Skip to main content
sharethis

จะได้ดั่งใจหรือไม่ เราไม่รู้ แต่ 20 ข่าว บทสัมภาษณ์ บทความหรือรายงานเหล่านี้ เป็นชิ้นที่มียอดผู้อ่านมากที่สุดในประชาไทรอบปีที่ผ่านมา โดย อันดับ 1 มียอดผู้เข้าชมกว่า 4.5 แสน สำหรับ 20 ชิ้นดังกล่าวนั้นมีดังนี้

1. เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน https://prachatai.com/journal/2019/10/84607

เป็นกระแสร้อนแรงอย่างหนักในสังคมและสั่นสะเทือนวงการนักกฎหมาย เมื่อคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาล จ.ยะลา ตัดสินยกฟ้องจำเลย 5 คน ก่อนจะใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบาดเจ็บสาหัส ต่อมาพบแถลงการณ์เรื่องราวของการดำเนินคดีที่ระบุว่ามีข้าราชการระดับอธิบดีขอให้เปลี่ยนคำพิพากษา มีข้อเรียกร้องขอให้ออกกฎหมายห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และขอความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ

จนกระทั่งเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการตุลาการวิสามัญ มีมติตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง อนุกรรมการยังมีมติให้คณากรไปช่วยทำงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ที่ประชุม ก.ต. ยังมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการตรวจร่างคำพิพากษาของภาค รวมทั้งมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

แต่ดูเหมือนว่าปฏิบัติการที่เอาชีวิตเข้าแลกของผู้พิพากษาจะหายไปเร็วกว่าที่คิด เดือนต่อมากระแสความสนใจกลับหายไป อย่างไรก็ตามก็มีวงเสวนาที่ชวนผู้คนมาถกเถียงในกระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งประชาไทได้ตามเก็บไว้ดังนี้

2. #ขบวนเสด็จ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ คนวิจารณ์มาตรการปิดการจราจรในกรุงช่วงค่ำที่ผ่านมา https://prachatai.com/journal/2019/10/84568

ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ ติดแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ เยอะจนติดเทรนด์อันดับหนึ่งเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. โดยส่วนมากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พร้อมโพสต์ภาพที่อ้างว่าเป็นมาตรการปิดเส้นทางการจราจร โดยเฉพาะบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนส่งผลกระทบต่อผู้ที่ใช้เส้นทางในวงกว้าง ประเด็นที่มีการพูดถึงหนักคือการที่รถพยาบาลก็ต้องรอในช่วงระหว่างมีขบวนเสด็จ

แฮชแท็กดังกล่าวกลับมาฮิตติดเทรนด์อีกครั้งเมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนมากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการจัดการพร้อมโพสต์ภาพคนจำนวนมากรอขึ้นเรือท่าเรือข้ามฝาก เช่น ท่าเรือข้ามเกาะล้าน ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ฯลฯ หลังโซเชียลเน็ตเวิร์คมีการเผยแพร่ประกาศสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา 22/2562 เรื่องการควบคุมการเดินเรือเฉพาะคราวเนื่องในการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและทรงรับเรือ AZIMUT 77S หรือเรือยอร์ชแบรนด์อะซิมุท https://prachatai.com/journal/2019/12/85528

3. คาถาแยกเงาพันร่าง : พบผู้ฟังเวทีปราศรัย 'พลังประชารัฐ' แยกร่างหลายคนจนแน่นขนัด 
https://prachatai.com/journal/2019/03/81585

กลายเป็นกระแสใหญ่โตในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'พรรคพลังประชารัฐ' https://www.facebook.com/PPRPThailand/posts/565895497250457 โพสต์ภาพแกนนำพรรคปราศรัยที่ศาลากลางหลังเก่า ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี โดยภาพดังกล่าวมีจุดน่าสังเกตคือ กลุ่มผู้มาร่วมฟังการปราศรัยมีใบหน้า การแต่งกาย และการแสดงท่าทางที่เหมือนกันด้วย ต่อมาโพสต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้ เมื่อตรวจสอบในเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ก็ไม่พบว่ามีคนล้นหลามแน่นขนัดเหมือนในภาพ

