Skip to main content
sharethis

รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแผนรับมือภัยแล้งหนักสุดในรอบ 10 ปี เตรียมเจาะน้ำบาดาลใช้อุปโภค-บริโภค เคลียร์ปมเบลอภาพถุงพลาสติกในทีวีชี้ไม่แตกต่างจากการเบลอภาพบุหรี่ เหล้า เบียร์ เชื่อคนไทยปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ได้เมื่อร้านค้าไม่ให้ถุงพลาสติก

3 ม.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภัยแล้งว่า เชื่อว่าปีนี้ประชาชนทราบว่าปัญหาภัยแล้งหนักมากในรอบ 10 ปี เราขอความร่วมมือกับประชาชนในการประหยัดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ส่วนเกษตรกรเชื่อว่าประหยัดอยู่แล้ว แต่ในบทบาทของกระทรวง โดยกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ให้เป้าหมายว่าเมื่อน้ำบนดินหมดแล้ว หรืออยู่ในสภาวะที่วิกฤตมีน้อย แหล่งน้ำเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศ คือ แหล่งน้ำใต้ดิน ปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำใต้ดินอยู่อีกเกือบ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับเขื่อนขนาดเล็ก

เขากล่าวต่อว่า บทบาทของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเจาะน้ำบาลดาลขึ้นมาใช้ทั้งในเรื่องอุปโภคและบริโภค ต่อมาจะใช้เพื่อการเกษตร และถ้าเราสามารถใช้ทฤษฎีนาแปลงใหญ่ มีบ่อบาดาลควบคู่กันกับกรมทรัพยากรน้ำ เชื่อมั่นว่าช่วงแล้งนี้เราจะสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ แต่สิ่งสำคัญกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต้องเดินควบคู่กัน ไม่ทำงานแบ่งแยกกัน ทั้งนี้ไปจากนี้กระทรวงจะทำงานบูรณาการเป็นหน่วยงานเดียวกัน

วราวุธ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโลกออนไลน์มีประเด็นดรามาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกผ่านสื่อโทรทัศน์ด้วยการเบลอภาพพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในรายการโทรทัศน์ ว่า การที่สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งจะดำเนินการอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสถานีนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2562 มี 8 สถานีโทรทัศน์ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ได้แสดงความจำนงให้ความร่วมมือลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก หากเราย้อนกลับไป การเบลอถุงพลาสติกนั้น ก็ไม่ต่างจากการเบลอภาพบุหรี่ สุรา หรือปืน แต่วันนี้พอมาพูดถึงการเบลอถุงพลาสติกก็ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่าไม่สามารถลดได้ แต่อย่างน้อยการดรามาทำให้สังคมรับรู้ว่า 1 ม.ค. ที่ผ่านมาประเทศไทยเลิกใช้ถุงพลาสติก และสังคมไทยโดยเฉพาะในโลกออนไลน์การที่จะติติงหรือการทำอะไรแล้วเกิดการดรามาเป็นเรื่องที่ง่าย แต่อยากจะฝากถึงประชาชนที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ว่า อยากให้ดูถึงเจตนารมณ์ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ว่าเขามีเจตนาดีที่อยากจะแสดงให้สังคมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะลด เลิก การใช้ถุงพลาสติก

เมื่อถามว่ามีประชาชนที่ยังไม่ทราบแล้วไม่เตรียมตัวนำอุปกรณ์อย่างอื่น เช่น กระสอบ ถุงปุ๋ย ถังไปใส่แทนถุงผ้า นายวราวุธ กล่าวว่า ตนเห็นภาพแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระโถน ถังน้ำ รถซาเล้ง หรือรถขนปูน สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่สร้างสรรค์ สร้างรอยยิ้ม ต้องขอบคุณประชาชนคนไทยที่มีอารมณ์ขัน แฝงด้วยความที่รักในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพราะวันนี้สิ่งที่เราจะนำมาใส่สินค้า แน่นอนว่าการที่จะหาอะไรมาแทนถุงพลาสติกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อไม่มีแล้ว ตนเชื่อว่าทุกคนจะดิ้นร้น หาอะไรมา เช่น ถุงข้าวสาร กระสอบปุ๋ย หรืออะไรมาก็ได้ เพราะในเมื่อไม่มีถุงพลาสติกแล้ว ท้ายที่สุดแล้วไม่เกินฝีมือคนไทยที่จะหาทุกอย่างมาใส่ได้ เพราะคนไทยเก่งและไม่แพ้ชาติใดที่จะปรับตัว เพียงแค่ผ่านไป 3 วันเราก็เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การนำเอาชั้นตากเนื้อแดดเดียวมาใส่สิ่งของ

เมื่อถามถึงกรณีมีการตั้งโรงงานขยะพิษที่เป็นของประเทศจีนกว่าพันโรงงานในประเทศไทย วราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการนำเข้าขยะไม่ว่าเป็นพลาสติกหรืออิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย วันนี้ประชาชนทำอย่างเต็มแล้วที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติก แต่กลายเป็นว่ามีการนำเอาขยะเหล่านี้เข้ามาในประเทศ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล ตนขอน้อมรับไว้ และไม่ขอแก้ตัวว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของกรม หรือกระทรวงใด ทั้งนี้ กระทรวงจะมีการเร่งประชุมเรื่องดังกล่าวเพื่อหยุดการนำเข้าขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ แม้บางฝ่ายจะอ้างว่าการนำเข้าเพื่อรีไซเคิล แต่เป็นการนำขยะเข้ามาทิ้งในบ้านเรา ประเทศไทยไม่ใช่ถังขยะของบ้านอื่น ฉะนั้นต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

“การตั้งโรงงานเราไม่อยากจะไปโบ้ยว่าเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอื่น แต่เราจะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะผมตั้งปณิธานเอาไว้ว่าปี 63 จะเป็นปีแห่งการลดมลพิษของประเทศไทย และผมจะทำให้ดีที่สุด ส่วนได้พูดคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น เรื่องการหารือข้ามหน่วยงานมีการพูดคุยกันแน่นอน ส่วนการตั้งโรงงานต่างๆที่จะให้เศรษฐกิจบ้านเราพัฒนาไปข้างหน้าเราก็สนับสนุน แต่ทุกโรงงานต้องมีการบำบัดของเสีย ส่งเสริมการดูแลวิ่งแวดล้อม” วราวุธ กล่าว

ที่มาจาก : ผู้จัดการออนไลน์ 1 , 2 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net