นักปรัชญาชายขอบ: ความเป็นการเมืองของการไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มนุษยเป็น “สัตว์การเมือง” (political animal) โดยธรรมชาติหรือไม่ เป็นปัญหาทางปรัชญาที่ถกเถียงกันมานาน แต่ข้อเท็จจริงคือมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมการเมืองแบบใดแบบหนึ่งเสมอ และเมื่ออยู่ในสังคมการเมืองก็ย่อมจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นการเมือง” (the political) คือการแบ่งเป็นฝักฝ่าย เป็นพวกเรา พวกเขาหรือแยกมิตรแยกศัตรูอยู่เสมอ อันเนื่องมาจากความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ชนชั้น ผลประโยชน์ และอื่นๆ 

ศาสนานั้นชัดเจนว่ามีความเป็นการเมืองแบบแบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา แยกมิตร แยกศัตรูอย่างชัดเจน จะว่าไปศาสนาสร้างความเป็นการเมืองแบบแยกมิตรแยกศัตรูขึ้นมาก่อนการเมืองแบบใดๆ ในโลก 

แม้กระทั่ง “การไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ก็มี “ความเป็นการเมือง” อยู่ด้วย เช่น ความเป็นการเมืองของการไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองของปัญญาชน นักวิชาการบางกลุ่มในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยกว่าทศวรรษ คือมันสร้าง "พื้นที่เอกเทศ" จากปัญหาการเมืองที่สังคมเผชิญอยู่ หรือมันสถาปนาตัวเองเป็น "อีกฝ่ายหนึ่ง" นอกเหนือจากฝ่ายอื่นๆ ที่อยู่ในการต่อสู้ทางการเมือง และบางทีมันก็นิยามตนเองว่าเป็นฝ่ายที่มีเหตุผลและวิจารณญาณเหนือกว่าฝ่ายใดๆ ที่อยู่ในการต่อสู้ทางการเมือง

พื้นที่เอกเทศ ยังเป็นพื้นที่อีกแบบหนึ่งที่มีสิทธิอำนาจในตัวเอง มีการสร้างตรรกะหตุผลให้ความชอบธรรมแก่ตัวมันเองในการที่จะเงียบเฉยต่อปัญหาทางการเมือง และปกป้องตัวมันเองจากการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมคุณจึงเงียบเฉยกับปัญหาการเมืองที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ หรือเมินเฉยต่อชะตากรรมเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกเผด็จการย่ำยีเสรีภาพ อำนาจและพลังเหตุผลของพื้นที่เอกเทศเช่นนี้ทำให้คำถาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เรียกร้องความรับผิดชอบทางสังคม (social responsibility) ต่อบรรดาคนที่มีสถานะ ความสามารถและต้นทุนทางสังคมสูงที่ควรส่งเสียงของ “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) ได้อย่างมีน้ำหนักและปลอดภัยกว่าคนระดับชาวบ้านธรรมดาทั่วไป กลายเป็นเสียงที่เรียกร้องอะไรที่เกินเหตุ หรือไม่สมควรจะเรียกร้อง

พื้นทีเอกเทศดังกล่าว มีหน้าตาที่ “คลุมเครือ” คล้ายกับ “พื้นที่ทางไสยศาสตร์” เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลว่า เหตุใดเมื่อคุณพูดปัญหาการเมืองของโลกได้แทบทุกเรื่อง แต่เลือกที่จะเงียบเฉยกับปัญหาการเมืองภายในสังคมตนเอง

ความคลุมเครือของความเป็นการเมืองของการไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองของปัญญาชน นักวิชาการบ้านเราในอีกแง่หนึ่งก็คือ มันผลิตสร้างวาทกรรม “ทำลายแนวร่วม” ต่อฝ่ายที่ตั้งคำถาม วิจารณ์ และเรียกร้องความรับผิดชอบทางสังคมที่ปัญญาชน นักวิชาการควรจะมีร่วมกัน ทำนองว่าคำถาม คำวิจารณ์ คำเรียกร้องเหล่านั้นทำลายแนวร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ราวกับว่า “ใน-แนวร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” นั้น จะตั้งคำถาม วิจารณ์ หรือเรียกร้องกันไม่ได้ หรือไม่ควรจะทำแบบนั้นตรงไปตรงมา

