Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุผลในการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในสังคมหนึ่งๆ อาจเป็นผลของหลากหลายเหตุผลประกอบกัน ทั้งเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ เหตุผลด้านระเบียบอำนาจระหว่างประเทศ เหตุผลด้านภัยความมั่นคงและรูปแบบของการจัดองค์กรกองทัพที่เปลี่ยนไป เหตุผลด้านอุดมการณ์ของสังคมหนึ่งๆ แต่หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ใช้อ้างอิงในการยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์

ข้อโต้แย้งทางเศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของบทสนธนาสาธารณะและการตัดสินใจเชิงนโยบายว่าด้วยการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนา ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่สาธารณะชนและผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้ เนื่องจากมองว่า การเกณฑ์ทหารส่งผลต่อการบริหารงบประมาณ การบริหารการคลังของประเทศ และการจัดเก็บภาษี

ท่ามกลางการโจมตีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่าเป็นการละเลยปัญหาปากท้องของประชาชน ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอพาผู้อ่านไปดูตัวอย่างความพยายามของบรรดานักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ในการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์และให้คำอธิบายต่อสาธารณะจากมุมมองเศรษฐศาสตร์ว่า ทำไมการเกณฑ์ทหารจึงส่งผลเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและสมควรถูกยกเลิกไปเสีย และทำไมระบบกองทัพแบบสมัครใจจึงมีความเป็นไปได้ในการทำให้เกิดขึ้นจริง

ในช่วงปลายของสงครามเวียดนาม Richard Nixon ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันในปี 1968 มองเห็นโอกาสว่า การเกณฑ์ทหารอาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ทำให้กระแสต่อต้านประท้วงของชนชั้นกลางต่อสงครามเวียดนามลดน้อยถอยลงได้ จึงบรรจุการเกณฑ์ทหารเข้าเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการหาเสียง โดยมี Martin Anderson นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยของการหาเสียง เป็นฐานทางปัญญาและผู้เสนอความคิดคนสำคัญ

Nixon กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่กองทัพแบบสมัครใจเป็นครั้งแรกต่อกลุ่มนักเรียนกฏหมายในมลรัฐวิสคอนซิน โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ Nixon หยิบยกขึ้นมาคือ ความไม่เหมาะสมของการเกณฑ์ทหารอย่างกว้างขวางต่อภัยความมั่นคงที่อเมริกาเผชิญ เขากล่าวว่า รูปแบบของสงครามที่อเมริกาต้องทำการสู้รบมีเพียง 2 รูปแบบใหญ่ๆเท่านั้น คือ สงครามนิวเคลียร์ กับสงครามกองโจรแบบที่อเมริกากำลังเผชิญในเวียดนาม ซึ่งการเกณฑ์ทหารไม่เป็นประโยชน์กับทั้งสองรูปแบบ Nixon
ประกาศว่า ในกองทัพแบบใหม่ เขาจะทำให้กำลังพลได้รับผลตอบแทนเทียบเท่ากับการทำงานในโลกพลเรือน

นักสังเกตุการณ์บางคนกล่าวว่า ปาฐกถาต่อสาธารณะของ Nixon ในวันที่ 17 ตุลาคม 1968 ซึ่งมีเนื้อหาใจความหลักเรื่องการสนับสนุนการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1968 ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสสนับสนุนต่อ Nixon

เมื่อ Nixon ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่นาน ก็ได้ทำการจัดตั้งคณะกรรมาธิการซึ่งมีชื่อว่า President’s Commission On All Volunteer-Force ขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่กองทัพแบบสมัครใจ โดยมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Thomas S. Gate เป็นประธาน มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างสูง เช่น Milton Friedman, Alan Greenspan และ Allen Wallis ร่วมในคณะกรรมาธิการ และมีนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Walter Oi, Stuart Altman และ David Kassing เป็นผู้อำนวยการด้านการวิจัย รวมถึงประกอบด้วยนักวิเคราะห์และวิชาการด้านความมั่นคงและการทหารจากหลากหลายสถาบัน