4. โปรดเกล้าฯ ประกาศ 'ทูลกระหม่อมฯ เป็นพระโสทรเชษฐภคินี - พระราชทานเครื่องราชฯ ให้ 'พ.อ.หญิง สินีนาฏ' https://prachatai.com/journal/2019/05/82399

เมื่อ 9 พ.ค.2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่ง ช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ ให้แก่ พ.อ.(พิเศษ) หญิง สินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ รวมทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 ให้อีกด้วย 

ต่อมาในวันที่ 24 พ.ค. มีราชกิจจานุเบกษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศทหารชั้นนายพล และแต่งตั้งข้าราชบริพารในพระองค์ให้ดำรงตำแหน่ง ให้พันเอก (พิเศษ) หญิง ท่านผู้หญิงสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ เป็น พลตรีหญิง และดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการกิจการราชสำนัก กรมกิจการวัง (อ) ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมฝ่ายเสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลตรี) ปฏิบัติหน้าที่ รองผู้บังคับการกรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และผู้บังคับกองพันราชสำนัก กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ https://prachatai.com/journal/2019/05/82617

จนกระทั่งในวันที่ 21 ต.ค. 2562 ก็มี ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง ให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารพ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เนื่องจาก กระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ https://prachatai.com/journal/2019/10/84840

5. ผบ.ทบ. ประทับใจชูวิทย์ไม่บอกว่าลูกชายเป็นทหารเกณฑ์ แม้ตนเองจะช่วยเหลือได้ https://prachatai.com/journal/2019/09/84144

หนึ่งกรณีที่สะท้อนการอุปถัมภ์กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นนำและผู้มีหน้ามีตาในทางสาธารณะ เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางเป็นประธานในงานมงคลสมรสของ เติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ ลูกชายของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันมากว่า 30 ปีเมื่อ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา

ผบ.ทบ. กล่าวตอนหนึ่งภายในงานว่า มีความประทับใจในตัวชูวิทย์ และลูกชาย เนื่องจากเติมตระกูล เข้าเป็นทหารกองประจำการเพราะจับได้ใบแดง แต่ในช่วงที่เข้าไปเป็นทหารตนไม่ทราบเรื่องเพิ่งจะมารู้หลังจากผ่านช่วงฝึก 10 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากชูวิทย์โทรมาบอก ตนจึงถามว่าทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก เพราะอาจจะพอช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เมื่อได้ทราบว่าลูกชายของชูวิทย์รับราชการทหารต่อ โดยสังกัดที่กองพลทหารราบที่ 9 จึงได้นำตัวไปช่วยที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์เพื่อให้เติมตระกูลมีความภาคภูมิใจ

6. สัมภาษณ์สาวตรี สุขศรี: กรณีพระราชโองการ 8 กุมภา 62 https://prachatai.com/journal/2019/02/81039

สาวตรี สุขศรี นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นทางกฎหมาย กรณีพระราชโองการเมื่อ 8 ก.พ. 2562 สืบเนื่องกรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่าพระมหากษัตริย์ รวมถึงพระราชินี รัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยปฏิกิริยาทางการเมืองสารพัด สุดท้ายจบลงด้วยการยุบพรรคไทยรักษาชาติในเวลาต่อมา สาวตรีมีความเห็นต่อพระราชโองการดังกล่าวว่า คนมักเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือกฎหมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงหนังสือที่ใช้สำหรับลงประกาศของทางราชการ เนื้อหาของพระราชโองการก็เป็นคำแนะนำและไม่มีผู้ลงนามสนองพระราชโองการ การที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะตีความกฎหมายก็ถือเป็นการวินิจฉัยส่วนขององค์กรนั้น กล่าวคือเมื่อไม่ใช่กฎหมายย่อมใช้บังคับไม่ได้

7. 3 หมื่นคะแนนอาจได้ ส.ส. 'อนาคตใหม่' ปลิวไป 8 ที่นั่ง หลัง กกต.เปิดสูตรใช้แบบมีพรรคในสภา https://prachatai.com/journal/2019/04/81906

เมื่อ 5 เม.ย. 2562 หลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ วิธีคำนวณอัตราส่วนที่แต่ละพรรคจะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อก็เริ่มแผลงฤทธิ์ สร้างความสับสนให้กับนักคณิตศาสตร์การเมืองอยู่เรื่อย โดย iLaw รายงานว่า สูตรการคำนวณ ที่ กกต. จะใช้นั้น อาจทำให้พรรคอนาคตใหม่เสีย ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไปถึง 8 ที่นั่งให้กับพรรคเล็ก 

8. สมศักดิ์ เจียมฯ กลับมาแล้ว https://prachatai.com/journal/2019/06/82873

เฟสบุ๊คของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังไปแสดงความเห็นในการถ่ายทอดสด งานฟังเสวนา "นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา : คณะราษฎร ทหารประชาธิปไตย" ทางเพจ 'Textbooks Foundation - มูลนิธิโครงการตำราฯ ' เมื่อ 9 มิ.ย. 2562 หลังจากไม่มีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ 23 ส.ค. 2561 เนื่องจากอาการป่วยของเขา จนถึงปัจจุบัน สมศักดิ์ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในเฟสบุ๊คอย่างต่อเนื่อง

สมศักดิ์ ปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาใช้เฟสบุ๊คโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ช่วงหลังเริ่มมีการนำแมวมาร่วมแจมด้วย 

9. #เนชั่นโป๊ะแตก ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีคนแฉ 'กนก' เปิดคลิปตัดต่อเสียงเหมือน 'ทักษิณ-ธนาธร' https://prachatai.com/journal/2019/03/81590

กลายเป็นหัวหอกในการพาคุณภาพสื่อถดถอยลงไปใหญ่ เมื่อรายการข่าวข้น คนเนชั่น ที่ดำเนินรายการโดยกนก รัตน์วงศ์สกุล นำคลิปเสียงของคล้ายทักษิณ ชินวัตร กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สนทนากันมาเปิดในราย แต่มีชาวเน็ตลองตรวจสอบดู และมีการนำคลิปขณะที่ทักษิณ บรรยายที่ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย เมื่อปี 2546 มาเปรียบเทียบ พบว่าตรงกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าคลิปเสียงที่รายการข่าวข้น คนเนชั่น นำมาเผยแพร่นั้นเป็นการตัดต่อขึ้นมา 

สืบเนื่องจากกระแสดังกล่าว ชาวโซเชียลได้ติดแฮชแท็ก #เนชั่นโป๊ะแตก ให้กับความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวที่ฉาย บุนนาค ซึ่งมีภรรยาชื่อ วทันยา วงโอภาสี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเป็นเจ้าของ

10. ตัดสิทธิผู้สมัครอนาคตใหม่ กกต.อ้างเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน อีกกรณีศาลชี้เป็นเจ้าของสื่อฯ ทั้งที่ทำรับเหมาก่อสร้าง https://prachatai.com/journal/2019/03/81615

เมื่อ 21 มี.ค. 2562 ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ สกลนคร เขต 2 เบอร์ 11 ถูกคำสั่งศาลฎีกาคดีเลือกตั้ง สั่งให้ถอนชื่อออกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยภูเบศร์ ระบุว่าเขาเป็นหุ้นสุ่วนผู้จัดการกิจการรับเหมาก่อสร้าง ที่เมื่อจดทะเบียนธุรกิจ สำนักบัญชีที่เขาจ้างวาน ได้ใช้ฟอร์มจดทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจ และระบุวัตถุประสงค์ทั่วไปในการจดจัดตั้งห้างครอบคลุมแทบทุกประเภทธุรกิจ 

อีกกรณีหนึ่ง คือ การตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดสุรินทร์ เขต 6 คือ ธีระศักดิ์ กันนิดา เนื่องจาก กกต. ตรวจสอบพบว่า ธีระศักดิ์ มีรายชื่อการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อน 2 พรรค ในระบบฐานข้อมูลของ กกต.

สถานภาพการเป็นบุคคลต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งจากการเป็นเจ้าของสื่อ ตามฟอร์มการจดทะเบียนธุรกิจนั้นกลายเป็นข้อหาที่ผู้สมัคร ส.ส. หลายคนถูกร้องเรียนทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล (ในเวลาต่อมา) แต่การดำเนินการที่คืบหน้าเป็นพิเศษ คือกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีหุ้นวีลัค มีเดีย ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสถานภาพ ส.ส. ของเขา https://prachatai.com/journal/2019/05/82599

11. รบ.ประยุทธ์ 2 ไม่ขำ? คนทำคลิปล้อเพลง 'คืนความสุขฯ' เผย ตร.บุกบ้านสั่งลบคลิป-จี้ลงชื่อขอโทษ คสช. https://prachatai.com/journal/2019/06/82934

ช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2562 มีการล้อเลียนเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยยาน มาร์แชล ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย และคิง ก่อนบ่าย ศิลปินตลก ยาน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาที่บ้าน ถูกให้ลงชื่อในข้อตกลง และต้องทำคลิปวิดีโอขอโทษ คสช. ประชาชนไทย ส่วนคิงนั้น ลบโพสท์ที่ล้อเลียนประยุทธ์ออก โดยให้เหตุผลว่าครอบครัวมีความกังวล

12. พรรคการเมืองทุกพรรค เข้าใจผิด ต่อคะแนนเสียง สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน https://prachatai.com/journal/2019/03/81629

บทความจาก “ช่องเรารัก สมศักดิ์ เจียมฯ” พูดถึงวิธีการได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2562 ว่าจะต้องใช้จำนวนมากกว่า 7 หมื่นเสียงในสัดส่วนพึงมีพึงได้ เพื่อให้ได้ ส.ส. 1 คน เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างความเป็นไปได้ในการชนะในเขตเลือกตั้งหรือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง

13.  'อนุทิน' ใส่เกียร์ถอยหาก ปชป. ไม่มา และ พปชร. รวมเสียง ส.ส. ไม่ถึง 250 https://prachatai.com/journal/2019/05/82692

“สารหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนหนึ่งในรายการเจาะลึกข่าวร้อน ช่อง TNN 16 ว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะกติกาตามรัฐธรรมนูญบอกว่าจะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่เงื่อนไขที่ตนตั้งไว้คือจะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 คนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมากำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งถึงวันนี้ตนก็ยังไม่ได้ทำผิดสัญญา ปัจจุบัน อนุทินนำพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ ส.ส. ถึง 51 ที่นั่ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และเจ้าตัวก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

14. อดีต น.ศ.รามคำแหงชกหน้า พล.อ.เปรม ปี 2528 ไม่ได้ถูกจับกดน้ำเสียชีวิตอย่างที่มีข่าวลือ https://prachatai.com/journal/2019/05/82693

กังวาฬ พุทธิวนิช นักค้นคว้าประวัติศาสตร์อิสระแก้ข่าวลือ 'ขวัญชัย วรสุต' น.ศ.รามคำแหงชกหน้า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2528 ไม่ได้เสียชีวิตเพราะถูกจับกดดน้ำในโรงพยาบาลจิตเวช โดยบุคคลในข่าวปัจจุบันอายุ 60 ปี โดยพี่น้องที่เป็นคนดูแลเปิดเผย หลังเกิดเรื่องบิดาได้ทำหนังสือขอโทษ และ พล.อ.เปรม มีหนังสือตอบกลับมาว่าให้อภัย ฝากฝังให้ครอบครัวดูแลรักษาให้ดี

15. ศาลยะลา : 'ผู้พิพากษา' ยิงตัวเองสาหัส หลังลงจากบัลลังก์ พิจารณาคดีความมั่นคง https://prachatai.com/journal/2019/10/84606

(กล่าวถึงแล้วในข่าวอันดับ 1)

16. พบ 1 โพสต์ของ 'สมศักดิ์ เจียมฯ' ถูกเฟสบุ๊คบล็อคในไทย ขณะที่ 'ฝรั่งเศส-อังกฤษ' ยังเห็น https://prachatai.com/journal/2019/07/83506

21 ก.ค.2562 โพสต์ของบัญชีเฟสบุ๊ค 'Somsak Jeamteerasakul' ซึ่งเป็นของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่สามารถเข้าถึงได้ในประเทศไทยอย่างน้อย 1 โพสต์ ที่เขาโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ บันทึกนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ  แต่เมื่อตรวจสอบกับผู้ที่เล่นเฟสบุ๊คในฝรั่งเศสและอังกฤษยังสามารถมองเห็นโพสต์ดังกล่าวได้ คาดว่าเป็นการบล็อคเฉพาะประเทศไทย

17. เปิด 6 ขุมทรัพย์กองทัพ (และนายพล) หาเงินจากไหน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน https://prachatai.com/journal/2019/11/85052

รายงานพิเศษที่จะพาไปดูรายได้ของกองทัพและนายพลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งจากงบประมาณแผ่นดิน งบนอกจากธุรกิจอาร์มี่ ยูไนเต็ด สนามมวยลุมพินี สนามม้า ฯลฯ ที่ดินกองทัพ ธุรกิจสีเทา คลื่นความถี่ การนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจสารพัด ท่ามกลางความสงสัยว่าทำไมเป็นข้าราชการทหารถึงได้ร่ำรวยเหลือเกิน 

18. เลือกตั้ง 62 : 'อนุทิน' ยัน 'ภูมิใจไทย' อยู่คนละขั้วทหาร-พปชร. ย้ำ นายกฯต้องมาจากส.ส.-ได้เสียงข้างมาก https://prachatai.com/journal/2019/03/81379

พรรคภูมิใจไทยเนื้อหอมมากในศึกการเลือกตั้งปี 2562 ก่อนจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างในปัจจุบัน อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ถูกสอบถามความเห็น จุดยืนทางการเมืองบ่อยครั้ง ก่อนจะเลือกตั้ง เขาได้กล่าวว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าต้องเป็น ส.ส. และมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยที่ให้ 250 ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับคะแนนโหวตในสภาให้เป็นนายกฯ จาก ส.ว. 249 คน และ ส.ส. อีก 251 คน โดยมี ส.ส. พรรคภูมิใจไทย 50 คนจาก 51 คน โหวตให้ประยุทธ์ ผู้ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นนายกฯ 

19. ทนายอานนท์ โพสต์ เพจ 'กูKult' ถูกฝ่ายมั่นคงยึด แอดมินโดนนำตัวเข้าค่าย https://prachatai.com/journal/2019/05/82650

เมื่อ 26 พ.ค. 2562 อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแจ้งว่า แอดมินเพจ กูKult เพจที่มีเนื้อหาล้อเลียนเสียดสีสังคมและการเมือง รวมทั้งสถาบันกษัตริย์อย่างหนัก ถูกนำตัวเข้าค่าย และถูกให้บอกรหัสเข้าเพจ ทั้งนี้ ในช่วงการปกครองของ คสช. รวมถึงรัฐบาลพรรคร่วมพลังประชารัฐ มีเพจที่ทำเนื้อหาล้อเลียนการเมือง วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามและคุกคามเป็นระยะ

20. ครม.ไฟเขียว ให้ 'ปูนซิเมนต์ไทย' ทำเหมืองในเขตป่าสงวนฯ ทับกวาง-มวกเหล็ก กว่า 3 พันไร่ https://prachatai.com/journal/2019/03/81357


เรียกว่าแทบจะเป็นการทิ้งทวนของ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนการเลือกตั้ง ในวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ [พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา โดยอยู่ในเขตกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง  และลุ่มน้ำป่าสัก ชั้นที่ 1 เอ รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา)] เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พ.ค. อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ [พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา โดยอยู่ในเขตกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง  และลุ่มน้ำป่าสัก ชั้นที่ 1 เอ รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา)] เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2533 วันที่ 21 ก.พ. 2538 วันที่ 6 ก.พ. 2544 และวันที่ 4 ต.ค. 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net