ศาลตัดสินลงโทษผู้บริหารระดับสูงอดีตบริษัทโทรคมนาคมฝรั่งเศส เหตุทำลูกจ้าง 35 คนฆ่าตัวตาย

เป็นอีกคดีประวัติศาสตร์สำหรับคนทำงานที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้น เมื่อศาลอาญาในฝรั่งเศสตัดสินลงโทษอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโทรคมนาคมในข้อหาเป็นเหตุทำให้ลูกจ้างของตัวเองฆ่าตัวตายมากถึง 35 คน จากนโยบายกดดันลูกจ้างด้วยสภาพการจ้างที่ย่ำแย่ ส่งผลให้เกิดความกลัดกลุ้มวิตกกังวลจนฆ่าตัวตาย


ที่มาภาพประกอบ: vfutscher (CC BY-NC 2.0)

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตัดสินลงโทษ ดิเดียร์ ลุมบารด์ อดีตผู้บริหารสูงสุดของบริษัทฟรองซ์เทเลกอมและผู้ช่วยของเขาอีก 2 คน ในข้อหา "คุกคามทางจิตใจจากสถาบัน" ที่ส่งผลให้มีลูกจ้างฆ่าตัวตาย 35 ราย ในช่วงยุคสมัยระหว่างปี 2543-2553 ซึ่งถือเป็นการตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการทำให้บริษัทฝรั่งเศสต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมประเภทนี้เป็นครั้งแรก

ลุมบารต์ได้รับการตัดสินให้ต้องโทษจำคุก 4 เดือน และต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 16,000 ดอลลาร์ (ราว 483,000 บาท) นอกจากเขาแล้วผู้ช่วยของเขาอีก 2 ราย คือ รองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคสมัยนั้นก็ถูกตัดสินให้มีความผิดเช่นเดียวกัน

ขณะที่บริษัทฟรองซ์เทเลกอมซึ่งเคยเป็นบริษัทโทรคมนาคมของรัฐฝรั่งเศสแต่ในปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่ชื่อ 'ออร์เรนจ์' ถูกตัดสินให้ต้องจ่ายค่าชดเชยจากกรณ๊ลูกจ้างฆ่าตัวตายเป็นเงินสูงสุด 83,000 ดอลลาร์ (ราว 2.5 ล้านบาท)

ศาลระบุว่าสาเหตุที่มีการลงโทษผู้กระทำผิดเหล่านี้มาจากเหตุการณ์ที่ผู้บริหารระดับสูง 3 คนนี้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างบริษัทในยามที่บริษัทกำลังอับจนหนทาง นำมาซึ่งการฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายของลูกจ้างหลายคน โดยที่ลูกจ้างของบริษัททั้งในอดีตและปัจจุบันพากันให้การในศาลว่า ในช่วงนั้นผู้บริหารพยายามจัดการกับภาระหนี้สิน 50,000 ล้านของบริษัทด้วยการพยายามกำจัดลูกจ้าง 22,000 คน จากทั้งหมด 120,000 คน แต่เนื่องจากลูกจ้างในสมัยนั้นถือเป็นข้าราชการจึงไม่สามารถไล่ออกได้

ศาลระบุว่าวิธีการเข้าถึงเป้าหมายกำจัดลูกจ้าง 22,000 รายของบริษัทในตอนนั้นถือว่าผิดกฎหมาย วิธีการที่ว่าคือการที่ผู้บริหารใช้วิธีบีบเค้นด้วยสภาพการจ้างที่แย่ลงเพื่อบีบให้ลูกจ้างเหล่านี้ออกจากบริษัทเร็วขึ้น รวมถึงสร้างบรรยากาศให้เกิดความวิตกกังวลจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายของลูกจ้าง นอกจากนี้คำกล่าวอ้างของผู้บริหารที่บอกว่าคนงานลาออกจากบริษัทโดยสมัครใจยังขัดแย้งกับคำตัดสินของศาลและสิ่งที่ลอมบารด์เองเคยพูดเอาไว้ว่าลูกจ้างของเขาจะต้องออกจากบริษัท "ถ้าไม่ใช่ด้วยทางหน้าต่าง ก็ทางประตู"

หลังคำตัดสินในเรื่องนี้ออกมา สหภาพแรงงาน C.F.E-C.G.C ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งในห้าแห่งของฝรั่งเศสแถลงยินดีกับคำตัดสินโดยระบุว่า "ขอให้คำตัดสินนี้กลายเป็นตัวอย่างไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงทางนโยบายสังคมแบบนี้อีก"

คำให้การของลูกจ้างสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่, การกีดกันให้เป็นชายขอบ, การใช้คนผิดงาน และการคุกคามอย่างเป็นระบบในฟรองซ์เทเลกอม ลูกจ้างที่ให้การพูดถึงเพื่อนร่วมงานที่สิ้นหวังจนฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่าง
ๆ เช่น ผูกคอตาย, กระโดดหน้าต่าง, กระโดดให้รถไฟทับ หรือกระโดดทางด่วน ความสิ้นหวังของพวกเขามาจากการที่บริษัทผลักให้พวกเขาไปทำงานในบทบาทที่พวกเขาไม่ถนัด เช่น การให้คนทำงานขายไปเป็นช่างเทคนิค

นิวยอร์กไทม์ยังระบุอีกว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความคล่องตัวของตลาดแรงงานในฝรั่งเศส เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ถูกคาดหวังให้ต้องอยู่กับบริษัทเดียวกับตลอดชีวิตการทำงาน และไม่ค่อยเปลี่ยนนายจ้างหรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน

เรียบเรียงจาก
3 French Executives Convicted in Suicides of 35 Workers, New York Times, 20-12-2019
https://www.nytimes.com/2019/12/20/world/europe/france-telecom-suicides.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท