สุรพศ ทวีศักดิ์: ความย้อนแย้งในวิถีคิดของปัญญาชนพุทธไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเพิ่งได้อ่าน “สัมภาษณ์สุธาวัชร์ ปานเงิน นักศึกษาพระอภิธรรม แอดมินเพจเสถียร โพธินันทะ”[1] เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาพุทธศาสนาจริงจัง มีมุมมองดีๆ หลายอย่าง แต่ปัญหาคือ “ความย้อนแย้ง” (paradox) ในวิถีคิดที่สะท้อนถึงการเป็น “ผลผลิต” ของพุทธศาสนาไทย

ผมใช้คำว่า “วิถีคิด” เพราะนี่ไม่ใช่เพียง “วิธีคิด” แต่มันคือวิถีอันเป็น “แก่นแกน” ของความคิดแบบพุทธไทยที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและขัดแย้งในตัวเอง

เช่น สุธาวัชร์กล่าวว่า “พระพุทธศาสนาเปิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้” แต่ขณะเดียวกันเขากลับยืนยันว่า “ผมว่าศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาถ้าถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายบ้านเมืองจะดีมาก” ซึ่งตามหลัก “เสรีภาพ” ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ศีลธรรมตามความเชื่อศาสนาใดๆ ย่อมเป็นเรื่อง “ความเชื่อส่วนบุคคล” ที่ขึ้นอยู่กับ “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” ที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ, ปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามก็ได้ การนำหลักศีลธรรมศาสนาใดๆ มาบัญญัติเป็นกฎหมาย อันเป็นการทำให้ศาสนากลายเป็น “เรื่องสาธารณะ” ย่อมขัดกับหลักเสรีภาพดังกล่าว

ดังนั้น เวลาคนที่อ้างหลักการพุทธในแบบดังกล่าว พูดเรื่อง “เสรีภาพทางความคิดเห็น” จึงไม่แน่ใจว่าเขาได้ศึกษาแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) อันเป็นที่มาของเสรีภาพทางความคิดเห็น เช่น งานคลาสสิกอย่าง “On Liberty” ของ John Stuart Mill บ้างหรือไม่

แต่ถ้าคิดแบบสุธาวัชร์ที่ว่า “ถ้าเราปฏิบัติตามหลักธรรมตามพระพุทธศาสนาได้ ชีวิตนี้แทบไม่ต้องไปหาปรัชญาอื่นๆ เลย เพราะในพระพุทธศาสนามีครบ แทบไม่ต้องไปอ่านหนังสือเล่มไหน แค่จับหลักแค่นี้แล้วก็เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน” นี่ย่อมจะเป็น “วิถีคิดที่เป็นปัญหา” เพราะวิถีชีวิตประจำวันในสังคมสมัยใหม่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะแลกเปลี่ยนกับความคิดอื่นๆ เช่น เมื่อคุณพูดเรื่อง “เสรีภาพทางความคิดเห็น” คุณจะปฏิเสธการศึกษาปรัชญาเสีนิยมและหลักสิทธิมนุษยชนสากลไม่ได้เลย ไม่งั้นก็จะเกิดความไม่ชัดเจนว่าเสรีภาพทางความคิดเห็นที่คุณพูดถึงมันหมายความว่าอะไรแน่ และจะทำให้คุณเสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่าง “ขัดแย้งในตัวเอง” โดยไม่รู้ตัว

เช่น ที่สุธาวัชร์ว่า “ผมมองว่าศาสนาพุทธยุติธรรมมาก ถ้าเรานำหลักธรรมพระพุทธศาสนาไปใช้กับคนที่เขาไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ผมว่ายุติธรรมทั้งคนที่นับถือและคนที่ไม่ได้นับถือ เพราะผมได้บอกไปแล้วว่า พระพุทธศาสนาตัดสินคนที่กรรม ไม่ได้ตัดสินคนที่นับถือหรือไม่นับถือ ถ้าเขาทำดี สวรรค์เขาก็ได้ไป ต่อให้เขาไม่นับถือพระพุทธเจ้าของเรา สวรรค์เขาก็ได้ไป”

นี่เป็นความคิดที่สับสน เพราะถ้าคุณเอาหลักธรรมพุทธไปใช้กับคนไม่นับถือพุทธ เช่น เอาหลักศีลธรรมพุทธไปบัญญัติกฎหมาย ย่อมเป็นปัญหาเรื่อง “ความยุติธรรมทางสังคม” (social justice) ซึ่งตามหลักความยุติธรรมทางสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะเอาหลักศีลธรรมศาสนาใดๆ มาบัญญัติกฎหหมายใช้กับคนศาสนาอื่น และคนไม่นับถืศาสนาไม่ได้ ไม่ว่าจะบังคับเรียนพุทธศาสนา หรือเอาศีลธรรมพุทธมาบัญญัติกฎหมาย เพราะมันละเมิดเสรีภาพของคนที่เขาไม่ได้นับถือพุทธ (และคนนับถือพุทธที่ไม่เชื่อแบบคุณ) มันจึง “อยุติธรรม” ต่อเขา ซึ่งความยุติธรรมทางสังคมที่ว่านี้ไม่เกี่ยวกับ “ความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรม” อันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ของชาวพุทธบางคน บางกลุ่ม (ไม่ใช่ชาวพุทธทุกคน ทุกกลุ่มจะคิดหรือเชื่อเหมือนกัน)

อันที่จริง “ความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรม” ย่อมจะ “ไม่ยุติธรรม” ตามกรอบคิดความยุติธรรมทางสังคมเลยก็ได้ เช่น กรณีนางกิญจมาณวิกากล่าวใส่ร้ายพุทธะว่าทำเธอท้อง ผลกรรมก็คือถูกธรณีสูบตกนรกอเวจี ถ้าเป็นความยุติธรรมทางสังคม เช่น ตามกฎหมายในสังคมเสรีประชาธิปไตยมีความผิดเพียง “หมิ่นประมาท” แค่โทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เท่านั้น การหมิ่นประมาทคนอื่นแล้วโทษถึงตายแถมยังตกนรกยาวนานอีกคุณสุธาวัชร์ เรียนมาทางกฎหมาย ลอง “คิดด้วยหลักเหตุผล” เองก็แล้วกันว่ามัน “ยุติธรรม” อย่างไร และความยุติธรรมแบบนี้จะให้คนศาสนาอื่น หรือคนไม่นับถือศาสนาเขายอมรับได้อย่างไร

อีกตัวอย่างของการ “คิดขัดแย้งในตัวเอง” คือ ขณะที่สุธาวัชร์ บอกว่า “อิทธิพลที่กฎหมายได้รับเป็นทฤษฎีทางตะวันตกเสียมาก เราไม่ค่อยมีทฤษฎีทางตะวันออกหรือว่า เราไม่ค่อยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้กับกฎหมาย” นี่ก็ขัดแย้งกับที่เขาพูดอีกตอนหนึ่งว่า การแยกศาสนาจากรัฐ “เป็นไปไม่ได้หรอก ประเทศนี้ปกครองโดยรัฐ รัฐก็ต้องมายุ่งกับศาสนาอยู่แล้ว การแยกศาสนาออกจากรัฐมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นอุดมคติ ถึงเป็นไปได้ก็เป็นไปได้ยาก สมณศักดิ์พัดยศก็รัฐทั้งนั้น ตำแหน่งเจ้าคณะต่าง ๆ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค มหาเถรสมาคม แต่งตั้งโดยรัฐ สำนักงานพระพุทธศาสนาก็รัฐ ผมเห็นว่ารัฐกับศาสนายังไงก็ต้องเกี่ยวข้องกันอยู่ดี จะแยกออกจากกันเด็ดขาดเป็นไปไม่ได้”

ตกลงที่เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะอิทธิพลทฤษฎีตะวันตกยังไง ก็กฎหมายเกี่ยวกับศาสนาที่ทำให้แยกศาสนาจากรัฐเป็นไปไม่ได้ ก็ล้วนแต่เป็นอิทธิพลจากพุทธไทยทั้งนั้นไม่ใช่หรือ

 

นอกจากนี้ สุธาวัชร์ยังบอกว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กษัตริย์เป็นพุทธมามกะ บัญญัติรับรองเสรีภาพทางศาสนา ขณะเดียวกันก็บัญญัติให้เป็น “หน้าที่” ของคนไทยต้องปกป้องชาติ ศาสนา สถาบันกษัตริย์ ให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แล้วนี่คืออะไรครับ เหล่านี้เป็นต้นล้วนแต่บัญญัติขึ้นจากอิทธิพลพุทธไทย, ความเป็นไทยทั้งนั้น ใช่กฎหมายที่รับอิทธิพลทฤษฎีตะวันตกเสียที่ไหน

ถ้าไทยรับทฤษฎีตะวันตกเป็นอุดมการณ์ในการบัญญัติกฎหมายเป็นส่วนมากจริง มันเกิดไม่ได้หรอกรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สร้างระบอบประชาธิปไตย (เผด็จการ) แบบไทยๆ ปานนี้ไทยเป็น “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) และเป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ไปนานแล้ว แต่ที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากแบบที่สุธาวัชร์ว่า ก็เพราะกฎหมายบัญญัติขึ้นภายใต้อิทธิพลความเป็นไทยในนามอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ใช่เพราะกฎหมายรับอิทธิพลแนวคิดตะวันตกเสียมากดังที่ว่าเอาเอง

น่าสนใจว่า คำพูดในบทสัมภาษณ์เดียวทำไมเต็มไปด้วยความคิดที่ย้อนแย้ง, ขัดแย้งในตัวเองที่สะท้อน “ผลผลิต” ของการศึกษาพุทธศาสนาไทยได้ขนาดนั้น เพราะยืนยันเสรีภาพ พร้อมกับยืนยันอุดมการณ์และระบบโครงสร้างอำนาจรัฐที่ขัดกับหลักเสรีภาพไปด้วย นี่เป็น “วิถีที่คิดที่ย้อนแย้งในตัวเอง” ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาล คสช.ประกาศให้ “สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” พร้อมๆ กับมีอำนาจตาม ม. 44 ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ต่างแต่สุธาวัชร์เพียงเสนอความคิดที่ย้อนแย้ง ขณะที่ คสช.ทั้งเสนอความคิดย้อนแย้งพร้อมกับมีอำนาจและใช้อำนาจแบบย้อนแย้งไปด้วย

หรือที่จริงแล้ว “วิถีคิดย้อนแย้ง” เป็น “ลักษณะร่วม” ของปัญญาชนพุทธไทยทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ทั้งระดับแถวหน้าและปลายแถว ไล่มาตั้งแต่ชนชั้นนำยุคปฏิรูปพุทธศาสนาสมัย ร.4 ที่ยืนยันว่าพุทธศาสนามีความเป็นเหตุผล สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ แต่การยืนยันความมีเหตุผล (rationality) ความเป็นวิทยาศาสตร์ตามแนวปรัชญา humanism, liberalism ย่อมควบคู่กับการยืนยัน “เสรีภาพ” ทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกในทางในทางโต้แย้ง หักล้างได้ “ทุกเรื่อง” ด้วย แต่ปัญญาชนสมัย ร.4 ไม่ได้ยืนยันเสรีภาพในความหมายนี้เลย

ส่วน ร.6 เปรียบเทียบพุทธกับคริสต์ว่า คริสต์ศาสนาบังคับศรัทธา ไม่ศรัทธาคือนอกรีต ส่วนพุทธศาสนาให้เสรีภาพที่จะศรัทธาหรือไม่ก็ได้[2] แต่ท่านก็ไม่ได้ยืนยัน “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) ที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับเสรีภาพทางความคิดเห็น, การพูด และการแสดงออกเลย เพราะเมื่อถูกพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เทศนาแสดงความเห็นแย้ง ร.6 ก็สั่งลงโทษถอดสมณศักดิ์เลย แถมยังสถาปนาอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งขัดแย้งในระดับพื้นฐานกับ“เสรีภาพทางศาสนา” ที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับเสรีภาพทางความคิดเห็น, การพูด และการแสดงออก

การที่ปราชญ์พุทธ, นักปรัชญาพุทธบ้านเราในยุคปัจจุบัน ไม่เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า สังคมไทยมี“เสรีภาพทางศาสนา” ที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับเสรีภาพทางความคิดเห็น, การพูด และการแสดงออกจริงหรือไม่ ย่อมสะท้อนว่า ในเชิงความคิดและภูมิปัญญาพุทธในบ้านเรายังไปไม่พ้น “พุทธชาตินิยม” ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (หรือชาตินี้คงไม่มีทางจะไปพ้น?) ดังนั้น “วิถีคิดย้อนแย้ง” ของปัญญาชนพุทธไทย จึงเป็น “เอกลักษณ์” ที่เด่นชัด

เช่น พุทธทาสภิกขุ ช่วงที่คุ้นเคยกับปรีดี พยมยงค์และปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า เทศนาว่า การปรับพุทธศาสนากับประชาธิปไตยให้ลงรอยไปด้วยกันได้ ย่อมช่วยให้พุทธธรรมเจริญในโลก และสันติภาพก็จะได้ตามปรารถนา เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพก็ย่อมเกิดขึ้นจริง เพราะ “เสรีภาพเป็นพระนิสัยของพระพุทธเจ้า และสิ่งที่พระองค์มุ่งหมายก็คือ การที่จะให้เสรีภาพหรือความเป็นประชาธิปไตยในหมู่สงฆ์”[3]

แต่ในช่วงคุ้นเคยกับสัญญา ธรรมศักดิ์ในบริบทรอยต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา พุทธทาสกลับพูดด้วยโทนเสียงจริงจังว่า “เดี๋ยวนี้ มนุษย์เรามีความคิดอย่างที่พวกฝรั่งคิดให้ กลายเป็นว่าทุกคนเสมอภาค...ให้ทุกคนมีสิทธิปกครอง จนเกิดรูปประชาธิปไตยขึ้นมา... อาตมาในฐานะประชาชนไม่กลัวจะถูกใครจับไปฆ่าไปแกง เพราะไม่นิยมประชาธิปไตยแบบนี้ ไม่นิยมแน่ แต่นิยมประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งประกอบด้วยธรรม แล้วก็มีวิธีดำเนินการอย่างเผด็จการ อย่างระบบทศพิธราชธรรมนั่นเอง”[4] ถึงตอนนี้พระพุทธเจ้าซึ่งแต่ก่อนพุทธทาสบอกว่า “มีเสรีภาพเป็นพระนิสัย” ก็กลายเป็นว่า “พระพุทธเจ้าคือต้นแบบของผู้เผด็จการโดยธรรม” ในการปกครองคณะสงฆ์

ส่วนพระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต) ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” เสนอว่า “ควรบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ” ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับสุธาวัชร์ เช่นว่า คนทุกคนที่อยู่ในสังคมไทยควรเรียนรู้พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นสถาบันใหญ่ และเป็นสภาพแวดล้อมของสังคมไทย เพื่อดำเนินชีวิตและทำงาน หรือทำหน้าที่ที่เป็นส่วนร่วมของตนในการพัฒนาสังคมไทยนั้น อย่างประสานกลมกลืนและได้ผลดี”[5]

 

ขณะที่สมภาร พรมทา ผู้ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น “ชาวพุทธเสรีนิยม” (liberal Buddhist)[6] และเคยเขียนว่า “The Buddha says, ‘It is not the birth or the family that makes human beings different, human beings are different by their actions.”[7] แต่ในปีนี้ ในคลิปบรรยายแก่นิสิตปริญญาเอก สมภารสรุปตอนท้ายว่า “ในฐานะที่ผมเป็นชาวพุทธและเป็นชาวพุทธเถรวาทด้วย ผมคิดว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากันหรอก และการไม่เท่ากันหรือแตกต่างกันเนี่ยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”[8]

ในทัศนะของสมภาร ปรัชญาการเมืองแบบพุทธเป็น “ลัทธิพ่อปกครองลูก” (paternalism) ที่ถือว่ารัฐมีจุดหมายทางศีลธรรมและรัฐมีหน้าที่สอนศีลธรรม เพื่อจัดเตรียมการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมแก่ประชาชน ผู้ปกครองไม่ว่ากษัตริย์หรือนักการเมืองควรมีศีลธรรมสูงกว่าประชาชน เพราะคนเหล่านี้เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของประชาชน[9]

ปรัชญาการเมืองแบบพุทธตามนิยามของสมภาร ย่อมเป็นรากฐานให้กับข้อเสนอบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติของพระเทพเวที และเข้ากันได้กับข้อเสนอแบบสุธาวัชร์ หรือพูดโดยภาพรวมคือ เราได้เห็นการปราศรัยบนเวที พธม.และ กปปส.เสมอๆ ว่า ผู้ปกครองหรือนักการเมืองต้องมีจริยธรรมสูงกว่าประชาชน เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมของประชาชน อันที่จริงเมื่อ คสช.ทำรัฐประหาร และเสนอ “ค่านิยม 12 ประการ” และเน้นย้ำให้สถาบันการศึกษาสอนให้ประชาชนเป็น “คนดี” ก็คือ “วิถีคิด” แบบเดียวกันกับปรัชญาการเมืองลัทธิพ่อปกครองลูกนั่นเอง

ผมไม่ได้สรุปว่าบุคคล, หรือกลุ่มบุคคล, กลุ่มอำนาจตามที่ยกตัวอย่างมา “คิดเหมือนกัน” ทั้งหมด แน่นอนว่าแต่ละคน แต่ละกลุ่มคิดต่างกันในรายละเอียด แต่ “วิถีคิดที่เป็นแก่นแกน” คือวิถีคิดบนฐานปรัชญาการเมืองลัทธิพ่อปกครองลูกแบบพุทธตามนิยามของสมภารนั่นเอง ที่ถือว่ารัฐมีหน้าที่จัดเตรียมการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรม และสอนศีลธรรมแก่ประชาชน