หรือในแง่หนึ่งมันก็ “ย้อนแย้ง” กับการยืนยันประวัติศาสตร์การสร้างประชาธิปไตยที่ว่า “เกิดจากการร่วมต่อสู้ของประชาชน” ที่ต้องมีวัฒนธรรมรณรงค์เรียกร้องให้ร่วมกันสู้อย่างเป็นปกติ

ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาความเป็นการเมืองของการไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองผ่านวาทกรรมที่ว่า “อยู่เหนือการเมือง” เพราะความจริงแล้ว “อยู่เหนือการเมือง” ไม่ใช่ “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” หากแต่มันเป็น “พื้นที่พิเศษ” ของ “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) ที่กำหนดทิศทางของการเมืองในระบบเลือกตั้งกับการเมืองผ่านรัฐประหารอีกชั้นหนึ่ง ความเป็นการเมืองของพื้นที่พิเศษนี้คืออำนาจกำหนดการแบ่งฝ่าย แยกมิตรแยกศัตรูระหว่างฝ่ายที่ยึด “ประชาธิปไตยแบบไทย” กับฝ่ายที่ต้องการสร้าง “เสรีประชาธิปไตย” อย่างสากล

และอะไรก็คงจะไม่ตลกร้ายไปกว่าความเป็นการเมืองของวาทกรรม “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” และ “นำการเมืองโดยธรรม” คือวาทกรรมที่ว่าพระสงฆ์เป็นอิสระจากการมีตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองโดยตรง แต่มีหน้าที่สอนธรรมเพื่อนำการเมืองไปในแนวทางที่ถูกต้อง แท้จริงแล้วนี่คือความเป็นการเมืองแบบผิดฝาผิดตัว ผิดที่ผิดทาง เพราะการเมืองแบบโลกวิสัยเสรีประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ภายใต้การชี้นำของ “ธรรม” หรือ “ศีลธรรมศาสนา” แบบการเมืองโบราณ

คุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย เช่นหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพต่างหากที่กำกับศาสนาหรือศีลธรรมศาสนาไม่ให้ถูกใช้อย่างละเมิดหลักการพื้นฐานนี้ พระสงฆ์จึงไม่อาจนำการเมืองโดยธรรมได้ เพราะอะไรที่ถูกชี้นำโดยธรรมในประเทศนี้ มักจะไม่ยึดโยงอยู่กับการเคารพหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

จะว่าไป สำหรับประเทศนี้ แม้แต่การทำรัฐประหาร และการปกครองประเทศด้วยอำนาจจากรัฐประหารก็อยู่ในวาทกรรม “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” เพราะคณะรัฐประหารไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การทำรัฐประหารเป็นเรื่องของ “การทำเพื่อบ้านเมือง” ไม่ใช่ “การเมือง” แต่อย่างใด

ดังนั้น อะไรๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ใช่การเมือง อยูเหนือการเมือง นำการเมือง เป็นเรื่องของบ้านเมืองในสยามไทยแลนด์นี้ มันจึงมี “ความเป็นการเมือง” อย่างเป็นพิเศษ เพราะมันมี “ความชอบธรรมพิเศษ” ที่ไมจำเป็นต้องอิงความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องอิงวัฒนธรรมรณรงค์ร่วมสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย มันมีความเป็นเอกเทศลอยอยู่เหนือความรับผิดชอบทางสังคมบนการยืนยันคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยร่วมกัน

สุดท้ายความเป็นการเมืองก็เป็นข้อเท็จจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะร่วมกันทำให้ความเป็นการเมือง ที่เป็นเรื่องของการแบ่งเป็นเขา เป็นเรา เป็นฝักเป็นฝ่าย แยกมิตรแยกศัตรูได้มี “พื้นที่ต่อสู้ต่อรองที่เท่าเทียม” บนหลักการและกติการแบบไหน ในระบอบการเมืองอะไร ไม่ใช่ปล่อยให้มี “พื้นที่พิเศษ” ของความเป็นการเมืองของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนต่างๆ มากมายและสลับซ้อนดังกล่าวมานี้เป็นต้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท