ปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้ง12 เร่งเครื่องผลักนโยบายสุขภาวะให้เป็นจริง

วันสุดท้ายของการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ตัวแทนแวดวงการศึกษาชื่นชมและพร้อมปรับใช้เครื่องมือและวิธีทำงานของภาคีสายสุขภาพ ชี้การศึกษาไทยยังเหลื่อมล้ำสูง เด็กทักษะต่ำ ชีวิตไร้ฝัน อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทยืนยันคำตอบสุดท้ายอยู่ในพื้นที่ เตรียมผลัก ‘หมอครอบครัว’ จับคู่ 10,000 ประชากร 1 หมอ ขณะที่หมอประทีปหัวเรือใหญ่ สช. ชวนทุกฝ่ายเร่งเครื่องทำงานสานพลังขับเคลื่อนมติที่เป็นนโยบายสุขภาวะสู่การปฏิบัติจริง โดยเน้นงานพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและตำบล

24 ธ.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานกิจกรรมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 วันสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ ว่า “Growth Mindset คือทัศนคติที่เชื่อว่าชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้ผ่านความพยายามและการพัฒนาตนเอง แต่จากผลการสำรวจระดับโลกพบว่า เด็กไทยเกินครึ่งเชื่อว่าตัวเองเกิดมาอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น เขาเกิดมาจนก็จะจนต่อไป เกิดมาไม่เก่งก็จะไม่เก่งตลอดไป ขณะที่เด็กๆ ในประเทศอื่นเชื่อว่าชะตาชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงได้”

ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อว่า ทัศนคตินี้สะท้อนปัญหาหลายมิติของการศึกษาไทย ที่ผ่านมาแวดวงการศึกษาพยายามศึกษาเครื่องมือและการทำงานของสายสุขภาพ โดยหวังจะนำมาปรับใช้ท่ามกลางข้อจำกัดของมากมาย หลังการปฏิรูปการศึกษาไทยในปี 2542 ก็ปฏิรูปเพียงโครงสร้างองค์กรและผลลัพธ์ที่ได้ก็ลดลง ดูได้จากผลการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือ PISA ในปี 1970 ไทยเคยได้คะแนนเท่ากับฟินแลนด์ แต่ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบัน และยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก PISA ระบุว่า เด็กไทยมากกว่าร้อยละ 50 มีทักษะอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน สอดคล้องกับผลการสำรวจที่ว่าเด็กที่ครอบครัวฐานะดีกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนไม่กี่แห่ง โรงเรียนที่ยากจนมีนักเรียนยากจนมากกว่าร้อยละ 85

เขากล่าวด้วยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่พยายามขับเคลื่อนงานจากฐานรากและใช้ข้อมูลเป็นฐานเช่นเดียวกับที่คนในฝ่ายสุขภาพทำ ปัจจุบันกองทุนฯ ได้จัดทำระบบบัญชีเพื่อการศึกษา รวมถึงฐานข้อมูลเด็ก ผู้ปกครอง เศรษฐสถานะของเด็ก เพื่อประกอบการพิจารณาให้ทุน การดูเศรษฐสถานะทำให้ได้ข้อมูลอื่นๆ เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น เด็กไทย 6 แสนคนที่ทำการสำรวจ มากกว่าครึ่งมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน 

ขณะที่ นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ  ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต12 อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า รูปแบบการทำงานของสายสุขภาพคือ พยายามสร้างฐาน สานพลังแนวราบมาตลอด เพราะคำตอบสุดท้ายอยู่ในพื้นที่ รูปธรรมการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่พื้นฐานแนวคิดของคนทำงาน หัวใจในการทำงานคือการบริการที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ หรือ humanize healthcare เพราะต้องทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย ต่อมาการทำงานยิ่งขยายต่อยอดไปเมื่อมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้มีกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในทุกพื้นที่  เป็นกลไกที่มีที่มาจากคนในพื้นที่จริงๆ จนถึงวันนี้มีพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยดูแลสุขภาพที่อยู่ใกล้ชาวบ้านมากที่สุดมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานระยะต่อไปจะเป็นการเร่งดำเนินการตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายที่เขียนเรื่องสารสนเทศไว้ว่า ภายใน 10 ปีจะมีการจับคู่ชื่อแพทย์กับประชาชน โดยประชาชน 10,000 คนจะมีหมอ 1 คนดูแล เรียกว่า ‘หมอครอบครัว’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับทีโอทีและสมาคมดิจิทัลเพื่อจัดระบบให้ข้อมูลการรักษาประชาชนไม่ว่ารักษาที่ไหนจะเชื่อมต่อกันทั้งหมดและจะวิ่งเข้ามาที่หมอครอบครัวประจำตัวด้วย

