Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง ของไทยดำเนินมาเป็นเวลานานหลายปีจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้ลุกลามกลายเป็นการแบ่งฝัก แบ่งฝ่ายของคนในสังคม ที่ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา และยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายอย่างไร และ เมื่อใด การดำเนินชีวิตของประชาชนยังถูกกระหน่ำด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แรงงานถูกเลิกจ้าง ซึ่งนับว่าหนักหนามากแล้ว แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่ คือ ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา และโครงการพัฒนา เช่น ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องที่อยู่อาศัย ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นต้น

ชาวบ้านเหล่านี้ได้รวมกลุ่ม ได้เรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้มีอำนาจ มาอย่างยาวนาน หลายพื้นที่ต่อสู้เรียกร้องมานาน เป็นเวลา 10 หรือ 20 ปี ซึ่งปัญหาของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อปี 2556 ขณะที่ผมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) เราจัดการชุมนุมขึ้น ในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่อแววว่าจะเกิดการเผชิญหน้า ได้ตลอดเวลา ขณะนั้นก็มีคำถามที่ท้าทายว่า “ขบวนการประชาชน” จะเลือกข้างฝั่งไหน ซึ่งในขณะนั้นผมเคยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ไว้ว่า ...ในความเห็นของผมขบวนการประชาชนควรเป็นอิสระไม่ควรยึดติด หรือเลือกข้าง แต่ก็ยอมรับว่า ความคิดเชื่อทางการเมืองของผู้นำ ของแกนนำ ย่อมมีอิทธิพลต่อชาวบ้านที่เป็นมวลชนอย่างมาก ซึ่งต้องให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ ไม่มีใครให้คำตอบถึงอนาคตที่จะเป็นได้ แต่การประคับประคองขบวนการประชาชน ให้มีเอกภาพ และมุ่งไปสู่เป้าหมายของชาวบ้าน คือการที่ชาวบ้านได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม คือความยากลำบากในภาวะ “บนเขาควายความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นคำตอบว่า ผมเลือก ที่จะไม่เลือกข้างฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง … นั่นคือคำตอบที่เป็นจุดยืน (ที่ถูกด่าว่าไม่มีจุดยืน) ของผมในขณะนั้น

หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 การเรียกร้องของกลุ่มขบวนการประชาชน ยังดำเนินอยู่ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นปัญหาเก่า เดิมๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา แต่การเคลื่อนไหวรอบนี้ พรรคพวกหลายคน หลายกลุ่มได้พัฒนา ยกระดับการเคลื่อนไหวไปอีกขั้น บางกลุ่มที่เข้าร่วมสนามการเมือง บางกลุ่มใกล้ชิดขั้วการเมืองฝั่งหนึ่ง ขณะที่บางกลุ่มใกล้ชิดขั้วการเมืองอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างเลือกวิธีการที่ถนัดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการผลักดันให้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับผมไม่ถนัด และความสามารถไม่ถึงขั้นที่จะทำแบบนั้นได้ จึงเลือกที่จะขับเคลื่อนกลุ่มชาวบ้าน ผลักดันปัญหา เรียกร้องกับทุกฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามที่ขึ้นมามีอำนาจ ผมก็จำเป็นที่จะต้องเรียกร้อง ต้องต่อสู้อยู่เช่นกัน ตราบจนกว่าปัญหา ความเดือดร้อนของชาวบ้านจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ผมเลือกเช่นนี้ เพราะเนื่องจากว่า ตลอดเวลากว่า 20 ปี ที่ทำงานภาคประชาชน ผมเคยได้พบ ได้เจอ ได้เจรจามาแล้วกับนักการเมือง รัฐมนตรี ทั้งที่เป็นฝ่ายค้าน และเป็นฝ่ายรัฐบาล มาแล้วแทบทั้งสิ้น ผมจึงเห็นว่า การที่ไม่เลือกฝ่าย ทำให้มีความเป็นอิสระ (ซึ่งตรงนี้อาจถูกมองว่าล้าหลัง) กดดัน ต่อรองได้มีประสิทธิภาพ เช่นกัน ที่สำคัญ การเมืองไม่เคยนิ่ง การย้ายพรรค การย้ายขั้วสลับค่าย ของนักการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งการที่จะเลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จึงเป็นความสุ่มเสี่ยง ที่จะลากเอากลุ่มประชาชนไปร่วมส่วน ในสนามความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สอนให้รู้ว่า “คนจน ประชาชน คือคนกลุ่มแรกที่นักการเมืองจะพูดถึงเพื่ออ้างความชอบธรรม สำหรับการเข้าสู่อำนาจ แต่เมื่อพวกเขาได้อำนาจไปแล้ว คนจน ประชาชน คือคนกลุ่มสุดท้าย ที่นักการเมืองจะสนใจ”

ผมมีความยินดีเสมอ เมื่อเห็นพรรคพวกประสบความสำเร็ว ไปถึงฝั่งฝันได้ แต่ผมก็เลือกที่จะพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ แม้จะยากลำบาก ในสถานการณ์ ที่อยู่ “บนเขาควายความขัดแย้ง” ก็ตาม แค่ไม่ผลักไส ไม่ใส่ข้าง ให้ผมก็พอใจแล้วครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net