Skip to main content
sharethis

ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี “เบญจา” อดีต รมช.คลัง ช่วย “พานทองแท้-พินทองทา” กรณีแอมเพิลริชซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ นอกตลาดหลักทรัพย์ ในราคาต่ำกว่าตลาด 49 เท่า และได้รับการยกเว้นภาษีทุกทอด เสียหายกว่า 7.9 พันล้านบาท

27 ธ.ค. 2562 - เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 ธ.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร กริช วิปุลา นุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยาทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ให้พานทองแท้ ชินวัตร และพินทองทา ชินวัตร (คุณากรวงศ์) บุตรของทักษิณ ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย จากกรณีการซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 เสียหายกว่า 7.9 พันล้านบาท

ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยที่ 1-5 มาศาล เบื้องต้นศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1-5 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 อ้างว่า ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนทั้งทางอาญาและทางวินัย ขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำผิดดังกล่าวร้ายแรง ส่วนจำเลยที่ 5 (ปราณี) มีพฤติการณ์ปกปิดข้อเท็จจริงการกระทำความผิดในคดีนี้ จึงไม่ลงโทษสถานเบา

อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1-5 ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงพิพากษาแก้โทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 โดยจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 5 น.ส.ปราณี ฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2562 ในการนัดหมายอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 5 น.ส.ปราณี อ้างว่า ป่วยกะทันหัน เป็นโรคบ้านหมุน ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 2562 โดยทนายจำเลยที่ 5 น.ส.ปราณี มีใบรับรองแพทย์มายื่นคำร้องขอให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไปก่อน ศาลฯ พิเคราะห์แล้ว น่าเชื่อว่าป่วยจริง จึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 26 ธ.ค. 2562 เวลา 10.00 น.

สำหรับคดีนี้ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เบญจา จำรัส โมรี และกริช มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 จำคุกคนละ 3 ปี ส่วนปราณี มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมด จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

สำหรับรายละเอียดคดีนี้ จำเลยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ไม่ให้พานทองแท้ ชินวัตร และ พินทองทา ชินวัตร ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย จากกรณีการซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดเมื่อปี 2549 คนละ 164.6 ล้านบาท ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท (ราคาตลาดขณะนั้น 49.25 บาท) ถือได้ว่าพานทองแท้ และพินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้นคนละ 7,941,950,000 บาท (ราว 7.9 พันล้านบาท) ทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย

รายงานในไทยพับลิการะบุว่า คดีภาษีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ นี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2548 ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาทักษิณ ชินวัตร ทำหนังสือมาสอบถามกรมสรรพากรว่า “กรณี Ample Rich Investment Limited (บริษัทแอมเพิลริช) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ที่หมู่เกาะ British Virgins Islands ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2542 จำนวน 32.92 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท จากนั้นในระหว่างที่บริษัทแอมเพิลริชถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ ได้ทำการลดราคาพาร์เหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริช ถือครองอยู่เพิ่มเป็น 329.2 ล้านหุ้น และต่อมา บริษัทแอมเพิลริช ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ถือครองทั้งหมดให้พานทองแท้ในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ปราณีจึงสอบถามกรมสรรพากรว่า กรณีพานทองแท้ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ จากบริษัทแอมเพิลริชต้องเสียภาษีหรือไม่?

ปรากฏว่าเบญจา หลุยเจริญ ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (ซี 10) ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/7896 ลงวันที่ 21 ก.ย. 2548 ตามความเห็นของสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ได้ตอบข้อหารือกับปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ว่า “กรณีพานทองแท้ และพินทองทา ชินวัตร (โอ๊คและเอม) ซื้อหุ้นชินคอร์ปในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาดไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีบริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้พานทองแท้และพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ก็ไม่เข้าข่ายพนักงาน หรือ กรรมการ ได้รับแจกหุ้น หรือ ได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เพราะหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริชซื้อไว้ ถือเป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัท ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ออกเอง”

วันที่ 23 ม.ค. 2549 พานทองแท้และพินทองทา ชินวัตร จึงนำหุ้นชินคอร์ปฯ ขายให้กับกองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผลให้กระบวนการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ตั้งแต่บริษัทแอมเพิลริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้พานทองแท้ และพิณทองทา ราคา 1 บาท เพื่อนำไปขายต่อให้เทมาเส็กในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ทุกทอด

ที่มา: ไทยพับลิก้า มติชนสุดสัปดาห์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net