อินเดียสั่งตัดอินเทอร์เน็ต-ขยายเคอร์ฟิว หวังสกัดการประท้วงต้านกฎหมายกีดกันชาวมุสลิม

รัฐบาลอินเดียตอกย้ำความพยายามสกัดกั้นการชุมนุมในหลายแห่งของประเทศ โดยการขยายเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่รวมถึงการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในวงกว้าง ซึ่งการประท้วงเกิดจากความไม่พอใจนโยบายการให้สัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ที่มีการกีดกันชาวมุสลิม

ในอินเดียมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่รัฐบาลออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการให้สัญชาติพลเมืองคนศาสนาอื่นนอกจากฮินดูแต่มีการกีดกันชาวมุสลิม โดยถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการห้ามในพื้นที่อุตตรประเทศและย่านเบงกาลูรูที่เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ก็มีผู้คนนับหมื่นคนฝ่าฝืนชุมนุมต่อไปในวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 1,200 ราย ในกรุงนิวเดลีรวมถึงกลุ่มผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทั้งนี้ยังมีสื่ออินเดียรายงานว่ามีผู้ประท้วงอย่างน้อย 6 รายเสียชีวิตหลังจากที่ตำรวจเข้าไปในที่ชุมนุม

ทั้งนี้ยังมีกลุ่มที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จัดการชุมนุมโต้ตอบเพื่อแสดงการเห็นด้วยกับกฎหมายพลเมืองฉบับใหม่

มิลาน ไวชนาฟ ผู้อำนวยการและนักวิจัยอาวุโสของโครงการเอเชียใต้จากกองทุนสันติภาพระหว่างประเทศคาร์เนกีกล่าวว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านกันของสองกลุ่มนี้อาจจะยิ่งทำให้การแบ่งแยกทางสังคมในอินเดียหนักขึ้นจากความรู้สึกแปลกแยกจากอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นอินเดีย

ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียยังทำการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตบางส่วนซึ่งมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่สองรายยืนยันว่าพวกเขาได้รับคำสั่งปิดกั้นจากรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. ขณะที่ในหลายพื้นที่ของอุตตรประเทศมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในวันที่ 20 ธ.ค. ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลอินเดียไม่มีทีท่าว่าจะถอยหลังง่ายๆ หลังจากที่ออกกฎหมายให้สถานะพลเมืองฉบับที่กลายเป็นข้อถกเถียงนี้ในวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามบลูมเบิร์กมองว่าการประท้วงต่อต้านนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายโมดีอย่างมากจากการที่ผู้คนมีความไม่พอใจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เขาปกครองประเทศมาเป็นเวลา 6 ปี ไม่ว่าจะจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหนักที่สุด มีการว่างงานมากขึ้นเรื่อยๆ และการตัดสินใจแบบที่สร้างกระแสต่อต้าน โดยที่ก่อนหน้านี้ทางการอินเดียเคยสั่งยกเลิกการปกครองตนเองในแคว้นแคชเมียร์ที่มีการปกครองตนเองมานานมากกว่า 70 ปี ทั้งนี้พื้นที่แคชเมียร์ก็ประสบปัญหาการถูกปิดกั้นอินเทอร์เน็ตจากรัฐบาลมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ถือเป็นการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตครั้งยาวนานที่สุด โดยที่ศูนย์ซอฟต์แวร์ฟรีดอมลอว์เซนเตอร์ในเดลีระบุว่าอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนกรณีการสั่งปิดกั้นอินเทอร์เน็ตสูงสุดในโลก

สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมายการลงทะเบียนสถานะพลเมืองนั้น ผู้คนกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะสร้างความเสียหายต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของอินเดียที่ได้รับการชื่นชมในเรื่องความเป็นรัฐโลกวิสัยที่มีระบุไว้ในหลักการรัฐธรรมนูญและเคยมีหลักการเรื่องการปฏิบัติต่อทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ยังมองได้ว่ากฎหมายใหม่จากทางการอินเดียเป็นการเตรียมการขั้นต้นเพื่อขจัดผู้อพยพผืดกฎหมาย ขณะที่ผู้ประท้วงในบางรัฐ เช่น รัฐอัสสัมเกรงว่ากฎหมายนี้จะทำให้ผู้อพยพหลั่งไหลจากบังกลาเทศเข้าอินเดียมากขึ้นและทำให้ชาวอัสสัมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเสี่ยงต่อการสูญเสียความเป็นพลเมือง

เรียบเรียงจาก
Protesters and Police to Face Off Across India as Unrest Grows, Bloomberg, 20-12-2019
https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-12-19/india-bans-public-protests-to-quell-rising-anger-against-new-law

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท