Skip to main content
sharethis

EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor คือโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก มีสถานะเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ริเริ่มในปี 2560 โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 สมัย รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในปี 2560 ว่าจะมีการลงทุนในช่วง 5 ปีแรกทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท

โครงการนี้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และเป็นการต่อยอดจากโครงการ Eastern Seaboard ซึ่งริเริ่มโดยรัฐบาลพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ส่งผลให้จังหวัดภาคตะวันออกสามารถเก็บภาษีได้สูงที่สุดในประเทศไทย

โครงการอีอีซีครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.อีอีซี ในการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อขยายพื้นที่เพิ่มเติมได้ และสามารถกำหนดให้ “พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยก็ได้” สำหรับพื้นที่นอกภาคตะวันออกจะกำหนดได้ต้องเป็นไปเพื่อการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์) 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้ข้อมูลโดยอ้างถึงคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีสมคิดว่า โครงการจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่                 

(1) การพัฒนาโครงการพื้นฐาน และการชี้แจ้งกับนักลงทุนต่างชาติ
(2) การพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย
(3) การสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ในระหว่างขั้นตอนเหล่านี้ ประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการบางกลุ่มได้ตั้งคำถามต่อผลกระทบต่างๆ ที่อาจตามมา โดยเฉพาะวิกฤติทรัพยากรซึ่งเกิดจากการสร้างเขตอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่

รายงานชิ้นนี้พยายามชี้ให้เห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคตะวันออก เพราะโครงการอีอีซีกำเนิดขึ้นภายใต้ระบอบ คสช.ซึ่งทำการรัฐประหาร 2557 นี้เองที่ทำให้องค์ความรู้สิ่งแวดล้อมสากล​ และการถอดบทเรียนร่วมกันมาภายในประเทศไม่ได้ถูกนำไปใช้

5 เมกะโปรเจค 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ข่าวเกี่ยวกับอีอีซีกระจัดกระจายอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นโครงการขนาดมหึมา ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด หากต้องการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อนว่าโครงการอีอีซีจะทำอะไรในเวลาอันใกล้บ้าง 

โครงการ EEC แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการและการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในการลงทุนโครงการเหล่านี้ รัฐบาลใช้ระบบ PPP ย่อมาจาก Public-Private Partnership หมายถึงการลงทุนร่วมกันระหว่างเอกชนและรัฐบาล

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ คาดว่าจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 8.2 แสนล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท และจะเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่าปีละ 4 หมื่นคน

รายละเอียดโครงสร้างพื้นฐาน มีดังนี้

  1. โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา สถานะเทียบเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ ทั้งนี้ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับจีน โดยร่วมมือกับสนามบินเจิ้งโจวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (one belt one road) โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของ EECa หรือการสร้างมหานครการบินภาคตะวันออก นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 290,000 ล้านบาท จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ก.ย. คาดเซ็นสัญญาได้ ต.ค.2562
  2. โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา โดยเชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีอยู่แล้ว เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะมี 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง, บางซื่อ, มักกะสัน, สุวรรณภูมิ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ศรีราชา, พัทยา และสถานีอู่ตะเภา ผู้ชนะประมูลด้วยมูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่ม CP ร่วมกับบริษัทอิตาเลียนไทย, บริษัท ช.การช่าง, บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM รวมไปถึงบริษัท China Railway Construction Corporation Limited ของประเทศจีนด้วย ปัจจุบันมีการลงนามข้อตกลงแล้ว มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566
  3. โครงการพัฒนาท่าเรือ แหลมฉบัง ระยะที่ 3 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มูลค่า 1.14 แสนล้านบาท หลังเปิดประมูลในเดือนมีนาคม เกิดข้อพิพาทกันระหว่างผู้ประมูล 2 กลุ่ม ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง
  4. ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือท่าเรือจุกเสม็ด เป็นของกองทัพเรือ พัฒนา 13 โครงการหลัก เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวทางทะเล ใช้งบประมาณ 1,900 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนที่ดำเนินการไปแล้ว 600 ล้านบาท และได้รับสมทบจากรัฐบาลด้วย
  5. รถไฟรางคู่ เชื่อมแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ กับ 3 ท่าเรือภาคตะวันออก ได้แก่ แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด เป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศ CLMV ระยะเร่งด่วนมีจำนวน 3 โครงการและในระยะถัดไปอีก 6 โครงการ 

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังมีการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย โดยภาครัฐและเอกชนมักเรียกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า S-Curve เพราะการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ช่วงริเริ่มนวัตกรรม ช่วงเติบโต และช่วงอยู่ตัว เนื่องจากช่วงเติบโตนั้นเส้นกราฟจะชันที่สุด กราฟจึงแสดงผลออกมามีลักษณะเป็นรูปตัว S 

ไทยพับลิการายงานผลการประชุมคณะกรรมการอีอีซีเมื่อ 5 สิงหาคม 2562 ว่าโครงการจะเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้บริการ One Stop Service ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (ซึ่งหลายคนกังวลว่าอาจนำไปสู่การยกเว้นกฎระเบียบหลายอย่าง)​

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ นอกจากที่เล่าไปข้างต้นแล้ว​บางส่วนจะเห็นได้จาก EECa, EECd, EECi, และ EECh  

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยประกาศผังเมืองซึ่งประชาชนในพื้นที่ยังคงคัดค้านอย่างต่อเนื่องว่ายังขาดการมีส่วนร่วม กระนั้น รัฐบาลกลับกำลังมุ่งไปสู่การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า SEC หรือ Southern Economic Corridor ด้วย

รายงานในเดือนมกราคม 2562 ชี้ว่ารัฐบาลได้เห็นชอบหลักการไปแล้ว 116 โครงการในภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท จากเอกสารแถลงนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาในเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่านโยบายการพัฒนาภาคตะวันออกและภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย”

ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร?

เริ่มต้นโดยคณะรัฐประหาร

หลังการรัฐประหารในปี 2557 โครงการอีอีซีเริ่มต้นขึ้นโดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว นำไปสู่การออกคำสั่ง คสช. 3 ฉบับในปี 2560 ได้แก่

  1. คำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สาระสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) บังคับใช้ 17 มกราคม 2560
  2. คำสั่ง คสช.ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการในเขตอีอีซีเป็นการเฉพาะ) บังคับใช้ 26 พฤษภาคม 2560
  3. คำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บังคับใช้ 25 ตุลาคม 2560

คำสั่งเหล่านี้ถูกยกเลิกหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ผ่านร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561 อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาล มาตรา 71 ของพ.ร.บ.นี้ระบุว่า การดำเนินการต่างๆ ที่อาศัยคำสั่ง คสช. ยังคงมีผลบังคับใช้ได้ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการนโยบายอีอีซีจะได้มีมติให้ยกเลิกหรือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

กฎหมายนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 279 ที่กำหนดว่าคำสั่งที่ คสช. ประกาศไว้ก่อนหน้าการบังคับใช้รัฐธรรมนูญให้ถือว่าชอบโดยรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันยังมีคำสั่ง คสช.เหลืออยู่อีก 144 ฉบับหลังยกเลิกไปจำนวนหนึ่งแล้วจากทั้งหมด 456 ฉบับ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านและขบวนการรณรงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 279 ด้วย

ด้วยอำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ คณะกรรมการอีอีซีจึงมีอำนาจอย่างมากในการตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของภาคตะวันออก นอกจากจะมีอำนาจเสนอให้ ครม.แก้กฎหมายหรือคำสั่งที่ขัดขวางการดำเนินงานของโครงการแล้ว ยังมีอำนาจในการเห็นชอบหรืออนุมัติแทนหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ พ.ร.บ. อีอีซีได้ยกเว้นกฎหมายอื่นๆ ที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนถึง 19 ฉบับ

อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าโครงการอีอีซีเป็นแหล่งที่มาความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ด้วย​ ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ อาจารย์วิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความไว้ใน Kyoto Review ว่า เนื่องจากรัฐบาล คสช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร รัฐบาลพล อ. ประยุทธ์ จึงต้องสร้างความชอบธรรมขึ้นมาจาก 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ 1.ความชอบธรรมจากผลการปฏิบัติงาน (performance legitimacy) 2.ความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ (royal legitimacy) และ 3.ความชอบธรรมจากการปฏิรูป

โครงการอีอีซีแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความชอบธรรมทั้ง 3 รูปแบบของ คสช. ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะพยายามอาศัยการสร้างผลงานผ่านโครงการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกอย่างรวดเร็ว (แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง) และปฏิรูปประเทศโดยใช้อีอีซีเป็นหนึ่งในจักรกลสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว บนเว็บไซต์อีอีซียังมีการเผยแพร่รายการ “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีการบรรจุวาระเกี่ยวกับโครงการอีอีซีเข้าไปในเนื้อหารายการด้วย

ทำไมต้องพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบอบ คสช. กับโครงการอีอีซี?

นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองส่งผลอย่างมากต่อวิธีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในอีอีซี การกระจายอำนาจ การกระจายรายได้ และอาจเป็นบรรทัดฐานให้กับโครงการอื่นๆ ในอนาคตด้วย เอาเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้น ระบอบรัฐประหารที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่อยากให้ “เสียของ” ส่งผลให้พัฒนาการทางการเมืองถอยหลังลงคลอง สวนทางกับองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

พัฒนาการทางการเมืองของไทยตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา สวนทางกับองค์ความรู้สากล และกระบวนการถอดบทเรียนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออกซึ่งเกิดขึ้นหลังการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และยังสวนทางกับองค์ความรู้ทางสิ่งแวดล้อมในระดับโลกที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 60 ปี

เขตเศรษฐกิจพิเศษ: "ถ้าไม่มีรัฐบาลเผด็จการ ไม่มีทางทำได้"

หากพูดไปถึงส่วนที่พื้นฐานที่สุดแล้ว จะพบว่าอีอีซีคือเขตเศรษฐกิจพิเศษ (special economic zone) ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาที่พบได้ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษคือการกำหนดพื้นที่บางส่วนให้มีระเบียบข้อบังคับ (เช่น ในเรื่องการเก็บภาษี ฯลฯ) เกี่ยวกับเศรษฐกิจต่างไปต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ 

อารัม บาโรน นักข่าวสายเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงสันนิฐานว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษน่าจะถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการสร้างท่าอากาศยานแชนนอนในประเทศไอร์แลนด์ และต่อมาแนวคิดที่ว่านี้ก็ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเข้ามาในประเทศละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ 1970s จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ประเทศไทยก็พยายามเอามาโมเดลการพัฒนาที่ว่านี้มาใช้เช่นกัน  

กรณีศึกษาของไทยที่ใกล้เคียงกับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีก็คือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่บรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ในสมัยรัฐบาล พล. อ. เปรม ติณสูลานนท์ โดยหนึ่งในตัวอย่างของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ว่านี้คือกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งยังถูกพูดถึงเชื่อมโยงกับอีอีซี และถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน   

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 สฤณี อาชวานันทกุล เขียนบทความเรื่องอีอีซีกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ โดยเสนอว่า

“จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการพัฒนาที่ยั่งยืน มิได้อยู่ที่การไล่ล่าตัวชี้วัด แสดงหารางวัลด้านความยั่งยืนหรือแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีคำว่า “ยั่งยืน” อยู่ในชื่อ หากแต่อยู่ที่การมองให้เห็นอย่างชัดเจนถึงลักษณะและผลกระทบของ “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ในอดีต เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”

อาจจะจริงอย่างที่สฤณีกล่าว การพัฒนาที่ยั่งยืนอาจไม่ได้อยู่ที่การไล่ล่าตัวชี้วัด แม้ว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด​ในมีการออกหนังสือเห็นชอบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่เมษายน 2532 แต่ในปี 2550 ตัวแทนประชาชน 27 คน ได้ฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ ไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในเดือนเมษายน 2552 ตามที่กฎหมายกำหนด

การฟ้องร้องครั้งนั้นนำไปสู่การระงับ 76 โครงการในมาบตาพุด เพราะหลักฐานชี้ชัดว่ามีสารโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจำนวนมาก แม้ว่าจะผ่านมาแล้วกว่า 10 ปีหลังการฟ้องร้อง ข้อมูลในปี 2560 ระบุว่ายังมีผู้เสียชีวิตเพราะมลพิษจากการอาศัยในพื้นที่กว่า 412 ราย สำหรับสฤณีแล้วนี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของลักษณะและผลกระทบของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในอดีต

คำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อมีการประเมิน EIA ก่อนสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เหตุใดจึงเกิดยังเกิดมลพิษ มีการฟ้องร้องจนนำไปสู่การระงับโครงการจำนวนมาก ปัจจัยอย่างหนึ่งอาจเกิดจากในช่วงที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำลังแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของโลก องค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในเวทีสากลกลับยังไม่พัฒนามากนักในช่วงเริ่มโครงการ​ จนก่อให้เกิด​ปัญหา​ตามมาในภายหลัง

ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของกลุ่ม EEC Watch ให้ข้อมูลว่า ในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังไม่มีคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อยู่ในพจนานุกรมของการพัฒนา

โครงการ Eastern Seaboard เกิดขึ้นหลายปีก่อนคำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development)” จะถูกเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2535 ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มิพักว่ากว่าองค์การอนามัยโลกกว่าจะเริ่มรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มปัจจัยสุขภาพชุมชนเข้าไปในการประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนา เวลาก็ล่วงเลยไปถึงทศวรรษที่ 1990 (2528-2538) แล้ว

ในช่วงดังกล่าวจึงมีแต่ “ความโชติช่วงชัชวาล” ซึ่งเป็นสโลแกนที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายเศรษฐกิจของตนในขณะนั้น และเนื่องจากไม่มีข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ประชาชนในพื้นที่จึงไม่ได้มีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นตามมามากนัก คำถามที่ตามมาก็คือโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนำ “ความโชติช่วงชัชวาล” มาสู่ประเทศไทยจริงหรือไม่

หากมองในแง่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการที่ว่านี้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มจีดีพีอย่างมาก จังหวัดระยองถึงกับหยิบยกคำว่า “อุตสาหกรรมก้าวหน้า” บรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัด และกลายเป็นจังหวัดที่รายได้จีดีพีต่อหัวสูงที่สุดในประเทศไทย แต่ผลกระทบอย่างมหาศาลต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในประชาชนในพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

เมื่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นแล้ว เราเคยมีความพยายามในการถอดบทเรียนเหล่านี้หรือไม่ แล้วการถอดบทเรียนนี้นำไปสู่อะไร สมนึกให้ข้อมูลอีกว่า หลังจากเกิดผลกระทบเพราะโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ภาคเอกชนเคยพยายามรอมชอมและถอดบทเรียนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ด้วยท่าทีจริงใจ อาจกล่าวได้ว่าบทเรียนที่เกิดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดนำไปสู่การตั้งคำถามกับการใช้แนวคิดเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก และรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ด้วย  

“ทุกคนกำลังเรียนรู้ผลเสียจาก Eastern Seaboard หลายระบบมีการปรับตัว มีการคุยกับชุมชนมากขึ้น มีการผ่อนปรนของชุมชน หันมาหาทางออกร่วมกัน” สมนึก กล่าว

หากย้อนกลับไปดูบริบททางการเมืองในช่วงหลัง พล.อ.เปรม ลงจากอำนาจเป็นต้นมา อาจพอกล่าวได้ว่าบรรยากาศการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีบทบาทสำคัญต่อการถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย เมื่อคิดถึงการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนสามารถทักท้วงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาได้เสียงดังกว่าในปัจจุบันมาก ดังเช่นเสียงต่อต้านความพยายามในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ดูเหมือนรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ว่าอย่างไรก็ยังฟังเสียงประชาชนอยู่บ้าง

“เมื่อปี 2543 ทักษิณ ชินวัตร คิดจะทำเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในประเทศอื่นเขาทำไปแล้ว เขาเริ่มทำพร้อมกันเพราะมันเป็นข้อตกลงระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา ลาว ไทย และสิงคโปร์จะต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ เป็นข้อตกลง ดังนั้น ทักษิณจึงดันเรื่องนี้ขึ้นมา พอมีคำว่า 99 ปี (ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน) เท่านั้นแหละ อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ซัดแหลกเลย สุดท้ายร่าง พ.ร.บ. นี้ก็พับเก็บไป”

ต่อให้มีการรัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นเป็นช่วงเดียวกับที่ประชาชนฟ้องร้องศาลปกครองในกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษ รัฐประหารสมัยนั้นก็ยังมีลักษณะ “ชั่วคราว” (หรือหลายคนอาจบอกว่า​ "เสียของ")​ มากกว่าการรัฐประหารในปี 2557 การคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้ร่นถอยลงมากเท่ากับปัจจุบัน (เพราะไม่ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใดมากนัก)

ตามทัศนะของเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า บริบทของการใช้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังการขึ้นมาของ คสช. ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มถูกนำมาใช้เป็นโมเดลการพัฒนาสำหรับสังคมไทยอีกครั้ง 

“ถ้าเราดูในแง่ของรัฐธรรมนูญอาจไม่มีความแตกต่างกันมาก แต่บริบทการใช้รัฐธรรมนูญต่างหากที่แตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างความรู้สึกที่ว่ารัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์ถึงขนาดที่ว่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก็สามารถหยุดชะลอไว้ก่อนเพื่อที่จะทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่พอมารัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งก่อนที่รัฐธรรมนูญจะออกและระหว่างที่ออกแล้ว มันมีการยกเว้นการบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้น ผมคิดว่าบริบทของการใช้รัฐธรรมนูญต่างหากที่แตกต่างกันอย่างมาก แม้กระทั่งปัจจุบัน กฎหมายอีอีซีก็ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายอื่นๆ หมายถึงว่ามันไม่จำเป็นต้องทำตามรัฐธรรมนูญนั่นแหละ”

ข้อพิสูจน์ของถ้อยแถลงนี้อาจพบได้ในข้อมูลที่ระบุว่า พ.ร.บ. อีอีซีนั้นให้อำนาจกับคณะกรรมการอีอีซีในการยกเว้นกฏหมายอื่นๆ ถึง 19 ฉบับ ขณะเดียวกันความพยายามในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษยิ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของคณะรัฐประหารในการสร้างความชอบธรรม อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการสร้างผลงานการคือเสาหลักความชอบธรรมสำคัญของคณะรัฐประหาร แนวคิดที่มีต่อการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย หลังจากที่ล้มเหลวมาตลอด การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงประสบความสำเร็จในที่สุดหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2557

“(หลังจากพับไปในรัฐบาลทักษิณ) เขตเศรษฐกิจพิเศษมาเกิดอีกทีหลังรัฐประหารปี 2557 พอรัฐประหารเสร็จปี 2559 ก็ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด ใช้คำสั่ง คสช.ที่ 3/2559 ถ้าไม่มีคำสั่ง คสช. หรือพูดง่ายๆ ก็คือถ้าไม่มีรัฐบาลเผด็จการ ไม่มีทางทำได้” สมนึกฟันธง

และนั่นทำให้กระบวนการถอดบทเรียนผลกระทบของโครงการ Eastern Seaboard พังทลายลงอย่างน่าเสียดาย ผลกำไรที่น่าดึงดูดเกินห้ามใจคือตัวการสำคัญที่ทำให้บริษัทเอกชนตัดสินใจละทิ้งกระบวนการถอดบทเรียนที่เคยมีมาทั้งหมดเพื่อกระโจนเข้าสู่โครงการพัฒนาระลอกใหม่

หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของอมตะนคร ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริม 3 แห่ง โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช.ปี 2561 ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร1, นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร2 และโครงการอมตะนครสมาร์ทซิตี้ จึงได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และ พ.ร.บ.ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งสนช.พิจารณาผ่านร่างกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในปี 2560

เว็บไซต์คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ระบุว่าผู้ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอาจได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 12-13 ปีโดยไม่จำกัดวงเงิน ส่วนที่น่าสนใจคือ โครงการอมตะ2 ตั้งอยู่ในพื้นที่ 6,100 ไร่ในเขตจังหวัดชลบุรีติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา แม้จะยังเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แต่ปัจจุบันได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว หลังต้องผ่านกระบวนการต่อสู้กับประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

อมตะเฟส​ 2

สรายุทธ์ สนรักษา ประชาชนในพื้นที่ซึ่งต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นนี้มาอย่างยาวนานให้ข้อมูลว่า แต่เดิมกลุ่มทุนมีความต้องการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวโดยประกาศมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเด็นเรื่องผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกำลังร้อนแรง นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะกินพื้นที่รวมทั้งหมด 8,600 ไร่ พอประชาชนในพื้นที่คัดค้าน โครงการจึงถูกพับเก็บไป

สรายุทธ์ ให้ความเห็นว่า กลไกสำคัญที่ให้อำนาจกับประชาชนคือ การที่กฎหมายผังเมืองและกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการชี้แจงข้อมูลพื้นที่และออกแบบผังเมืองร่วมกัน นี่เป็นกลไกสำคัญที่ป้องกันไม่ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษขยายตัวมากเกินไปจนสร้างความเสียหายต่อชุมชนหรือระบบนิเวศน์อย่างกู่ไม่กลับ 

“พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีตามข้อมูลของกรมโยธาฯ มันไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เกษตรแต่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งเรียกว่าเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วย ในแผนที่ของกรมชลประทานก็เลเบลไว้ชัดเจนว่าไม่เหมาะจะทำนิคมอุตสาหกรรม ข้อมูลของกรมโยธาฯ ยังบอกว่า ที่ตรงนี้มีไว้สำหรับระบายน้ำ เพราะมีคลองแนวตั้งที่ระบายน้ำออกจากแม่น้ำบางปะกงถึง 6 คลอง พอตัวนิคมอมตะฯ จะวางทับ ชาวบ้านก็คัดค้าน กระบวนการผังเมืองมันเริ่มมาก่อนปี 2552 ได้ 2-3 ปีแล้ว พี่น้องประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ มีการใช้หลักวิชาการในการทำ กระบวนการ 18 ขั้นตอนนั้นชัดเจน มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าถึง พวกเราออกแบบผังเมืองของบ้านเรา พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย ดังนั้นระเบียบผังเมืองจึงไม่อนุญาตให้นิคมอมตะสร้าง”

สรายุทธ์เล่าต่อว่า เนื่องจากไม่สามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ อมตะนครจึงให้ความสนใจไปที่ science park หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แทน และมีการลดพื้นที่ลงเหลือประมาณ 2,000 ไร่ แม้สรายุทธ์จะเห็นว่าการพยายามสร้าง science park เป็นเทคนิคการ “ซิกแซก” เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่สมนึกซึ่งเคยให้คำปรึกษากับอมตะนครในเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นสัญลักษณ์ของการประนีประนอม และการถอดบทเรียนระหว่างนายทุนกับประชาชนในพื้นที่

“เขากำลังจะตกลงกันดี โครงการอมตะ2 เขาจะไม่เอานิคมอุตสาหกรรม...ตรงนี้เขาเก็บไว้สำหรับให้ประชาชนทำเกษตร ได้เรียนรู้ ถ้ามีอย่างมากก็อาจจะมีกิจกรรมที่เป็น science park หรือศูนย์วิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งจะเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเกษตรกรรม เป็นยุทธศาสตร์ของอมตะเอง ผมบอกว่าถ้าเป็นของอมตะเองอย่าไปทำอะไรที่มันเป็นปิโตรเคมีแล้วกัน เขาบอกว่าทำไม่ได้อยู่แล้ว ต้องเป็นอุตสาหกรรมเบา”

จากการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราเราพบด้วยว่า แม้เปลี่ยนเป็น science park ความพยายามของอมตะนครก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี เพราะไม่เข้ากับหลักผังเมืองซึ่งพื้นที่สีเขียวหมายถึงแหล่งเกษตรกรรม แต่หลังการรัฐประหาร 2557 คำสั่ง คสช. และการกลับมาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งที่เคยเหมือนจะเป็นอดีตไปแล้วจึงหวนกลับมาอีกครั้ง 

หลังจากขึ้นสู่อำนา​จ​ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ระบุว่า โครงการอมตะ 2 มีไว้เพื่อ “รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ และ อุตสาหกรรมดิจิทัล” จากเดิมที่ไม่เคยทำได้แม้แต่อุตสาหกรรม​เบา​ ปัจจุบัน​ก็เกิดทำได้ขึ้นมา

นอกจากบทบาทของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แล้ว สรายุทธ์ยังตั้งข้อสังเกตถึงวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า ก่อนมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เคยเป็นกรรมการของบริษัทอมตะมาก่อน (จากรายงานของอิศราพบว่าวิษณุเคยเป็นกรรมการของบริษัทมากกว่า 11 แห่ง) นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงมาตรา 44 ด้วย 

“ม. 44 ที่เราเคยได้ยินมีไว้สำหรับจัดการกับเรื่องของคอร์รัปชัน นักการเมือง มาเฟีย แต่พอมาในพื้นที่พิพาทเรื่องการจัดการใช้ที่ดิน เขาเอามาใช้กับเรื่องผังเมือง ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ยกเลิกกระบวนการทำผังเมืองทั้งหมดเลย” สรายุทธ์กล่าว

โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร2 เป็น 1 ใน 24 โครงการซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นเขตส่งเสริมฯ โครงการทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบผังเมืองใหม่ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ประชาชนในพื้นที่ได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อร้องทุกข์โดยระบุว่าจะดำเนินการฟ้องร้องกับศาลปกครองเนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากผังเมืองใหม่อย่างน้อย 7 แห่ง ขณะที่สมนึกให้ข้อมูลว่าอาจมีสูงถึง 11 แห่ง พื้นที่เหล่านี้ได้แก่:

  1. พื้นที่บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเปลี่ยนจากที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม
  2. พื้นที่บริเวณรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2)
  3. พื้นที่บริเวณต้นน้ำบางปะกง ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถูกกำหนดเพิ่มเติมจากผังเมืองเดิม 2,000 ไร่ ทั้งที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความเสี่ยงด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ
  4. พิ้นที่ริมแม่น้ำนครนายก บริเวณ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ถูกกำหนดประเภทที่ดิน
  5. พื้นที่เขายางดง บริเวณรอยต่อ อ.แปลงยาว-พนมสารคาม ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้หายไป
  6. พื้นที่บริเวณ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลุบรี ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งที่ยังมีข้อพิพาทเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าคุ้มครอง และปัจจุบันมีชุมชนอยู่อาศัยในพื้นที่ราว 400 ครัวเรือน
  7. พื้นที่บริเวณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ที่ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกิจการพิเศษ โดยไม่มีข้อห้ามที่เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการ และราชการบัญญัติไว้ด้วย

หากจินตนาการว่าเราไม่มีมาตรา 44 ไม่มีคำสั่ง คสช. หาก พ.ร.บ. อีอีซีต้องผ่านสภาที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ประชาชนในพื้นที่สามารถขอให้ผู้แทนของตนลงคะแนนเสียงคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ โดยเสียงของประชาชนยึดโยงกับผลคะแนนการเลือกตั้งในครั้งต่อไป และหากประชาชนสามารถประท้วงกดดันรัฐบาลได้ภายใต้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ โครงการอีอีซีอาจจะหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ตัว(ไม่)ชี้วัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

หลังการกลับมาของแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเกิดขึ้นของโครงการอีอีซีภายใต้ระบอบ คสช. สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างแรกก็คือ การใช้ตัวชี้วัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างหย่อนยาน​ ทั้งที่​องค์ความรู้สากลเหล่านี้เป็นแนวทางการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมที่ใช้เวลาพัฒนาขึ้นเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ และมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในศตวรรษที่ 21  

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย SOAS ระบุว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมีพัฒนาการมาเป็นลำดับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เกณฑ์ที่เรียกว่าการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2512 โดยบรรจุอยู่ในกฎหมายที่มีชื่อว่า “กฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” (National Environmental Policy Act – NEPA)

ในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เราอาจดูไปที่การเจือปนของมลพิษในแม่น้ำ การลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ละเอียดอ่อน การทำลายสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ การทำลายพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางวัฒนธรรม รัฐบาลไทยนำเข้าเกณฑ์นี้มาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2518 และมีปรับปรุงพัฒนาระเบียบเกณฑ์การประเมินเรื่อยมา โครงการใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบจะต้องทำรายงานประเมินออกมาเป็นรูปเล่มที่มีขนาดยืดยาวเป็นหลักร้อยหลักพันหน้าเพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่จะทำอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากน้อยเพียงใด

ต่อมาเรื่องนี้ถูกพัฒนาไปอีกขั้นเมื่อเพิ่มอีกมุมหนึ่งที่สำคัญแต่ขาดไป นั่นคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียง นักวิชาการจึงพัฒนาตัวชี้วัดรูปแบบใหม่ขึ้นมาเรียกว่า EHIA หรือ Environmental Health Impact Assessment โดยเพิ่มปัจจัยด้านสุขภาพเข้าไปในเกณฑ์การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาด้วย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกพยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ใช้เกณฑ์ดังกล่าวในช่วงทศวรรษที่ 1990

แต่ทั้ง EIA และ EHIA ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะเกณฑ์เหล่านี้มีไว้เพื่อประเมินผลกระทบโดยดูโครงการเป็นกรณีๆ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในรัศมีของโครงการหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้ดูผลรวมของผลกระทบทั้งหมดที่เกิดจากหลายโครงการ และสะสมเรื้อรังเข้าจนอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ได้ ด้วยเหุตนี้ สหภาพยุโรปจึงมีความริเริ่มในการใช้เกณฑ์ประเมินผลกระทบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Strategic Environmental Assessment (SEA) หรือ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ และใช้เกณฑ์ที่ว่านี้มาตั้งแต่ปี 2544 

หัวใจสำคัญของ SEA คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) จากการเน้นดูผลกระทบของโครงการเป็นหลัก (project-based) ไปสู่การเน้นดูศักยภาพของพื้นที่เป็นหลัก (area based) ว่าสามารถรองรับมลพิษได้มากน้อยเพียงใด นวัตกรรมที่ใช้เวลาสั่งสมและพัฒนาขึ้นมาตลอดหลายสิบปีนี้น่าจะช่วยป้องกันผลกระทบร้ายแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีก เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ในกรณีของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ว่า “การพัฒนาและผลักดันให้เกิดระบบ SEA ได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 - 2554) และ ฉบับที่ 11 (2555 – 2559) โดยกำหนดให้มีการปรับปรุงกระบวนการ SEA รวมทั้งใน ฉบับที่ 12 (2560 – 2565) กำหนดให้ผลักดันการนำแนวทาง SEA ให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และเพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรม จึงถูกกำหนดไว้ทั้งในแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561–2580 และในนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน

และสภาพัฒน์ฯ อีกเช่นกันที่ประเมินว่า “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ไปดำเนินการยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างเป็นระบบและมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม”

การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์นี่เองเป็นสิ่งโครงการอีอีซีสัญญาว่าจะทำ แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้ทำ ในประเด็นนี้ ดร. สมนึก เล่าให้ฟังว่าผู้กำหนดนโยบายเหมือนจะมองการใช้ SEA ในโครงการอีอีซีราวกับเป็น "ตัวถ่วงความเจริญ" 

“มันน่าตกใจตรงที่เราคุยกันชัดเจนว่าการทำอีอีซีต้องมีการทำ SEA ร่าง พ.ร.บ.แรกๆ เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า ถ้าจำเป็นจะต้องทำผังเมืองต้องมีการนำหลัก SEA มาใช้ด้วย แสดงว่ามีการคิดไว้ แต่พอร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เป็นร่างที่  2 ร่างที่ 3 คำว่า SEA ก็หายไป เหมือนมีใครไม่รู้มาเร่งรัด กลัวว่า SEA จะเป็นตัวถ่วงความเจริญ ทำให้กระบวนการช้าลง จึงตัดออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด แม้ SEA อาจเป็นการประเมินอย่างหยาบในสามจังหวัดก็จริง แต่เราจะรู้ว่าตรงไหนควรทำอะไร และตรงไหนไม่ควรทำอะไร

สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือหากไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ แล้วโครงการอีอีซีใช้เกณฑ์อะไรในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลในเว็บไซต์ของอีอีซีจะระบุว่าได้มีการประกาศแผนสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561-2564 ออกมาระบุว่า จะใช้เงิน 13,500 ล้านบาทในการดำเนินงานทั้งหมด 86 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการเร่งด่วน 14 โครงการ ส่วนใหญ่แล้วเป็นโครงการจัดการขยะมูลฝอยและระบบบำบัดน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรร มาตรการลดผลกระทบเหล่านี้อาจจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าเพียงพอแล้วหรือไม่

การไม่มี SEA ในศตวรรษที่ 21 ดูเหมือนว่าแย่แล้ว แต่บางโครงการก็ยังย่อหย่อนในเรื่องการประเมิน EIA ทำให้สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วง สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม พบว่าอุตสาหกรรมหลายรายในโครงการอีอีซีเป็นอุตสาหกรรมเดิมที่เคยตั้งอยู่แล้ว จึงไม่ต้องทำ EIA ใหม่

“การยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมฯ ต้องมีการยื่น EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบแล้วด้วย แต่ปัญหาคือ การยื่นขอที่ผ่านมาเป็นประเภทนิคมอุตสาหกรรมเดิม จึงมีการยื่นพร้อมกับแนบ EIA ฉบับเดิมที่ผ่านความเห็นชอบมานานแล้วไปประกอบการพิจารณา ไม่ได้ทำใหม่”

ข้อสังเกตที่ว่านี้สอดคล้องกับเอกสารเชิงนโยบายของอีอีซีวอชต์ที่แสดงความกังวลในลักษณะเดียวกัน ไม่แน่ว่าบางโครงการที่ขออนุมัติมานานแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ จะเข้าข่ายได้รับอนุมัติเลยโดยไม่ต้องมีการอัพเดตรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง และอาจเป็นไปในทางที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สำหรับเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ. อีอีซี กำหนดไว้ในมาตรา 8 (โดยยังไม่มีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ) ว่า:

“การดำเนินโครงการหรือกิจการใดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชนตามที่มีกฎหมายกำหนด ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการนั้น โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานที่ถูกต้องและมีข้อมูลครบถ้วน”

ข้อความข้างต้นมีนัยสำคัญ คือ

ประการแรก ปกติแล้วการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผลกระทบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ชุดหนึ่งๆ มี 9 คนด้วยกัน โดยพิจารณาประเด็นแยกตามความชำนาญ ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการเหมืองแร่ โครงการพัฒนาปิโตรเลียม โครงการกลั่นน้ำมันและแยกก๊าซธรรมชาติ โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ โครงการระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุน และโครงการอาคาร การที่ พ.ร.บ. อีอีซี กำหนดไว้เช่นนี้หมายความว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนเองเป็นการเฉพาะ

หากพิจารณาร่วมกับวรรคอื่นของมาตรา 8 จะพบว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติความเชี่ยวชาญตามกฏหมายทั่วไป ilaw แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เช่นกัน ในวรรคที่พูดถึงส่วนนี้ระบุว่า: 

“ในกรณีที่ไม่มีผู้ชํานาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสําหรับโครงการหรือกิจการใด หรือมีแต่ไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้มีผู้ชํานาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นให้เพียงพอโดยเร็ว โดยมิให้นําบทบัญญัติว่าด้วยการขอและการออกใบอนุญาต และ คุณสมบัติของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้บังคับ และจะอนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้”

ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชนของโครงการอีอีซี ระบุว่าปัจจุบันยังไม่สามารถสรรหาคณะกรรมการผู้ชำนาญการเช่นนี้ได้ โดยการพิจารณาโครงการต่าง ๆ ของอีอีซียังคงให้คณะกรรมการผู้ชำนาญที่มีแต่เดิมพิจารณาไปก่อน

ประการต่อมา ในกรณีที่มีการร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาลนั้น ปกติแล้วไม่ได้มีการเร่งรัดว่าจะต้องพิจารณาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด เพราะขนาดโครงการต่างกันออกไป ปริมาณเนื้อหาที่ต้องพิจารณาก็ต่างกันไป อย่างไรก็ตาม หากการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญสำเร็จลุล่วง ผู้ชำนาญการจะต้องอ่านและให้ความเห็นหรือความเห็นชอบภายใน 120 วัน

นักวิชาการอย่างสมนึกแสดงความกังวลว่า บางโครงการมีขนาดใหญ่มาก เอกสารประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอาจยาวนับพันหน้า เชื่อว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่สามารถอ่านอย่างละเอียดรอบคอบได้ภายใน 120 วัน ความกังวลนี้ถูกปัดตกไป เมื่อทัศนีย์ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถคาดการได้ว่ามาตราที่ว่านี้จะถูกนำมาใช้หรือไม่ และเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้เดินทางเข้าเพื่อยื่นหนังสือต่อรองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชนของอีอีซีเพื่อชี้แจงปัญหาการมีส่วนร่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม ประชาชนได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานครอีกครั้งในช่วงที่มีการประชุมครม. เพื่ออนุมัติหลักการโครงการอีอีซีและร่างประกาศผังเมือง

หน่วยงานภาครัฐชี้แจงประชาชนที่มาประท้วงว่า ขณะนี้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่แล้วไม่ต่ำกว่า 40 ครั้งตามที่กฏหมายกำหนด โดยแบ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการทั้งหมด 25 ครั้ง และไม่เป็นทางการทั้งหมด 15 ครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้ประท้วงยื่นหนังสือและขอให้ส่งหลักฐานการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ดังกล่าวให้ประชาชนทราบ กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานอีอีซีวอชท์ระบุว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งหลักฐานกลับมาแต่อย่างใด

เมื่อบริบทการใช้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปเพราะการขึ้นมาของระบอบ คสช. เมื่อปราศจากเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐาน และเมื่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ยังมีปัญหา อะไรคือผลกระทบที่ตามมา?

“ผมคิดว่ามันมีด้วยกัน 3-4 ภาพแล้วกันที่คนอาจจะมองเห็น”   กล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอีอีซี “เรื่องแรกคือเรื่องของมลพิษทางอากาศ มันมีข้อมติตั้งแต่ปี 2540 ว่าขณะนี้พื้นที่มาบตาพุดมันมีมลพิษเต็มพิกัดแล้ว เพราะงั้นมันจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา carrying capacity ก็คือการศึกษาความสามารถในการรองรับมลพิษของมาบตาพุดได้ แต่ด้วยเหตุผลที่มี carrying capacity เกิดขึ้น มันก็จะทำให้การลงทุนยากขึ้น มันก็เลยมีความพยายามที่จะดีเลย์ผลการศึกษา carrying capacity ออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าเทียบกันมันต้องศึกษา carrying capacity ไม่ใช่เฉพาะมาบตาพุดแล้ว มันก็ต้องทำเป็นภาพรวมของอีอีซี มันก็เป็นสิ่งที่เรายังไม่เห็นตัวเลขในการดำเนินการเลย แต่เราก็มีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่เอกชนไปซื้อที่รอไว้แล้ว โดยโมเดลขีดความสามารถในการรองรับเรายังมองไม่เห็น

“คราวนี้ประเด็นที่สองคือขีดความสามารถในการรองรับที่ว่า คำนี้มันถูกใช้ในแง่มลพิษทางอากาศ แต่ concept นี้มันก็ต้องใช้กับน้ำ ที่ดิน รวมถึงการจัดการขยะ แต่ปรากฏว่ามันไม่มีการนำคำนี้ไปใช้ในเรื่องอื่นที่เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่มันจะเป็นปัญหาตามมาก็คือเรื่องน้ำนี่แหละ ซึ่งสุดท้ายเขาก็คิดได้ว่าน้ำจะพอหรือไม่พอ แต่พอน้ำมันไม่พอ เขาไม่ได้กลับมาสู่ carrying capacity มันกลับไปสู่ว่าจะเอาน้ำมาจากไหน อันนี้ก็คือเหตุผลที่จะต้องไปเอาน้ำมาจากจันทบุรีหรือกัมพูชาด้วยซ้ำ

“ประเด็นที่สามคือขยะอันตราย เราก็จะเห็นภาพเลยว่าการควบคุมการจัดการขยะอันตราย เราควบคุมไม่ได้ เราก็เลยเห็นโรงงานที่อยู่ในระดับมาตรฐานบวกกับอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงยังคงลักลอบไปทิ้งข้างนอก” (ในประเด็นนี้ สฤณี อาชวานันทกุลเขียนเสริมเอาไว้ในคอลัมภ์ “อีอีซีกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่าสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีนั้น “ปริมาณทั้งหมด 5.07 ล้านตันต่อปี เข้าโรงงานกำจัดแจ้งรับเพียง 2.47 ล้านตันต่อปีเท่านั้น เท่ากับมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดมากถึง 55.26%“)

“ตัวอย่างสุดท้ายก็คือเรื่องผังเมือง ผังเมืองที่มีมันก็จะมีช่วงเวลาที่เราเรียกว่ามันเป็นช่วงปล่อยผีหรือช่องโหว่ ที่ผังเมืองมันไม่ได้มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ประกาศให้ผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่มีผลบังคับใช้ อันนี้มันก็เลยกลายเป็นว่านายทุนไปซื้อที่ไว้ก่อน ก่อนที่จะมีการบอกว่าพื้นที่นี้เหมาะสมจะเป็นอะไร ก็เลยเป็นปรากฏการณ์ที่ว่าตรงพื้นที่นี้เล็งไว้แล้วว่าจะเป็นอมตะเฟสสอง แล้วก็ต้องการจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง ทั้งที่ข้อเท็จจริงความเหมาะสมที่สุดมันคืออะไร ยังไม่ได้ถูกวิเคราะห์จากมุมของภาพรวม แต่เราตัดสินใจจากมุมที่นายทุนไปซื้อที่ไว้แล้ว (ในประเด็นนี้ สามารถอ่านเรื่องการแย่งยึดที่ดินได้ในรายงานชิ้นต่อไป)

อะไรคือทางออก?

หลังจากมีการเปลี่ยนจากการใช้คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี ไปเป็นการใช้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เป็นกลไกหลักทดแทน คณะกรรมการนโยบายอีอีซีได้มีการปรับเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นจากสูงสุด 17 คนเป็น 24 คน โดยจำนวนที่เพิ่มมาส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีจากกระทรวงต่าง ๆ จากรายงานในเดือนมีนาคม 2562 ครม. มีมติประกาศลดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการนโยบายอีอีซี โดยประธานกรรมการนโยบายปรับลดลงจาก 25,000 บาท เป็น 10,000 บาทและกรรมการนโยบายจาก 20,000 บาทเป็น 8,000 บาท

หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 คณะกรรมการนโยบาย ตาม พ.ร.บ. พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ปัจจุบันมีทั้งหมด 24 คน ประกอบด้วยสมาชิกคณะรัฐมนตรี 15 คนจาก 13 กระทรวง นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายยังรวมถึงสมาชิกซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 คน

หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลพลังประชารัฐมีพรรคร่วมถึง 19 พรรค ส่งผลให้มีการปรับคณะกรรมการนโยบายเพื่อกระจายตำแหน่งให้กับพรรคร่วมรัฐบาลตามรายชื่อข้างต้น อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าคณะกรรมการยังสามารถดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นเอกภาพได้หรือไม่ ประชาชาติธุรกิจตั้งข้อสังเกตว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ทำงานได้ไม่เต็มไม้เต็มมือเหมือนสมัย ครม. ประยุทธ์ 1 เพราะมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามากำกับดูแล “เศรษฐกิจรากหญ้า”

นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูลจากพรรคภูมิใจไทยยังเข้ามาดู “เมกะโปรเจ็กต์” ด้วย โดยเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อโครงการอีอีซีมากขึ้นในช่วงหลังในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม จะเห็นได้จากที่ในช่วงที่ผ่านมานายอนุทินระบุว่าพร้อมจ่ายเงิน 200 ล้านบาทในการรื้อถอนโครงการโฮปเวลล์ด้วยตัวเอง หลังจากบริษัท CP ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินยังไม่ยอมลงนามและขอเลื่อนเจรจาหลายครั้งกว่าจะลงนาม เพราะปัญหาเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่กว่า 4,421 ไร่ ซึ่งโครงการโฮปเวลล์เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าว

ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องเผชิญศึกหนักขึ้นในการผลักดันโครงการอีอีซี เพราะว่าบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดขึ้น แม้การชุมนุมยังต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ชุมนุม 2558 ซึ่งสร้างข้อจำกัดให้กับการชุมนุมอย่างมาก ยังไม่รวมว่าเจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจในการตรวจค้น สอบสวน และฝากขัง 7 วัน ได้ตามข้ออื่น ๆ ของคำสั่ง 3/2558  แต่การยกเลิกคำสั่ง คสช. 3/2558 เฉพาะข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 ในช่วงปลายปี 2561 ส่งผลให้ประชาชนสามารถจัดการชุมนุมและตั้งคำถามต่อการดำเนินงานของโครงการอีอีซีได้มากขึ้น สังเกตจากการที่ประชาชนในภาคตะวันออกเดินทางเข้ามาในกรุงเทพ ฯ เพื่อชุมนุมและยื่นหนังสือทวงถามข้อเรียกร้องของกลุ่มได้บ้างแล้ว และเตรียมฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับโครงการไว้ก่อน

การต่อสู้ของภาคประชาชนมีประสิทธิภาพหรือไม่? แรงกดดันจากภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมาสามารถสร้างอุปสรรคให้กับรัฐบาลได้ไม่มากก็น้อย ยิ่งหลังการเลือกตั้ง 2562 ด้วยแล้ว การที่ 7 พรรคฝ่ายค้านเข้ามาตั้งกระทู้ถามในสภาเกี่ยวกับโครงการอีอีซีได้นับว่าเป็นอุปสรรคเช่นกัน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งคณะกรรมธิการสภาเพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการอีอีซี แต่การที่พรรครัฐบาลต้องพยายามใช้เทคนิคในระเบียบรัฐสภาเพื่อหลีกเลี่ยงการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวแต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ชี้ให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้านมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

