สื่อนอกเผย นายพลไทยล้นหลามหลักพันคน โฆษก กห. แจงสาเหตุอดีต-ปัจจุบัน

สื่อนิคเคอิ เอเชียน รีวิวและบีบีซีไทย ตีประเด็นจำนวนนายพลไทยล้นหลามหลักพัน แต่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจริง 150-200 นาย โฆษกกลาโหมแจง 3 สาเหตุนายพลเยอะ เป็นผลพวงจากสมัยขุนกำลังพลสู้คอมมิวนิสต์ ไม่มีระบบเออร์ลี่รีไทร์ และให้ยศเพื่อเป็นเกียรติประวัติ มีแผนหั่นกำลังพลเหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2572

คณะนายทหารและผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 เมื่อ พ.ย. 2562 (ที่มา: Facebook/Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

2 ม.ค. 2563 สื่อนิคเคอิ เอเชียน รีวิว จากญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานพิเศษหัวข้อ "ประเทศไทย:ดินแดนนายพลนับพัน (Thailand: Land of a thousands generals)" เขียนโดยโดมินิค ฟอลเดอร์

โดมินิคอ้างงานวิจัยของพอล แชมเบอร์ส นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า สัดส่วนของนายพลไทยต่อจำนวนกำลังพล อยู่ที่ 1:660 คน ในทางจำนวนกำลังพลนั้น งานวิจัยประเมินว่ากำลังพลของไทยมีจำนวนราว 551,000 นาย แบ่งเป็นกำลังพลที่ประจำการอยู่ 306,000 นาย และที่เป็นกำลังสำรองอีก 245,000 นาย ที่สหรัฐฯ นั้น สภาคองเกรสได้จำกัดจำนวนนายทหารระดับนายพลเอาไว้ ทำให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 1:1,600 

สำหรับจำนวนนายทหารที่ถูกเลื่อนขั้นเป็นนายพลนั้นมีแนวโน้มลดลง โดมินิคอ้างอิงข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษาว่า ในปี 2562 มีการเลื่อนยศทหารขึ้นเป็นนายพล 789 นาย น้อยกว่าเมื่อปี 2560 ที่ 944 นายและปี 2557 ที่ 980 นาย

สื่อบีบีซีไทยได้ติดตามประเด็นจำนวนนายพลต่อ โดยไปสอบถาม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม คงชีพยอมรับว่ากองทัพไทยไม่ใช่กองทัพสมัยใหม่อย่างที่กองทัพสหรัฐฯ เป็น ที่ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลควบคุมบังคับบัญชาอาวุธที่ใช้ยังเป็นสมัยสงครามโลก และยังเน้นการใช้กำลังคน

คงชีพกล่าวว่า ถ้าหากเติมเทคโนโลยี เติมอาวุธให้ทันสมัยก็จะทำให้ลดกำลังพลได้ตามสมควร แต่พอจะซื้ออาวุธเข้ามาก็กลายเป็นมีข้อครหาว่าซื้ออาวุธอีกแล้ว ทั้งที่ความจริงซื้ออาวุธเพื่อลดคน ถ้าไปลดกำลังคนก่อนแล้วยังไม่มีอาวุธเข้ามาก็จะเป็นอันตราย

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงเหตุผลการมีนายพลจำนวนมากว่า เป็นสาเหตุจากภารกิจการปกป้องอธิปไตยของชาติ และรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทำให้รัฐบาลกำหนดให้ต้องผลิตกำลังพลจำนวนมาก โดยเฉพาะในสมัยที่ต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2515 และเนื่องจากไม่มีระบบเกษียณก่อนอายุราชการ (เออร์ลี รีไทร์) ก็ทำให้ต้องอยู่ในกองทัพจนเกษียณ นอกจากนั้น การให้ยศนายพลนั้น หลายกรณีทำไปเพื่อเป็นเกียรติประวัติก่อนเกษียณ ถือเป็นการตอบแทนคนที่ไม่ได้ทำผิด ทำชั่ว และเคยผ่านสมรภูมิมา

นอกจากนั้นยังมีการเสนอยศนายพลให้แก่พันเอกพิเศษ ที่มีอายุราชการเหลือ 3 ปี มีผลการปฏิบัติราชการดี ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย และสมัครใจเออร์ลี รีไทร์ โดยคำนำหน้าชื่ออาจเป็นนายพล แต่ตัวก็ไม่ได้อยู่ในราชการแล้ว ทั้งนี้ เงินเดือนของนายพลกับพันเอกพิเศษนั้นอยู่ในช่วง 60,000 บาทเศษ แทบจะไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีทหารยศพลเอกเพียง 150-200 นายเท่านั้นที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจริงๆ ตามข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์ต่างชาติคนหนึ่ง

ในส่วนของเงินเดือน นิคเคอิระบุว่าเงินเดือนทหารไทยยศพลตรีอยู่ที่ราว 60,000 บาทต่อเดือน มีทหารอาวุโสที่มีตำแหน่งบังคับบัญชาจะได้เงินมากกว่านี้ เพราะมีเงินตำแหน่ง

ในเรื่องจำนวนนายพล คงชีพระบุว่ากองทัพมียุทธศาสตร์ลดขนาดกำลังพลอยู่ โดยตั้งเป้าลดกำลังพลลงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบันภายในปี 2572 ให้คงเหลือแต่นายพลในสายบังคับบัญชาที่เป็นตำแหน่งหลัก ปัจจุบันโรงเรียนนายเรือ นายเรืออากาศก็ลดลงมาเหลือรับปีละ 150 นาย เท่ากับนายพลจะลดลงตามอัตราส่วน

ในประเด็นจำนวนนายพลที่อยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ คงชีพประเมินว่ามีไม่ถึงร้อยละ 5 ของทหารเกษียณ อาจมีบางส่วนที่ได้รับเลือกไป เช่น นายทหารอากาศอาจไปเป็นบอร์ดการบินไทย นายทหารสื่อสารไปดูแลระบบโทรคมนาคม นายทหารเรืออาจไปอยู่การท่าเรือ

เดิมทีรัฐธรรมนูญปี 2475 (ฉบับแก้ไขปรับปรุงปี 2495) ระบุบทบาทของกองทัพในมาตรา 39 ว่า “รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราชและประโยชน์แห่งประเทศชาติ” แต่ในปี 2517 ซึ่งตรงกับสมัยของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ขยายพันธกิจของกองทัพให้กว้างขวางขึ้น มาตรา 70 ระบุว่า 

“กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงครามเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามการกบฏและการจลาจล เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐและเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ” และห้อยท้ายว่า การใช้ทหารเพื่อการอื่นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

หน้าที่ของทหารข้างต้นเป็นต้นฉบับในการเขียนถึงหน้าที่ของกำลังทหารในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา หลังจากนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ก็มีแนวคิด “การพัฒนาเพื่อความมั่นคง” เกิดขึ้นในบริบทสงครามเย็นที่กองทัพใช้โครงการพัฒนาต่างๆ เข้าไปแย่งชิงมวลชนและพื้นที่จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย งบประมาณของกองทัพไทยจำนวนมากก็ถูกจัดสรรให้กับภารกิจในเรื่องการพัฒนา

เนื่องจากไทยยังไม่มีความเสี่ยงรับมือกับประเทศศัตรู นิคเคอิ เอเชียน รีวิวตั้งคำถามว่ากองทัพไทยพร้อมสำหรับหน้าที่หลักในการปกป้องประเทศหรือไม่

เปิด 6 ขุมทรัพย์กองทัพ (และนายพล) หาเงินจากไหน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ในปี 2559 งาน ทุนสีกากี: เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนภิสา ไวฑูรเกียรติ และพอล แชมเบอร์ส นำเสนอว่ามีทหารอยู่ในบอร์ดอำนวยการรัฐวิสาหกิจถึง 42 แห่งจากทั้งหมด 56 แห่งที่ยังดำเนินกิจการอยู่ คิดเป็นจำนวนคนทั้งสิ้น 102 คน

ล่าสุด ในปี 2562 เมื่อลองสืบค้นจากเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พบว่า ยังมีทหารนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดอำนวยการทั้งสิ้น 51 คน ในรัฐวิสาหกิจ 27 แห่งจาก 55 แห่ง

แปลและเรียบเรียงจาก

สื่อญี่ปุ่นชี้ "นายพลไทย" ล้นกองทัพ ชาติอื่นใช้ "นายพัน" ทำหน้าที่เดียวกัน, บีบีซีไทย, Jan. 1, 2019

Thailand: Land of a thousand generals, Nikkei Asian Review, Dec. 31, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท