Skip to main content
sharethis

การประท้วงกฎหมายสัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ในอินเดียและการใช้ความรุนแรงของทางการต่อผู้ชุมนุมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล โดยที่มีผู้ยกเลิก-เลื่อนการเดินทางท่องเที่ยวในอินเดียแล้วราว 200,000 ราย รวมถึงทัชมาฮาลซึ่งเป็นแหล่งรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของอินเดีย ทั้งนี้ยังมีมุมมองจากผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่กังวลว่ากฎหมายฉบับใหม่อาจจะส่งผลให้พวกเขาถูกกีดกันและอาจจะถูกส่งตัวกลับประเทศได้

ที่มาภาพประกอบ: Nishant Vyas/Pexels

อัลจาซีรารายงานการประท้วงและความรุนแรงจากการปราบปรามการประท้วงในอินเดียส่งผลสะเทือนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี 2562 จากการที่มีทั้งท่องเที่ยวทั้งจากในและนอกประเทศ 200,000 รายยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางในเที่ยวทัชมาฮาลในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 7 ประเทศที่ออกประกาศเตือนการท่องเที่ยวในอินเดีย การประท้วงต่อต้านกฎหมายการให้สัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ (CAA) ของรัฐบาลอินเดียดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับตำรวจแล้วอย่างน้อย 25 ราย

กฎหมาย CAA ของรัฐบาลชาตินิยมฮินดูที่นำโดย นเรนทรา โมดี ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ถูกมองว่ากีดกันชาวมุสลิมและอาจจะส่งผลต่อผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่มีบางส่วนหลบหนีความรุนแรงของรัฐบาลพม่าเข้าสู่อินเดีย

มีชาวโรฮิงญาอายุ 18 ปีที่ชื่อ ราฮีมา เล่าว่าหลังจากที่เธอหลบหนีความรุนแรงของกองทัพพม่าเข้าสู่อินเดียในช่วง 2-3 วันแรกนั้นเธอรู้สึกดีที่สามารถตื่นขึ้นมาในตอนเช้าได้โดยไม่ต้องพะวงว่าเธอจะสามารถมีชีวิตรอดไปจนหมดวันได้หรือไม่ การถูกล่าสังหารจากทางการกลายเป็น "ฝันร้าย" ในอดีต แต่ฝันร้ายที่ว่าก็กลับมากีอีกครั้งหลังจากที่เธอได้ยินข่าวจากวิทยุที่ร้านขายของชำ ในเรื่องที่รัฐบาลประกาศเรื่องกฎหมาย CAA และเรื่องที่ว่ากฎหมายนี้จะส่งอย่างไรต่อผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมอย่างเธอ

ราฮีมาผู้อาศัยในอินเดียมาเป็นเวลา 6 ปีแล้วบอกว่าเธอรู้สึกว่าอินเดียกลายเป็นบ้านใหม่ของเธอมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กฎหมาย CAA นี้ก็จะส่งผลให้รัฐบาลอินเดียให้สัญชาติกับผู้ลี้ภัยที่นับถือศาสนาอื่นๆ นอกจากศาสนาอิสลาม ทำให้ชาวโรฮิงญาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกกีดกันไม่ได้สัญชาติและสร้างความกังวลว่าพวกเขาจะถูกส่งตัวกลับประเทศ โดยที่ในกรณีของชาวโรฮิงญานั้นถ้าถูกส่งกลับประเทศจะเสี่ยงต่อการเผชิญกับความรุนแรงถึงแก่ชีวิต

ในอินเดียมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 40,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทั่วประเทศ ชาวโรฮิงญาอีกรายหนึ่งชื่อซาลาม อายุ 22 ปี เล่าว่าเขาต้องหนีออกจากหมู่บ้านในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่หลังจากที่กองทัพพม่าเผาบ้านของเขาและสังหารครอบครัวเขา เขาหนีไปอยู่ที่บังกลาเทศโดยการเดินเท้าและต้องทำงานค่าแรงรายวันอยู่ที่นั่น 4 เดือนก่อนที่จะเดินทางเข้าอินเดีย

กฎหมาย CAA ระบุว่าพวกเขาจะให้สัญชาติอินเดียแก่ผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมที่อพยพเข้าอินเดียภายในช่วงก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2557 และเป็นคนที่หนีการถูกกดขี่ปราบปรามจากปากีสถาน, บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน ทำให้ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะระบุว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงหนักที่สุดในโลก แต่พวกเขาก็ไม่มีสิทธิจะได้รับสัญชาติตามกฎหมายของอินเดียฉบับนี้

กฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้มีการประท้วงในอินเดียรวมถึงจากกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเพราะมองว่าเป็นการกีดกันทางศาสนา แต่การปราบปรามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ทำให้มีการประเมินว่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของอินเดีย ทำให้มีผู้ยกเลิกหรือเลื่อนการท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างทัชมาฮาลที่ทำรายได้ให้กับอินเดียราว 14 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 419 ล้านบาท) จากการเก็บค่าเข้าชมของนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็ประณามในเรื่องที่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการกวาดต้อนจับกุมผู้คนมากกว่า 1,000 ราย ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา อันชาล วอห์รา รายงานจากกรุงนิวเดลีว่าไม่มีใครทำอะไรกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจเลย ถึงแม้ว่าจะมีภาพถ่ายทั้งจากสื่อในประเทศและจากสื่อต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าตำรวจทำร้ายประชาชนรวมถึงเด็ก มีผู้คนถูกสังหารแล้วอย่างน้อย 25 ราย มีการยื่นฟ้องตำรวจ 6 นายที่ใช้ความรุนแรงแต่ก็ไม่มีใครทำอะไรต่อเรื่องนี้เลย

นอกจากกลัวว่าจะเป็นการกีดกันชาวมุสลิมที่มีอยู่ 200 ล้านคนในอินเดียแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขัดต่อหลักการของอินเดียในฐานะรัฐโลกวิสัยและมีคนกังวลว่าโมดีกำลังพยายามสร้างประเทศอินเดียให้เป็นรัฐศาสนาฮินดู ซึ่งโมดีปฏิเสธข้อกล่าวหานี้


เรียบเรียงจาก
Rohingya wary of future after CAA, don’t want to return to Myanmar, The Hindu, 22-12-2019
https://www.thehindu.com/news/national/rohingya-wary-of-future-after-caa-dont-want-to-return-to-myanmar/article30372210.ece
India's tourism industry hit hard by citizenship law protests, Aljazeera, 29-12-2019
https://www.aljazeera.com/news/2019/12/india-tourism-industry-hit-hard-citizenship-law-protests-191229070602602.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net