกล่าวจะไม่ใช้การ “ลด” หรือ “ปลด” พนักงาน แต่จะไม่รับพนักงานใหม่เพิ่ม

นายผยง กล่าวว่า ในส่วนของเป้าหมายสินเชื่อ ธนาคารคาดว่าปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตมากกว่า3% จากปีนี้ที่คาดว่าสินเชื่อรวมจะขยายตัวต่ำกว่าจีดีพี โดยการเติบโตหลักๆของสินเชื่อปีหน้า มาจากทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อภาครัฐ และธุรกิจรายใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะเป็นส่วนผลักดันให้แบกง์เติบโตมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ธนาคารคาดว่าจะลดลงจากปีนี้ ที่คาดว่าสิ้นปีจะเห็นเอ็นพีแอลต่ำลงได้ จาก 9 เดือนที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.58 % หรือเห็นเอ็นพีแอลต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทในอนาคต เนื่องจากแบงก์มีระบบบริหารจัดการเอ็นพีแอลที่ดีขึ้น ทั้งการบริหาร การขายหนี้ต่างๆ รวมถึงแนวโน้มการเกิดหนี้ใหม่ จากการปล่อยสินเชื่อใหม่มีแนวโน้มลดลง ทำให้เชื่อว่าปีหน้าผลการดำเนินของธนาคารจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/12/2562 

ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ลุยตรวจสภาพชีวิตแม่บ้านสภา พบอาศัยพักพิงห้องเก็บของข้างห้องน้ำ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2562 นางวรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กมธ.กิจการสภา-กมธ.สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ตรวจการใช้ชีวิตแม่บ้านสภา หลังพบอาศัยพักพิงตามซอกห้องเก็บของห้องน้ำ โดยเตรียมเข้าพูดคุยกับเลขาธิการสภาผู้แทนฯ เพื่อจัดพื้นที่ให้เหมาะสมในสัปดาห์หน้า รวมถึงดูเรื่องสวัสดิภาพในชีวิตเพิ่มขึ้น

"วันนี้ได้เข้าไปพูดคุย และดูสภาพแวดล้อมที่พี่ๆแม่บ้านอยู่ สรุปคือเสนอ กมธ.กิจการสภา เรื่องจัดหาห้องพักชั่วคราวให้ก่อน หลังจากย้ายฝั่งแล้วให้หาห้องพักถาวรให้ นอกจากดูเรื่องการก่อสร้างแล้ว ขอให้ดูเรื่องสิทธิของผู้ที่ทำงานในสภาทั้งหมดด้วย เพื่อไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐานของกฎหมายแรงงาน ทางตัวแทนจะนำไปเสนอที่ประชุมต่อไป" นางวรรณวิภา กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 19/12/2562 

ก.แรงงาน เร่งเพิ่มทักษะอาชีพนักเรียนยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อ หลังจบการศึกษาภาคบังคับ หวังเพิ่มกำลังแรงงานในพื้นที่

19 ธ.ค. 2562 พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียน ครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ บูรณาการร่วมกับโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานในกิจกรรมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สวนริมเขา ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จ.สระบุรี พร้อมพบปะ พูดคุย กับผู้เข้าร่วมโครงการอบรมเครือข่ายแนะแนวอาชีพ 100 คน

พล.ท. นันทเดช กล่าวว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ บูรณาการร่วมกับกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ที่มีฐานะยากจน และขาดโอกาสในการศึกษาต่อ ให้มีทักษะด้านอาชีพหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ก่อนที่นักเรียนกลุ่มนี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” โดยโครงการฯ ที่จัดในวันนี้ เป็นการประชุมชี้แจงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนว เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ขั้นตอน และปฏิทินการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนของจังหวัดสระบุรีที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ร่วมกับโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานในกิจกรรมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ และมีการอบรมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพให้กับ ครู อาจารย์ บุคลากรด้านการแนะแนวอาชีพ เพื่อสร้าง พัฒนา เพิ่มความรู้ เกี่ยวกับโลกอาชีพ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสารตลาดแรงงานและข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งการแนะแนวการศึกษา และอาชีพที่กว้างขวางขึ้น เพื่อให้เครือข่ายนำความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการสัมมนาไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ

โดยกิจกรรมในงานวันนี้ประกอบด้วย การนัดพบแรงงาน ซึ่งมีนายจ้าง/สถานประกอบการเข้าร่วม จำนวน 23 บริษัท อาทิ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีไอ ออลซีซันส์ จำกัด บริษัท สยามฟูรูกาวา จำกัด และบริษัท เดอะดิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด เป็นต้น มีตำแหน่งงานว่างกว่า 91 ตำแหน่ง 464 อัตรา เช่น พนักงานธุรการ พนักงานขับรถ ช่างไฟฟ้า พนักงานขับรถ ช่างเทคนิคอุตสาหกรรม ช่างซ่อมบำรุง วิศวกร เป็นต้น ระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับ ม.3 ถึงปริญญาตรี

ด้านนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยจังหวัดสระบุรี เป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมประเภทงานหนัก ที่ต้องการแรงงานช่างเพศชาย แต่ยังขาดแคลนแรงงานในส่วนนี้ ดังนั้น กิจกรรมการอบรมสร้างเครือข่ายแนะแนวอาชีพ ในวันนี้ จะช่วยให้ครู อาจารย์ บุคลากรด้านการแนะแนวอาชีพในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลทิศทางความต้องการแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและผลิตกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ และสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ได้

ภายในงานยังมีการสาธิตอาชีพอิสระ จำนวน 4 อาชีพ ได้แก่ 1)กลุ่มเพื่อนพึ่งพา อำเภอดอนพุด ผลิตกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ 2) กลุ่มน้ำพริกผักหวาน อำเภอบ้านหมอ ผลิตยาหม่องสมุนไพร น้ำพริกหวาน ข้าวเกรียบ ผักหวาน ขนมไทย 3) กลุ่มบ้านดอน อำเภอวิหารแดง ผลิตยาหม่องสมุนไพร น้ำส้มควันไม้ น้ำยาล้างจานควันไม้ ไข่ไก่จากผลผลิตผู้พิการ และ4) กลุ่มผู้สูงอายุ อำเภอมวกเหล็ก ผลิตสิ่งประดิษฐ์จากกระดาษทิชชู่ หมวกคาวบอย น้ำนมข้าวโพด ฯลฯ ผู้ที่สนใจสามารถทดลองฝึกปฏิบัติจริง และได้เรียนรู้วิธีการ ขั้นตอนเพื่อนำไปพัฒนาหรือต่อยอดในการประกอบอาชีพที่สนใจต่อไปได้ หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย มณฑลที่ 18 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี และมีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสระบุรี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/12/2562 

ภาครัฐเร่งกวาดต้อนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

กรมการจัดหางาน ได้ประกาศเดินหน้า การจัดการปัญหาแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดย นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่แย่งอาชีพคนไทย โดยไม่นิ่งนอนใจ พร้อมสั่งการให้กรมการจัดหางาน บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีแรงงานแรงงานข้ามชาติอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด จับกุมดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติแย่งอาชีพ ไปแล้ว 1,763 คน พบลักลอบทำงานขายของหน้าร้านมากที่สุด จำนวน 1,170 คน รองลงมาเป็นงานเร่ขายสินค้า 321 คน และงานอื่น ๆ จำนวน 272 คน ได้แก่ งานจำหน่ายอาหาร (คนต่างด้าวเป็นเจ้าของเอง) นวดแผนไทย งานบริการ (คาราโอเกะ) งานเสริมสวย ขับขี่ยานพาหนะ (วินมอเตอร์ไซค์) งานก่ออิฐช่างไม้หรืองานก่อสร้างอื่น พนักงานรักษาความปลอดภัย งานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

โดยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 1,000 คน รองลงมาเป็นเวียดนาม 171 คน ลาว 162 คน กัมพูชา 151 คน อินเดีย 37 คน จีน 5 คน และอื่น ๆ 13 คน และได้เปรียบเทียบปรับแรงงานข้ามชาติ คิดเป็นเงินค่าปรับ 7,695,000 บาท ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว จำนวน 1,539 คน

ส่วนในกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติไปแล้ว 2,718 คน ดำเนินคดีไปแล้ว 295 คน โดยถูกดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่พบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2354 1729 หรือสำนักงานจัดหางาน กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป

ที่มา: ThaiPBS, 18/12/2562 

เครือข่ายแรงงาน เสนอ 4 ข้อ ถึงรัฐบาล วันแรงงานข้ามชาติสากล

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศรับรองให้เป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน รวมถึงได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ

วันแรงงานข้ามชาติสากล 2019 เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ จัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ให้เกิดความทัดเทียมกับแรงงานไทยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ข้อ

1.ขอให้รัฐบาลปฏิรูป พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่ออนุญาตให้คนงานทุกคน มีสิทธิที่จะจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน มีสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ กฎหมายควรให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับสิทธิเหล่านี้ เพื่อให้คนงานสามารถใช้สิทธิเหล่านี้โดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือไม่ต้องถูกตอบโต้

2.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้คนงานทุกคน ทุกกลุ่ม สามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานอย่างมีเสรีภาพตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานในระดับสากล

3.ขอให้รัฐบาลตรวจสอบค่าใช้จ่ายการนำเข้า MOU แรงงานข้ามชาติที่สูงเกินกว่าที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวกำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันยังมีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่เรียกเก็บเงินจากแรงงาน ที่เป็นจำนวนที่สูงกว่าพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้กำหนดไว้

4.ขอให้ยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท และออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เพื่อประกันว่าคนงานและนักปกป้องสิทธิแรงงานจะไม่ตกเป็นเป้าการฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากมีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน

ที่มา: ThaiPBS, 18/12/2562 

กรณีนั่งร้านตึก 9 ชั้นถล่มทับคนงานเสียชีวิตประกันสังคมเร่งช่วยเหลือกว่า 9 แสนบาท

ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างตึก 9 ชั้น ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ด้วยความห่วงใยของหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน และนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้สั่งการให้นางพัชรินทร์ สาตราคม นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ รักษาราชการแทนประกันสังคม จ.ศรีสะเกษ ให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ซึ่งนางพัชรินทร์ สาตราคม นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ รักษาราชการแทนประกันสังคมจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ ได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ รวมทั้งสอบถามข้อมูลของนายธงชัย มูลฤทธิ์ คนงานที่ถูกนั่งร้านทับถล่มเสียชีวิต โดยได้สอบถามจากผู้ควบคุมงาน จากเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนต่อไป

นางพัชรินทร์ สาตราคม นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ รักษาราชการแทนประกันสังคม จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการที่ตนและคณะได้ตรวจสอบจากการสอบถามญาติแล้วพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างของกิจการร่วมค้า ไทจวง เทรดดิ้ง ได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 400 บาท สถานะเป็นโสด เริ่มเข้าทำงานในวันที่ 15 พ.ย. 2562 ซึ่งนายจ้าง ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2562 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งผู้เสียชีวิตเข้าเป็นผู้ประกันตน เจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ ประสานนายจ้างแล้วรับว่าจะเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 สำนักงานฯ ได้แจ้งสิทธิประโยชน์แก่ญาติ ดังนี้ 1. ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริง 50,000 สูงสุด 2,000,000 บาท 2. ค่าทำ ศพ 33,000 บาท จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ 3. เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต เป็นระยะเวลา 10 ปี จ่ายให้แก่ทายาท คือ บิดา และมารดา เป็นเงิน 873,600 บาท รวมค่าทำศพและค่าทดแทนการขาดรายได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 906,600 บาท 4. บำเหน็จชราภาพ เป็นเงิน 315 บาท (ไม่รวมผลตอบแทน)

ทางด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้ ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดศรีสะเกษเข้าไปดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวก

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 17/12/2562 

ก.แรงงาน เดินหน้าฝึกอาชีพ ต่อยอดผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่างประชารัฐมืออาชีพ เพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ออมสินทุ่มงบให้ทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.75 นำร่อง 5 จังหวัด

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับธนาคารออมสิน เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ผ่านการฝึกอบรมช่างชุมชนหรือช่างอเนกประสงค์ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ

วันนี้ (16 ธ.ค. 62) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โดยนางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร (ผอ.สพร. 13 กท.) กล่าวว่าได้จัดให้มีการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาอาชีพภาคบริการ กลุ่มอาชีพการบริหารและจัดการเชิงธุรกิจ สาขาการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ รุ่นที่ 2 โดยเน้นการเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การตลาด ความรู้ทางการเงิน รวมถึงหาเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารกำหนด

นางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผอ.สพร. 13 กท. กล่าวต่อว่าสถาบันฯ ดำเนินการฝึกอบรม รุ่นที่ 1 ไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และได้รับการตอบรับจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการเปิดฝึกอบรมรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2562 มีผู้เข้ารับการฝึกจำนวน 36 คน รวมทั้ง 2 รุ่น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 63 คน และคาดว่าผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่ผ่านการฝึกอบรมในแต่ละสาขาอาชีพกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการรับผิดชอบการฝึกอบรมของ สพร. 13 กท. จะให้ความสนใจในการต่อยอดเพื่อประกอบธุรกิจ ติดต่อขอเข้ารับฟังการให้ความรู้ทางการเงินและเข้าถึงแหล่งบริการทางการเงินแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่อไป

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลในเขตกรุงเทพมหานครได้ที่ธนาคารออมสินทั่วกรุงเทพมหานคร และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โทร 0 2390 0261 ต่อ 102 และ 103 นางพรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผอ.สพร. 13 กท. กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร, 17/12/2562

รณรงค์ ‘งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ’ สร้างความเสมอภาค ลดรุนแรงในครอบครัว

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำกลุ่มผู้ชาย บุกสภา ชวน ส.ส.ชายช่วยทำงานบ้าน ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล หวังช่วยลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัว สร้างความเสมอภาค ลดความรุนแรงในครอบครัว เลิกคิดว่างานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง พร้อมยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสังคมฯ สภาผู้แทนราษฎร ให้ศึกษาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างเพศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ อาคารรัฐสภานางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำตัวแทนกลุ่มผู้ชาย นักเรียนนักศึกษา กว่า 30 คน เดินเข้ารัฐสภา เพื่อเชิญชวน ส.ส.ชาย ในสภาร่วมรณรงค์ในแคมเปญ “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” House work challenge เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ตามมติสหประชาชาติ พร้อมยื่นข้อเสนอต่อ นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ผ่านทาง ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ เพื่อขอให้มีผลักดันการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พร้อมทั้งศึกษาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างเพศ

นางสาวอังคณา กล่าวว่า มูลนิธิฯขอเชิญชวน ส.ส.ร่วมรณรงค์กิจกรรมเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ปีนี้มูลนิธิฯใช้แนวคิดที่ว่า งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ อย่าไปมองว่างานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ดังนั้นผู้ชายควรช่วยทำงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า จะช่วยลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเสมอภาค ลดความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งกลุ่มผู้ชายที่มาวันนี้เขาได้เปลี่ยนแปลงพิสูจน์ตัวเอง หยุดทำร้ายคนในครอบครัว ไม่ใช้ความรุนแรง ช่วยคนรักทำงานบ้าน หันหลังให้เหล้าและอบายมุขทุกชนิด

นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากข้อมูลที่มูลนิธิฯลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ชายต่องานบ้าน อายุ18-50 ปีในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 1,995 ชุด พบว่า ทัศนคติ/ความคิดเห็นต่องานบ้านของกลุ่มผู้ชายอันดับ 1 เห็นด้วยการที่ผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช้เรื่องน่าอับอาย อันดับที่ 2 ผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแม่บ้าน แม่ศรีเรือน (งานบ้านงานเรือนอย่าให้บกพร่อง) และอันดับที่ 3 ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านเลี้ยงลูก

ส่วนข้อเสนอแนะต่องานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ พบว่า อันดับ 1 ครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้าน และสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็ก อันดับ 2 ถึงเวลาในการเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคนและสามารถทำได้ทุกเพศอย่างจริงจัง อันดับ 3 ควรปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าเรื่องงานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศทั้งในครอบครัวและในระบบการศึกษา และลำดับสุดท้าย คือ ควรยกเลิกเนื้อหา หลักสูตรการสอน รูปภาพ รูปแบบกระบวนสอนที่ผลิตซ้ำรวมถึงทัศนคติของอาจารย์เรื่องบทบาทตามกรอบเพศและควรส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในหลักสูตรทางการศึกษา

“จากมุมมองความเชื่อของกลุ่มผู้ชายส่วนใหญ่ในสังคมไทย สะท้อนถึงรากเหง้าแห่งปัญหาจากทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ โดยการใช้อำนาจเหนือผ่านการแสดงออก พฤติกรรมความเป็นเจ้าของ มองว่าอีกฝ่ายเป็นสมบัติ ครอบครอง ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ จนถึงการทำร้ายร่างกาย” นางสาวอังคณา กล่าว

นางสาวอังคณา กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีอำนาจหน้าที่ศึกษา ตรวจสอบดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี มูลนิธิฯและเครือข่าย ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ขอให้ติดตามการดำเนินการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ได้แก่ สร้างความตระหนักให้สังคมในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เพื่อปรับทัศนคติ ความเชื่อว่าเรื่องครอบครัวไม่ใช้เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนในครอบครัวต้องเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายกันและกัน โดยเฉพาะการรณรงค์ปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ และแนวทางการใช้กลไกชุมชนเป็นฐานลดปัญหาความรุนแรง โดยกระตุ้นให้ผู้นำ คนในชุมชน ประชาชนเกิดจิตสำนึกมีส่วนร่วมวางแผน ปฏิบัติ ประเมินผลร่วมกัน