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หากพูดเรื่องสุขภาวะในยุคดิจิทัลคงต้องพูดเรื่องความฉลาดทางดิจิทัล (digital intelligent) มากขึ้น เพราะแม้ว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย แต่อีกด้านหนึ่งที่ต้องเตรียมรับมือคือ มนุษย์ในอนาคตจะประสบภาวะโรคซึมเศร้า และยิ่งรู้สึกเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว พวกเขาอาจตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ความหมายของชีวิตอีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยข่าวปลอม (fake news) การไวรัล (viral) ของ hate speech และการคุกคามออนไลน์ (cyber bully) ความยากของสื่อในยุคดิจิทัลคือการสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบ ส่วนเรื่องเนื้อหาก็ต้องสู้กับ disruption ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  รวมถึงการสร้างสมดุลในมหาสมุทรข้อมูลข่าวสาร เพราะทิศทางโลกออนไลน์ถูกยึดกุมโดยฝ่ายขวาจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการสร้างสมดุลในที่นี้ไม่ใช่ไปเซ็นเซอร์ด้านมืด แต่ต้องเอาด้านสว่างเติมเข้าไป รวมถึงต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการสืบค้นข้อเท็จจริง (hacking culture) มาท้าทายกัน

ปิยนุช วุฒิสอน ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวว่า หากดูความหมายสุขภาวะในระดับรัฐบาลจะพบว่ารัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องสวัสดิการสุขภาพหลายมาตรา ยุทธศาสตร์ชาติก็ระบุลักษณะของคนไทยว่าควรจะ “เก่ง ดี มีสุขภาวะ” ส่วนเทคโนโลยีกับสุขภาพนั้นก็สัมพันธ์กันอย่างมาก DE จึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ระบบ 5G จะช่วยสามารถผ่าตัดทางไกลได้อย่างแม่นยำ ขณะนี้เราพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม สร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชนและอีกหลายโครงการ โดยทั้งหมดจะสนับสนุนระบบสุขภาพโดยรวมด้วย

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทหลักของ สช. คือ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านเครื่องมือตามพระราชบัญญัติสุขภาพ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสนับสนุนความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย สำหรับการทำงานในปี 2563 สช. จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายซึ่งส่วนมากก็เกิดจากมติสมัชชาสุขภาพให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานในพื้นที่โดยเฉพาะระดับจังหวัดและตำบล ดังนั้น สช. จึงต้องการชวนภาคีระดับชาติสานพลังการทำงานให้ได้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช. สช. จับมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงศึกษาธิการ เอาภารกิจและเครื่องมือของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และเน้นการสร้างเครื่องมือและความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาจังหวัดขึ้นมาให้ได้ อาทิ การจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่จับต้องได้ โดยจะต้องสร้างทีมพี่เลี้ยงที่รู้เครื่องมือของหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปใช้สร้างเป้าหมายหรือธรรมนูญสุขภาพร่วมกัน เพื่อให้เป็นแนวทางการทำงานของพื้นที่ แล้วใช้การจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบประมาณกองทุนสุขภาพของ สปสช. และท้องถิ่น ในการดำเนินงาน 

ในช่วงพิธีปิด มีการปาฐกถาพิเศษโดย ค๊วต ถิ ห๋าย อวาน (Mrs. Khuất Thị Hải Oanh) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ศูนย์สนับสนุนการพัฒนาชุมชน (Center for Supporting Community Development Initiatives : SCDI) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า  “สงครามเวียดนามเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นสงครามนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ ตลอด 20 ปีของสงคราม ประชาชนราว 2 ล้านคนเสียชีวิต แต่จำนวน 2 ล้านนี้คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียในเวลาเพียง 4 ปี จากวัณโรคในเวลา 2 ปี และจากโรคไม่ติดต่อในเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น สุขภาพเป็นประเด็นสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะการทำงานเป็นแพทย์ช่วยเหลือผู้คนมากมาย พบว่า การทำงานด้านนโยบายสุขภาพสำคัญมากและอาจแก้ต้นตอของปัญหาได้มากกว่า เช่น ในอดีตคนเวียดนามที่ติดเชื้อ HIV มากกว่าร้อยละ 80 มาจากเหตุที่มาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ใช้ยาจึงเสียชีวิตทั้งจากการใช้ยาเกินขนาดและติดเชื้อ HIV จากนั้นมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักจนกระทั่งมาตรการเหล่านั้นถูกกฎหมายในปี 2549 แล้วก็พบทันทีว่าผู้ติดเชื้อ HIV จากการใช้เข็มฉีดยาที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในไม่ถึง 10 ปี นั่นคือพลังของการทำงานเพื่อสร้างนโยบายที่ดี และตัวอย่างการทำงานของประเทศไทยก็เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของตนเอง”

หลังจากนั้น นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 12 พ.ศ.2562 ได้กล่าวปิดการประชุมว่า เราได้เห็นความทุ่มเทและความตั้งใจของทุกฝ่ายในการทำงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงข้อเสนอต่างๆ จนเป็นระเบียบวาระและกลายเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการนำมติเหล่านี้ไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ จึงขอเชิญชวนทุกภาคีผลักดันการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้มติเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ พร้อมกันนี้ได้มีพิธีส่งมอบภารกิจการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 13-14 (พ.ศ. 2563-2564) แก่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบให้เป็นประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในอีก 2 ครั้งต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท