Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ถนนเกียกกาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เชิญ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจ้งประเด็น “มาตรฐานในการพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เข้ายึดถือหรือครอบครองที่ดินของรัฐ” โดยเฉพาะในกรณีที่ดินฟาร์มไก่ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในขณะนี้

กรมป่าไม้ถามกฤษฎีกากรณีที่ดินฟาร์มไก่ ราชบุรี ถ้าเป็นคนยากไร้จะได้โอกาสเดียวกันหรือไม่

ในกรณีที่ดินฟาร์มไก่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กมธ.ที่ดินฯ มีข้อสงสัยว่าทำไมกรมป่าไม้จึงต้องมีการสอบถามทางคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากกรมป่าไม้ เคยถามประเด็นที่คล้อยกันไปตั้งแต่ปี 2536 โดยกฤษฎีกาได้ตอบกลับว่า “ผู้ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เข้าทำประโยชน์ ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือประมวลกฎหมายที่ดิน หากเข้ากระทำการใดๆ อันเป็นการแผ้วถางในเขตที่กล่าวไว้ข้างต้น ถือว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 54 และมีความผิดตามมาตรา 72 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้” นอกจากนี้ในกรณีคล้ายกับกรณีที่ดินฟาร์มไก่ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เปรียบเทียบกันได้หลายกรณี ซึ่งเป็นข้อสงสัยว่าถ้าเป็นการบังคับใช้กฎหมายกับคนยากไร้ คนจน จะมีโอกาสหรือได้รับการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเช่นเดียวกันบ้างหรือไม่

3 มาตรการเอาผิดผู้ครอบครองที่ดิน สปก. แบบผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ เรื่องมาตรการพิจารณาบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เลขาธิการ ส.ป.ก. ชี้แจงว่าในกรณีที่ผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ขาดคุณสมบัติหรือถือครองที่ดินเกินกว่าเนื้อที่ที่กฎหมายกำหนด ทาง ส.ป.ก.จะต้องเจรจาให้ส่งมอบพื้นที่คืนให้ ส.ป.ก. โดยที่หากไม่ดำเนินการส่งมอบที่ดินคืน ส.ป.ก. ก็จะมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1) กรณีที่มีการถือครองที่ดินเกินกว่า 500 ไร่ ส.ป.ก. มีมาตรการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย เช่น ไล่ผู้ครอบครองออกจากพื้นที่ สั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และกรณีที่มีการถือครองที่ดินไม่เกิน 500 ไร่ ส.ป.ก. จะใช้มาตรการทางแพ่ง เพื่อฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

2) กรณีที่มีการใช้ที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีลักษณะเพื่อประโยชน์ทางการค้า สปก. สามารถดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

3) ส.ป.ก. สามารถดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายที่ดิน ม.9 ที่กำหนดห้ามครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษปรับและจำคุกตาม ม.108 ทวิ ทั้งนี้แต่เดิมในบางคดีพนักงานอัยการเคยฟ้องคดีฐานบุกรุก ตาม ม.365 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย

คสช. ให้ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก. ตั้งแต่ปี 59 แต่ยังไม่ถึงที่ดินฟาร์มไก่

เลขาธิการ ส.ป.ก. ให้ข้อมูลว่า มีพื้นที่ประกาศการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 จำนวน 443,000 ไร่ แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ 1) กลุ่มที่นำมาจัดใหม่ไม่มีเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ จำนวน 33,055 ไร่ และ 2) กลุ่มที่เป็นที่แปลงใหญ่ที่มีคนครอบครองอยู่ ประมาณ 260,000 กว่าไร่ และอีกส่วนหนึ่งก็มีการกันให้เป็นป่า เป็นแหล่งน้ำ เป็นชุมชนอีก 142,000 ไร่ โดยสำนักงาน ส.ป.ก. ดำเนินการในลักษณะนี้อยู่ 33,000 กว่าไร่ และมีรายชื่อพื้นที่อยู่เป็นรายจังหวัด

สำหรับที่ดินในเขต ส.ป.ก จำนวน 682 ไร่ ที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่กำลังเป็นข่าว เลขาฯ ส.ป.ก. กล่าวว่าการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ทาง ส.ป.ก. ดำเนินการมาแล้ว 9 แปลง โดยแปลงดังกล่าวกำลังเป็นแปลงที่ 10 ที่อยู่ในแผนที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งน่าแปลกใจเพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวนั้นใช้บังคับมาเป็นระยะกว่า 3 ปีแล้ว “ทำให้เกิดคำถามว่าในระยะเวลาก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจไม่พบการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และไม่ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 ได้อย่างไร”

เงื่อนไขเปลี่ยนป่าสงวนเป็นที่ดิน ส.ป.ก.

กมธ.ที่ดิน ได้สอบถามถึงประเด็นข้อกฎหมายว่าอะไรคือ มาตรฐานการแบ่งช่วงเวลาของอำนาจตามกฎหมายและขอบเขตความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. เพราะหากประเด็นเหล่านี้ไม่ชัดเจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศนั้นก็ไม่สามารถเป็นไปได้ จนนำไปสู่การโยนปัญหาไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

โดย เลขาฯ สปก. ชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 26 (4) เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนําที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอํานาจนําที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดําเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ

ทั้งนี้ในการพิจารณาว่าเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในส่วนใดได้ส่งมอบและเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 26 (4) สปก.จะใช้เงื่อนไขหลักในการพิจารณา 3 ข้อ คือ

1) มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
2) มีมติคณะรัฐมนตรีมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
3) มติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการเข้าดำเนินการปฏิรูปที่ดิน

เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อครบถ้วน ถือว่าเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทันที เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน อำนาจก็ยังอยู่ที่กรมป่าไม้ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะไปส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอย่างไร ขั้นตอนตามเงื่อนไข พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นี้ก็ไม่สามารถเป็นอื่นไปได้

การบังคับใช้กฎหมายที่ดินต้องไม่สองมาตรฐาน

ประเด็นสำคัญที่สุดของการพิจารณาครั้งนี้ คือ การบังคับใช้กฏหมาย เพราะที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่หากมีการทำผิดกฎหมายชาวบ้านจะถูกดำเนินคดีทันที แตกต่างกับนายทุนและผู้มีอิทธิพลซึ่งมักจะไม่ถูกดำเนินการ นั้นกลายเป็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐนั้นมีลักษณะการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนที่มีความเปราะบางทางสังคม คนจน คนยากไร้ มีการปฏิบัติในลักษณะสองมาตรฐานในการดำเนินคดี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและกฎหมายที่มีลักษณะอุปถัมป์ ทำให้มีการเลือกปฏิบัติ คนจนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรรมและถูกดำเนินคดีตามฎหมายมากกว่าคนกลุ่มอื่น

กระบวนการยุติธรรมสำหรับชาวบ้านนั้น เป็นสิ่งที่ยากและมีต้นทุนสูง มีข้อจำกัดมากกว่าผู้ที่มีอำนาจ การเข้าถึงเอกสารหลักฐานมีอุปสรรค และทัศนคติของผู้บังคับไช้กฎหมายที่มองคนยากจนในมุมลบ ซึ่งแตกต่างจากนายทุนอย่างชัดเจน ถึงแม้ในกรณีที่เป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งหน่วยงานรัฐจะถูกจับตาจากสังคม แต่การชี้แจงและการปฏิบัติของรัฐเมื่อเกิดเหตุการณ์ก็มีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงที่จะมีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้กระบวนการยุติธรรมที่เราต้องการจึงต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าบุคคลนั้นจะร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net