อาจแย้งได้ว่า คสช.โดยประยุทธ์ จันทร์โอชาอ้างว่า “ใช้หลักหลักธรรมในพระไตรปิฎกปกครองประเทศ” แต่ก็ไม่ได้ใช้ตรงตามความหมายของคำสอนพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แต่ข้อโต้แย้งแบบนี้ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนายุคอโศก, สุโขทัย, อยุธยา จนรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่อ้างปรัชญาการเมืองลัทธิพ่อปกครองลูกในการปกครองบ้านเมืองทั้งนั้น เช่นเดียวกับรัฐพ่อปกครองลูกแบบคริสเตียนและศาสนจักรยุคกลางที่อ้างว่า ปกป้องหลักคำสอนที่แท้ของพระคริสต์ และจัดเตรียมการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมแก่ประชาชน แต่พวกเขาล้วนใช้อำนาจตรงกันข้ามกับคำสอนของเยซูเรื่อง “ความรักและการให้อภัย” รัฐพุทธในอดีตและปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ในการได้มาซึ่งผู้ปกครองที่มีศีลธรรม และในการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจและศีลธรรมของผู้ปกครองเลย

ซ้ำร้ายลัทธิพ่อปกครองลูกแบบพุทธยังถูกอ้างในทางต่อต้านเสรีประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัยอย่างชัดแจ้ง ทั้งๆ ที่การแยกเรื่อง “ส่วนตัว” กับเรื่อง “สาธารณะ” อย่างชัดเจนเกี่ยวกับสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครอง และแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะอย่างชัดเจนในเรื่องศาสนาของประชาชนตามระบอบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยต่างหาก ที่จะทำให้หลักสิทธิ เสรีภาพบนฐาน “คนเท่ากัน” เป็นไปได้ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เท่าเทียม หรือการสร้างพื้นที่สิทธิ เสรีภาพในการต่อสู้ต่อรองที่เท่าเทียมเป็นไปได้มากกว่า

แต่ทว่าวิถีคิดย้อนแย้งและขัดแย้งในตัวเอง ที่ผลิตสร้างและผลิตซ้ำโดยปัญญาชนพุทธไทยทุกยุค กลายเป็นวิถีคิดของสังคมที่เป็นปัญหาในระดับพื้นฐานต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เพราะเป็นวิถีคิดอันมีแก่นแกนอยู่ที่การค้ำยันอุดมการณ์และโครงสร้างทางสังคมและการเมืองแบบอประชาธิปไตยเสมอมา

ต่างกับปัญญาชนคริสต์ที่ผ่านประวัติศาสตร์การปฏิรูปตัวของของคริสต์ศาสนา และประวัติศาสตร์การถูกท้าทายจากแนวคิดปรัชญามนุษยนิยม เสรีนิยม โลกวิสัย ที่ทำให้เกิดชาวคริสต์เสรีนิยมที่กล้าบอกว่าคำสอนในไบเบิลบางเรื่องผิดที่สนับสนุนการมีทาส และปรับตัวเข้ากับคุณค่าแบบเสรีนิยมโลกวิสัยได้ดีกว่า แต่ชาวพุทธเสรีนิยมในบ้านเราผมไม่แน่ใจว่ามีความหมายอย่างไรแน่

 

อ้างอิง

[1] ดู สัมภาษณ์สุธาวัชร ปานเงิน นักศึกษาพระอภิธรรม แอดมินเพจเสถียร โพธินันทะ, https://thepeople.co/interview-sutawat-panngoen-satien-phothinantha-facebook-admin/?utm_campaign=shareaholic&utm_medium=facebook&utm_source=socialnetwork&fbclid=IwAR0QOjZornmOz0xZeOdZuQVKuGJY50flG963uKt1f45AjBBDlCQboBmfskc

[2] พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, ธรรมราชธีรราชา: พระบรมราโชวาทและพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2557), 58

[3] ดูพุทธทาสภิกขุ, ชุมนุมปาฐกถาชุดพุทธธรรม, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2554), หน้า 257-261

[4] พุทธทาสภิกขุ, ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ, (กรุงเทพฯ: อักษรสัมพันธ์, 2518), หน้า 113

[5] พระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต), ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชากระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม, 2533), หน้า 76

[6] Somparn Promta, An Essay Concerning Buddhist Ethics, (Bangkok: Chulalongkorn University Press, 2008), p. 112

[7] Ibid, p. 113

[8] คลิป พุทธปรัชญากับความไม่เสมอภาคทางเพศ โดย ศ.ดร.สมภาร พรมทา https://www.youtube.com/watch?v=knTYLgjJaGI

[9] Ibid, pp.138-139

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท