Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณี “หนังน้องเดียว”หรือชื่อจริง นาย บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นายหนังตะลุงชื่อดังของภาคใต้ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ถูกประชาทัณฑ์และสังฆาทัณฑ์ แถวจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง เช่น จังหวัดสงขลา และจังหวัดตรัง กรณีเล่นมุกแซว (อำ)พระสงฆ์ (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3000029) มีข้อสะท้อนถึงอะไรบ้างในแง่การศึกษาและการประเมินทัศนนิยมของคนภาคใต้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม

น่าสนใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีนัยแห่งอำนาจนิยมที่เกิดจากสาเหตุุทางวัฒนธรรมเฉพาะภูมิภาคหรือไม่? โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองไทยมีลักษณะเด่นเชิงอำนาจนิยมเฉกเช่นการปกครองรัฐไทยเวลานี้ หนังน้องเดียวดังอยู่ในภาวะจำเลยของสังคมไปกระนั้นแล้วหรือ?

การรุมสกรัม/สหบาทา หนังน้องเดียวของทั้งจากพระทั้งจากฆราวาสเกิดขึ้นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ หนังน้องเดียวหรือหนังตะลุงคณะอื่นๆ ก็เคยเล่นมุกแซวพระมาก่อนจนเป็นปกติ จนเป็นธรรมดา และชาวบ้านก็คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่คราวนี้ทำไมถึงมีปัญหา

ทั้งๆ ที่การแซวพระของชาวบ้านมีให้เห็นโดยทั่วไปทุกภาค (ดู : https://www.silpa-mag.com/culture/article_31023) ไม่แต่เพียงภาคใต้เท่านั้น และหากจะกล่าวเฉพาะภาคใต้แล้ว นายหนังตะลุงรุ่นก่อนคือ “หนังพร้อมน้อยตะลุงสากล” หรือ นายหนังพร้อม บุญฤทธิ์ หรืออีกตำแหน่ง คืออดีตส.ส.จังหวัดพัทลุง ก็ได้แสดงให้เห็นมาแล้วว่า มุกแซวพระของเขาไม่ได้สร้างปฏิกิริยาความไม่พอใจใดๆ ให้เกิดขึ้นกับทั้งพระทั้งชาวบ้าน ชาวบ้านก็ขำก็ฮาไปเท่านั้นเอง

ทำไมกรณีของหนังน้องเดียวจึงแตกต่างจากกรณีของนายหนังพร้อม ความไม่พอใจของพระและของชาวบ้านอยู่ที่ราคา “ค่าราษฏร์” หรือค่าตัวในการแสดงของนายหนังแท้จริงล่ะหรือ? เพราะถ้าว่าไปแล้วค่าราษฎร์ค่าโรงขึ้นกับความพอใจของผู้รับคณะหนังไปแสดง และสมควรมีการตกลงกันล่วงหน้าเสมือนการซื้อขายสินค้าโดยทั่วไป ไม่พอใจ ไม่ว่าจ้างไปแสดง ถ้าพอใจจึงว่าจ้างไปแสดง ดังนั้นในแง่การซื้อขายหรือการว่าจ้างระหว่างผู้จ้าง (ชาวบ้าน พระ) กับผู้รับจ้าง (คณะหนังเดียว) จึงไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด จะถูกจะแพง ขึ้นกับความพอใจของทั้งสองฝ่าย เป็นดีลล่วงหน้าทั้งสิ้น

ดังนั้นตัวปัญหาคืออะไร? และปัญหาที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนอะไร? ในเมื่อนายหนังน้องเดียวเองก็ยอมรับตัวเองเขา “ยอมจนอยู่บนความจริง” รวมถึงกระทั่งที่เขาก็พิสูจน์ตัวเองเชิงวัตรปฏิบัติและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนกิจการของพระพุทธศาสนาในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดีคนหนึ่งมาตลอด ซึ่งทุกคนที่ติดตามนายหนังผู้นี้คงจะทราบกันดีว่าเขาสนับสนุนพระพุทธศาสนาแบบทายกที่ดีควรทำอย่างไรบ้าง

แล้วจู่ๆ ทำไมทั้งชาวบ้าน ชาวพระแถวภาคใต้บางจังหวัดถึงได้ขมขู่ รุมสกรัม สหบาทาหนังน้องเดียวแบบผิดปกติเช่นนี้ ตามข่าวว่ากันว่า พระสงฆ์ซึ่งเป็นสังฆาธิการบางรูปไม่ให้คณะนายหนังเดียวไปเปิดการแสดงในท้องที่ของตน หรือในบางอำเภอ ทำไมลักษณาการแห่งการกระทำของทั้งชาวบ้านและพระบางรูป หลวงพ่อ หลวงพี่ ในพื้นที่ถึงเป็นเช่นนี้ พฤติกรรมก๋ากั๋นของสงฆ์ ของชาวบ้านบางกลุ่มดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์หรือนัยแสดงถึงอำนาจนิยมในท้องถิ่นหรือไม่?

หนังเดียวเคยบอกว่า พระสงฆ์นั้นมีทั้งลัชชี และอลัชชี เหมือนกับทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ซึ่งว่าไปแล้ว การแซวพระ อำพระของเหล่าศิลปินท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทยนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เป็นมุกอำ เป็นมุกเฮฮาสร้างความครื้นเครง สนุกสนาน พระเป็นพระอะไรที่จับต้องได้ เพราะปกติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากูทั้งหลายกับชาวบ้านก็เคร่งเครียดมีช่องห่างมากพออยู่แล้ว ยิ่งในฝ่ายสตรีเพศด้วยแล้ว ข้อห้ามแห่งพระวินัยของสงฆ์ถือเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่ง แบบคอขาดบาดตายเอาเลย

การเล่นมุกอำของศิลปินพื้นบ้าน จึงเป็นข้อต่อ ข้อกลางเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับพระผ่านศิลปิน ในอันที่จะชี้ว่า พระที่มาจากลูกชาวบ้านนั้น มิควรยิ่งที่จะมีอหังมมังการ์ ว่าสูงส่งกว่าชาวบ้านอะไรมากมายเลย ถ้าจะสูงส่งกว่า ก็สูงส่งกว่าในแง่การอยู่ในร่องในรอยของศีลซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของสงฆ์ แต่มันไม่ได้การันตีเสมอไปว่า คุณธรรมด้านจิตหรือคุณธรรมภายในของสงฆ์จะสูงส่งกว่าชาวบ้านตามไปด้วย นี่คือข้อวิภัชที่ควรนำมาใส่ใจอย่างยิ่ง ตามนัยเฉพาะแห่งวิภัชวาทีของพุทธศาสนา

การรุมเหยียบหนังน้องเดียวของทั้งพระทั้งฆราวาสในภาคใต้นั้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องมุกอำ หรือมุกแซว หรือเรื่องค่าตัวของนายหนังเสียแล้ว หากยังอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมอำนาจนิยมในท้องถิ่นอีกด้วย อีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองแบบท้องถิ่นนิยมกำลังเล่นงานหนังน้องเดียวเต็มปาวเข้าแล้ว

มิหนำซ้ำ การรุมสกรัมหนังเดียวหนนี้ นอกจากอยู่ภายใต้กรอบอำนาจนิยมแบบ “สหบาทาภิบาล”แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความตกต่ำของสังคมแบบเสรีประชาธิปไตยในภาคใต้ หากที่แม้แต่การแสดงของศิลปินท้องถิ่นยังไม่เป็นอิสระจากการครอบงำของพระของชาวบ้านบางกลุ่มเอาเลย โดยที่เมื่อเทียบกับยุคนายหนังพร้อมน้อยครั้งกระโน้นเขาอาศัยตัวละครที่สมมติขึ้นคือพระอลัชชีแบบ “ท่านจู” มาแสดงเป็นตัวแทน (ของพระอลัชชี)อย่างองอาจโจ่งแจ้ง โดยปราศจากสหบาทา ที่สำคัญคือ ชาวบ้านเองรับรู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า ในสังคมสงฆ์ทุกยุคทุกสมัย มีพระพรรค์อย่างว่าอยู่จริง และเป็นเรื่องปกติของสังคม เมื่อชาวบ้านรู้อยู่แบบนี้ ชาวบ้านคือผู้ที่จะช่วยกันสกรีนพระดีไว้ สกัดเอาพระไม่ดีออกไป

กรณีสหบาทาหนังน้องเดียวโดยชาวบ้านและพระสงฆ์ในภาคใต้คราวนี้ จึงนับเป็นตลกร้าย อำนาจนิยมแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมทรุดของสังคมภาคใต้บางส่วนซึ่งยังคงมีอยู่และไม่ปรับตัว ความมีตรรกะ ความมีเหตุมีผลได้ปลาสนาการไปจากสังคมในช่วงขณะของการเกิดเหตุการณ์นี้ แทนที่จะปล่อยให้สังคมทั้งภายในและภายนอกท้องถิ่นได้มีโอกาสพินิจพิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ ก็แล้วจะต่างอะไรกับการล่าแม่มดในอดีตด้วยเล่า…
 

 

ที่มาภาพ: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3000029

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net