แรกเริ่มนั้น กรรมการในคณะกรรมาธิการเองก็ไม่ได้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารกว่าครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อกระบวนการวิจัยและการจัดทำรายงานดำเนินไปเรื่อยเรื่อย คณะกรรมาธิการเร่ิ่มมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นซึ่งชี้ชัดว่า กองทัพอเมริกันยังสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการทหารเอาไว้ได้เมื่ออยู่ในระบบสมัครใจ และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการเกณฑ์เสียอีก

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้พบว่า เมื่อเทียบตามหลักการผลประโยชน์ต่อค่าลงทุนแล้ว (Cost-to-benefit ratio) การเกณฑ์ทหารอาจดูค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อมองดูจากต้นทุนทางการคลังหรือบัญชี แต่หากมองดูต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม การเกณฑ์ทหารมีต้นทุนแฝงมากถึงอีกครึ่งหนึ่งของต้นทุนทางการคลัง รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งศึกษาถึงผลตอบแทน สวัสดิการ แรงจูงใจ ที่ต้องใช้ในระบบสมัคร และอัตราการต่อสัญญาประจำการ พบว่า เมื่อเพิ่มผลตอบแทนจะทำให้มีผู้สมัครมาเพียงพอกับภัยความมั่นคง และระยะเวลาประจำการที่นานขึ้นรวมถึงการต่อสัญญาประจำการ จะทำให้ภาระด้านการฝึกของกองทัพลดน้อยลง ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านการฝึกที่น้อยลงและขนาดกองทัพที่เล็กลง

ก่อนการเกิดขึ้นของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ในบรรยากาศซึ่งการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถูกเยาะเย้ยจากนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายความมั่นคงว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ผลิตงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารทางเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ รวมถึงได้ให้บรรยายผ่านช่องทางสาธารณะอย่างแข็งขัน

ในงานเสวนาแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในปี 1966 ได้รวบรวมนักวิชาการและนักการเมืองมีชื่อจากทั้งสองฝั่งความคิดมาเข้าร่วม บทความและการนำเสนอของ Walter Oi เป็นส่วนหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดของงานเสวนั้น Milton Friedman ให้ความเห็นว่า มันเป็นงานเสวนาที่ส่งผลต่อผู้เข้าร่วมมากที่สุดในชีวิตของเขา โพลล์ที่ทำขึ้นก่อนงานเริ่มระบุว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหารถึง 2 ใน 3 แต่เมื่อทำโพลล์อีกครั้งหลังจากงานจบ กลับมีผู้เห็นด้วยถึง 2 ใน 3 แทน โดยงานเสวนานี้คือจุดเริ่มของกระแสการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในสังคมอเมริกันก็ว่าได้

เมื่อรัฐบาล Nixon ได้เสนอกฏหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารเข้าสภาในปี 1971 บรรดานักการเมืองจากทั้งสองฝั่งต่างยังไม่ได้รู้สึกโน้มน้าวกับรายงานของคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองอนุรักษ์นิยมจากพรรค Democrat จนเมื่อคณะกรรมาธิการกิจการทหารของสภาผู้แทนราษฏรได้เรียกตัว Walter Oi ไปเบิกความ จึงได้เกิดแรงสนับสนุนในสภาขึ้นอย่างแท้จริง ด้วยความหนักแน่นทางข้อมูลและหลักวิชาของ Oi ที่สามารถตอบทุกข้อสงสัยของคณะกรรมาธิการได้ จนสามารถผ่านกฏหมายฉบับนี้ออกมาในปี 1973 ได้ในที่สุด

ข้อถกเถียงของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกระแสความคิดแบบเสรีนิยมโดยวางอยู่บนหลักการสำคัญของความคิดที่สนับสนุนการทำงานของตลาดเสรี เช่น หลักความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ(Comparative Advantage) ค่าเสียโอกาส (Oppurtunies Cost) ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) ประสิทธิผลของตลาดเสรี (Efficient Market) รวมถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management)

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เสนอว่า ความคิดซึ่งเป็นที่แพร่หลายและเชื่อถือกันอยู่ในสังคมที่ว่าการเกณฑ์ทหารนำพาต้นทุนทางการเงินการคลังที่ต่ำกว่าระบบทหารแบบสมัครใจมาให้แก่รัฐบาลนั้นไม่เป็นความจริง ต้นทุนแฝงซี่งมากับระบบการเกณฑ์ทหารสูงกว่าตัวเลขที่แสดงออกมาในงบประมาณทางการคลังหรือทางบัญชีอย่างมาก

นอกเหนือไปจากภาระทางการคลังที่รัฐต้องใช้จ่ายในการฝึกและให้ผลตอบแทนแก่กำลังพลที่เกณฑ์เข้ามาแล้ว การที่รัฐนำประชากรในวัยที่ร่างกายมีความแข็งแรงที่สุดและมีศักยภาพที่สุดออกมาจากการสร้างผลิตภาพให้แก่สังคม แทนที่ประชากรเหล่านั้นจะได้สั่งสมประสบการณ์ในตลาดแรงงานหรือทำการศึกษา ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสแก่สังคมมหาศาล โดยในสังคมที่มีความเป็นอุตสาหกรรมสูงและต้องการความเชี่ยวชาญในทักษะเฉพาะด้าน การสูญเสียแรงงานจำนวนมากของสังคมทำให้นายจ้างไม่สามารถหาแรงงานมาทดแทนตำแหน่งที่ว่างเปล่าลงได้โดยง่าย ส่งผลให้สังคมสูญเสียผลิตภาพโดยรวม

การวิเคราะห์จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของ Oi (1967) ประเมินว่า ค่าเสียโอกาสจากการเกณฑ์ทหารของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 สูงถึง 0.5 เท่าของต้นทุนทางการเงินการคลัง และ Kerstens and Mayermans (1993) ระบุว่า ต้นทุนแฝงของระบบการเกณฑ์ทหารของประเทศเบลเยียมสูงถึง 2 เท่าตัวของต้นทุนทางการคลัง ดังนั้นการมีอยู่ของระบบการเกณฑ์ทหารในยามประเทศไม่มีสงครามจึงไม่คุ้มค่่าต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อมองในมุมประสิทธิภาพของตลาดและความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแล้ว บุคคลแต่ละคนมีความถนัดและความสามารถแตกต่างกัน ดังนั้นบุคคลจึงควรเลือกทำงานที่ตนเองคาดว่าจะทำได้ดีและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมจึงจะเป็นการสร้างผลิตภาพให้กับระบบตลาดโดยรวมสูงที่สุด

โดยตัวของมันเอง การเกณฑ์ประชากรจำนวนมากเข้ามาสู่กองทัพจึงคือรูปแบบหนึ่งของการเกณฑ์แรงงาน เนื่องจากประชาชนต้องยอมรับกับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าราคาตลาดที่ตัวเองต้องการ(market value) เมื่อเกิดการจับคู่กันอย่างไม่มีประสิทธิภาพระหว่างแรงงานกับคน บุคคลที่ถูกเกณฑ์ไม่ได้รับแรงจูงใจหรือผลตอบแทนที่มากพอ ทำให้การทำงานมีผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลงโทษของกำลังพลในระบบทหารและความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพโดยรวม

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การคงไว้ซึ่งกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพก็อาจนำต้นทุนแฝงและค่าเสียโอกาสเข้ามาด้วย ระบบการเกณฑ์ทหารไม่สามารถตอบสนองต่อความเชี่ยวชาญเฉพาะของสงครามสมัยใหม่ซึ่งต้องการระยะเวลาการฝึก การต่อยอดประสบการณ์ และความคุ้นเคยภายในหน่วยที่มากขึ้นได้ บางทักษะจึงไม่คุ้มค่าต่อการฝึกฝนเนื่องจากทหารที่ถูกเกณฑ์มีระยะเวลาประจำการสั้น กำลังพลมีการปลดประจำการก่อนที่กองทัพจะได้รับดอกผลใดๆ กองทัพจึงต้องแบกรับต้นทุกในการฝึกทรัพยากรบุคคลใหม่ตลอดเวลาเพื่อทำการทดแทนบุคลากรที่ปลดประจำการ

ทั้งนี้กองทัพที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพยังอาจนำไปสู๋ความสูญเสียที่มากขึ้นในการสู้รบ ผลกระทบทางการเงินจากอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตยังอาจสูงกว่าราคาในการประจำการกองทัพแบบสมัครใจอีกด้วย

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ การเกณฑ์ทหารหรือกองทัพแบบสมัครใจล้วนเป็นการเสียภาษีทั้งสิ้น การเกณฑ์ทหารนั้นประชาชนต้องทำการเสียภาษีในรูปแบบของแรงงานและเวลาที่ต้องมอบให้กับรัฐ แต่กองทัพแบบสมัครใจคือการที่ประชาชนทำการเสียภาษีตามการจัดเก็บของรัฐแบบปกติ จากนั้นรัฐจึงนำภาษีเหล่านั้นไปว่าจ้างกำลังพลมาประจำการ

 เมื่อมองในมุมนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมจึงเป็นผู้เสียภาษีให้แก่รัฐในระบบแบบหลัง แต่ประชาชนอายุน้อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐในระบบแบบแรก การเสียภาษีอย่างไม่เท่าเทียมนี้จึงคือการผลักภาระไปให้กับประชาชนที่มีอายุน้อยกลุ่มหนึ่งโดยคนที่เหลือในสังคมอย่างไม่เป็นธรรม

การบอกว่าการเกณฑ์ทหารมีต้นทุนถูก จึงเหมือนกับการพูดว่า การสร้างพีระมิดในสมัยอียิปต์โดยแรงงานทาสมีต้นทุนถูก เพราะคนส่วนใหญ่ของสังคมได้ประโยชน์จากการผลักภาระทางภาษีใปให้กับคนกลุ่มเล็กในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่การเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วในสังคม โดยกลุ่มผู้มีโอกาสอื่นๆทางสังคม อาศัยช่องทางทั้งถูกกฏหมายและผิดกฏหมายในการเล็ดลอดออกไปจากระบบ

การเกณฑ์ทหารยังอาจสร้างต้นทุนแฝงอีกอย่างหนึ่งให้แก่สังคมซึ่งทำให้การจัดสรรทรัพยากรในตลาดผิดเพี้ยนไป ต้นที่ทุนที่กล่าวถึงคือต้นทุนในการหลบเลี่ยงจากการเป็นทหาร เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ การใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ การศึกษาต่อเพื่อประวิงเวลา


อ้างอิงจาก
https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/10242694.2015.1111602
https://www.nixonfoundation.org/2014/11/path-ending-draft/
https://www.nixonfoundation.org/2015/02/45-years-later-nixon-gates-commission/
https://www.nixonfoundation.org/2015/02/towards-volunteer-force/
https://www.hoover.org/research/legacy-walter-oi-1929-2013
https://www.politico.com/story/2012/01/us-military-draft-ends-jan-27-1973-072085
https://www.ifo.de/DocDL/dicereport211-rr1.pdf
https://www.semanticscholar.org/paper/I-Want-You!-The-Determinants-of-Military-Asal-Conrad/321d87c6ce890a60b1b869bcb5d311e45d239b84
http://ethesis.helsinki.fi/julkaisut/eri/hecer/disc/106/theecono.pdf
https://econjwatch.org/File+download/84/2005-08-henderson-char_issue.pdf?mimetype=pdf
https://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/monographs/MG265/images/webS0243.pdf





 



 





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net