แต่การที่การเมืองเปิดขึ้นจะสามารถนำไปสู่ทางออกด้วยตัวมันเองได้หรือไม่ สุดท้ายแล้วอะไรคือทางออก? จากการพูดคุยกับเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้ซึ่งศึกษาผลกระทบของการไม่ประกาศนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และอนาคตของภาคตะวันออกก่อนที่จะมี EEC ในช่วง พ.ศ. 2550-2556 เราอาจพบว่างานวิจัยดังกล่าวยังใช้ได้กับปัจจุบัน เพราะช่วยให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้รูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น 3 ทางด้วยกัน ได้แก่ ชีวิตปลายปล่อง ทุนนิยมก้าวหน้า และไทสร้างสรรค์

“ชีวิตปลายปล่องก็หมายถึงการพัฒนาในลักษณะแบบที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ คือ อยู่ ๆ เราก็จะไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรโผล่ขึ้นมา แล้วก็ชีวิตของพี่น้องประชาชนก็ต้องลุ้นว่าจะเกิดขึ้นอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันเป็นเรื่องร้ายอย่างเดียว อาจจะมีเรื่องดีด้วย แต่ว่ามันเป็นลักษณะของการเกิดเรื่องดีที่อาจจะเรียกว่าไม่สามารถบังคับได้เอง ไม่สามารถที่จะควบคุมกำกับชีวิตของตัวเองได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าอนาคตของเศรษกิจ ของประเทศ ของสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เราเรียกว่าวิถีชีวิตปลายปล่อง ภาพนี้ถ้าถามว่ามันใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็นภาพปัจจุบัน

เมื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพ scenario นี้ เราอาจเสนอได้ว่าทางออกค่อนข้างเรียบง่าย กล่าวคือ รัฐบาลต้องมีความเข้มแข็ง โดยต้องไม่มีการยกเว้นกฏหมายสำคัญเพื่อผลประโยชน์ในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น กฏหมายผังเมือง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. อีอีซี รวมไปถึงจัดการกับผลพวงของคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจรวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 279 ซึ่งยังผลให้คำสั่ง คสช. ชอบโดยกฏหมายทุกประการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรส่งเสริมให้มีการประเมินขีดความสามารถของพื้นที่ในการรองรับอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยใช้การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยอย่างจริงใจ อย่างไรก็ตาม เดชรัตน์ไม่ได้มองเพียงแค่นี้

“ทุนนิยมก้าวหน้า (ซึ่งรัฐบาลตอนนั้นยังไม่ได้พูดคำว่าอีอีซี) หมายความว่าถ้ารัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาภาคตะวันออกจริง ๆ จัง ๆ มันก็อาจจะต้องมีความจำเป็นที่พูดถึงความครบถ้วนของความเป็นทุนนิยมในความหมายที่ ยกตัวอย่างเช่น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การลงทุนในเรื่องการศึกษาที่เพรียบพร้อมมากขึ้น การให้หลักประกันทางด้านแรงงานที่ครบถ้วน เป็นคำว่าก้าวหน้าจริง ๆ ไม่ใช่ทุนนิยมที่เติบโตอย่างเดียว แต่เป็นทุนนิยมก้าวหน้า ถ้าจะเรียกมันก็อาจจะคล้ายกันกับโมเดลของสแกนดิเนเวีย เป็นทุนนิยมที่เป็นอุตสาหกรรม แต่ว่ามันมีความพร้อมในด้านอื่นที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

หากมองมาที่ scenario นี้ ทางออกคือรัฐบาลจะต้องกระจายรายได้ของเอกชนและกลุ่มอุตสาหกรรมผ่านการให้สวัสดิการประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เดชรัตน์เห็นว่าการพูดถึงประเด็นนี้ยังติดข้อจำกัดทางวัฒนธรรม เพราะคนจำนวนมากในสังคมยังมองว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจ แต่หากมีการผลักดันอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยต่อยอดจากสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว เช่น การเพิ่มเบี้ยคนชรา รัฐสวัสดิการก็อาจเกิดขึ้นได้

แต่การมีรัฐสวัสดิการก็ไม่ได้เป็นข้อสรุปสุดท้ายของเส้นทางการพัฒนา เพราะการมีรัฐสวัสดิการไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทุนผูกขาด ฉะนั้น หัวใจอย่างหนึ่งก็คือประเด็นว่าด้วยเรื่องการกระจายอำนาจและเสริมพลังอำนาจของท้องถิ่น นำไปสู่การพูดถึงเรื่องไทสร้างสรรค์ซึ่งเป็น scenario ที่ 3 “ไทสร้างสรรค์ คำว่าไทไม่มี ย.ยักษ์ คำว่าไทไม่มี ย.ยักษ์ มันกระจายกันอยู่ในหลายโหมดการผลิต แล้วก็หาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองสามารถดำรงอยู่ได้โดยที่รัฐบาลก็มีนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการดำรงอยู่ของวิถีไทสร้างสรรค์ ก็คือวิถีการผลิตหลาย ๆ แบบ วิถีวัฒนธรรมหลาย ๆ แบบในภาคตะวันออก”

เมื่อถามว่าตอนนี้เราอยู่ใกล้เคียงกับ scenario ไหนกันแน่ เดชรัตน์ตอบว่า “เราก็ประเมินกันว่า ถ้าเป็น scenario ที่สองและสาม มันก็น่าจะดีกว่า scenario แรก แล้วมันก็อาจจะเป็นการผสมระหว่างสองกับสาม แต่เราก็ยังไม่เห็นท่าทีว่ารัฐบาลจะหนีออกมาจาก scenario แรก” เมื่อตอนสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม เมื่อถามว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเลวร้ายกว่าในสมัย พล.อ. เปรมหรือไม่ เดชรัตน์ตอบว่า:

“มันตอบยากไงว่าเราเลวร้ายกว่ามั้ย มันอยู่ที่เราจะมอง คือถ้าเรามอง พล.อ. เปรม มันก็เลวร้ายตรงที่เราไม่ได้ต่อรองกับเขาเลย เพราะเรายังไม่รู้อะไรเลย แต่ยุคนี้ก็คือเรารู้แล้ว แต่เขาไม่ให้เราต่อรองเลย คือถ้าเรามองว่าตอนนี้เลวร้ายกว่าตอนนั้นที่เราไม่รู้เพราะว่าตอนนั้นเราไม่รู้ ก็แล้วแต่เราจะมองว่ายังไง แต่ว่ามันก็เป็นภาวะการณ์ที่ไม่ดีทั้งคู่เลยทั้งสองสถานการณ์ โดยเฉพาะถ้าพูดให้แย่หน่อยก็คือในเมื่อเราเคยรู้แล้ว ทำไมเราจะย้อนกลับไปไม่รู้อีก”

หากมองอย่างมีความหวัง เราอาจจะบอกได้ว่าปัจจุบันนี้โชคดีที่เรารู้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สิ่งที่รู้มาแล้วหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net