2.ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นอุปสรรคในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ส่งเสริมเรื่องเจนเดอร์ (Gender) หรือความเสมอภาคระหว่างเพศ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ควรเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ สร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น และยกเลิกเนื้อหาที่กดทับ ตอกย้ำความคิด ความเชื่อในการมองเพศว่าเพศชายเหนือว่าเพศอื่น ๆ เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ต้องเลี้ยงลูก ดูแลบ้านเท่านั้น โดยมีการเตรียมความพร้อมครูและผู้บริหารโรงเรียน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายตนเองและผู้อื่น มีแนวทางการสอนที่ให้สอดคล้องกับช่วงวัย

3.ผลักดันให้สถานศึกษา มีช่องทางรับแจ้งเหตุการณ์คุกคามทางเพศหรือมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในโรงเรียน โดยต้องเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ตอบสนองต่อปัญหา รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และติดตามผลได้ หากแจ้งเหตุครูและผู้บริหารต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม รับฟังปราศจากอคติ เสาะหาหลักฐาน เอาผิดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการกระทำซ้ำ ตลอดจนผลักดันให้ทุกสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องงานบ้านตั้งแต่ระดับประถม และไม่ควรจำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง และให้มีการจัดกิจกรรมยุติความรุนแรง ต่อผู้หญิง และเด็ก ในเดือน พ.ย.ของทุก ๆ ปี

ที่มา: Hfocus, 16/12/2562 

ดีเดย์ตรวจสุขภาพผู้ใช้แรงงานฟรี 14 รายการ นำร่องนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

16 ธ.ค. 2562 ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธาน เปิดงานการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ 2563 ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพแข็งแรง ด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการเชิงรุก โดยร่วมกับสถานพยาบาลเข้าไปตรวจสุขภาพผู้ประกันตนภายในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น คัดกรองโรค ส่งผลให้เกิดกระบวนการดูแลสุขภาพที่ดี ในวันนี้เป็นความร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมสุขภาพให้กับผู้ประกันตน พร้อมผลักดันสถานประกอบการ และภาคีเครือข่ายในการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงจากโรคเนื่องจากการทำงานและโรคไม่เนื่องจากการทำงาน อีกทั้งได้มีการปรับสภาพแวดล้อมและสร้างความปลอดภัยในสถานประกอบการ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาล และสามารถลดจำนวนวันลางาน รวมทั้งลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ทำให้เกิดอันตราย พิการ และเสียชีวิตได้ กระทรวงแรงงานมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์ ระบบการบริการดูแลสุขภาพเชิงรุกในทุกมิติอันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแรงงานไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นกำลังผลิตที่สำคัญ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศ มีการขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึง การจัดงานในโครงการฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตน ซึ่งส่วนหนึ่งคือการบริการส่งเสริมสุขภาพพัฒนารูปแบบกิจกรรมเพื่อจัดการโรคเรื้อรังกระตุ้นให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพฟรีและสนใจสภาวะสุขภาพมากขึ้น การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และโรงพยาบาลการุณเวช ปทุมธานี ดำเนินการจัดให้บริการตรวจสุขภาพ โดยมีเป้าหมายผู้ร่วมงาน จำนวน 400 คน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจัดกิจกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพเพื่อคุณภาพที่ดีของผู้ประกันตนโดยตรงเพื่อให้ได้รับการตรวจสุขภาพและสนใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น

สำหรับการตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการ ประกอบด้วย การคัดกรองการได้ยิน Finger Rub Test (15 ปีขึ้นไป), การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข (30-55 ปีขึ้นไป), การตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์ (40-54 ปี) และการตรวจสายตาด้วย Snellen eye Chart (55 ปีขึ้นไป) การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC (18-70 ปีขึ้นไป) และ ปัสสาวะ UA (55 ปีขึ้นไป)

การตรวจสารเคมีในเลือด ได้แก่ น้ำตาลในเลือด FBS (35-55 ปีขึ้นไป), การทำงานของไต Cr (55 ปีขึ้นไป), และไขมันในเส้นเลือดชนิด Total & HDL cholesterol (20 ปีขึ้นไป) รวมถึง การตรวจอื่นๆ ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2535), มะเร็งปากมดลูก Pap Smear (30-55 ปีขึ้นไป), มะเร็งปากมดลูก Via (30-55 ปีขึ้นไป), เลือดในอุจจาระ FOBT (50 ปีขึ้นไป) และเอ็กซเรย์ปอด Chest X-ray (15 ปีขึ้นไป)

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/12/2562 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net