Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติพูดถึงการคุมขัง เชลซี แมนนิง ของทางการสหรัฐฯ ที่ทำไปเพื่อบีบบังคับให้เธอให้การกรณีเกี่ยวกับวิกิลีกส์ว่านับเป็น "การทารุณกรรม" ทั้งนี้ แมนนิงยังแถลงเกี่ยวกับเรื่องที่เธอถูกคุมขังว่าการใช้วิธี "คุมขังเพื่อบีบเค้น" โดยไม่มีความผิดหรือข้อหาใดๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิจารณ์ว่า ระบบคณะลูกขุนใหญ่ที่ปิดลับเป็นระบบที่ล้าหลังหลายที่ยกเลิกไปแล้ว

3 ม.ค. 2563 เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 นีลส์ เมลเซอร์ ผู้รายงานพิเศษประเด็นการทารุณกรรมจากสหประชาชาติเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ทำการทารุณกรรม เชลซี แมนนิง อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองการทหารของสหรัฐฯ ผู้ที่ถูกคุมขังเพราะปฏิเสธจะให้การปรักปรำวิกิลีกส์

ในจดหมายเปิดผนึกของเมลเซอร์ระบุว่าแมนนิงต้องเผชิญกับ "มาตรการรุนแรงในการบีบเค้นหนักขึ้นเรื่อยๆ" ซึ่งนับเป็นการทารุณกรรม และการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม หรือการลงโทษอย่างลดทอนความเป็นมนุษย์อื่นๆ

ในปีที่แล้ว เชลซี แมนนิง ถูกคุมขังอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 หลังจากที่เธอปฏิเสธไม่ยอมให้การต่อคณะลูกขุนใหญ่ มีการนำตัวเธอไปขังไว้ที่ทัณฑสถานอเล็กซานเดรียในเวอร์จิเนีย พวกเขาจะปล่อยตัวเธอถ้าหากยอม "ให้หลักฐาน" เกี่ยวกับเรื่องวิกิลีกส์ หรือจนกว่าคณะลูกขุนใหญ่จะหมดวาระในเดือน พ.ย. 2563 นอกจากนี้แมนนิงยังถูกสั่งปรับเป็นเงิน 1,000 ดอลลาร์ต่อวัน (ราว 30,000 บาท)

ในจดหมายเปิดผนึกของเมลเซอร์ระบุอีกว่ามีการลงโทษที่แมนนิง "ขัดคำสั่งศาล" ด้วยการบีบบังคับลิดรอนเสรีภาพ รวมถึงการทำให้แมนนิงเกิดความทุกข์ทรมานทางใจ และทางอารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุเพราะต้องการข่มขู่บีบเค้นภายใต้คำสั่งของเจ้าหน้าที่ตุลาการ

เมลเซอร์เตือนอีกว่า แมนนิงตกอยู่ภายใต้การถูกบังคับคุมขังเป็นเวลานานแสดงให้เห็นถึงอาการของความเจ็บปวดทางใจหลังการเผชิญกับสถานการณ์ร้ายแรง (post-traumatic symptoms) และได้รับผลกระทบในระยะยาวอย่างหนักทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิต อีกทั้งยังระบุว่าการคุมขังแมนนิงนั้นเป็นไปอย่างไม่ได้มีคำสั่งตามกฎหมายแต่เป็นไปในลักษณะปลายเปิด และควรจะมีการยกเลิกการคุมขังแบบนี้ได้แล้ว

ก่อนหน้านี้ทนายความของแมนนิงก็เคยโต้แย้งว่า การคุมขังเธอเพราะปฏิเสธจะทำตามคำสั่งของคณะลูกขุนใหญ่นั้น "ไร้ความหมาย, สร้างความเจ็บปวด และโหดร้าย" และเตือนว่า ต่อให้ลงโทษไปแมนนิงก็จะไม่เปลี่ยนใจกลับมาให้การเกี่ยวกับเรื่องวิกิลีกส์ เพราะแมนนิงเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการของตนเอง โดยที่แมนนิงให้การต่อศาลว่า เธอเคยเปิดเผยเรื่องนี้ไปแล้วในการไต่สวนดำเนินคดีก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังเคยวิจารณ์ระบบคณะลูกขุนใหญ่ที่ใช้ข่มเหงรังแกนักกิจกรรม

อัยการของเวอร์จิเนียมีความพยายามจะทำให้แมนนิงให้การเพื่อหวังว่าจะใช้ดำเนินคดีกับจูเลียน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ที่กำลังถูกรอดำเนินคดีได้ โดยที่อัสซาจน์ถูกตั้งข้อหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับแมนนิงในการเจาะระบบเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ และส่งข้อมูลเพื่อแฉกองทัพในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามอิรัก โดยที่เรื่องนี้ทำให้แมนนิงเคยถูกตัดสินลงโทษจำคุก 35 ปีมาก่อน แต่ต่อมาก็ได้รับการอภัยโทษจากโอบามาในปี 2560

แมนนิงแถลงในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า เป็นเวลานานมาแล้วที่เธอมีจุดยืนโต้ตอบอย่างหนักแน่นต่อการกระทำที่ไร้ศีลธรรมจากการส่งคนเข้าคุกโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือการดำเนินคดีเพียงเพราะบีบบังคับให้พวกเขาต้องให้การต่อ "คณะไต่สวนที่ปิดลับ และมาจากรัฐบาล"

ทั้งนี้แมนนิงยังแถลงอีกว่าระบบกฎหมายอื่นๆ ทั่วโลกแทบจะทั้งหมดไม่ยอมรับ "การคุมขังเพื่อการบีบเค้น" และเปลี่ยนแปลงจากระบบคณะลูกขุนใหญ่ที่ปิดลับกลายเป็นระบบประชาพิจารณ์ที่เปิดให้ประชาชนรับฟัง และแสดงความคิดเห็นต่อการพิจารณาคดีได้มาเป็นเวลานานแล้ว แมนนิงวิจารณ์อีกว่าการคุมขังเพื่อบีบเค้นนี้ถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

เรียบเรียงจาก

Top UN official accuses US of torturing Chelsea Manning, The Guardian, 31-12-2019
https://www.theguardian.com/us-news/2019/dec/31/chelsea-manning-us-torture-un-official-wikileaks
 

Chelsea Manning Responds After Top U.N. Official Labels Her Imprisonment 'Torture', Gizmodo, 02-01-2020
https://gizmodo.com/chelsea-manning-responds-after-top-u-n-official-labels-1840771479

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net