Skip to main content
sharethis

28 ธ.ค. 2562 โครงการ International Rivers แจ้งข่าวว่าหลังจากที่มีข่าวแจกของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2562 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่ากระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีหนังสือถึง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงฝ่ายไทย ลงวันที่ 27 ธ.ค.  2562 เรื่องแจ้งข้อมูลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหง ที่จะเริ่มปรับลดการระายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนจีนเพื่อดำเนินการทดสอบอุปกรณ์ของโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากวันที่ 27-31 ธค. อัตราการระบายน้ำ 1,200-1400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที จะเริ่มลดการระบายน้ำลงในช่วงวันที่ 1-3 มค. 2563 เป็น 800-1,000 ลบ.ม./วินาที และลดลงต่ำสุดในวันที่ 4 มค. ระบายน้ำอยู่ที่ 504-800 ลบ.ม./วินาที หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มการระบายน้ำจนกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ  

เนื้อหาของข่าว สทนช. ระบุอีกว่า สทนช.ได้ออกหลังสืออย่างเป็นทางการไปยังกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบสถานการณ์ดำเนินการเฝ้าระวัง และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าระดับน้ำโขงจะลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว แบ่งเป็น อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 2-4 มค. ลดลงประมาณ40-60 ซม. วันที่ 5 มค. จะเพิ่มขึ้น 30-50 ซม. ขณะที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ระดับน้ำเริ่มลดลงช่วง 8-11 มค. อ.เมือง จ.หนองคาย ช่วงวันที่ 10-13 มค. อ.เมือง จ.บึงกาฬ ช่วงวันที่ 11-14 มค. และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี วันที่ 16-19 มค. โดยจะมีระดับน้ำลดลงเฉลี่ย 40-60 ซม. เมื่อเขื่อนจิงหงลดการระบายน้ำ 1,000-800 ลบ.ม./วินาที และลดเพิ่มอีก 30-50 ซม. เมื่อลดการระบายน้ำที่ 504-800 ลบ.ม./วินาที   

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าการที่สทนช. แจ้งเรื่องเขื่อนจีนลดการระบายน้ำ ลงจนถึงเพียงราว 500 ลบ.ม./วินาที เป็นการมองแม่น้ำโขที่ผิดพลาด ตลอดเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ชุมชนตลอดสองฝั่งโขงได้วิพากษ์เรื่องการผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเกิดจากเขื่อน และการจัดการของมนุษย์ มีข้อมูลที่ชัดเจนที่สามารถอธิบายได้ เราพูดมาตลอดเรื่องการผันผวนของแม่น้ำโขงและผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงตอนล่าง การที่สทนช.มาแจ้งว่ารู้ข้อมูลจากจีน แล้วมาแจ้งให้หน่วยงานของไทย แบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงการบอก เพราะปัญหาเรื่องนี้เกิดมานานแล้ว ข้อมูลทุกอย่างมีหมดแล้วชัดเจน สทนช. ต้องรุกเพื่อให้ลดการเกิดปัญหาต่อแม่น้ำโขงในทำนองนี้ การรับข้อมูลจากจีนเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อนเพียงเท่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้จะรู้ว่าเขื่อนจีนเขาจะระบายน้ำ ก็สร้างผลกระทบ ก็เกิดมาท่วมแปลงผักชาวบ้านอยู่ดี ณ ขณะนี้การรับข้อมูลเท่านั้นถือว่าไม่พอเพียง รัฐบาลไทยและสทนช.ต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง รัฐไทยต้องใช้ข้อมูลเพื่อเจรจากับประเทศต้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันจึงจะนำไปสู่ทางออกได้  

“จะมาแจ้งแบบนี้ผมว่าเสียเวลา หน้าที่แบบนี้ใครทำก็ได้ รับทราบมาแล้วมาบอกต่อไม่ได้แก้ปัญหา ต้องมองการจัดการน้ำโขงร่วมกัน ว่าฤดูไหนจะต้องระบายน้ำจากเขื่อนเท่าไหร่ เพื่อให้ระบบนิเวศอยู่ได้ ปลาอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้” นายนิวัฒน์ กล่าว

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวอีกว่ากรณีเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่าง ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว เราอยู่ที่เชียงราย ใกล้เขื่อนจีนมากที่สุด ได้รับผลกระทบมาตลอดและพยายามเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน สำหรับแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว ที่ภาคอีสานของไทย ตอนนี้เราเห็นชัดเจนแล้วว่านับตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ก็เกิดผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดฤดูกาลโดยสิ้นเชิง และไม่ใช่แค่ระดับน้ำแต่คือปลา ทรัพยากรประมงที่สูญเสียอย่างหนัก แต่เจ้าของเขื่อนไซยะบุรีไม่ยอมรับ ไม่มีการแก้ปัญหา ซ้ำร้าย ทราบว่าผู้พัฒนาโครงการเจ้าเดิมกลับจะผลักดันโครงการเขื่อนต่อไป คือโครงการเขื่อนหลวงพระบาง 

“ผมมองว่า หากมองแบบชาวบ้านเลยคือ ขี้อันเดิมยังเช็ดไม่หมด ก็จะมาขี้เพิ่มอีก แบบนี้ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องทบทวน สถานการณ์ขณะนี้ชัดเจนมาก จะมาบอกว่าสร้างเขื่อนหลวงพระบางไม่มีป้ญหา พูดแบบนี้ไม่ได้ ทุกเขื่อนบนแม่น้ำโขงล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบ จะปัดว่าเป็นผลกระทบของอีกเขื่อน ไม่มีใครรับผิดชอบ แต่ที่แน่ๆ คือเกิดผลกระทบ ทั้งการหายไปของตะกอน ระดับน้ำโขงผันผวนหนักมาก น้ำระหว่างเขื่อนไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติอีกแล้ว แต่เกิดจากการบังคับของเขื่อนแต่ละตัว สำหรับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ต้องทบทวนว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือ PNPCA จะดันทุรังเพื่อสร้างเขื่อน กลายเป็นว่าไม่ฟังอะไรแล้ว เห็นชัดเจนว่าเป็นกระบวนการที่เอื้อต่อกลุ่มทุนเพื่อการสร้างเขื่อนเท่านั้น สทนช. ต้องทบทวนกระบวนการ PNPCA ด้วย จะทำแบบเดิมๆ ปัญหาก็เห็นอยู่ จะมามองว่าเป็นเขื่อนนอกประเทศ ไทยไม่สามรถยับยั้งได้ แบบนี้ไม่ได้ เพราะในเชิงวิชาการข้อมูลผลกระทบชัดเจนอยู่แล้ว” นายนิวัฒน์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net